ด่านสำคัญพิสูจน์ “เชียงใหม่โมเดล” เกิดได้หรือไม่?

แนวทางบริหารจัดการไฟ ชูท้องถิ่นสู้ฝุ่น ของใหม่ที่ไม่ง่าย

.

ฤดูฝุ่นควันไฟของปี 2564 จะเป็นปีแรกที่มีการปรับเปลี่ยนชุดมาตรการเพื่อแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันไฟ PM2.5 ของจังหวัดเชียงใหม่ชนิดที่พลิกเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ต่างจากหลายปีก่อนหน้า  โดยอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดแบบ single command ที่สามารถกำหนดแนวทางบริหารจัดการเฉพาะพื้นที่ตนได้

.

มาตรการหลักของปี2564 จะใช้การบริหารจัดการไฟ โดยจะไม่มีประกาศห้ามเผาเด็ดขาด หรือกำหนดห้วงระยะเวลาห้ามเผาแบบที่เคยปฏิบัติมาหลายปี  การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นผลจากสถิติย้อนหลังอย่างน้อยถึงปี 2558 คำสั่งห้ามเผาเด็ดขาด (60วันห้ามเผา) ไม่เคยห้ามได้จริงในทางปฏิบัติ  ซึ่งปัญหานี้ทุกจังหวัดในภาคเหนือตอนบนที่มีประกาศลักษณะเดียวกันต่างก็ประสบปัญหาประชาชนไม่เชื่อ มีการลักลอบเผาจำนวนมาก ไม่เพียงเท่านั้น คำสั่งห้ามเผาเด็ดขาดที่เป็นคำสั่งเดียวคุมทั้งจังหวัด ยังไม่เหมาะสมกับสภาพภูมิศาสตร์ พื้นที่โซนเหนือโซนใต้ห่างกันกว่า 300 ก.ม. ใบไม้แห้งผลัดใบไม่ตรงกัน แต่คำสั่งบังคับให้เร่งจัดการเชื้อเพลิงพร้อมกัน และปัจจัยความร่วมมือของประชาชนที่ยังจำเป็นต้องใช้ไฟอยู่บ้างในบางกิจกรรม

.

ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าว่าจะลดจำนวนจุดความร้อน hotspots และร่องรอยเผาไหม้ burnt Scars ลงจากปีก่อนหน้าให้ได้ร้อยละ 25 กล่าวคือ เมื่อปี 2563 มีพื้นที่เผาไหม้ รวม 1,384,078 ไร่ ตั้งเป้าให้เหลือ 1,038,058.5 ไร่ ขณะที่มีสถิติจุดความร้อนดาวเทียมระบบ viirs จำนวน 21,183 จุด  ปีนี้เชียงใหม่จะใช้ KPI ตัวชี้วัดความสำเร็จทั้ง จุดความร้อนและพื้นที่เผาไหม้ควบคู่กัน  ทั้งนี้เพราะดาวเทียมมีจุดอ่อนที่โคจรผ่านประเทศไทยวันละ 2 รอบ ผู้ที่เข้าใจวงโคจรสามารถเผาหลบการรายงานดาวเทียมได้ง่ายๆ  ดังจะเห็นได้จากบางจังหวัดมีสถิติของ hotspots น้อย แต่พื้นที่เผาไหม้จริงสูงมาก ไม่สอดคล้องกัน

.

หัวใจสำคัญคือแนวคิดเรื่องการบริหารจัดการเชื้อเพลิงและให้ท้องที่ท้องถิ่นมีบทบาทเพื่อให้การปฏิบัติเชิง “ป้องกัน” มีความชัดเจนขึ้น เพราะการป้องกันไม่ให้ฝุ่นและไฟเกิดไว้ก่อน ย่อมดีกว่า การไล่ตามดับไฟ อย่างแน่นอน

.

จาก Zero burning สู่ Fire management

.

การบริหารจัดการไฟ (fire management) ที่จะนำมาใช้ในปี 2564  กำหนดแบ่งพื้นที่ออกเป็นโซนเหนือ และใต้ โดยอำเภอในโซนใต้ จะเริ่มบริหารจัดการไฟก่อน ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เพราะทางใต้อากาศร้อนเร็วกว่าทางเหนือ ใบไม้ผลัดใบก่อน ประกอบกับห้วงเวลานั้นทิศทางลมยังเป็นลมหนาวจากตะวันออกเฉียงเหนือ  หรือทางเหนือ ทิศทางพัดพาฝุ่นควันไม่เข้าแอ่งเมืองที่มีประชากรหนาแน่น  จากนั้นในระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน เป็นการบริหารจัดการไฟโซนเหนือ ในห้วงนั้นทิศทางลมเริ่มเปลี่ยนมาเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้  ทำให้ฝุ่นควันไฟพัดขึ้นไปไม่เข้าเมืองเช่นกัน

.

นอกจากนั้นได้กำหนดโควตาการบริหารจัดการไฟทั้งหมดรวมกันไม่เกิน 5 แสนไร่ (กรมอุทยาน+กรมป่าไม้+พื้นที่เกษตรฯลฯ)  และจะมีบันทึกแจ้งรายการจัดการไฟแยกออกจากสถิติ  hotspots และ รอยเผาไหม้ burnt scars ที่ GISTDA ทำรายงานออกมา เพื่อให้เห็นภาพรวมของการเผาไหม้ที่มีการจัดการ กับไฟป่าหรือไฟลักลอบเผา

.

ปี 2564 จะเป็นปีแรก ที่จะให้บริหารจัดการไร่หมุนเวียนของชนเผ่าพื้นเมืองที่มีวัฒนธรรมเฉพาะ ปกติแล้วการเผาไร่หมุนเวียนจะต้องทำแนวกันไฟป้องกันไม่ให้ลาม และทำในช่วงกลางวันแดดจัดตอนเชื้อเพลิงแห้งที่สุด จะเกิดมลพิษและควันน้อยกว่าเผาเปียกฝนหรือเผาขณะยังไม่แห้ง ปีนี้กำหนดให้สำรวจข้อมูลพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายในมกราคม 2564 และให้บริหารจัดการระหว่าง กุมภาพันธ์-มีนาคม 2564 ทั้งนี้มีข้อมูลเดิมระบุว่าไร่หมุนเวียนใน 4 อำเภอ คือ สะเมิง กัลยาณิวัฒนา อมก๋อม แม่แจ่ม รวมกันประมาณ 64,000 ไร่

.

ชู บทบาท อปท. ท้องถิ่น

.

จะมีการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างปฏิบัติการ โดยให้บทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท) มีส่วนสำคัญในการบริหารจัดการไฟและมลพิษฝุ่นอย่างเต็มตัว

.

เรื่องนี้เป็นปัญหาคาราคาซังภายในระบบราชการระดับจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าไม้มานานหลายปี เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2540 และ พรบ.กำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจ 2542 กำหนดให้กรมป่าไม้ถ่ายโอนภารกิจด้านการป้องกันไฟป่าให้กับองค์กรท้องถิ่น และจากนั้นมีการทยอยถ่ายโอนเรื่อยมา ส่วนของเชียงใหม่ มีอปท.ที่ได้รับถ่ายโอนทั้งสิ้น 101 แห่ง แต่ปรากฏว่า ในทางปฏิบัติมีเพียงปีเดียวที่อปท.ได้งบประมาณหมวดว่าด้วยการจัดการไฟ หลังจากนั้นไม่เคยมีงบประมาณด้านนี้มาเลย ไม่เพียงเท่านั้นพื้นที่ป่าติดกับอปท. แต่ละแห่งมีหน่วยงานของกรมป่าไม้ดูแล และส่วนใหญ่ไม่เข้าใจกันในรายละเอียดว่าหน่วยไหนมีบทบาทใด พื้นที่ทับซ้อนของหน่วยราชการเป็นข้อจำกัดของการใช้งบประมาณ ยิ่งไปกว่านั้น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ยังเคยมีการตรวจสอบ อปท. บางแห่ง ว่าไม่มีภาระหน้าที่ด้านดับไฟแต่ใช้เงินงบประมาณไปแล้วอาจมีความผิด ทำให้ กลไก อปท. ที่ได้รับถ่ายโอนภารกิจมาแล้วไม่กล้าคิดทำอะไร ที่ผ่านมาจึงมีเพียงอปท.บางแห่งเท่านั้น ที่กล้าใช้งบประมาณและมีบทบาทช่วยเหลือชุมชน แต่ส่วนใหญ่แทบไม่มีบทบาทการบริหารจัดการในภาพใหญ่ แค่ช่วยงบประมาณทำแนวกันไฟ หรือ กิจกรรมลักษณะอีเวนท์

.

การให้บทบาท อปท. บริหารจัดการไฟทั้งหมดในพื้นที่ขอบเขตตำบล เป็นการอุดจุดอ่อนที่ไม่เคยมีหน่วยและเจ้าหน้าที่รับผิดชอบพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัด ก็คือเขตป่าสงวนประมาณ 5 ล้านไร่ (ทั้งจังหวัดมีประมาณ 13 ล้านไร่ เป็นเขตป่าประมาณ 0% ในจำนวนนี้เป็นเขตป่าอนุรักษ์มีหน่วยงานดูแลโดยตรงราว 4 ล้านไร่ และป่าสงวนไม่มีหน่วยดูแลตรงราว 5 ล้านไร่ ที่เหลือเป็นที่ราบมีเอกสารและที่ของหน่วยราชการอื่น)

.

ในปีนี้ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ประกาศยืนยันว่า อปท.ทุกแห่งสามารถใช้งบประมาณในการแก้ปัญหาดับไฟและมลพิษฝุ่นควันได้ หากมีปัญหาตนจะรับผิดชอบเอง

.

แต่อย่างไรก็ตาม แนวคิดการชูบทบาทของ อปท. หรือ ฝ่ายท้องถิ่น เพิ่มขึ้นมาในโครงสร้างการจัดการก็ยังเพิ่งจะเริ่มขยับ ปีก่อนหน้า คือ ปี 2563 จังหวัดเคยสั่งให้อปท.แต่ละแห่งเตรียมอาสาสมัครดับไฟไว้แต่ไม่สามารถทำได้จริง โดยติดปัญหาระเบียบและความพร้อม มาปีนี้ แม้จะมีแนวคิดเพิ่มบทบาทให้อปท. แต่ก็ยังเป็นช่วงเริ่มต้นที่ยังไม่ชัดเจนว่า จะให้มีบทบาทมากน้อยแค่ไหน อปท.ที่ก้าวหน้าบางแห่ง ซึ่งเป็นต้นแบบจัดการป่า อย่าง เทศบาลตำบลแม่ทา อ.แม่ออน เชียงใหม่ วางบทบาทเป็นศูนย์กลางวางแผน จัดการทรัพยากรและงบประมาณให้กับหมู่บ้าน ก็คือ การบริหารจัดการทั้งปีรวมถึงระยะป้องกันด้วย แต่ระบบการบริหารจัดการภัยพิบัติมลพิษไฟป่าหมอกควัน (ศัพท์ที่ราชการใช้) ที่ผ่านๆ มา เริ่มทำงานจริงในช่วงก่อนฤดูไฟจะมาในรูปของคณะทำงานแก้ภัยพิบัติ ตามพรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทำให้ อปท.จำนวนไม่น้อยยังเข้าใจว่า บทบาทของตนมีแค่การช่วยเหลือในระยะดับไฟเท่านั้น

.

และที่สำคัญที่สุด เรื่องงบประมาณ เพราะอปท.จำนวนไม่น้อยในเขตป่า เป็นอปท.ขนาดเล็ก มีงบประมาณน้อย ส่วนกลางไม่มีงบประมาณอุดหนุนโดยตรง มีแต่งบกลางที่ต้องเฉลี่ยใช้ตามความจำเป็นลดหลั่นกันลงมา งบประมาณเพื่อบริหารจัดการไฟและมลพิษบางแห่งแทบไม่มีใช้ มีอปท.บางแห่งในอำเภออมก๋อย สามารถจัดสรรงบประมาณให้กับชุมชนหมู่บ้านจัดการไฟ (ทำแนวกันไฟ ดับไฟ ลาดตระเวน) แค่ 5 พันบาท/หมู่บ้าน เงินจำนวนนี้ต้องใช้ 3 เดือน ซึ่งเป็นที่รู้ว่าไม่เพียงพอต้องให้ชาวบ้านควักเงินช่วยกันเอง

.

แนวทางใหม่ในเรื่องนี้แม้จะเป็นแนวคิดที่ดี แต่ก็ยังเพิ่งเริ่มและยังมีปัญหาอุปสรรคอยู่ไม่น้อย

.

ทำแผนหมู่บ้าน

.

.

ปี 2564 เป็นปีแรกเช่นกันที่เริ่มให้มีการจัดทำแผนระดับหมู่บ้าน สั่งให้ทุกหมู่บ้านจัดทำแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิง มีองค์กรประกอบคือ ในภาพรวมของแผน ต้องให้มีพื้นที่ป้องกันยิ่งยวด(ไข่ในหิน)ประมาณ 60%   ให้มีพื้นที่สามารถบริหารจัดการเชื้อเพลิง 40%  กำหนดจัดทำแนวกันไฟรวม 2020 กิโลเมตร จัดทำฝายถาวร 98 แห่ง และพื้นที่ปลูกฟื้นฟูทำแนวกันไฟป่าเปียก 1500 ไร่

.

ทุกหมู่บ้านให้มีแผนเผชิญเหตุ ระบุรายชื่ออาสาสมัครดับไฟ และชุดลาดตระเวน กำหนดเส้นทางเข้า-ออก และจุดเสี่ยงของการเกิดไฟในขอบเขตหมู่บ้านตน ทั้งนี้ อาสาสมัครทั้งหมดจะมีการออกคำสั่งรองรับจากทางราชการเพื่อให้มีเงินชดเชย ประกันอุบัติเหตุและเบี้ยเลี้ยง

.

อย่างไรก็ตาม การทำแผนหมู่บ้านและทรัพยากรที่ใช้ทั้งหมดในปี 2564 กำหนดจะขอรับการสนับสนุนจากอบจ.เชียงใหม่ และ อีกส่วนหนึ่งจาก อปท.ในพื้นที่ ซึ่งได้มีการหารือในหลักการเบื้องต้นแล้ว แต่ก็มีเหตุที่ยังไม่ใช่เจนจากการเลือกตั้งนายกอบจ. ซึ่งกำหนดให้มีในวันที่ 20 ธันวาคม 2563  ดังนั้นความชัดเจนเรื่องงบประมาณสนับสนุนจากอบจ. เพื่ออุดหนุนการทำงานของหมู่บ้านชุมชน ติดเขตป่ากว่า 1,000 หมู่บ้าน จะรวดเร็วเพียงใดหรือยังต้องประสานงานเพิ่มเติม อาจจะยังต้องรอการรับรองผลการเลือกตั้ง  คาดว่า ต้องหลังจากปีใหม่ไปก่อน

.

แท้จริงแล้ว ในปฏิบัติการดับไฟและแก้ปัญหาวิกฤตฝุ่นควันตลอดหลายปีมานี้ ประชาชนในระดับหมู่บ้านก็คือ กำลังพลที่แท้จริงของการดับไฟ ผ่านกลไกกำนันผู้ใหญ่บ้าน แต่ประชาชนที่ว่าไม่มีเบี้ยเลี้ยง ไม่มีสวัสดิการที่ชัดเจน และขาดทักษะการฝึกอบรม หลายปีมานี้จึงมีราษฎรอาสาสมัครช่วยดับไฟเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บหลายคน อีกทั้งงบประมาณอุดหนุนตรงยังชุมชนแต่ละปีก็ไม่เท่ากัน ไม่เป็นระบบ ขึ้นกับนโยบายของแต่ละปี

.

ทั้งๆ ที่ชุมชนเป็นหน่วยพื้นฐาน และสมรภูมิหน้าด่านของปัญหาฝุ่นควันมลพิษ ของจังหวัดที่มีสัดส่วนพื้นที่ป่าเขามากกว่า 60% ในภาคเหนือตอนบน

.

เร่งรัดสิทธิทำกิน มุ่งการผลิตยั่งยืน

.

สิทธิที่ทำกินในเขตป่าเป็นปัญหาเรื้อรังของพื้นที่ภาคเหนือ เรื่องนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยวระยะสั้น โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ตอบโจทย์ปลูกง่ายขายเร็วไม่ต้องการน้ำมาก การที่พื้นที่ทำกินไม่สามารถพัฒนาสาธารณูปโภคและไม่มีสิทธิระยะยาวที่ชัดเจนไม่สามารถปลูกพืชยืนต้นหรือวนเกษตรซึ่งไม่ต้องใช้ไฟ ปัญหาปากท้องเกี่ยวข้องกับไฟในป่าของหลายพื้นที่ เพราะประชาชนต้องเข้าป่าไปหาเลี้ยงชีพด้วยของป่า

.

แนวทางของจังหวัดเชียงใหม่ ได้เร่งรัดกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ตามโครงการจัดที่ดินทำกินในเขตป่าสงวน  คทช.  ให้เร็วขึ้นจากกระบวนการปกติโดยอาศัยกลไกฝ่ายปกครองระดับอำเภอร่วมพิสูจน์สิทธิ์ ในปีนี้จะมีพื้นที่ตกลงที่ชัดเจนกับประชาชนให้รับรู้ว่ารัฐได้รับรองสิทธิ์ให้ ให้เกิดความสบายใจและเริ่มต้นพัฒนาการผลิตใหม่ที่ยั่งยืนและไม่ใช้ไฟ

.

ชุมชนในเขตอุทยานที่จะมีการกันที่ทำกินออกมาให้ชัดเจนตามพรบ.อุทยานฉบับใหม่ใน 4 อุทยานนำร่อง จะมีโครงการความร่วมมือยกระดับอาชีพและพัฒนาพื้นที่ไปด้วย มองเห็นร่วมกันว่าปัญหาสิทธิทำกินกับการพัฒนาอาชีพและการผลิตเป็นเรื่องเดียวกัน และผูกพันกับปัญหาฝุ่นควันไฟ

.

ปัญหาของมาตรการใหม่

.

ชุดมาตรการใหม่ที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาไฟและมลพิษฝุ่นของเชียงใหม่ เป็นเรื่องใหม่ ใหม่ทั้งกระบวนทัศน์และวิธีทำงาน เปลี่ยนจากวิธีปฏิบัติที่ทำต่อเนื่องกันมา 6-7 ปี การดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ อบจ. เทศบาล และอบต.ในพื้นที่ให้มีบทบาทเพิ่มขึ้น ยังเป็นเรื่องใหม่ที่ผู้เกี่ยวข้องมองเห็นไม่ตรงกัน

.

กล่าวคือ ยังมีความไม่ชัดเจนว่าที่สุดแล้ว อปท. ควรจะมีบทบาทขนาดไหน และเช่นไรกันแน่ เช่น หากยึดตัวอย่างของ อบต.แม่ทา อำเภอแม่ออน ซึ่งได้รับการยกย่องว่ามีระบบการบริหารจัดการป่าได้ดีมากจนมีหน่วยงานต่างๆ มาดูงานบ่อยครั้ง อบต.แม่ทา จะเป็นศูนย์กลางของการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ตลอดทั้งปี เป็นหน่วยประสานงานเพื่อให้มีการทำแผนร่วมกันของชุมชนหมู่บ้าน เป็นหน่วยหางบประมาณสนับสนุน ตลอดถึงช่วงของการเผชิญเหตุ ครบวงจร แนวคิดนี้คือ กระจายอำนาจจัดการไฟไปที่ท้องถิ่น (ตำบล) แบบเต็มที่รับผิดชอบทำงานร่วมกับท้องที่ กำนันผู้ใหญ่บ้านชุมชนตลอดทั้งปี

.

แต่อีกแนวคิดหนึ่ง ยังคิดว่า อปท.ระดับตำบล เป็นหน่วยสนับสนุนการเผชิญภัยพิบัติเฉพาะช่วงเกิดเหตุ (ประมาณมกราคม-เมษายน) คือจะมีบทบาทสนับสนุนให้ทำแนวกันไฟ ให้งบประมาณหมู่บ้านทำแผนเฉพาะกิจ และ เป็นหน่วยสนับสนุนกำลังพลให้กับ มาตรการเผชิญเหตุศูนย์บัญชาการกลาง  ซึ่งตามโครงสร้างของ พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะมีลำดับบังคับบัญชารองลงจากนายอำเภอ คอยรับคำสั่งไปเผชิญเหตุจากนายอำเภอเป็นหลัก แต่เมื่อหมดฤดูไฟอปท.ก็หมดบทบาทกับภาระหน้าที่เกี่ยวข้องกับป่า กลับไปทำหน้าที่อื่นแบบที่เคยทำ

.

ทั้งนี้เพราะแม้ว่ามีการถ่ายโอนภารกิจจัดการไฟของกรมป่าไม้ให้กับอปท.ไปแล้ว แต่ถึงที่สุดก็ยังไม่ชัดเจนว่า ในระหว่างฤดูปกติที่ไม่มีไฟ อปท. จะสามารถดำเนินการใดได้บ้างในป่าที่ได้รับมอบภารกิจมา ประกอบกับอปท.อีกจำนวนไม่น้อยไม่อยากรับมอบภารกิจนี้ จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม เพราะเป็นเรื่องยุ่งยาก ไม่มีความชำนาญและประกอบกับต้องไปเกี่ยวข้องกับหน่วยราชการส่วนกลางที่ดูแลพื้นที่ทับซ้อนกันอยู่

.

การกระจายอำนาจเป็นเรื่องยากเย็นของประเทศนี้มานานแล้ว!

.

แผนชุมชน “ที่แท้จริง” ด่านหินสุด

.

ด่านที่ยากที่สุดของมาตรการใหม่อีกประการก็คือ การทำแผนชุมชนชนิดที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วมและสะท้อนความต้องการแท้จริง  ตัวอย่างชุมชนจัดการไฟเข้มแข็ง ที่ร่วมกันคิดทำแผนดูแลรักษาป่า คิดค้นทำแนวกันไฟ ทำจุดรวมเครื่องมืออุปกรณ์กลางทางเพื่อไม่ต้องขนส่งไกล มีระบบเก็บน้ำดับไฟใกล้เขตป่า มีระบบลาดตระเวน การร่วมกันเสนอใช้ทรัพยากร อุปกรณ์ที่ต้องการ  ร่วมเสนอพื้นที่ต้องใช้ไฟ พื้นที่จัดการไฟ และพื้นที่อนุรักษ์ รวมทั้งเสนองบประมาณ ฯลฯ นั้นมีอยู่บ้างแต่เป็นสัดส่วนจำนวนน้อยมาก กล่าวได้ว่าชุมชนกว่า 90% ไม่เคยมีการทำแผนแบบมีส่วนร่วมสะท้อนความต้องการ

.

ปีนี้จังหวัดให้ชุมชนทำแผนระดับชุมชนเพื่อเสนอของบประมาณสนับสนุนจากอบจ./อปท. โดยใช้กรอบสำเร็จรูป พื้นที่อนุรักษ์ พื้นที่จัดการไฟ จำนวนอาสาสมัคร ฯลฯ อย่างกระชั้นชิดมีเวลาน้อยสำหรับการทำแผน  กล่าวว่าเป็นเพียงกระบวนการเบื้องต้นเท่านั้น ที่จะเปิดให้ชุมชนรู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของแผน สามารถกำหนดและเสนอความต้องการของตนเข้าไปในแผนใหญ่ ที่ผ่านมา มาตรการบังคับแบบ zero burning เน้นที่คำสั่งห้ามเด็ดขาด ไปกระทบกับวิถีชีวิตที่จำเป็นต้องใช้ไฟของชุมชนไม่น้อย ปีนี้เป็นปีแรกของการเปลี่ยนแปลง ที่อาจจะยังไม่ลงตัวนัก

.

ความขัดแย้ง-ตาบอดคลำช้าง-ความรู้ที่ไม่ใช่แค่หยุดเผา

.

ด่านใหญ่อีกด่าน ก็คือความรู้ความเข้าใจของสังคมต่อเรื่องไฟและมลพิษฝุ่น ที่ผ่านมา คนในเมืองกับคนในชนบทขัดแย้งกัน ความไม่รู้ว่าต้นตอสาเหตุของมลพิษฝุ่นมาจากไหนกันแน่ ตลอดถึงความไม่รู้ไม่เข้าใจนิเวศลมฟ้าอากาศอันเป็นปัจจัยสำคัญของมลพิษฝุ่นควัน ซึ่งที่แท้แล้วมลพิษฝุ่นเป็นผลผลิตของวิถีชีวิตของผู้คนทั้งหมด ไม่ว่าในป่าในเมืองปลดปล่อยออกมา ทั้งจากยานยนต์ ปากปล่อง การผลิต การกินอยู่ การทำมาหากิน และจากการเผาไหม้ในป่า บางอย่างเป็น conflict of interest ระหว่างกลุ่มที่ประกอบอาชีพต่างกัน และไม่ใช่แค่ความรู้เรื่องต้นตอมลพิษ ยังต้องรู้ปัจจัยสภาพอากาศประกอบกัน เมื่อถึงฤดูแล้งไม่ใช่แค่เกิดไฟตามฤดูกาลเท่านั้น สภาพอากาศในแอ่งก็ปิด ระบายไม่ได้มลพิษก็ทวีเร่งเร้าขึ้น ฯลฯ ระดับความรู้ความเข้าใจต่อเรื่องเหล่านี้มีผลต่อความเข้าใจปัญหาในภาพรวม ที่ประชาชนแต่ละกลุ่มเหล่ามองเห็นต่างกัน/ขัดแย้งกัน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงวิธีการด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ มาตรการใหม่ การเปิดให้เผาในนามของการบริหารจัดการไฟ ก็อาจจะเป็นปัญหาย้อนกลับมาจากสังคมที่ไม่เข้าใจ

.

ชุดมาตรการและกระบวนทัศน์ใหม่ทั้งหมด หากสำเร็จในระดับสำคัญผ่านฤดูฝ่นควันไฟได้ จะสามารถเรียกว่าเป็น “เชียงใหม่โมเดล64” ได้เต็มปาก แต่ถึงบัดนี้ เชียงใหม่โมเดลที่ว่าหากเป็นทารกก็เพิ่งตั้งไข่หัดเดิน แถมกำลังเผชิญด่านท้าทายสำคัญในฤดูฝุ่นควันไฟที่จะถึง 

.

โดย ทีมข่าว WEVO สื่ออาสา

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →