รวมพลังแม่ฮ่องสอนชนะฝุ่นควันภาคเหนือ

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 ณ ห้องประชุมสำนักงานสมาคมชมรมผู้สูงอายุจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มีการประชุมสมัชชา “การจัดการไฟป่าและหมอกควันแบบมีส่วนร่วมจังหวัดแม่ฮ่องสอน” อันเป็นเวทีที่มีการรวมตัวกันระหว่างกลุ่มประชาชนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการไฟ และมลพิษฝุ่นควันครั้งใหญ่ มีตัวแทนจากหอการค้าและภาคเอกชน นายแพทย์และภาคสาธารณสุข แกนนำประชาชนภาคสังคมวัฒนธรรม และเกษตรกรจากพื้นที่ต่างๆ ในงานมีวงแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากตัวแทนสภาลมหายใจเชียงใหม่ การนำเสนอบทเรียนของประชาชนแม่ฮ่องสอน จากอบต.ห้วยปูลิง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน อบต.แม่กิ๊ อำเภอขุนยวม และการขับเคลื่อนงานด้านสาธารณสุขจากตำบลสบป่อง อ.ปางมะผ้า สะท้อนความคิดเห็นและประสบการณ์จัดการไฟของภาคประชาชนระดับพื้นที่

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ งานสมัชชา-การจัดการไฟป่าและหมอกควัน-180364_210323_2_9-1024x577.jpg
รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ DJI_0119-1024x576.jpg

จากนั้นเป็นเวทีอภิปรายสถานการณ์และการรับมือหมอกควันและแนวทางมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน จากมุมมองที่หลากหลาย มีน.ส.ชนเขต บุญญขันธ์ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน พีระพล หวังก่อนใคร ประธานกรรมการผู้จัดการบริษัท We eco จำกัด กิจการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้ามารับซื้อใบไม้จากชาวบ้าน ประเสริฐ ประดิษฐ์ ประธานสภาวัฒนธรรม น.พ.สุพัฒน์ ใจงาม ผ.อ.รพ.ปางมะผ้า สุวิทย์ นิยมมาก ผอ.ส่วนสิ่งแวดล้อม ทสจ.แม่ฮ่องสอน ร่วมนำเสนอแลกเปลี่ยนความเห็น ในภาคบ่ายวงประชุมได้ยื่นข้อเสนอ 7 ข้อของภาคประชาชนต่อ นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ รองผวจ.แม่ฮ่องสอน หวังให้เกิดการยกระดับการจัดการไฟป่ามลพิษฝุ่นควันอย่างมีส่วนร่วมมากขึ้น การเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมครั้งนี้เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่แม่ฮ่องสอนเพิ่งผจญวิกฤตไฟป่าและมลพิษฝุ่นควันสูงสุด โดยเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีจำนวน hotspots มากกว่า 600 จุด/ วัน และพุ่งขึ้นเป็นลำดับหนึ่งในภาคเหนือ ขณะที่ค่ามลพิษก็สูงกว่าจังหวัดอื่นโดยเฉลี่ยเกินมาตรฐานแทบตลอดทั้งเดือนเหมือนที่เคยเป็นมาทุกปี การตอบรับของทางจังหวัดว่าจะให้เกิดมีการร่วมไม้ร่วมมือกันมากขึ้นแทบจะสายไปแล้วสำหรับฤดูนี้

.

แม่ฮ่องสอนเป็นแหล่งกำเนิดของมลพิษฝุ่นควันสูงสุดของภาคเหนือก็เพราะสภาพภูมิประเทศที่เป็นเขตป่ามากกว่า 85% ของพื้นที่ทั้งหมดและป่าส่วนใหญ่ก็เป็นป่าเต็งรังผลัดใบเป็นแอ่งเชื้อเพลิงขนาดใหญ่ในฤดูแล้ง ไม่เพียงเท่านั้นสัดส่วนของชุมชนถึง 84% อยู่ในเขตป่า ซึ่งแน่นอนที่สุด ชุมชนเหล่านั้นแทบจะพัฒนาใดๆ ไม่ได้ เพราะติดเงื่อนไขสิทธิที่ทำกินหน่วยงานด้านการพัฒนาต่างๆ เข้าไปดำเนินการไม่ได้ ถนนหนทางไม่ดี แถมพื้นที่ยังเป็นภูเขาสูงชันเข้าถึงยาก นี่คือเงื่อนไขสำคัญของข้อปัญหา เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา แม่ฮ่องสอนจึงมีสถิติรอยไหม้ burned scars สูงสุดของประเทศมากกว่า 1.7 ล้านไร่ ในช่วงเดือนมีนาคมเมื่อมีลมพัดจากด้านตะวันตก ฝุ่นควันไฟจากแอ่งแม่ฮ่องสอนก็จะถูกหอบไปยังพื้นที่ภาคเหนือตอนใน เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากหากจะจัดการปัญหาไฟป่าแหล่งกำเนิดมลพิษในแม่ฮ่องสอน เพราะป่าบางประเภทก็ต้องใช้ไฟจัดการเชื้อเพลิง การทำมาหากินแปลงเกษตรก็ต้องใช้ไฟ คนยากจนที่หากินกับป่าไม่น้อยที่ใช้ไฟเพื่อการล่าหรือเก็บของป่า รวมไปถึงไฟลามแล้วดับไม่ได้เพราะสภาพภูมิประเทศ ฯลฯ

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ IMG_6976-1024x683.jpg

วงประชุมยอมรับว่าปีนี้แม่ฮ่องสอนค่อนข้างล้มเหลวในการบริหารจัดการเพราะไม่เป็นไปตามแผนจัดการ ขนาดที่ นายอัครเดช วันไชยธนวงศ์ นายกอบจ.แม่ฮ่องสอน ประธานในพิธีเปิดการประชุมเล่าว่าเขาเพิ่งถือแผนมาตรการของปีนี้ไปพบผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อบอกว่ามันเป็นแผนที่ใช้ไม่ได้ ขณะในการอภิปรายก็มีการยอมรับว่า การกำหนดให้ชาวบ้านบริหารจัดการเชื้อเพลิงด้วยการเผาระหว่าง 1 ก.พ.-20 มี.ค. นั้นไม่ได้ผลเพราะมีการเผาก่อนปฏิทินและไม่ควบคุมไฟจริง ปล่อยไหม้ลามข้ามคืนจนเกิดมลพิษสูงเฉลี่ยเกิน 200 มคก./ลบ.ม. บางแห่งมากกว่า 500 มคก./ลบ.ม. จนที่สุดผู้ว่าราชการจังหวัดต้องประกาศห้ามเผาโดยเด็ดขาด ยกเลิกช่วงเวลาให้เกษตรกรชิงเผาตามแผนเดิม

.

แต่อย่างไรก็ตามในท่ามกลางฝุ่นไฟมืดมัวปีนี้ ก็ยังพอมีแสงสว่างให้เห็น

.

แม่ฮ่องสอนกำลังจะสร้างวอร์รูมห้องข้อมูลปฎิบัติการแผนที่จุดเกิดไฟและสภาพดินฟ้าอากาศแบบเดียวกับจังหวัดเชียงใหม่ โดยอบจ.แม่ฮ่องสอนเป็นเจ้าภาพดำเนินการ ซึ่งหมายถึงการพยายามยกระดับการบริหารจัดการบนฐานข้อมูลที่ทันสมัย เข้าใจสภาพลมฟ้าอากาศผนวกกับข้อมูลพื้นที่มากขึ้นกว่าที่ผ่านมาแม่ฮ่องสอนกำลังก่อรูปความร่วมมือของภาคประชาสังคมครั้งใหญ่ ก่อนหน้านี้เมืองแม่ฮ่องสอนก็มีกลุ่มผู้รณรงค์เคลื่อนไหวแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันไฟมาก่อนแล้วแต่ในรอบนี้มีความพยายามประสานภาคส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน ดังจะเห็นว่าในการประชุมสมัชชาฯรอบนี้ มีทั้งตัวแทนจากภาคเอกชน หอการค้า ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ มีทั้งนายแพทย์ที่สนใจผลกระทบสุขภาพ มีบุคลากรภาคประชาสังคม กลุ่มวัฒนธรรม ชาวบ้านภาคเกษตร นักพัฒนา และยังต่อเชื่อมกับภาคราชการได้ดี เป็นนิมิตหมายของการร่วมมือสู้ในยกต่อไป นั่นเพราะว่าปัญหานี้หากไม่มีการทำแผนร่วม และอาศัยความเข้าใจระหว่างภาคส่วนต่างๆ แล้วยากจะสำเร็จ

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ IMG_7223-1024x683.jpg

แม่ฮ่องสอนมีแกนนำภาคการเมืองคือ นายอัครเดช วันไชยธนวงศ์ นายกอบจ.ที่จริงจังกับเรื่องไฟป่าและเข้าใจอุปสรรคการพัฒนาพื้นที่ชุมชนในเขตป่ามานาน รวมถึง นายสุเทพ นุชทรวง อดีตนายกเทศมนตรีเมืองแม่ฮ่องสอนที่ผันตัวเองมาเป็นภาคประชาสังคมมาร่วมผลักดันการรวมกลุ่มของภาคประชาชนแม่ฮ่องสอนรู้ว่าปัญหารากฐานคือเมืองในนิเวศแอ่งภูเขาป่าผลัดใบที่ประชาชน 84% อยู่ในเขตป่า ระหว่างนี้ได้มีความพยายามปลดล็อกปัญหาเรื้อรังที่ว่าด้วยการออกสำรวจ พื้นที่ทำกินใจเขตอุทยานตามกฎหมายใหม่ ที่ดิน คทช. เขตป่าสงวนลุ่มน้ำ3-4-5 แล้วเสร็จพร้อมปลดล็อกให้สิทธิที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ได้ มีป่าชุมชนตามกฎหมาย 200 หมู่บ้านแล้ว พื้นที่เหล่านี้เป็นฐานสำคัญของการยกระดับการผลิต เช่น ปลูกบุก ปลูกกัญชง พืชที่ยั่งยืนและปลอดจากการใช้ไฟ การยกระดับรายได้ประชาชนและปลูกพืชที่ยั่งยืนเป็นทางออกสำคัญของเมืองหุบเขาแม่ฮ่องสอนที่ประชาชนส่วนใหญ่ติดพันธนาการว่าด้วยสิทธิในเขตป่ามาโดยตลอด การประสานพลังปรับปรุงแผนการจัดการไฟแบบมีส่วนร่วมที่มีประสิทธิภาพขึ้น เป็นโจทย์ที่ท้าทายคนในพื้นที่ เพราะแม่ฮ่องสอนมีทั้งภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่ติดขัดการเดินทางไฟลท์บินถูกยกเลิก อากาศเป็นหมอกควันมลพิษถึง 3 เดือน ขณะที่ภาควัฒนธรรมผู้คนที่นั่นยังเห็นว่าไฟในเขตป่าผลัดใบก็ยังจำเป็นต้องมี ซึ่งจะต้องมีมาตรการจัดการที่เหมาะสมไม่ใช่การห้ามเด็ดขาดที่จะซ้ำเติมปัญหาลงไปอีก ยิ่งภาคเกษตรที่เป็นประชาชนส่วนใหญ่ยิ่งมีโจทย์ต้องใช้ไฟจัดการแปลงทำกิน ที่ผ่านมาบางปีมีการจัดการที่ดี แบ่งพื้นที่ทยอยเผาเป็นโซนและหมู่บ้านไล่กัน เพื่อไม่ให้มีควันมากเกินไป บางหมู่บ้านมีภูมิปัญญาการชิงเผาทำแนวไฟป้องกันหมู่บ้าน แต่ก็มีปัญหาไฟที่ไหม้ลุกลามยากจัดการเช่นกัน ซึ่งก็ต้องมีแผน ประสานความต้องการที่หลากหลายดังกล่าวของชาวเมืองในแอ่งเช่นไร

อัครเดช วันไชยธนวงศ์ นายกอบจ.แม่ฮ่องสอน มองว่า จะต้องทำแผนอย่างมีส่วนร่วมให้ประชาชนมีส่วนและเข้าใจแผนตั้งแต่ต้นทางบนฐานความเข้าใจพื้นที่และชุมชนเท่านั้นที่จะเป็นทางออก ซึ่งที่ผ่านมาบางปีดี บางปีไม่ดี จึงต้องยกระดับกลไกการมีส่วนร่วมดังกล่าวถึงจะนำไปสู่ทางแก้ปัญหาได้

.

ในภาพรวมของปัญหามลพิษอากาศฝุ่นควันภาคเหนือ แม่ฮ่องสอนเป็นแหล่งกำเนิดไฟและฝุ่นควันใหญ่ที่สุด พื้นที่กันดารสุด มีความซับซ้อนของปัญหามากสุด และหากยังฝ่าด่านแม่ฮ่องสอนไม่ได้ การเอาชนะฝุ่นควันภาคเหนือก็คงยังห่างไกล

.


#เพื่อลมหายใจภาคเหนือ

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →