ชาวหางดง ฟ้องชนะ คก.สวล.แห่งชาติ ไม่เอาจริงแก้มลพิษฝุ่นควัน
.
หนึ่ง.- ผู้ฟ้องชื่อว่า นายภูมิ วชร เจริญผลิตผล เป็นนักกฎหมาย มีบ้านอยู่เขตต.บ้านปง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่ โดยยื่นผ่านระบบอิเลคทรอนิคส์ เมื่อ 15 มีนาคม 2564 ศาลพิจารณาโดยเร็วและมีคำสั่งคดีออกมาในวันที่ 8 เมษายน 2564
.
สอง.- คดีนี้มีความรวดเร็ว ใช้เวลาพิจารณาประมาณ 3 สัปดาห์ เพราะอธิบดีศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยเร่งด่วน ตามระเบียบวิธีพิจารณาคดีปกครอง
.
สาม.- ผู้ถูกฟ้อง คือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ (มอบพล.อ.ประวิตร รองนายกฯเป็นประธานแทน) องค์กรนี้ มีอำนาจตามพรบ.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่สามารถประกาศเขตควบคุมมลพิษเพื่อดำเนินมาตรการแก้ไข เมื่อพบว่ามีมลพิษเป็นเหตุอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพประชาชน แต่กลับไม่ได้ดำเนินการตามหน้าที่
.
สี่.- ผู้ฟ้อง ร้องขอศาลให้มีคำสั่ง 2 ประเด็น คือ ขอให้มีวิธีการชั่วคราวก่อนคำพิพากษาให้มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในจว.เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน แต่ข้อนี้ตกไป ศาลฯ ไม่รับคำขอให้มีการดำเนินวิธีชั่วคราว (เยียวยา)ตามร้องอีกประเด็นหนึ่งคือ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กำหนดให้ 4 จว.ดังกล่าว เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลด และกำจัดมลพิษ ภายใน 7 วันนับแต่ศาลมีพิพากษาข้อนี้ ศาลมีคำสั่งตามที่ผู้ร้องขอมา แต่กำหนดเวลา 30 วัน (ไม่ใช่ 7 วันตามขอ)
.
ห้า.- ภาคราชการเกี่ยวข้อง คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด 4 จังหวัด สนง.สวล.ภาค1 (เชียงใหม่) สาธารณสุขเชียงใหม่ ได้ส่งคำให้การ บรรยายเรื่องราวของจังหวัดตัวเอง ส่วนใหญ่เป็นตัวเลขและมาตรการข้อเท็จจริงที่ได้ดำเนินการมา
.
หก.- เอกสารที่น่าสนใจกว่าคือ คำชี้แจงของผู้ถูกร้อง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้จนท.ฝ่ายกฎหมายชี้แจงแทน ประเด็นสำคัญที่หากจะมีการอุทธรณ์ต่อ ก็คือ มาตรการแก้ปัญหาของรัฐ มีหลายวิธี การกำหนดเขตควบคุมมลพิษเป็นอำนาจที่พิจารณาประกาศตามความเหมาะสม การแก้ปัญหามลพิษแต่ละแห่งใช้มาตรการต่างกัน และเป็นดุลพินิจของคณะกรรมการสวล. เรื่องนี้เป็นมิติการบริหารราชการแผ่นดิน มีมุมมองที่ต่างกันได้ และน่าจะเป็นข้อถกเถียงได้ต่อ
.
เจ็ด.-ประเด็นคำชี้แจงที่ฟังแล้วไม่ดีนัก คือ การบอกว่าปัญหามลพิษฝุ่นควันใน 4 จว.ดีขึ้นตามลำดับ มีทั้งช่วงดีและช่วงไม่ดี และมีมาตรการอื่นๆ มาเป็นลำดับ รวมถึงวาระแห่งชาติ ดังนั้นค่ามลพิษที่เกินมาตรฐานบ้าง ยังไม่ถึงขนาดเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงต่อสุขภาพของประชาชน
.
แปด.-ศาลปกครองเชียงใหม่ พิจารณาว่า ปัญหานี้เกิดเป็นประจำทุกปี แต่การดำเนินการแก้ปัญหาขาดหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ขาดการบูรณาการแผนอย่างเป็นระบบ หลายหน่วยงานซ้ำซ้อน ขาดงบประมาณสนับสนุน และไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ละปี แต่ละจังหวัดมีแนวทางแก้ไม่แตกต่างกันมาก เป็นการแก้ไขตามแนวทางเดิม มีลักษณะเป็นการทำงานประจำ การแก้ปัญหาจึงต้องมีองค์กรหลักและการบูรณาการต่อเนื่อง
.
เก้า.-ศาลฯ มองว่ากลไกตาม พรบ.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อมีการประกาศเขตควบคุมมลพิษแล้ว เจ้าพนักงานท้องถิ่นในเขตนั้นต้องจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อควบคุมและลดมลพิษ กำหนดให้ ผวจ.ต้องดูแลการจัดทำแผนดังกล่าว เป็นแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมระดับจังหวัด และมีงบประมาณอุดหนุนตรงจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากงบประมาณปกติ ก็จะเกิดกระบวนการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ เป็นระบบ ทั้งนี้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรัฐมนตรีหลายกระทรวง เป็นกลไกดำเนินการแก้ปัญหาให้บรรลุผลได้
.
สิบ.-ศาลมีคำสั่งให้ประกาศเขตควบคุมมลพิษภายใน 30 วันนับจากตัดสิน คือ ภายในต้นเดือนพฤษภาคม เพื่อให้มีเวลาในการจัดทำแผนปฏิบัติการ ให้คณะกรรมการสวล.เห็นชอบแผน ของบประมาณ และ ดำเนินการตามแผนได้ทันห้วงเวลาเกิดปัญหามลพิษฝุ่นควันในปี 2565
