คาดการณ์การเติบโตของตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเมียนมาร์ในปี ค.ศ. 2021-2026 ภายใต้สถานการณ์ฝุ่นควันข้ามแดนและการแพร่ระบาดของโควิด-19

ภาพรวมตลาดเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมาร์

Mordor intelligence องค์กรที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลและทำการวิจัยด้านการตลาดและเศรษฐกิจระดับสากล ได้คาดการณ์ว่าในช่วงปี ค.ศ. 2021 – 2026 ตลาดการซื้อขายเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมาร์จะเติบโตขึ้นที่ CAGR 3.1 % เนื่องจากความต้องการเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ในประเทศจีนและไทยมีการลงทุนและขยายการผลิตในอุสาหกรรมอาหารที่สนองต่อวิถีการบริโภคเนื้อสัตว์ของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

.

(ภาพโดย :Mordor intelligence)

.

การขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมาร์และปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน

.

เมียนมาร์มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่อยู่ในเขตภูมิประเทศเนินเขาและพื้นที่แห้งแล้งที่อยู่ทางตอนบนของประเทศตามแนวเขตชายแดนที่ติดกับไทย กว่า 52 % ของพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อยู่ในพื้นที่ของ “รัฐฉาน” บริเวณภาคกลางของประเทศ ในช่วงฤดูเพาะปลูกเกษตรกรจะเริ่มทำการหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่เพาะปลูกช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูฝนและเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงฤดูแล้งในเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต เกษตรกรจะทำการเผาในพื้นที่เพื่อกำจัดเศษลำต้นและใบข้าวโพดที่แห้ง ส่งผลให้เกิดปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่ และในขณะเดียวกันฝุ่นควันดังกล่าวยังถูกกระแสลมระดับบนพัดลอยข้ามพรมแดนเข้ามาในพื้นที่ภาคเหนือของไทยด้วยบางส่วนสมทบกับปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่ในช่วงของเดือนมีนาคม-เมษายนให้ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น 

ส่วนพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อื่น ๆ ของเมียนมาร์นั้นมีในพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดีและเมืองสกาย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องของทรัพยากรน้ำ จึงทำให้เกษตรกรมีช่วงวิถีการเพาะปลูกที่ต่างออกไปจากพื้นที่ทางภาคกลาง โดยเกษตรกรจะเริ่มการหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่เพาะปลูกในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูมรสุม และเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม ด้วยพื้นที่ส่วนใหญ่ในบริเวณนี้เป็นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำ เกษตรกรจึงมีทางเลือกในการปลูกพืชเศรษฐกิจที่หลากหลายตลอดทั้งปี เช่น ข้าว ถั่วเหลือง เป็นต้น มีกิจกรรมทางการเกษตรตลอดทั้งปีและมีการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมค่อนข้างน้อย ต่างจากพื้นที่ในรัฐฉานที่ปลูกได้เฉพาะพืชเศรษฐกิจที่ใช้น้ำน้อยอย่างข้าวโพดเลี้ยสัตว์

การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมาร์ส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝนในช่วงฤดูมรสุมเพื่อให้เมล็ดพันธุ์เจริญงอกงามได้ดีในช่วงเริ่มหยอดเมล็ด มีแนวโน้มว่าพื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมาร์จะขยายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากข้อมูลการรายงานของสำนักข่าว Green News และ Greenpeace Thailand ที่เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับประเด็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเด็นของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พบว่าในปี ค.ศ. 2018 รัฐฉานมีพื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กว่า 7,524,550 ไร่ และกว่า 90% ใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีการปรับปรุงสายพันธุ์จากแหล่งจำหน่วยที่เป็นตัวแทนบริษัทของไทย (อ่านเพิ่มเติมได้จาก: https://www.greenpeace.org/thailand/publication/16490/food-agriculture-haze-and-maize-report/ )

.

ผู้ที่ได้ประโยชน์และผู้ที่เสียประโยชน์ในสถานการณ์วิกฤต

.

จากข้อมูลของรัฐบาลและองค์การการค้าในเมียนมาร์พบว่า บริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ของไทยเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่และมีบทบาทที่สุดในตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมาร์ โดยมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 70% และมีการร่วมทุนกับบริษัทในท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่กว่า 90% อยู่ภายใต้ระบบพันธสัญญานี้ หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตจะถูกขนส่งผ่านด่านการค้าตามแนวชายแดนของเมียนมาร์ที่เชื่อมต่อกับจีนและไทย ส่วนอีกประมาณ 10% จะถูกขนส่งไปยังท่าเรือที่มัณฑะเลย์(แม่น้ำอิรวดี)ที่เป็นตลาดการค้าทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในภาคกลางของเมียนมาร์เพื่อเตรียมส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ เช่น ฟิลิปปินส์ อินเดียและศรีลังกา และอีกส่วนหนึ่งจะถูกส่งไปยังเมืองชายแดน

.

เนื่องด้วยสถานการณ์วิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเกษตรข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมาร์ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเกษตรกรและแรงงานในพื้นที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากการที่รัฐบาลเมียนมาร์ได้ออกมาตรการต่าง ๆ ในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งมาตรการล๊อคดาวน์และมาตรการควบคุมการค้าระหว่างชายแดน มีผลให้เกิดการชะลอตัวของกระบวนการผลิต ตั้งแต่กระบวนการเตรียมการเพาะปลูกไปจนถึงกระบวนการเก็บเกี่ยวและการเก็บรักษาผลผลิตเพื่อเตรียมส่งขายยังอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่ของกระบวนการผลิตนี้ อยู่ภายใต้เงื่อนไขของระบบเกษตรแบบพันธสัญญา จากการศึกษาของ Kavin Woods ในปี 2015 พบว่าเกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่ของเมียนมาร์ในรัฐฉานอยู่ในระบบเกษตรพันธสัญญาที่ไม่ได้ทำสัญญากับบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ของไทยโดยตรง เเต่เป็นการทำสัญญากับตัวแทนในท้องถิ่นที่แสวงหาประโยชน์ต่อจากบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ของไทยอีกต่อหนึ่ง เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนหรือสินเชื่อของสถาบันทางการเงินในระบบ มีเพียงเกษตรกรรายใหญ่ราว 10% เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนนี้ ดังนั้นเกษตรกรรายย่อยกว่า 90% จึงต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุนนอกระบบจากตัวแทนในท้องถิ่น ส่งผลให้เกษตรกรส่วนใหญ่ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขพันธสัญญาแบบตัวแทนที่ผูกมัดให้เกษตรกรไม่มีทางเลือกอื่นในการต่อรองกับสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ ดูเหมือนว่าเกษตรกรและแรงงานกำลังถูกเอาเปรียบและแบกรับภาระนี้ไว้จากการที่รัฐบาลและตัวแทนคู่สัญญาจากบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ของไทย ได้เพิ่มต้นทุนการขนส่งและความเสี่ยงในการเก็บรักษาผลผลิต 

.

ข้อกังวลของสถานการณ์นี้มีอยู่ว่า แม้ในช่วงที่ไม่มีวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และแรงงานในระบบเกษตรกรรมนี้ต้องเผชิญกับปัญหาในวงจรเกษตรพันธสัญญาและปัญหาการสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่มีทั้งการปนเปื้อนของเคมีและฝุ่นควัน ซึ่งเป็นประเด็นสาระสำคัญที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตของพวกเขาเหล่านั้น ความล้มเหลวด้านเศรษฐกิจระดับปัจเจกของตัวเกษตรกร คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ลดลง ผลตอบแทนที่ได้รับไม่คุ้มค่ากับหยาดเหงื่อแรงงานและต้นทุนที่เสียไปกลายเป็นการถูกขูดรีด ซ้ำร้ายชะตากรรมของพวกเขายังถูกเพิกเชยต่อรัฐที่ไม่แม้แต่จะหยิบยื่นเศษความช่วยเหลือมาให้ วันนี้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และสถานการณ์ทางการเมืองที่เลวร้ายทำให้สถานการณ์ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และแรงงานในระบบนี้ของเมียนมาร์วิกฤตยิ่งกว่าเดิม ท้ายนี้คำถามที่อยากจะชวนให้ท่านผู้อ่านแลกเปลี่ยนว่าใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อสถานการณ์วิกฤตนี้และผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ควรตระหนักและให้ความสำคัญกับผลกระทบที่ตนได้มีส่วนสร้างขึ้นนี้อย่างไร

.

บทความโดย :

ชนกนันทน์ นันตะวัน และภูวมินทร์ อินดี, ฝ่ายวิชาการสภาลมหายใจเชียงใหม่

.

อ้างอิง

(1)Myanmar Maize Seed Market – Growth, Trends, COVID-19 Impact, and Forecasts (2021 – 2026) (mordorintelligence.com)

(2)เปิดปมทุนข้ามชาติ กับควันพิษข้ามพรมแดน – ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) (tcijthai.com)

(3)https://greennews.agency/?p=20516

#เพื่อลมหายใจภาคเหนือ

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →