2 นักวิชาการดัง ชี้! ลดงบสิ่งแวดล้อม ปี 2565 มีผลต่อการแก้ฝุ่นควัน

3 มิถุนายน 2564 เพจ GreenNews ได้แพร่ภาพสด คุยกับ รศ. ดร.วิษณุ อรรถวานิช นักวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในหัวข้อ งบประมาณ 65 ให้ค่า “สิ่งแวดล้อม” แค่ไหน? หลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่าย​ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วงเงิน 3,100,000 ล้านบาท ซึ่งหนึ่งในยุทธศาสตร์ ที่หลายคนจับตา คือ คือยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ถูกหั่นลดลง จาก 16,143 ล้านบาทในปี 2564 เหลือ 8,534 ล้านบาทในปี 2565
.


ช่วงหนึ่งในการสนทนา รศ. ดร.วิษณุ อรรถวานิช ได้ระบุว่า หลังไปดูเชิงสถิติ พบว่าการลงลดในส่วนนี้ไม่ค่อยเหมาะสม เป็นเรื่องที่น่าตกใจ เพราะถือว่าน้อยที่สุดในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา ทั้งที่มีน้อยอยู่แล้ว และประเทศไทยยังมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องแก้อีกเยอะมากแต่กลับลงลดกว่า 47% พร้อมกับตั้งคำถามว่า หากจัดลำดับความสำคัญของประเทศ มีนัยที่สะท้อนให้ว่ารัฐบาลมอง ให้ความสำคัญกับด้านสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดหรือไม่ และเมื่อจำแนกตามกิจกรรมต่างๆ เช่น การควบคุมและกำจัดมลภาวะ  ปี 2562 ได้มากถึง 3,021 ล้านบาท ปัจจุบันเหลือเป็น 2,379 ล้าน หรือรัฐบาลมองว่า ปัญหามลพิษทางอากาศในบ้านเรา ดีขึ้นแล้วใช่หรือไม่ ทั้งที่ความเป็นจริง เรายังติดอันดับต้นๆของโลก 


.
“งบสิ่งแวดล้อมที่ถูกตัดกว่า 50 %  มันสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลไม่ได้มองว่าการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม เป็นงานหลักหรืองานประจำ ควรเน้นที่การตั้งรับ หรือพอใจกับการแก้ปัญหากับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันแล้ว การที่บางอย่างต้องหยุด 1 ปี และ ไปแก้ปีหน้า งานที่ทำกันมาก็ไม่ต่อเนื่อง ทุกอย่างก็ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่อีก การที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ได้รับการฟื้นฟู ก็จะเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ มีความเป็นไปได้ว่า จากนี้ไปความเหลื่อมล้ำจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่น คนที่มีกำลังจ่ายหรือมีฐานะทางเศรษฐกิจ มีความสามารถในการซื้อหน้ากากอนามัยป้องกัน PM2.5 ได้ ซื้อเครื่องฟอกอากาศได้ และติดตั้งแอร์ได้ ก็จะไม่เดือดร้อน แค่จะสวนทางกับผู้มีรายได้น้อย ไม่ใช่แค่ในมิติของรายได้เพียงอย่างเดียว ยังจะส่งผลไปถึงสถานการณ์สิ่งแวดล้อม และอนาคตของลูกหลานเราด้วย”
รศ. ดร.วิษณุ ระบุ

.

ขณะที่ เพจ Think Forward Center – ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต ลงข้อมูล ในหัวข้อ “งบประมาณ 65” เตรียมการรับมือปัญหา “ฝุ่นละอองขนาดเล็ก” หรือ PM2.5 ได้ดีเพียงใด? โดย ดร. เดชรัต สุขกำเนิด  นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า รู้สึกสิ้นหวัง โดยให้เหตุผล 3 ประการ คือ

.

1. งบประมาณด้านสิ่งแวดล้อม ในงบปี 2565 ถูกหั่นลดลง

.

เหลือ 8,534 ล้านบาทในปี 2565 หรือลดลงกว่า 47% ในขณะที่งบประมาณรายจ่ายโดยรวมลดลงในอัตรา 5.7% เท่านั้น ถ้าเปรียบเทียบง่ายๆ ให้งบประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท เทียบเท่ากับเงิน 100 บาท รัฐบาลก็จัดสรรงบมาเพื่อสิ่งแวดล้อมประมาณ 27.5 สตางค์

.

ในขณะที่รัฐบาลในสหภาพยุโรปจะจัดสรรงบประมาณโดยเฉลี่ย 1.6% ของงบประมาณทั้งหมดเพื่อสิ่งแวดล้อม ส่วนรัฐบาลจีนจะจัดสรรงบประมาณเพื่อสิ่งแวดล้อมประมาณ 2.5% ของงบประมาณทั้งหมด ส่วนรัฐบาลไทยก็จัดสรรเพียง 0.275% เท่านั้น นั่นแปลว่า รัฐบาลไทยชุดนี้แทบไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเลย

.

2. ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ 2565 รัฐบาลไม่ได้ตั้งแผนงานที่เป็นการเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับการลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กลงแต่อย่างใด แต่เป็นการตั้งงบประมาณและเป้าหมายที่กระจายไปอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ ได้แก่

.

  • กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า เกษตรกรได้รับความรู้เรื่องการเกษตรแบบปลอดเผา 17,640 คน และลดการเผาในพื้นที่เกษตรได้ 55,000 ไร่
  • กรมควบคุมมลพิษระบุว่า
    (ก) การจัดการมลพิษทางอากาศในพื้นที่เป้าหมาย 4 แห่ง ได้แก่ มาบตาพุด ระยอง สระบุรี (หน้าพระลาน) และกรุงเทพและปริมณฑล โดยไม่ได้กำหนดตัวชี้วัดเป้าหมาย
    (ข) ตรวจสอบและตรวจจับยานพาหนะ 12,000 คัน
  • กรมป่าไม้ระบุว่า
    (ก) มีจำนวนเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า 1,000 หมู่บ้าน
    (ข) จำนวนจุดความร้อนลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับ 3 ปีก่อนหน้า
  • กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ระบุว่า มีจำนวนพื้นที่ที่มีการจัดการไฟป่า 56 พื้นที่ (ไม่ทราบว่า พื้นที่หมายถึงระดับใด)
  • และสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีพื้นที่ที่ได้รับสนับสนุนการแก้ปัญหาหมอกควัน 15 จังหวัด

.

แม้ว่า ในเป้าหมายของบางหน่วยงาน เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมป่าไม้ จะมีการระบุเป้าหมายเชิงผลลัพธ์ (outcome) เอาไว้ (เช่น การลดจุดความร้อนหรือการลดพื้นที่การเกษตรที่มีการเผา)แต่เป้าหมายของหน่วยงานอื่นๆ กลับมีลักษณะเป็นผลผลิต (หรือ output) เช่น จำนวนพื้นที่ จำนวนจังหวัด ที่ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขความสำเร็จในเชิงการลดฝุ่นละอองขนาดเล็กเอาไว้แต่อย่างใด

.

ขณะเดียวกัน เป้าหมายเชิงผลลัพธ์ที่ได้เช่น การลดจุดความร้อนลง 5% หรือการลดพื้นที่การเกษตรที่มีการเผาลง 55,000 ไร่ จากพื้นที่ที่มีความเปราะบางที่จะมีการเผาทั้งสิ้น 926,000 ไร่ (หรือประมาณ 6% ของพื้นที่เปราะบางต่อการเผา) จะมีความเพียงพอต่อการรับมือกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เผชิญมาหลายปีหรือไม่

.

ยิ่งมารวมกับความไม่ชัดเจนว่า พื้นที่ดำเนินการของกรมป่าไม้ 1,000 หมู่บ้าน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม 65 พื้นที่ สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ 15 จังหวัด กรมควบคุมมลพิษ 4 พื้นที่ จะมีความทับซ้อน และ/หรือสอดประสานกันเพียงใด และพื้นที่ใดบ้างที่น่าจะแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น

.

และ 3 งบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรค์สำหรับการจัดการปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก นั้นน้อยมากจนไม่น่าเชื่อ
.

โดยงบประมาณในการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่กระจายกันอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย
.

  • งบสนับสนุนการแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันของสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ 15 จังหวัด ได้งบประมาณ 7.4 ล้านบาท
  • งบจัดการมลพิษทางอากาศ 4 แห่งและงบตรวจสอบ/ตรวจจับยานพาหนะ 7.6 ล้านบาท
  • งบสำหรับอาสาสมัครและประชาชนในการจัดการไฟป่าและหมอกควันของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม 10 ล้านบาท
  • งบหยุดเผาในพื้นที่เกษตร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 40.8 ล้านบาท
  • งบในโครงการของหน่วยงานทั้ง 4 รวมกันเท่ากับ 65.8 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยังมีงบประมาณประจำของหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อีกได้แก่
  • งบควบคุมไฟป่าของกรมป่าไม้ 307.7 ล้านบาท
  • งบในการเพิ่มสถานีตรวจวัดและเครื่องมือวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กของกรมควบคุมมลพิษอีก 24.5 ล้านบาท
  • ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมความร่วมมือการแก้ปัญหาหมอกควันในอาเซียน 8.2 ล้านบาท

.

“รวมแล้ว งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กและหมอกควันเท่ากับ 406.2 ล้านบาท”

.
หากนำงบประมาณดังกล่าวมาหารด้วยจำนวนประชากร 66.5 ล้านคน ก็จะเท่ากับรัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก เฉลี่ยคนละ 6.1 บาท/ปี

.

การตั้งเป้าหมายและแผนงานที่กระจัดกระจาย และการตั้งงบประมาณที่น้อยมาก เทียบกับขนาดปัญหา มองว่า คนไทยคงจะต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กต่อไปอีก นอกจากเราจะเชียร์ให้สภาผู้แทนราษฏรคว่ำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฉบับนี้ และไปทำงบประมาณมาใหม่ให้ใส่ใจกับการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กมากกว่านี้ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ระบุ
.

ด้าน นายบัณรส บัวคลี่ สภาลมหายใจเชียงใหม่ โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ฝุ่นควันที่เพิ่มขึ้น  เงินของงานด้านสิ่งแวดล้อมที่เคยได้ประจำเป็นปกติลดลง นี่เป็นปัญหา แต่อย่างไรก็ตาม ประชาชนต้องไม่จำนนกับข้อปัญหานี้ จะนำมาใช้เป็นข้ออ้าง ไม่ให้มีการแก้ปัญหาไม่ได้

“ภาพใหญ่ของปัญหาฝุ่นควัน pm2.5 ก็คือ รัฐมีแผนปฏิบัติใหญ่โต แต่ไม่เอาจริง ไม่ติดตามจี้จริง ดังนั้นหน่วยปฏิบัติเขาก็ไม่ตั้งงบมาแต่แรก เช่น ปัญหาการเผาในที่เกษตร หากย้อนไปดูค่ามลพิษมกราคม-มีนาคม ภาคกลาง ลพบุรี อยุธยา ชัยนาท ขึ้นมา พิษณุโลก แดงจัด ขึ้นมาสุโขทัย กำแพง ก็มีม่วง เพราะเผาไร่ เผานา
.

วาระแห่งชาติกำหนดให้ลด บอกให้กระทรวงเกษตรฯ จัดการ แต่ดูมันจัดงบประมาณสิ มันก็จัดงบรูทีน บ้าๆ บอๆ มีโครงการนำร่องจุ๊บจิ๊บ สักแค่ผ่านๆ เช้าชามเย็นชามไปปีๆ”นายบัณรส ระบุ
.

ขณะที่ในส่วนของภาคเหนือ นายบัณรสมองว่า งบประมาณที่ถูกตัดไป และอาจจะมีปัญหา ก็คืองบอุดหนุนชุมชนในเขตป่าประมาณ 1 พันชุมชน ซึ่งให้ดี คณะกรรมาธิการสามัญแปรญัตติ ควรจะโยกงบประมาณจากส่วนอื่นมาให้ในส่วนนี้ก่อน ขณะที่งบประมาณจัดการไฟและฝุ่นละออง เชื่อว่ายังคงมีอยู่ แต่แฝงในงบประมาณส่วนอื่นๆ เช่น งบภัยพิบัติ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ในส่วนนี้ มีการเบิกทุกปี บางปีก็เฟ้อ ระหว่างปีนี้ ระหว่างปีนี้ ทุกจังหวัดควรต้องเปลี่ยนวิธีใหม่ ไหนว่างบลดลง เอามากางดูซิ ตรงไหนมีปัญหา แล้วจะแก้กันอย่างไร จังหวัดไหนทำ ประชาชนต้องยกนิ้วปรบมือให้ ซึ่งมันยากมาก เพราะหน่วยงานป่าไม้ อุทยานฯ เขาไม่เคยกาง ปลายปี มีงบประชาสัมพันธ์ งบอบรมชาวบ้าน งบทำแนวกันไฟ งบอะไรมากมาย เขาก็ทำของเขาไป ไม่เกี่ยวกับจังหวัดบูรณาการ

#เพื่อลมหายใจภาคเหนือ

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →