มุมล้มเหลวของผู้ว่าฯหมูป่า

ท่านผู้ว่าหมูป่า ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร เป็นคนเก่งคนหนึ่ง แต่คนเราไม่สามารถเก่งไปทุกด้าน ..ไอ้ที่เก่งก็เก่งไป ที่ล้มเหลวก็มีบ้างล่ะ

.

ภารกิจสำคัญจังหวัดภาคเหนือในการควบคุมมลพิษฝุ่นควันไฟป่าของลำปางในปีนี้ ล้มเหลวสุดในบรรดาจังหวัดภาคเหนือทั้งปวง

.

ตัวเลขพื้นที่เผา burned scars จาก GISTDA บอกว่า 4 เดือนแรกม.ค.-เม.ย. 2564 ลำปาง มีการเผาไหม้มากสุดในทุกจังหวัดภาคเหนือ 1,310,261 ไร่ รองลงมาแม่ฮ่องสอนใกล้ๆ กัน 1.3 และ ตาก 1.1 ล้านไร่

.

เรื่องนี้มันมีความดราม่า พอสมควร

.

1.ดราม่าแรก – ปีนี้เป็นปีลานีญ่า

.

มีฝนใหญ่ต้นเมษายน จำนวนไฟและมลพิษน้อยลงอย่างชัดเจน ขนาดมีการนำเข้ารายงาน ครม. แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะที่จังหวัดอื่นลดลง แต่ลำปางไม่ลด !!?

.

เมื่อปี 2563 คือปีก่อนหน้า ลำปางมีพื้นที่เผาไหม้ 5 เดือน 1,340,402 ไร่ นั่นแสดงว่า การเผาแทบไม่ได้ลดลงเลย

.

เทียบกับ แม่ฮ่องสอน ตาก เชียงใหม่ จังหวัดที่มีการไหม้เยอะๆ เขาลดลงถ้วนหน้า

.

อย่างแม่ฮ่องสอน ปีที่แล้ว 1,786,194 ไร่ ปีนี้อยู่ที่ 1,300,753 ไร่

.

หรือตากปีที่แล้ว 1,454,741 ไร่ ปีนี้อยู่ที่ 1,139,091 ไร่
.
เชียงใหม่ดีขึ้นชัดเจน ชนิดทิ้งห่าง ปีแล้ว 1,384,074 ไร่ ปีนี้ไหม้เพียง 749,736 ไร่

.

2. ดราม่าที่สอง – เรื่อง hot spots

.

น่าเสียดาย สถิติ burned scars อะไรแบบนี้ราชการไม่ได้เอามาเป็นเกณฑ์ชี้วัด ไม่ได้เป็น KPI ตัวชี้วัดตามแผนปฏิบัติการวาระแห่งชาติ เขานับแค่จาก hot spots หรือจุดเกิดไฟ

.

ชาวบ้านบนดอย แม่ค้าขายไอติมแถวอมก๋อย หรือเด็กมัธยมต้นบนดอย ใครๆ ต่างก็รู้ว่า hot spots ดาวเทียมน่ะ เลี่ยงได้ ก็แค่เผาหลังบ่ายสามโมง หลังจากดาวเทียมโคจรผ่านไปแล้ว หรือ เผาตอนเช้ามืดตีสี่ตีห้า ดาวเทียมก็จับไม่ได้ !!

.

แต่ราชการส่วนกลางเขายังใช้ hot spots ไปรายงานความดีความชอบ และลำปางก็เกิดมี hot spots น้อยมากด้วยสิ !!!

.

ระหว่างเกิดวิกฤตมลพิษควันไฟจึงมีการอวยผู้ว่าหมูป่า ว่าสามารถจัดการไฟป่าได้ดี เขียนลงสื่อใหญ่โตก็มี

.

ดราม่าอวยแบบนี้มันฉาบฉวยมาก คือ ดูเพียงสถิติเดือนมีนา-เมษา ที่บังเอิญลำปางเกิดมีน้อยลงแล้ว

.

ไม่น้อยได้อย่างไร ในเมื่อมีการเผาใหญ่โต เชื้อเพลิงแทบหมดไปแล้วตั้งแต่มกราคม-กุมภาพันธ์

.

สถิติ hot spots เดือนกุมภาพันธ์ ตาก กับ ลำปาง แข่งกันนำในภาคเหนือ แต่ตอนนั้น เขายังไม่นับ

.

3. ดราม่าที่สาม – zero burning

.

ตั้งแต่ราวปี 2560 มา การบริหารจัดการฝุ่นควันไฟให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดตามพรบ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ปภ. เรียกว่า ผู้ว่าซิงเกิ้ลคอมมานด์ และใช้การประกาศห้ามเผาเด็ดขาด 60 วัน ในระหว่างช่วงเดือนกุมภา-มีนาคม-เมษา ตามถนัดของแต่ละจังหวัด

.

ในช่วงนั้นเชียงรายจัดการได้ดี hot spot เป็นศูนย์ในระหว่าง 60 วันห้ามเผา คนวี๊ดว้ายกระตู้วู้กันใหญ่ ต้องห้ามเด็ดขาดๆๆ แบบนี้แหละ

.

หารู้ไม่ว่า ในบรรดาภาคเหนือ เชียงรายพื้นที่ป่าน้อยสุด แถมป่าตะวันตกช่วงดอยตุงก็มีสถานีดับไฟเข้มแข็ง มีทหารคุมชายแดน ไม่มีใครไปเผา เชียงรายมีพื้นที่นาข้าวมาก ก็คุมได้ง่าย

.

แนวคิด zero burning ห้ามเผาเด็ดขาดมากับอำนาจตามคำสั่งผู้ว่าฯ ซิงเกิ้ลคอมมานด์จังหวัดอื่นไม่เคยสำเร็จ ทหารมาคุมการดับไฟ (เพราะเป็นยุคทหารนี่ ทหารรู้หมด) .. แต่ก็ไม่สำเร็จ (ผู้หลักผู้ใหญ่มาปล่อยแถวสวนสนามเลอะเทอะ สั่งปราบปรามแบบจับโจรก็มี และไม่เคยสำเร็จ)

.

ปีนี้ ลำปาง ก็ยังเดินตามกรอบแนวคิดห้ามเด็ดขาด มีการกำหนดช่วงวันห้ามเผา 1 มีนาคม- 30 เมษายน แต่ในทางปฏิบัติ ก่อนหน้านั้นคือระหว่างมกราคม-กุมภาพันธ์ ก็เกิดการไล่เผาขนานใหญ่

.

เผากันเป็นล้านไร่ ดูสถิติ hot spots จาก GISTDA และ สถิติมลพิษเกินค่ามาตรฐานจาก คพ. ได้เลย ว่า กุมภาพันธ์ลำปางเผาดะขนาดไหน

.

แนวความคิดเผาให้หมด แล้วค่อยมานอนสบายใจระหว่างช่วงมีนาคม-เมษายน อาจจะถูกจริตผู้ใหญ่ส่วนกลางที่กอด KPI เป็นสรณะ หรือยังไงไม่รู้

.

นิยามการเผาเป็นล้านไร่ก่อนกำหนดห้าม เรียกว่า zero burning ได้อย่างไร มันอาจเป็นเทคนิคของราชการที่สูงลิ่วพ้นไปจากสามัญสำนึกของประชาราษฎร

.

4. ดราม่าที่สี่ – การจัดการเชื้อเพลิง

.

ปีนี้แต่ละจังหวัดมีระบบการบริหารจัดการแตกต่างกัน แม่ฮ่องสอน เมืองป่าหุบเขาราษฎรทำไร่หมุนเวียนมาก เขาห้ามเผา 2 ช่วง และเปิดให้ประชาชนจัดการไฟทำแปลงเกษตรได้เป็นช่วงๆ ส่วนเชียงใหม่มีระบบบริหารจัดการเชื้อเพลิง เปิดให้คนต้องการใช้ไฟมาขออนุญาต โดยดูลมฟ้าการระบายอากาศประกอบ

.

แต่ส่วนกลาง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทส. กลับไม่รู้เรื่องนี้ มีคำสัมภาษณ์ว่า ปีนี้ทส. ไม่มีการจัดการเชื้อเพลิง ชิงเผา มีแต่ชิงเก็บใบไม้ออกจากป่า … ซึ่งมันสวนทางกับข้อเท็จจริงว่า ที่เชียงใหม่ จนท.ป่าไม้/อุทยาน ก็ชิงเผา

.

การบริหารจัดการเชื้อเพลิง ยังเป็นเรื่องใหม่ของสังคมนี้ !

.

คนไม่เข้าใจมีเยอะ บ้างก็คิดว่าสักแค่เผาไว้ก่อน / ก็คือการเผาปล่อยมลพิษเหมือนกัน / จนท.บางหน่วย เผาป่าลามเป็นแสนไร่ ข้ามคืนก็มี ทั้งๆ ที่การบริหารจัดการฯตามหลักแล้ว ต้องควบคุมให้ได้ และให้เกิดมลพิษน้อยสุด ป้องกันก่อนเกิดลามใหญ่ ซึ่งก็ควรต้องมีการทำความเข้าใจ ฝึกอบรมฯลฯ กันต่อไป

.

เชียงใหม่ ปีนี้ผลประกอบการดีขึ้นชัดเจน เป็นผลมาจากการปรับระบบบริหารจัดการ มาสู่ fire management

.

ประกาศห้ามเผาเด็ดขาด 60 วันแบบที่ทำกันมา ก่อให้เกิดศรีธนนชัย ระหว่างห้ามก็คุมไม่ให้มี ทำ KPI ปรบมือเกรียวกราว… แต่ก่อนหน้านั้นเร่งเผาๆ ให้หมด ลามเป็นล้านไร่ … ไม่นับว่ะ 🥵

.

ดีที่โลกนี้ยังมีดาวเทียม เปิดหูเปิดตาประชาชน ขอบคุณดาวเทียม landsat-8 และ GISTDA

.

ป.ล. คลิกอ่านข่าว
ลำปางแชมป์ยอดแย่จัดการฝุ่นไฟปี 2564 ดาวเทียมจับรอยไหม้สูงสุดภาคเหนือบน https://bit.ly/34YHa4o

#เพื่อลมหายใจภาคเหนือ

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →