อปท.สะท้อน งบดับไฟมีปัญหา ขณะที่ป่าไม้และอุทยานฯ เน้นเฝ้าระวังดอยสุเทพ เพราะอ่อนไหว

9 มิถุนายน 2564 ในเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อถอดบทเรียนการแก้ปัญหาฝุ่นควันจังหวัดเชียงใหม่ 2564 หลังผ่านพ้นช่วงฤดูฝุ่นควัน ขณะเดียวกันยังเป็นการหาแนวทาง แผนการดำเนินงานที่เหมาะสม สำหรับปีต่อไป โดยในช่วงเช้า มีการแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มคณะทํางานศูนย์บัญชาการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ ประจําปี 2564 และนายอําเภอ ทุกอําเภอ , หน่วยงานด้านป่าไม้และอุทยาน , ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม จิตอาสา , และกลุ่มผู้นําท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้ทุกกลุ่มร่วมกันอภิปรายและถอดบทเรียน เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการ ปี 2565

WEVO สื่ออาสา ซึ่งติดตามการถอดบทเรียนในครั้งนี้ รายงานว่า หนึ่งในกลุ่มที่มีการสะท้อนปัญหาอย่างน่าสนใจ คือ กลุ่มผู้นําท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ณ ห้องประชุม สภาฯ ขั้น 2 อาคารหอประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ผู้นำชุมชนหลายพื้นที่ ต่างสะท้อนปัญหาที่ต้องเผชิญ ในการบริหารจัดการไฟป่าและฝุ่นควันปีที่ผ่านมานี้ ซึ่งยังพบปัญหามากมายที่จังหวัดจะต้องปรับแก้ เพื่อให้การบริหารจัดการฯ ปีหน้า ดีกว่านี้

.

แอพพลิเคชั่น Fire D ยังมีปัญหา

ปีนี้จังหวัดเชียงใหม่ นำแอพพลิเคชั่น Fire D มาใช้ในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงเป็นปีแรก ตามมาตรการจังหวัดเชียงใหม่ ประเด็นที่ผู้นำชุมชนในเกือบทุกพื้นที่ ให้ความเห็นว่า การแบ่งโซน อำเภอโซนเหนือ โซนใต้ ทั้งพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตร ยังไม่ตอบโจทย์กับความเป็นจริง และหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบ เช่น เชื้อเพลิงยังไม่ถึงช่วงการเผา แต่จำเป็นต้องเผา บางพื้นที่สามารถบริหารจัดเชื้อเพลิงได้แล้ว แต่ยังไม่ถึงกำหนดต้องเผา เมื่อฝนตกก็เผาไม่ได้ ปัญหาเหล่านี้ยังส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่ได้ลงทะเบียนขอบริหารจัดการเชื้อเพลิงในแปลงอีกด้วย ซึ่งเสียงในที่ประชุมเห็นว่า ควรจะมีการบริหารจัดการพร้อมกันทั้งจังหวัด โดยให้พื้นที่มีความพร้อม จัดการเชื้อเพลิงก่อนได้ ตามความเหมาะสมของบริบท และทางศูนย์บัญชาการฯ ต้องเข้าใจด้วย ขณะที่บางส่วนยังสะท้อนถึงปัญหาการใช้งานของแอพพลิเคชั่น ว่าในช่วงแรกที่ให้ลงทะเบียน มีปัญหาลงข้อมูลแล้วหาย ต้องให้เจ้าหน้าที่ฯ ลงข้อมูลใหม่ ปัญหาการลงทะเบียนจองแล้วต้องได้เผา พอถึงเวลาศูนย์บัญชาการฯ กลับให้เลื่อนหรือไม่ให้เผา แต่ในบางพื้นที่ยังคงมีการเผา เนื่องจากไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ที่จะติดต่อสื่อสารได้ ในบางพื้นที่ให้หน่วยงานท้องถิ่นลงทะเบียน แต่ถึงเวลาจริง จะมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้เป็นผู้บริหารจัดการเชื้อเพลิงเอง หลังปฏิบัติงานเสร็จ ก็ไม่แจ้งมายังท้องถิ่น และศูนย์บัญชาการฯอำเภอ กลายเป็นปัญหาและถูกตำหนิจากสายบังคับบัญชา

อากาศยานบินดับไฟ 2 เที่ยว น้ำมันหมด

ผู้นำชุมชนในหลายแห่ง ยังสะท้อนปัญหาการขอชุดสนับสนุนเข้าดับไฟป่า โดยหลังศูนย์บัญชาการฯ พบจุด Hotspot เกิดขึ้น และให้เร่งเข้าควบคุมสถานการณ์โดยเร็วที่สุด แต่ในหลายตำบลกำลังผู้ใหญ่บ้านและอาสาฯ ไม่เพียงพอ หลายจุดที่เข้าไม่ถึงทำได้เพียงทำแนวกันไฟในระยะไกลและสังเกตการ การขอการสนับสนุนกำลังพล เช่นชุดเสือไฟ หรือเจ้าหน้าที่ส่วนที่รับผิดชอบ แบบเร่งด่วนก็ไม่สามารถทำได้ทันที  เพราะแต่ละหน่วยงานก็มีงานของแต่ละหน่วยต้องรับผิดชอบ ในบางพื้นที่ มีขอสนับสนุนอากาศยานแต่กลับพบว่าใช้เวลาประสานค่อนข้างนาน โดยเจ้าหน้าที่ฯ อ้างว่า อากาศยานจอดประจำการอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ และเหตุเกิดในพื้นที่อำเภอห่างไกล เมื่อมาก็ต้องบินสำรวจพื้นที่และหาแหล่งน้ำ พอบินโปรยน้ำในจุดเป้าหมายได้แค่สองเที่ยว ก็ต้องหยุด แจ้งว่าเชื้อเพลิงไม่เพียงพอก็ต้องกลับไปเติมน้ำมันที่อากาศยานในตัวเมืองเชียงใหม่ กลายเป็นว่าปฏิบัติการในครั้งนั้นแทบไม่ได้ผลอะไรเลย จึงอยากเสนอให้มีศูนย์บัญชาการฯ มีจุดประจำการของอากาศยาน ทั้งโซนเหนือและโซนใต้ ที่พร้อมปฏิบัติการจะช่วยให้เข้าระงับเหตุได้ทัน ไม่ให้เกิดความเสียหายไปมากกว่าเดิม

งบฯ หายกลางทาง..ถึงมือชาวบ้านไม่ครบ

ผู้ร่วมประชุมส่วนหนึ่ง ยังได้สะท้อนอีกว่า ทางส่วนที่เกี่ยวข้องมอบภารกิจให้เฝ้าระวังและลาดตะเวนไม่ให้เกิดไฟป่าชัดเจน แต่งบประมาณสนับสนุนกลับไม่แน่นอน ทั้งจากจังหวัด และกรมป่าไม้ บางส่วนสะท้อนว่า อยากให้งบประมาณที่ว่านี้ ไปถึงมือชาวบ้านจริงๆ ผ่านกองทุนหมู่บ้านโดยตรงก็ได้ โดยไม่มีการหักยอด หลายครั้งที่ผ่านมา เมื่อเงินผ่านส่วนกลาง แต่พอถึงที่ชุมชน ก็พบว่ายอดไม่ตรง หรือได้ไม่ครบตามจำนวน เช่น ทราบว่าได้ 20,000 บาท แต่หมู่ได้รับเพียง15,000 บาท ซึ่งจนถึงวันนี้ ก็ไม่รู้ว่าหาย ถูกหัก หรือถูกนำไปใช้ในส่วนไหน นอกจากนี้ ยังเกิดความซับซ้อน เช่น งบจาก อบจ. หรืองบป่าไม้ ทางจังหวัดควรมีการชี้แจงรายละเอียดไปยังแต่ละอำเภอ และแจ้งมายัง อปท. เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณด้วย

.

ประกันชีวิต“คือสิ่งจำเป็น”

ผู้นำชุมชนในหายพื้นที่ กล่าวขอบคุณ ทางจังหวัดเชียงใหม่ ที่ช่วยประสาน คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย  (คภป.) และบริษัทประกันวินาศภัย ในการมอบกรมธรรม์ประกันชีวิตกับเจ้าหน้าที่ฯและอาสาดับไฟป่า ซึ่งเป็นแนวหน้า ยอมรับว่าเป็นขวัญและกำลังที่สำคัญของผู้ปฏิบัติงาน โดยอยากให้มีทุกปี และหากเป็นไปได้ก็อยากส่วนที่เกี่ยวข้อง มีกิจกรรมอบรมให้ความรู้ เช่นการประเมินและเข้าเผชิญเหตุอย่างถูกหลัก ให้กับอาสาฯ ซึ่งจำนวนไม่น้อย ยังไม่มีความชำนาญ เพื่อลดความเสี่ยงและการสูญเสีย

.

แผนชุมชน คือ หนึ่งทางออก

ในที่ประชุมชุมชนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า แผนชุมชน ที่สะท้อนและเป็นความต้องการของคนในชุมชน ยังคงมีความจำเป็น เพราะแต่ละชุมชนมีบริบทพื้นที่ๆแตกต่างกัน อย่างน้อยคนในชุมชนเองก็ได้รู้ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อไหร่ จากความต้องการ และเป็นมติของชุมชน ไม่ใช่แค่การรอฟังประกาศจากทางจังหวัดอย่างในอดีต ซึ่งการมีแผนชุมชนที่มาจากชุมชนจริงๆอย่างที่ปีนี้ได้ร่วมกันทำ ชัดเจนว่าสามารถช่วยลดการเกิดไฟป่าในแต่ละพื้นที่ได้เป็นอย่างดี แต่ก็ต้องยืดหยุ่นกับแผนการจัดการเชื้อเพลิงในแปลงเกษตรด้วย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตและความจำเป็นของชาวบ้าน

ดอยสุเทพ” พื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด

ในที่ประชุมของหน่วยงานด้านป่าไม้และอุทยาน ณ หอประชุมเฉลิม พระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ทีมข่าว WEVO สื่ออาสา รายงานว่า นอกจากจะมีการรายงานภารกิจที่ทำผ่านมา ปัญหาปละอุปสรรค ยังมีประเด็นที่น่าสนใจ คือการให้ความสำคัญกับพื้นที่ดอยสุเทพ เป็นกรณีพิเศษ โดยจะต้องไม่ให้เกิดไฟโดยเด็ดขาด เนื่องจากเป็นพื้นที่อ่อนไหว และใกล้ตัวเมือง เมื่อเกิดเป็นข่าว มักจะมีประเด็นดราม่าตามมาเสมอ ทั้งที่หลายครั้งเกินความเป็นจริง โดยในปีนี้ได้มีชุดเสือไฟกว่า 10 ชุด จากสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า เข้ามาช่วยเฝ้าระวังและลาดตระเวนในพื้นที่อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรจากพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ นอกจากนี้ยังมีอากาศยาน ประจำการ พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ฯ เข้าไปยังจุดเกิดไฟเพื่อระงับเหตุได้ทันที ขณะที่พื้นที่ห้วยตึงเฒ่า ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างป่า และเป็นพื้นที่ๆทหารขอใช้ประโยชน์จากกรมอุทยานฯ ปีนี้ได้รับความร่วมมือจากทางกองทัพภาคที่ 3 และกองพลทหารราบที่ 7 จัดชุดเฝ้าระวังต่อเนื่อง ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 30 เมษายน 2564 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ หลังวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านช่วงมาตรการห้ามเผา ยังได้ส่งเจ้าหน้าที่ชุดประชาสัมพันธ์ ลงไปให้ความรู้กับชาวบ้าน ว่าการเผาในพื้นที่แปลงเกษตรสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานไม่ให้เกิด Hotspot และต้องไม่ลุกลามเข้าป่า โดยเฉพาะพื้นที่ๆเป็นไร่สวนของชาวบ้าน นอกจากนี้ยังให้เจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวัง ตรวจสอบว่าและรายงานว่า กลุ่มควันที่เกิดขึ้น มาจากไฟป่าหรือการเผาในพื้นที่แปลงเกษตรด้วย

โดยในปี 2563 พื้นที่ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เกิด Hotspot 340 จุด เป้าหมายจากจังหวัดว่าต้องลดให้ได้อย่างน้อย 25 % จากการปฏิบัติงานปี 2564 พบว่าประสบผลสำเร็จอย่างยิ่ง เกิด Hotspot เพียง 17 จุด ลดลงถึง 95 %  ความสำเร็จส่วนหนึ่ง ไม่ปฏิเสธว่ามาจากการที่ในพื้นที่เกิดฝนตกในหลายช่วง ขณะที่อีกส่วนหนึ่งมาจากแนวทางการปฏิบัติงานที่ดีและชัดเจนขึ้น รวมไปถึงการเข้าไปทำความเข้าใจกับหมู่บ้านในพื้นที่เสี่ยง ตลอดจนได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายชุมชนรอบดอยสุเทพ  โดยหลังจาก 30 พฤษภาคม ทางคณะทำงานก็ได้มีการประชุมเพื่อถอดบทเรียนไปแล้ว 1 ครั้ง และมีร่างแผนแล้วว่า ปีต่อไปจะก้าวต่ออย่างไร เพื่อจะนำไปสู่การปฏิบัติงานจริงในปีหน้า

ยังคงอ่อนด้านการสื่อสาร

ช่วงหนึ่งจากการสรุปการประชุมและอธิปรายในช่วงเช้า ผ่านระบบ ZOOM มีเสียงสะท้อนมองว่าจังหวัดเชียงใหม่ ยังคงต้องปรับแผนการสื่อสารสาธารณะใหม่ และต้องดีกว่าเดิม ปัจจุบันแม้ทางจังหวัดจะมีช่องทางการสื่อสาร เช่น เพจ PR เชียงใหม่ เพจศูนย์ข้อมูลข่าวสารฝุ่นควันและไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่ แต่คนก็ยังเข้าถึงและติดตามน้อยมาก และส่วนใหญ่เลือกติดตามเพจที่สร้างแสเพื่อเรียกยอดผู้ติดตามมากกว่า ยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฯ เช่น การเผยแพร่ข่าวสารการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในบางมุม และการปั่นกระแสข่าว เชียงใหม่ติดอันดับ 1 ของโลก ในช่วงวิกฤติฝุ่นควัน ในปีหน้าจำเป็นจะต้องมีกาประชาสัมพันธ์ที่เข้าถึง ถูกต้อง และชัดเจนกว่านี้

ไม่รอแก้..แค่ช่วงวิกฤติ

ก่อนจบการประชุมฯ นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า ไฟป่าและฝุ่นควัน PM 2.5 เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปี ดังนั้นเราจะไม่รอแก้แค่ช่วงวิกฤติอย่างแน่นอน หลังจากมีการสรุประบบงานและระบบคนในช่วงที่ผ่านมาเสร็จ สิ่งไหนที่เดินหน้าต่อ ก็ต้องทำเลย และขอให้ทุกส่วนที่เกิดข้องที่มีหน้าที่รับผิดชอบรายงานผลการดำเนินงานต่อที่ประชุมคณะทำงานแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน PM 2.5 ในทุกๆเดือนต่อเนื่อง โดยเฉพาะความก้าวหน้า และปัญหา รวบไปถึงข้อเสนอแนะทางนโยบาย ที่อาจจะต้องร่วมกันเสนอไปยังรัฐบาล เพื่อการแก้ไขกฎหมายบางเรื่อง ที่ทำให้การทำงานติดขัด

ภายหลังการประชุม นายเดโช ไชทัพ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) และเป็นหนึ่งใน ผู้แทนจากสภาลมหายใจเชียงใหม่ ซึ่งได้เข้าร่วมอภิปรายและถอดบทเรียนในกลุ่มภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม จิตอาสา ณ ห้องประชุม ศาลากลาง จ.เชียงใหม่ ได้โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊กส่วนตัวว่า “คำประกาศอันยิ่งใหญ่ของสภาลมหายใจ​ คือความสามารถปักหมุดระบบการควบคุมจัดการไฟป่า เพื่อลดปัญหาฝุ่นควันในแบบ fire​-management​ เพื่อทดแทนระบบzero burning ได้สำเร็จ จากพื้นที่เผาไหม้​ 1,384,078 ไร่ในปี2563 เหลือ 749,736 ไร่​ปี 2564 (มกราคม-พฤษภาคม) โดยมีระบบการจัดการที่มุ่งเน้นไปสู่การมีส่วนร่วมของท้องถิ่น มีกลไกประสานแผนระดับตำบล​อำเภอ​จังหวัด ความพยายามปลดล็อกข้อจำกัดในการถ่ายโอนภารกิจ ความพยายามสนับสนุนของพลเมือง ความพยายามกำกับติดตามสนับสนุน โดยราชการส่วนกลางและภูมิภาค​ที่มุ้งเน้นให้องค์กรชุมชนและท้องถิ่นมีส่วนร่วมและได้เป็นพระเอกตัวจริงให้มากขึ้น มีระบบการขอใช้ไฟที่จำเป็น​  ที่เชื่อมโยงกลไกทางสังคมและระบบดิจิทัล การวิเคราะห์เงื่อนไขสภาพความกดอากาศและทิศทางของลม มีระบบ War room สภาลมหายใจ​เป็นแพลตฟอร์ม​ ของหลายส่วน​ ที่มุ่งเน้น​ เสนอสิ่งที่คัดกรองแล้วร่วมกัน ผลักให้เป็นนโยบายสาธารณะ​ ถอดหมวกถอดยศออก แล้วมานำเสนอในนามพลเมือง​ให้ชัดๆ​ และนำกลับเข้าไปสู่ระบบ​ที่เป็นทางการอีกครั้ง การกระจายอำนาจคือคุณภาพของคุณภาพอากาศที่ดี ผสมความรู้ที่เหมาะสม​ ความรู้ที่ก้าวหน้า​จึงมีความสำคัญยิ่ง ปีนี้จึงเริ่มทำแผนดีดีกันใหม่​ ก่อนสิงหาคม​ ปีนี้คือ ความพร้อมสำหรับ คุณภาพอากาศที่ดีในปีหน้า ปีนี้ฝนมาเร็วก็ช่วยได้เยอะ ปีนี้ขอบคุณพระเอกตัวจริง​ พลเมือง​ที่ใกล้ป่า​ที่ช่วยกันอย่างมากมาย ขอบคุณ​พี่ๆหน่วยงานราชการ​ ที่(อดทด)​รับฟังเสียงของประชาชน​ และสามารถแปรและแปลงเสียงประชาชนไปเป็นนโยบายสาธารณะได้”

ขณะที่นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการอำนวยการ สภาลมหายใจเชียงใหม่ ก็ได้โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า หลังสรุปบทเรียนในเรื่องการแก้ปัญหาฝุ่นควันpm2.5 ปี 2564 กับทุกภาคส่วนของ จ.เชียงใหม่มีประเด็นที่น่าสนใจคือ 1.ข้อมูลจุดไฟไหม้(hotspot)ซึ่งเกิดในเขตป่าอุทยานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ(52.8%)รองมาก็เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ(40.9%) ที่ประชุมอภิปรายเสนอให้นำข้อมูล ข้อเท็จจริงขึ้นมาวิเคราะห์ร่วมกันทุกฝ่ายว่าสาเหตุเกิดจากอะไรแน่เพราะว่ายังมีมุมที่ต่างกันระหว่างชาวบ้านเผาเพื่อเก็บเห็ด ล่าสัตว์กับเจ้าหน้าที่เผาเพื่อเพิ่มงบประมาณหรือความขัดแย้งอื่นใด 2.เรื่องการหาทางออกเศรษฐกิจของชาวบ้าน หากชาวบ้านยังอยู่อย่างลำบากยากจน และไม่มีทางเลือกอื่นๆนอกจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาได้รากเหง้าปัญหาที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนนี้ น่าจะมาจากการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ ป่าสงวน ป่าต้นน้ำชั้น1,2A ที่มีลักษณะรวมศูนย์อำนาจการจัดการเหนือพื้นที่ป่า 40%ของพื้นที่ประเทศ ที่ประกาศทับชุมชนทั้งที่ทำกิน ที่อยู่อาศัยและป่าชุมชน ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่มาก่อน ส่งผลให้ประชาชน ราว 10-12ล้านกลายเป็นผู้ผิดเพราะไปอยู่ในที่ที่ผิดกฎหมาย สร้างความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง

.

เมื่อเป็นพื้นที่ผิดกฎหมายจึงถูกจำกัดการพัฒนาชุมชนมาโดยตลอดหน่วยงานทุกหน่วย กระทรวง กรมกองต่างๆไม่สามารถจัดทำแผนพัฒนาและงบประมาณไปดำเนินการได้ “ชุมชนในพื้นที่จึงถูกจำกัดการพัฒนา”อย่าง จ.แม่ฮ่องสอน มีเขตป่ารวม85% เชียงใหม่ ลำปาง ตาก มีเขตป่าจังหวัดละราว70% อยู่ในอำนาจ2อธิบดี  ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานส่วนภูมิภาคทั้งหมดดูแลได้แค่พื้นที่นอกเขตป่าเพียง 15% และ30% แน่นอนความยากจน ความเหลื่อมล้ำต้องเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน

.

ยิ่งในสถานการณ์โควิค-19 ระบาดเศรษฐกิจโลกวิกฤติ ส่งผลให้เศรษฐกิจระดับประเทศวิกฤติ บริษัท โรงงาน เลิกจ้าง แรงงาน คนหนุ่มสาวต้องกลับบ้านกลับท้องถิ่น ขณะที่เศรษฐกิจท้องถิ่นตั้งอยู่บนฐานทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น  แต่ประชาชนในท้องถิ่นถูกล็อคการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติและถูกจำกัดการพัฒนาชุมชน

.

ผมเห็นด้วยว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการนำข้อมูลข้อเท็จจริง งานวิจัยองค์ความรู้ที่มีทั้งหมดมาคุยร่วมกันทุกฝ่าย เพื่อปฏิรูประบบบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกันใหม่ ปลดล็อคพื้นที่ ปลดล็อคการจำกัดการพัฒนา สร้างการมีส่วนร่วมและกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน กระจายอำนาจการพัฒนาให้ท้องถิ่นพัฒนาตามบริบทตัวเอง เพื่อตอบโจทย์สถานการณ์ใหม่ในอนาคต

.

“แนวทางนี้ชุมชนจะเข้มแข็ง เศรษฐกิจท้องถิ่นจะแข็งแรง จะลดความยากจน ความเหลื่อมล้ำ จะนำไปสู่การแก้ปัญหาฝุ่นควันpm2.5 อย่างยั่งยืน และจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” นายชัชวาลย์ ระบุ

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →