ภาคประชาชนแพร่ ระดมยกร่างแผน แก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน

13 มิถุนายน 2564 ณ ห้องประชุมสมาคมภาคีพัฒนาจังหวัดแพร่ชมรมอากาศดีที่เมืองแพร่ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดเวทีแลกเปลี่ยนเพื่อเตรียมยกระดับและขับเคลื่อนแผนงานกิจกรรมในการแก้ปัญหาไฟป่าฝุ่นควันระยะยาวที่จะมีผลกระทบกับประชาชนและผู้ประกอบการ

.

การประชุมช่วงเช้าได้เปิดให้แต่ละคนร่วมสะท้อนปัญหาและความต้องการในมุมของภาคประชาชนที่อยากให้เกิดขึ้นหลังก่อนหน้านี้ได้จัดเวทีคนแป้อู้กั๋นแก้ฝุ่นควันเพื่อลมหายใจซึ่งมีตัวแทนจาก 8 อำเภอเข้าร่วมมาแล้วเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

.

นายสุวิทย์ สมบัติ  อุปนายกสมาคมภาคีพัฒนาจังหวัดแพร่ ระบุว่า ที่ผ่านมาชัดเจนอยู่แล้วว่าลำพังภาครัฐแก้ปัญหาเองไม่ได้ มีแค่แผนเผชิญเหตุ แต่ยังไม่มีแผนการป้องกัน เยียวยา และฟื้นฟู ถึงเวลาที่จังหวัดแพร่ ควรจะมีวอร์รูมเพื่อบริหารจัดการเหมือนกับจังหวัดเชียงใหม่ และต้องให้เปิดให้ภาคประชาชน เข้าไปเป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้วย ขณะเดียวกัน ควรไปศึกษาแนวทางการทำงานของ อบจ.เชียงใหม่ ที่กล้าใช้งบประมาณ ภายใต้กรอบระเบียบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไม่ใช่กลัวที่จะใช้งบเหมือนที่เป็นอยู่ นอกจากนี้ยังมองว่ากลไกลป่าชุมชน ที่เข้มเข็งอยู่แล้ว ในทั้ง 8 อำเภอ ซึ่งมี กว่า 300 แห่ง จะเป็นหนึ่งในทางออก หากเข้ามามีส่วนร่วมเชื่อมโยงการทำงานระดับ

.

นางธันกมน ทรธวพงศ์ ที่ปรึกษาและเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเข้าร่วมเวที สะท้อนว่า ปัญหาฝุ่นควันและไฟป่า เป็นปัญหาที่ใหญ่ แต่หลายคนกลับให้ความสำคัญน้อยมาก ที่ผ่านมาภาครัฐเองก็ต้องยอมรับว่ายังแก้กันที่ปลายเหตุ เกาไม่ถูกที่คัน ยังคงมีความคิด และแก้ไขแบบเดิมๆซ้ำวนเวียนอยู่ทุกปี ทั้งๆที่มีกฎหมายหลายฉบับซึ่งสามารถนำมาบังคับใช้ได้ในช่วงที่เกิดวิกฤติ แต่ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้ และมองว่าการขับเคลื่อนของภาคประชาชนจังหวัดแพร่ต่อจากนี้ จะต้องมีแผนที่ชัดเจนกว่าเดิม และต้องผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนในทางนโยบายให้ได้

.

ผู้นำชุมชน ต.ไผ่โทน และ ต.ป่าแมต สะท้อนตรงกันว่า ช่วงที่เกิดวิกฤติ มีเป้าหมายจากภาครัฐว่าต้องเร่งดับให้ได้ แต่ทราบหรือไม่ ว่าหลายหมู่บ้านที่ไม่มีอาสาดับไฟป่า ภาระก็ตกไปอยู่ที่ผู้นำชุมชน ซึ่งมีเพียงไม่กี่คน ขณะที่แกนนำชุมชนจำนวนไม่น้อย ซึ่งยังไม่มีทักษะความรู้ในการเข้าดับไฟป่า ก็กลัวที่จะได้รับอุบัติเหตุ เงินจำนวน 5,000 บาท ที่เคยได้รับสนับสนุนจากทางอำเภอ ไม่สอดคล้องกับภารกิจหน้าที่ ทั้งทำแนวกันไฟ ดับไฟป่า และเฝ้าระวังตลอดฤดูกาล และได้เฉพาะหมู่บ้านที่ติดป่าเท่านั้น 

.

นายวุฒิไกร ผาทอง ข่ายลูกหลานเมืองแพร่ มองว่า  การสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ เป็นหนึ่งในฟันเฟือนสำคัญของการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหา ภาคประชาชนควรเร่งเปิดตัว ว่าจังหวัดแพร่มีกลุ่มคนทำงานเรื่องนี้แล้ว พร้อมๆกับเชื่อมโยงและดึงภาคีต่างๆเข้ามาร่วมด้วย ขณะที่สถานีวิทยุชุมชน หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น รวมไปถึงเพจต่างๆในจังหวัด ถือเป็นอีกเครื่องมือหนึ่ง จะช่วยกระจายข่าวสารที่เข้าใจง่ายและเข้าถึง เพื่อสร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ได้เป็นอย่างดี

.

นายวิฑูรย์ สุรจิตต์ เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดแพร่ มองว่า การจะก้าวต่อเพื่อขับเคลื่อนเชิงนโยบายเป็นเรื่องที่ดีมาก และอยากให้เกิด แต่อยากให้มีเวทีรับฟังเสียงชาวบ้านด้วย ว่าเขามีความจำเป็นแค่ไหน มีวิถีชีวิตอย่างไร หากจะให้พวกเขาเปลี่ยนจะต้องมีทางออกหรือแรงจูงใจให้ด้วย  ไม่ใช่ไปยัดเยียดความคิด หรือชี้ให้ทำแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งจะไม่มีทางสำเร็จ

.

นายบัณรส บัวคลี่ สภาลมหายใจเชียงใหม่ ได้เล่าประสบการณ์การแก้ปัญหาของจังหวัดเชียงใหม่ ที่เริ่มเห็นอะไรที่ชัดขึ้น ทั้งการสนับสนุนเยียวยาผู้ประสบภัยที่เป็นแนวหน้า การหาเอกชนมาสนับสนุนประกันภัย การสนับสนุนชุมชนที่อยู่ติดป่า และการเบิกจ่ายใช้งบประมาณของท้องถิ่น ที่ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว นอกจากนี้ ยังมีการผลักดันมาตรการทางนโยบาย ผลักดันให้เกิดการปฏิบัติการการจัดการอย่างมีส่วนร่วมในระดับปฏิบัติการต่างๆที่ร่วมทำกับภาครัฐ และการเปลี่ยนกิจกรรมการผลิตให้เกิดความยั่งยืน ทั้งในเมือง และชนชท เครือข่ายจังหวัดแพร่ อาจจะใข้แนวทางเหล่านี้เพื่อยกระดับ และร่างแผนปฎิบัติการได้

.

นายวิชิต ถิ่นวัฒนากูล สภาลมหายใจพะเยา ได้เสนอเสนอแนวทางการดึงงบประมาณจากกองทุนส่งแวดล้อมมาใช้ รวมถึงการให้ท้องถิ่นสมัครเป็นอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน หรือ ทสม. พร้อมทั้งสะท้อนว่า ลำพังจังหวัดเดียวอาจจะแก้ได้แค่ไหนในพื้นที่ ถึงเวลาแล้วที่ภาคเหนือทั้งภาค จะต้องจับมือกันอย่างเข้มแข็ง และส่งเสียงไปยังรัฐบาลให้เกิดการขับเคลื่อนในระดับนโยบาย 

ขณะที่ในช่วงบ่าย ที่ประชุมได้ช่วยกันระดมความคิดเพื่อออกแบบแผนงานในแก้ไฟป่าและฝุ่นควันร่วมกัน โดยมีเป้าหมายร่วม คือ ชูให้แพร่เป็นเมืองสร้างสรรค์ กระบวนการขับเคลื่อนงานต้องชัดเจน ครอบคุมทุกมิติ ทำงานกับทุกกลุ่ม และสร้างการเป็นเจ้าของร่วม ซึ่งแนวทางและหลักการที่เริ่มชัดขึ้น คณะทำงานภายใต้ชื่อชมรมอากาศดีที่เมืองแพร่  เตรียมจะนัดหารือเพื่อยกร่างแผนแก้ปัญหาระดับจังหวัด ในเร็วๆนี้ จากนั้นจะสรุปและเปิดให้ส่วนที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ร่วมกันวิพากษ์ ก่อนจะสรุปและนำเข้าหารือถึงความเป็นไปได้ กับทาง อบจ.แพร่ เพื่อบรรจุเป็นหนึ่งในแผนการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของจังหวัดแพร่ต่อไป

#เพื่อลมหายใจภาคเหนือ

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →