17 มิถุนายน ๒๕๖๔ สถานที่ ณ วัดแม่ลานคํา(บ้านใหม่) หมู่ที่ 6 ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ปลัดอาวุโสอำเภอสะเมิง หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำ ผู้นำชุมชน สภาลมหายใจเชียงใหม่ และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมเป็นสักขีพยานในการรับมอบใบทะเบียนประวัติที่ดิน ระหว่างแกนชุมชน มอบให้กับชาวบ้านแม่ลานคําหมู่ 6 และบ้านป่าคาหมู่ 11 กว่า 80 คน


ผู้นำชุมชน ได้เล่าถึงข้อมูลการตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยมาอย่างยาวนานหลายร้อยปี หลายช่วงอายุคนแล้ว แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลที่จะใช้เป็นหลักฐานชัดเจน แม้ที่ผ่านมาทางชุมชนจะมีการจัดทําข้อมูลพื้นฐาน ผ่านแผนที่ทํามือ แต่ก็พบว่าข้อมูลบางอย่างไม่สามารถใช้อ้างอิงกับระบบข้อมูลยุคสมัยในปัจจุบันได้ หลังมีการจัดเวทีประชาคมหมู่บ้าน จึงมีมติให้กรรมการหมู่บ้านจัดทําข้อมูลสํารวจข้อมูลเพื่อปรับปรุงโดยใช้ GPS ในการจัดเก็บ เพื่อนําข้อมูลเข้าสู่ในระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลบริหารจัดการทรัพยากรของชุมชน และเป็นหนึ่งในขั้นตอนการประกาศเขตคุ้มครองวัฒนธรรมพิเศษของชุมชน


ช่วงที่เปิดให้ผู้เข้าร่วม พูดคุยแลกเปลี่ยนกับทางชุมชน ฝ่ายราชการ ทั้งทางอำเภอสะเมิง และหน่วยจัดการต้นน้ำฯ พยายามจะอธิบายย้ำกับชาวบ้าน ว่าเอกสารนี้ไม่ใช่โฉนด เป็นแค่การบอกว่าที่อยู่อาศัยและที่ทำกินปัจจุบันอยู่ตรงไหน ไม่มีผลทางกฎหมายใดๆ เป็นเพียงทะเบียนประวัติที่ทางชุมชนร่วมกันสำรวจและจัดทำขึ้นเองเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันมัดกับทางราชการ แต่กลับกันเป็นข้อมูลที่ดีมาก และเป็นประโยชน์กับทางราชการ ที่สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเสริมกับข้อมูลปัจจุบันที่มีอยู่ ในการบริหารจัดการที่ดิน ที่ทำกินของชาวบ้าน รวมถึงแผนบริหารจัดการไฟป่าในพื้นที่ และยอมรับว่า หากรอเพียงทางฝ่ายราชการเข้ามาทำให้ คงทำได้ยาก เพราะมีแต่ปัญหาและข้อติดขัดทางกฎหมาย อย่างที่ทราบกัน

นายพฤ โอโดเชา ตัวแทนชุมชนกะเหรี่ยงบ้านป่าคา ระบุว่า การที่หมู่บ้านของเราอยู่ในเขตป่า และไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆ หลังมีการประกาศเขตป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ และอุทยานทับ ชุมชุนจะทำอะไรก็ติดคำว่าอยู่ในเขตป่าทั้งหมด การขึ้นทะเบียน ทั้งที่อยู่อาศัย และที่ทำกิน ก็ตอบกับทางราชการไม่ได้ว่า อยู่ตรงไหน หนึ่งในปัญหาที่เพิ่งเกิดและเห็นได้ชัดช่วงที่ผ่านมา คือการแจ้งขอจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่แปลงเกษตร ซึ่งเป็นปัญหาจะจัดการอะไรก็ไม่ได้ การมีเอกสารนี้ จะระบุว่าพื้นที่ของเราอยู่พิกัดไหน อธิบายรูปแบบว่าเป็นอย่างไร ติดกับพื้นที่ไหนอย่างไร เหมือนกับโฉนดที่ดิน แม้ทางราชการจะไม่ยอมรับ แต่จะเป็นข้อมูลพื้นที่ฐานของชุมชน ที่ต้องการจะบอกว่าเราอยู่มานาน มีตัวตนอยู่จริง ทำกินในแปลงดั้งเดิม วันใดวันหนึ่งจะมาจับเราไม่ได้


“ที่ผ่านทางราชการไม่ว่าใคร ก็ตอบเหมือนกันๆ คือ ตอนนี้ยังไม่มีนโยบายสั่งการลงมา ไม่มีเจ้าหน้าที่ ไม่มีงบประมาณ เราร้องขอจากใครก็ไม่ได้ในประเทศนี้ ชาวบ้านจึงมาคุยกันว่า เครื่อง GPS ราคาเท่าไหร่ ต้องรู้อะไรบ้าง เช่น จับพิกัดอย่างไร จดบันทึกแบบไหน รวมไปถึงการอ่านแผนที่ และส่งคนไปอบรมกับองค์กรที่มีความรู้ จนเป็นที่มาของการระดมข้าวจากชาวบ้าน แล้วนำไปขาย เพื่อเครื่องจับพิกัด GPS ขณะที่การเดินทางไปอบรมและขอความรู้ ก็ได้รับการสนับสนุนจากทางเครือข่ายภาคประชาชนในจำนวนหนึ่ง การมีชื่อ-สกุล เลขบัตรประชาชน ที่อยู่ บอกไว้ชัดเจน มุมหนึ่งอาจจะเป็นข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐจะใช้ดำเนินคดีกับเราได้ง่ายๆ แต่จะจับก็ต้องจับยกหมู่บ้าน เพราะถ้าพูดตามกฎหมาย ก็ผิดทั้งหมดทุกแปลง กลับกันแนวคิดของพวกเรา คืออย่างน้อยจะเป็นการป้องกัน ตรวจสอบและตอบได้ว่า เราไม่มีการบุกรุกแผ้วถางและขยายพื้นที่เพิ่มเติม ซึ่งคาดหวังให้เป็นหนึ่งในบันไดก้าวหนึ่ง ที่จะนำไปสู่การให้ทางราชการ หรือผู้มีอำนาจ เข้าใจ และยอมรับวิถีชีวิตแบบนี้ของพวกเราในอนาคต ” พฤ โอโดเชา ระบุ

นายตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ปราชญ์ชุมชนชาวปกาเกอะญอบ้านสบลาน ระบุว่า ชาวบ้านทำกันขนาดนี้ ถึงเวลาที่ทางราชการควรจะเปิดใจบ้าง หลังจากนี้ ชุมชนจะร่วมกันขยับไปสู่การสำรวจและจัดทำข้อมูลในพื้นที่ป่า รวมถึงประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน องค์ความรู้ วิถี ความเชื่อ วัฒนธรรม ไปจนถึงบริบทพื้นที่และความเหมาะสมในการประกอบอาชีพของชาวบ้าน ที่ต้องพึงพาทรัพยากรจากป่า และเมื่อได้ข้อมูล จะเป็นนำไปใช้เป็นหลักฐานข้อเท็จจริง ที่สามารถโต้แย้ง หรือตอบได้ว่า เราอยู่กันมาอย่างไร ดูแลรักษาทรัพยากรกันได้ดีขนาดไหน และตอบได้ว่า หากอนาคตจะมีการประกาศเขตป่าสงวนในพื้นที่ ชาวบ้านจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้ส่วนที่เกี่ยวข้องรับรู้เข้าใจ และนำข้อมูลของเราไปใช้ประกอบการพิจารณาด้วย


ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า สิ่งที่ยังขาดวันนี้ คือ ข้อมูลพื้นที่ไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญมาก เพราะเป็นข้อถกเถียงกันมาตลอด ระหว่างชาวบ้าน กับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มักจะมองว่าชาวบ้านต้องการใช้พื้นที่จำนวนมาก ทั้งๆที่วิถีชีวิตชาวบ้านเป็นแบบนี้ ทำที่หนึ่ง ปล่อยทิ้งไว้ระยะเวลาหนึ่ง แล้วกลับมาทำใหม่ ซึ่งทราบว่าชาวบ้านอยู่ระหว่างจัดทำเป็นเอกแปลงรวมแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำเป็นเอกสารออกมา ส่วนตัวเชื่อว่า แม้สิ่งที่ได้ร่วมกันทำวันนี้จะไม่มีผลทางกฎหมาย แต่กระบวนการการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน จะมีผลทางต่อการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายในอนาคต ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของชุมชน เมื่อลงทุน ลงแรงร่วมกันไปแล้ว ต้องมาดูต่อว่าจังหวะก้าวจากนี้ จะเดินและใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ต่ออย่างไร เพื่อไม่ให้สูญเปล่า วันนี้เราต้องเข้าใจชาวบ้านด้วยว่า สิ่งที่พวกเขาทำเป็นสิทธิชอบธรรมของพวกเขา เขาไม่ได้ไปละเมิดสิทธิ์ของราชการ แต่เขากำลังเรียกร้องสิทธิ์ของเขา มันอาจจะเปลี่ยนไม่ได้ในปีสองปีนี้ แต่ถ้าได้องคาพยพจากหลายๆภาคส่วนเข้ามาช่วยขับเคลื่อนและหนุนเสริม ก็อาจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

“อนาคตที่อยากเห็น คือต้องการให้ชาวบ้าน มีสิทธิ์ในการจัดการทรัพยากรเป็นของตันเอง ไม่ต้องเป็นโฉนดก็ได้ แต่ต้องให้เขามีสิทธิในที่ดินทำกิน มันมีข้อมูลที่ชัดเจน ว่าชาวบ้านที่นี่อยู่มาก่อน อยู่มานาน มีการดูแลจัดการทรัพยากรป่าอย่างยั่งยืน ถ้าคนเหล่านี้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ป่าคงไม่มีเหมือนวันนี้ รัฐต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ หลักการง่ายๆ ใช้ประโยชน์จากที่ไหน มีสิทธิ์จากที่นั่น คุณก็ต้องดูแลตรงนั้น แต่เมื่อไหร่ถ้าเราให้เขาดูแล แต่ไม่ให้สิทธิ์กับเขา แล้วเขาจะดูแลไปทำไม หน้าที่และสิทธิต้องมาพร้อมๆกัน บางคนบอกว่าตอนนี้ กฎหมายอุทยานฉบับใหม่ก็ให้สิทธิ์ชาวบ้านอยู่ 20 ปีแล้วไง แต่ลืมไปว่า ชาวบ้านมีสิทธิ พวกเขาอยู่มาก่อน แล้วทำไมต้องไปขออยู่ ทีละ 10 ปี 20 ปี กฎหมายฉบับใหม่มันซ่อนรูป ซึ่งเราต้องตามให้ทัน” ดร.มาลี ระบุ
