ทำไมปีนี้เกิดไฟน้อยลงเหลือแค่ 4% : คุยกับ ทสจ.น่าน

เมื่อย้อนดูข้อมูล พื้นที่เผาไหม้ หรือ Burned Scars ของปี 2563 WEVO สื่ออาสา พบว่า จังหวัดน่าน อยู่ในลำดับที่ 5 มีพื้นที่ป่าถูกไหม้เสียหาย จำนวน 827,926 ไร่ หรือคิดเป็น 10.89% ของสัดส่วนต่อพื้นที่รวมทั้งจังหวัด แต่ปี 2564 นี้ พบว่า พื้นที่ป่าถูกไหม้เสียหายลดลงเหลือ 309,369 ไร่ หรือคิดเป็น 4% ของสัดส่วนต่อพื้นที่รวมทั้งจังหวัด เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564 WEVO สื่ออาสา ได้นัดพูดคุยกับ นายปรีชา โตมี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน เพื่อขอข้อมูลสถานการณ์ การบริหารจัดการไฟป่าและฝุ่นควันในช่วงที่ผ่านมา ว่าจังหวัดน่าน มีวิธีการแก้ปัญหาเรื่องนี้กันอย่างไร รวมไปถึงมุมมองในฐานะผู้ปฏิบัติงาน ที่เปรียบเสมือนฟันเฟืองสำคัญของการแก้ปัญหานี้ ตลอด 2 ปีกว่า หลังย้ายมารับตำแหน่งที่นี่

สถิติปี 2564 ดีขึ้น

นายปรีชา โตมี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน เล่าว่า จังหวัดน่าน มีพื้นที่ป่าประมาณ 6 ล้าน เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 2.7 ล้าน เป็นป่าสงวนมี 3.3 ล้าน จากสถิติที่ผ่านมา พบว่าไฟป่าเกินว่า 90% เกิดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวน  การเป็นจังหวัดชายแดน ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน แม้จะมีการเผา หรือบริหารจัดการไฟป่าและฝุ่นควันดีแค่ไหน ทุกๆปีก็มีปัญหาฝุ่นควันข้ามเหมือนกับ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน การบริหารจัดการของจังหวัดน่าน ในปี 2563 ซึ่งเป็นปีสุดท้าย ที่เราใช้ PM 10 เป็นตัวชี้วัดของจังหวัด สถานการณ์ไฟป่าของจังหวัดน่านก็ถือว่าลดลงอย่างมากจากปีก่อนๆพอสมควร เรามีจุดความร้อน (Hotspot) 7,500 จุด ส่วนปี 2564 ที่ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีนโยบายให้ใช้ค่า PM 2.5 เป็นตัวชี้วัดคุณภาพอากาศ และใช้ข้อมูลจากดาวเทียมระบบ VIIRS มาเป็นเครื่องมือช่วยการบริหารจัดการฯ ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์การเกิดไฟป่าในพื้นที่ ก็พบว่า จุดความร้อน (Hotspot) เหลือเพียง 1,600 จุด ลดลงประมาณ 78 เปอร์เซ็นต์ของปี 2563 นอกจากนี้จำนวนวันที่มีค่าคุณภาพอากาศเกินมาตรฐาน จากปี 2563 ที่มีถึง 79 วัน ปีนี้เหลือเพียง 49 วัน  ถือว่าเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือที่ประสบผลสำเร็จในการดำเนินการควบคุมไฟป่าและฝุ่นควันเลยก็ว่าได้ ในมุมมองส่วนตัว คิดว่าสิ่งที่ทำให้จังหวัดน่านประสบผลสำเร็จ ก็คือ รัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากร ให้ความสำคัญ และทางจังหวัดน่าน ได้วางระบบไว้ดีมาก คือ มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็น Single Command และมีศูนย์บัญชาการฯ ที่ดูเรื่องนี้โดยเฉพาะ ถึง 3 ระดับ คือระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานฯ ระดับอำเภอ มีนายอำเภอเป็นผู้ขับเคลื่อน และระดับท้องถิ่น มีนายก อบต. นายก เทศบาล กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน เป็นตัวที่ขับเคลื่อน ก็ลดลงไม่น้อยกว่า 20%

บทบาท ผู้ว่าฯ

การทำงานในช่วงไฟป่าและฝุ่นควัน ทุกๆวัน หลังได้รับข้อมูล จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน จะเป็นผู้สั่งการด้วยตนเอง โดยมีทีมงานวิเคราะห์ข้อมูล แจ้งว่าเช้านี้ มีจุดความร้อน (Hotspot) เกิดที่ไหนบ้าง จากนั้นผู้ว่าจะเป็นผู้สั่งการให้นายอำเภอแต่ละอำเภอ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปดำเนินการ พร้อมทั้งรายงาน ติดตามผลอย่างต่อเนื่อง การที่เข้าใจว่าการควบคุมไฟป่าต้องรวดเร็ว และไม่ต้องการให้พื้นป่าได้รับความเสียหาย หรือถ้าต้องเสียหายก็ต้องให้น้อยที่สุด ปีนี้ ผู้ว่าฯ มีนโยบายไปยัง กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในทุกพื้นที่ ให้สามารถเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการได้ก่อนโดยไม่รอเจ้าหน้าที่ เมื่อเจ้าหน้าที่ไปถึงก็ตามไปสมทบ นอกจากนี้ทางจังหวัดน่านกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังได้ร่วมกันวางแผน โดยใช้ฐานข้อมูลการเกิดไฟป่า เมื่อ 4-5 ปี ย้อนหลัง นำมาประกอบเพื่อกำหนดพื้นที่เสี่ยง หาวิธีเฝ้าระวังและป้องกัน ไม่ให้ไฟป่าเกิดซ้ำซากอีกด้วย

.

“ปีนี้เราได้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ทันสมัย จาก GISTDA  ซึ่งสามารถชี้พิกัดจุด Hotspot ได้แบบละเอียดยิบ เวลาระบุได้แม้กระทั่ง อยู่หมู่บ้านอะไร เป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชน พื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวน หรืออุทยานฯ มันดีมากสำหรับการเข้าพื้นที่ของผู้ปฏิบัติงาน ย้อนไปปี 2563 ซึ่งรู้แค่พิกัด ลำบากมากกว่าจะหาเจอว่าอยู่ที่ได้ตำบลไหน เหนื่อยมาก แต่ปีนี้มันช่วยให้เจ้าหน้าที่ฯ สามารถเข้าพื้นที่จุดเกิดเหตุได้เร็วขึ้น”

ผอ. ทสจ.น่าน ระบุ

ได้เงิน “กองทุนสิ่งแวดล้อมหนุน

จากโจทย์เมื่อยังมีไฟป่า แล้วจะลดสถานการณ์ความรุนแรงของไฟป่าได้อย่างไร ในปี 2564 ทาง นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งพยายามหารูปแบบที่จะทำให้สถานการณ์ไฟป่าในแต่ละปีดีขึ้น หลังมีการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่เสี่ยงและมักจะเกิดไฟป่าซ้ำซากในปีก่อนๆ ปีนี้จึงมีการทดลอง ให้มีโครงการขนเชื้อเพลิงตรงนั้นออกมา เพื่อลดสถานการณ์ความรุนแรง จึงไปขอรับการสนับสนุนจากเงิน จากกองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อดำเนินการโครงการโครงการชิงเก็บลดเผา ที่จังหวัดน่าน เราได้งบประมาณส่วนหนึ่งมาสนับสนุน เครือข่ายกรมป่าไม้ 110 เครือข่าย เครือข่ายกรมอุทยานฯ 89 เครือข่าย รวม 199  เครือข่าย  ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ทำงานและดูแลปัญหานี้ทุกๆปี เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง งบประมาณไม่ได้เอาไปจัดจ้างอะไร ส่วนใหญ่จะเป็นค่าประกอบเลี้ยง ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม ค่าจัดซื้อวัสดุทางการเกษตร เพราะใบไม้ที่เราขนมาไม่ได้เอาไปทิ้ง เรานำมาทำเป็นปุ๋ย สิ่งเหล่านี้คือโครงการใหม่ๆที่กระทรวงทรัพย์ฯคิดขึ้นมา

เลือกอำเภอเวียงสา เป็นพื้นที่นำร่อง “เบิร์นเช็ค”

เมื่อต้นปี 2563 ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการกำหนดแผนเฉพาะกิจด้านไฟป่า อยู่ 12 แผน ตอนนั้นตอนประมาณเดือนตุลาคม2563 ซึ่งยังไม่เกิดไฟป่า โดยการจัดการไฟป่าเราจะแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ก่อนเกิดไฟป่า ระหว่างการเกิด และหลังการเกิด ในต้นปี 63 กระทรวงฯ ก็มีการกำหนดแผนเฉพาะกิจของเรื่องไปฝาก 12 แผน เบิร์นเช็ค ก็เป็นหนึ่งในแผ่นนั้น โดยพยายามนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อสร้างความรวดเร็วอย่างที่ GISTDA พัฒนาข้อมูลชัดขึ้น การเข้าสู่พื้นที่ไวขึ้น ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีที่เราจะได้ทดลอง เบิร์นเช็ค ซึ่งจังหวัดน่านก็ได้รับการแจ้ง ให้กำหนดพื้นที่นำร่อง เราได้กำหนดพื้นที่อำเภอเวียงสา เพราะจากสถิติ 5-6 ปีที่ผ่านมา เพียง อำเภอเวียงสา เป็นอำเภอที่เกิดจุด Hotspot สูงสุด และมีพื้นที่ทำกินมากที่สุดของจังหวัดน่าน เราจึงต้องการให้เป็นพื้นที่นำร่อง โดยคาดว่าจะมีการเริ่มใช้ “เบิร์นเช็ค” ในปีหน้า

.

“ปีนี้จุดความร้อน (Hotspot) ของอำเภอเวียงสา ลดลงพอสมควรเลยนะ จาก 2,000 จุดในปี 2563 เหลือเพียง 500 จุด ถือว่าไม่ธรรมดาเลย ก็ต้องปรับและพัฒนาการบริหารจัดการเชื้อเพลิงกันต่อเนื่องไปเรื่อยๆ”

.

อนาคต..เรื่องด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของน่าน เราจะไม่แพ้ใคร

ผมว่าจังหวัดน่านมีเสน่ห์ ผู้คนพูดกันรู้เรื่องและให้ความร่วมมือดีมากๆ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติ อย่างเช่น ปัญหาไฟป่าที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ ทำให้ได้เห็นความร่วมมือจากภาคประชาชน หลังเขารับรู้ปัญหา ว่ามันมีผลกับสร้างผลกระทบกับตัวเขา ก็เกิดความตระหนัก ยิ่งจังหวัดน่านเป็นจังหวัดเมืองท่องเที่ยว หากมีข่าวออกไป เช่นว่า ตอนนี้คุณภาพอากาศแย่ถึงขึ้นที่เครื่องบินลงไม่ได้ จะเป็นปัญหาที่หนักมากๆ ทั้งด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจ แต่กลับกันที่ผ่านมาได้เห็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี โดยเฉพาะจากภาคประชาชน แม้จะย้ายมาได้ไม่นานก็ได้เห็นภาพเหล่านี้ ได้เห็น ชมรมต่างๆ ที่ขับเคลื่อนเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติเยอะมาก แล้วก็ทุกคนก็เป็นจิตอาสา ใครถนัดทางด้านไหนก็ช่วยกัน ส่วนหนึ่งเชื่อว่า เพราะน่านเราผ่านบทเรียนจากข่าวภูเขาหัวโล้นช่วงปี 2556-2557 ซึ่งทุกคนมองเห็นร่วมกันว่าจะต้องดูแลรักษาพื้นที่ป่าที่ยังเหลือ และหาวิธีฟื้นคืนพื้นที่เขาที่เคยหัวโล้น ส่วนตัวเชื่อมั่นว่ามันจะดีขึ้นเรื่อยๆ จากการแปลข้อมูลพื้นที่ป่าของ GISTDA ล่าสุดเราพบว่า แทบไม่มีการบุกรุกใหม่เลย มันมีนัยยะสำคัญนะ ขณะเดียวกันพื้นที่ราษฎรทำกิน ในจังหวัดน่านประมาณ 1 ล้าน 5 แสนกว่าไร่ ซึ่งอยู่ในป่าสงวนฯ ประมาณ 1,300 ไร่ ป่าอนุรักษ์ ประมาณ 2 แสน ไร่ กำลังได้รับการจัดการโดยโครงการ คทช. ซึ่งเป็นโครงการที่แก้ไขปัญหาที่ราษฎรทำกินอยู่ในพื้นที่ป่ากฎหมายให้ถูกกฎหมาย แต่ไม่ได้กรรมสิทธิ์ ก็จะช่วยให้มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพการเกษตรในพื้นที่ต่างๆ

“เมื่อจัดการพื้นที่เหล่านั้นได้สำเร็จ มองว่ามันจะค่อยๆขยับเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากพื้นที่ 1 ล้าน 5 แสนกว่าไร่ ที่เคยมีแต่ข้าวโพด มันจะเริ่มมีต้นไม้และเริ่มเขียวขึ้น ยิ่งถ้ารัฐบาล โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง อนาคตน่านจะเป็นเมืองหนึ่ง ที่เรื่องด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเราไม่แพ้ใคร”

.

นายปรีชา โตมี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน กล่าวทิ้งท้าย

#เพื่อลมหายใจภาคเหนือ

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →