ไฟเกษตรเหนือล่าง 3 ล้านไร่ เพชรบูรณ์ล้าน,นครสวรรค์ 8 แสน > มากกว่าเชียงใหม่

สถิติพื้นที่เผาไหม้ หรือ burn scars จากดาวเทียม landsat-8  ของเขตพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ระยะ 4 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม-เมษายน) ที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA รายงาน ปรากฏพื้นที่ไหม้ในเขตภาคเหนือตอนล่าง 7 จังหวัด (ไม่รวมตาก) รวมกันมากถึง 3,000,423 ไร่  และน่าสนใจว่า เขตที่เกิดไฟไหม้ในภาคเหนือตอนล่างส่วนใหญ่แล้วเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และเป็นเขตที่ราบโล่ง ต่างจากเหตุเกิดไฟในภาคเหนือตอนบนซึ่งเกิดในเขตป่าไม้และภูเขาสูง



ปีนี้ จังหวัดที่มีสถิติพื้นที่ไฟไหม้สูงสุดคือ เพชรบูรณ์ จำนวน 1,113,689 ไร่ ซึ่งถือว่าสูงมากเป็นลำดับ4 ของประเทศ รองจากจังหวัดลำปาง แม่ฮ่องสอน และตาก ที่ล้วนไหม้เกินล้านไร่ แต่ทว่าจังหวัดทั้ง 3 ลำดับแรกมีสภาพภูมิประเทศเป็นป่าเขา ไฟเกิดในป่าเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่พื้นที่ไฟไหม้ในจังหวัดเพชรบูรณ์เกิดในเขตเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่

.

รองลงมาได้แก่นครสวรรค์ จำนวน 846,186 ไร่ โดยส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่นาข้าว รองลงมาได้แก่พื้นที่เกษตรอื่นๆ รวมถึงไร่อ้อยและข้าวโพด จากการตรวจสอบจุดความร้อน hot spots ของจังหวัดนครสวรรค์พบว่า มีการเผาในช่วงกลางคืนจำนวนมากด้วย  ทั้งนี้พื้นที่ไหม้ของนครสวรรค์ปีนี้ มากกว่าจังหวัดเชียงใหม่ที่มีการเผาไหม้เพียง 749,736 ไร่  แต่ว่าค่ามลพิษอากาศของนครสวรรค์กลับดีกว่าเชียงใหม่  ด้วยสภาพภูมิประเทศที่ราบโล่งลมพัดระบายดี ต่างจากภาคเหนือที่เป็นหุบเขา อากาศไม่ยกตัว ฝุ่นควันสะสมระบายไม่ได้

กำแพงเพชรและพิษณุโลก เป็นลำดับสามและสี่เผาไหม้ใกล้เคียงกัน คือ 291,452 ไร่ และ 288,769 ไร่ ตามลำดับ ปีนี้ค่ามลพิษของกำแพงเพชร และพิษณุโลกเกินมาตรฐานคุณภาพอากาศหลายวัน การเผาไหม้ส่วนใหญ่เป็นที่นาและภาคเกษตรเช่นเดียวกัน

.

สุดท้าย คือ พิจิตร 197,235 ไร่ สุโขทัย 177,147 ไร่ และอุทัยธานี 85,945 ไร่ ตามลำดับ ทั้งนี้ การไม่นับจังหวัดตากมารวมในเขตภาคเหนือตอนล่างเนื่องจากตากมีพื้นที่ป่ามากกว่า 70% ของพื้นที่ มีภูมิประเทศแบบเดียวกับจังหวัดภาคเหนือตอนบน ในแง่ของการพิจารณาปัญหามลพิษฝุ่นควันและไฟจะสะดวกและชัดเจนในแง่ของการเปรียบเทียบมากกว่า

.

ปัญหาการเผาในพื้นที่โล่งภาคเกษตร ถือเป็นปัญหาสำคัญและเป็นปัจจัยหลักของมลพิษฝุ่นควัน pm2.5 ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนตอนบน  แต่ที่ผ่านมาสังคมมุ่งสนใจปัญหาไปที่ภาคเหนือตอนบน ซึ่งเกิดสถิติค่ามลพิษสูงกว่ามาตรฐานต่อเนื่องทุกปี ไม่ได้สนใจภูมิภาคอื่นทั้งภาคกลาง ภาคเหนือล่างและอีสาน ทั้งๆ ที่เป็นเขตกำเนิดมลพิษสำคัญเช่นเดียวกัน

ถึงแม้ว่า จะเกิดมีแผนปฏิบัติการตามวาระแห่งชาติ โดยมติครม. ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562  ในแผนดังกล่าวได้กำหนดให้มี มาตรการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) เช่น ไม่ให้มีการเผาในไร่อ้อย ร้อยละ 100 ภายในพ.ศ. 2565 หน่วยรับผิดชอบคือสนง.คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล, กำหนดให้การเผาในพื้นที่ป่า พื้นที่ริมทาง พื้นที่เกษตร และพื้นที่ชุมชนลดลง โดยหน่วยงานรับผิดชอบคือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ, กรุงเทพมหานคร,จังหวัด, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, และกระทรวงคมนาคม ร่วมกันจัดการ

.

ปรากฏว่าในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ดูแลพื้นที่เกษตรกรรม กลับไม่ได้มีแผนงานหรือโครงการเชิงรุก เพื่อตั้งเป้าหมายลดการเผาในพื้นที่เกษตรอย่างจริงจัง มีเพียงแผนงานลดในพื้นที่ปกติจำนวนไม่มากอันเป็นแผนงานปกติเท่านั้น

.

อนึ่งมาตรการระยะสั้นตามแผนวาระแห่งชาติจะสิ้นสุดลงในปี 2564 และจากนี้ไปจะเป็นช่วงของการแก้ปัญหาการเผาภาคเกษตรตามแผนระยะยาว (2565-2567) อันมีถ้อยคำประกาศไว้ดังนี้

.

ให้มีการกำหนดระเบียบหรือแนวปฏิบัติในการจัดการเศษวัสดุจากการทำ เกษตรประเภทต่างๆ โดยให้มีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อไม่ให้มีการเผาในที่โล่ง ห้ามไม่ให้มีการเผาในที่โล่งและเผาขยะโดยเด็ดขาดให้มีการพิจารณาการพัฒนาระบบหรือยกระดับโดยผนวกมิติด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปในกระบวนการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร : การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีหรือมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร สำหรับพืชเกษตรที่มักมีการเผาวัสดุการเกษตรก่อนหรือหลังการเก็บเกี่ยวให้มีความเข้มงวดขึ้น ใช้มาตรการหรือกลไกทางเศรษฐศาสตร์หรือมาตรการทางสังคมผลักดันให้เกิดแนวทางรับซื้อสินค้าจากเกษตรกรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานทางการเกษตร  รวมถึงออกระเบียบ กำหนดให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกินร้อยละ 0 – 5 ต่อวัน ภายในปี2565 เพื่อให้อ้อยไฟไหม้หมดไปภายในปี 2565

#เพื่อลมหายใจภาคเหนือ

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →