สรุปสถานการณ์ไฟป่า จ.แม่ฮ่องสอน 2564 พบจุดความร้อนลดลงทุกอำเภอ

28 มิถุนายน เวลา 22:50 น. นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประจำปี พ.ศ.2564 เพื่อสรุปสถานการณ์และผลการดำเนินงานในพื้นที่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดแม่ฮ่องสอน

.

ที่ประชุมรายงาน สถิติจุดความร้อนสะสม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2564 พบเกิดขึ้นทั้งหมด 11,945 จุด ลดลงจากปี 2563 คิดเป็นร้อยละ 28.07 โดยในภาพรวม พบว่าลดลงทุกอำเภอ และทุกพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งป่าอนุรักษ์ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ชุมชน พื้นที่เกษตร พื้นที่ ส.ป.ก. และพื้นที่ริมทาง

(แฟ้มภาพ : ทสจ.แม่ฮ่องสอน)

ขณะที่ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 พบค่าเกินเกณฑ์มาตรฐาน รวม 48 วัน ค่าสูงสุดที่วัดได้ เท่ากับ 329 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (เกณฑ์มาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 อย่างไรก็ตาม พบว่ามีแนวโน้มลดลงจากปี 2563
พื้นที่เผาไหม้ (Burn Scar) ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 เมษายน 2564 พบว่ามีจำนวนทั้งหมด 1,300,753 ไร่ ลดลงจากปี 2563 จำนวน 485,441 ไร่ หรือลดลงร้อยละ 27.18 มีผู้ป่วยกลุ่มโรคเกี่ยวข้องมลพิษอากาศ จำนวนทั้งสิ้น 16,441 ราย ลดลงจากปี 2563 จำนวน 2,677 ราย หรือลดลงร้อยละ 14 ขณะที่จำนวนเที่ยวบิน ถูกยกเลิก จำนวน 14 เที่ยวบิน ล่าช้า 1 เที่ยวบิน เนื่องจากทัศนวิสัย​ต่ำกว่าเกณฑ์ปลอดภัย โดยลดลงจากปี 2563 จำนวน 15 เที่ยวบิน หรือลดลงร้อยละ 51.72

ชิงเก็บลดเผา ได้ถึง 500 ตัน

ในส่วนของมาตรการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ แบ่งเป็น 2 ส่วนหลักคือการนำเชื้อเพลิงมาใช้ประโยชน์ภายใต้กิจกรรม”ชิงเก็บ ลดเผา” โดยสามารถเก็บใบไม้ เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งเป็นวัสดุเชื้อเพลิง มาใช้ประโยชน์ ได้จำนวน 503.81 ตัน สูงกว่าเป้าหมายที่จังหวัดกำหนดไว้ที่ 100 ตัน

(แฟ้มภาพ : ทสจ.แม่ฮ่องสอน)

415 หมู่บ้าน จัดชุดลาดตระเวน เฝ้าระวัง และดับไฟ

จากมาตราการ ที่กำหนดให้ ตั้งแต่ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ถึง 20 มีนาคม 2564 เป็นช่วงชิงเผา ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลควบคุมของศูนย์ปฏิบัติการฯ มาตรการห้ามเผาเด็ดขาด โดยกำหนดช่วงห้ามเผาเด็ดขาดใน 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคมถึงวันที่ 4 เมษายน 2564 และระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 16-30 เมษายน 2564 พบว่าได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลาดตระเวนเฝ้าระวังและดับไฟ โดยมีชุดปฏิบัติการระดับหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน จำนวน 415 หมู่บ้าน ที่พร้อมเข้าระงัดเหตุทันที ซึ่งจะช่วงลดความเสียหายจากไฟป่า ในที่ประชุมยังรายงานอีกว่า ในช่วงมาตราการของจังหวัดฯ มีการแจ้งความกับผู้กระทำความผิด รวม 215 คดี แบ่งเป็น ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจร จำนวน 145 คดี และคดีตามกฎหมายป่าไม้ จำนวน 70 คดี

ภาพ : ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน warroom

นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ระบุว่า จากสถิติพบว่าสถานการณ์ในหลายๆด้าน ดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการฯ อย่างเข้มข้นของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน ทั้งนี้ แม้ว่าจำนวนจุดความร้อนในปี 2564 จะลดลง แต่ทางจังหวัดก็จะนำมาถอดบทเรียน เพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ในปีต่อๆไปให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

(แฟ้มภาพ : ทสจ.แม่ฮ่องสอน)

นายบัณฑิต นิลดุดมศักดิ์ ประธานหอการค้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้สะท้อนความคิดเห็น โดยเฉพาะประเด็นที่ภาคประชาชนตั้งคำถาม เช่นเรื่องการให้งบประมาณในการออกพ่นละอองน้ำเพื่อช่วยเบาเทาสถานการณ์ฝุ่นควันในช่วงที่เกิดวิกฤติ ว่าส่วนที่เกี่ยวข้อง เคยคำนวนความคุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไปหรือไม่ ทราบว่ามีการพ่นละอองน้ำไปมากกว่า 1 ล้านลิตร ในความเป็นจริง ได้ผลหรือเกิดประโยชน์มากน้อยแค่ไหน หรือถึงเวลาต่อปรับรูปแบบวิธีการใหม่

“วันนี้ทุกภาคส่วนต้องยอมรับว่า มาตราการ หรือสิ่งที่ร่วมทำกันมา ยังคงให้ความสำคัญกับการแก้ที่ปลายเหตุ อยากเสนอในเวลาเดียวกันควรต้องหาแนวทางแก้ที่ต้นเหตุด้วย สาเหตุซึ่งมาจากการเผาป่า เราต้องให้ ฟังเสียงจากคนเผา ว่าทำไมต้องเผา อาชีพ ความเป็นอยู่ เป็นอย่างไร มีปัญหาด้านการประชาสัมพันธ์ที่อาจจะต้องใช้ภาษาชาติพันธุ์หรือไม่ และที่สำคัญควรจะต้องมีแผนการบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างชัดเจน และต้องเป็นแผนของจังหวัด ที่ผ่านการถอดบทเรียน เพื่อเป็นแนวทางในอนาคต ไม่ใช่เปลี่ยนผู้ว่าฯ เป็น ทสจ. หรือเปลี่ยนผู้บริหาร ในส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องเปลี่ยนใหม่ทุกๆรอบ “ประธานหอการค้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระบุ

รายงานในที่ประชุมแจ้งว่า ทีมนักวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ วิทยาเขตแม่ฮ่องสอน อยู่ระหว่างการวางแผนกำหนดการ เจัดเวทีถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันของจังหวัด ซึ่งจะมีการประสานกับผู้ปฏิบัติงานจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันวางแผนวทางฯ แผนปฏิบัติการฯ และมาตรการต่างๆ ในเร็วๆนี้

ภาพ/ข่าว : ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน warroom / สำนักงานประชาสัมพันธ์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน / สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม จ.แม่ฮ่องสอน / หอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน

#เพื่อลมหายใจภาคเหนือ

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →