โดย ทีมสื่อสาร สภาลมหายใจเชียงใหม่

แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง
ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อ 1 ตุลาคม 2562 แบ่งเป็น 3 ชุดมาตรการ ได้แก่ มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่, มาตรการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) และ มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ มาตรการกำหนดให้มีแผนระยะเร่งด่วน, ระยะสั้น (2562-2564) และระยะยาว (2565-2567)
สำหรับชุดแผนมาตรการระยะสั้นที่กำหนดให้แล้วเสร็จภายในปี 2564 แต่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ หรือ ดำเนินการไปแล้วแต่ยังไม่สัมฤทธิผล สำรวจ ณ เดือนกรกฎาคม 2564 ที่สำคัญมีดังต่อไปนี้

ประสิทธิภาพการบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉิน
มาตรการปรับปรุงระบบบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพ ให้มีโครงสร้างการบริหารจัดการแผนฉุกเฉิน ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังภาวะวิกฤติ มีมาตรการตอบโต้ response measures ที่จะดำเนินการในแต่ละระดับความเข้มฝุ่น AQI แต่ปรากฏว่า การปรับปรุงระบบบริหารที่กำหนดให้แล้วเสร็จในปี 2564 ยังมีจุดอ่อนให้เห็นทั่วไปในทั่วประเทศ ระหว่างฤดูฝุ่นควันไฟ มกราคม-เมษายน 2564 ที่ผ่านมา จังหวัดภาคอีสาน ภาคกลาง และเหนือตอนล่าง ที่ปกติมีค่าฝุ่นละอองไม่มาก ปีนี้มีไฟเกิดขึ้นทั่วไป มีการเผาในไร่นาแปลงใหญ่ไหม้ลามข้ามคืนโดยไม่มีมาตรการตอบโต้ไปดับให้ทันการณ์ การปล่อยปละให้เกิดไฟไหม้ตามอำเภอใจ ปรากฏ hotspots และพื้นที่ไหม้ burned scars รวมแล้วหลายล้านไร่ เป็นรูปธรรมฟ้องว่า มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการยังไม่ได้ผล
ใช้รถร่วม car pooling ล้มเหลว
แผนมาตรการเขียนไว้ว่า ให้วางระบบการเดินทางของเจ้าหน้าที่ในหน่วยราชการต่างๆ ร่วมกัน (Car Pooling/Ride Sharing) โดยระบุว่าจัดทำทันทีเมื่อปี 2562 แต่ก็พบว่าเมื่อเวลาผ่านไประหว่างปี 2563-2564 มาตรการที่ว่าไม่มีการปฏิบัติจริงในหน่วยราชการใดๆ
ยังไม่จูงใจใช้รถยนต์ไฟฟ้า
แผนเขียนว่า ระหว่าง 2562-2564 ให้ใช้มาตรการจูงใจเพื่อสนับสนุนส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ปรากฏว่า จนกระทั่งบัดนี้ รถยนต์ไฟฟ้ายังเป็นเรื่องยากและราคาสูง ไม่มีแผนจูงใจใดๆ ให้ประชาชนเปลี่ยนจากเครื่องยนต์ฟอสซิลไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า เช่นเดียวกับที่เขียนว่า ให้ทดแทนรถยนต์ราชการคันเก่าเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ก็ยังไม่เป็นจริง

มาตรฐานยูโร 5 ฝันต่อไป
แผนกำหนด ให้ บังคับใช้มาตรฐานระบายมลพิษอากาศของรถยนต์ เป็น มาตรฐาน Euro5 ภายในปี 2564 และมาตรฐาน Euro 6 ภายในปี 2565 เรื่องนี้ไม่มีทางเป็นไปได้อย่างแน่นอนแล้ว

ลดเผาภาคเกษตรไม่เป็นจริง
แผนเขียนมาตรการลดการเผาในพื้นที่เกษตรโดยส่งเสริมจัดการเศษวัสดุนำมาใช้ประโยชน์ต่อ เช่นฟางข้าว หรือ ซังข้าวโพด แต่ที่เกิดจริงก็คือยังมีการเผาอย่างมากมาย แผนให้มีการส่งเสริมปลูกพืชยืนต้นชนิดอื่นแทนพืชเชิงเดี่ยว แต่ในความเป็นจริงยังส่งเสริมพืชเชิงเดี่ยวอื่นแทนการปลูกข้าว ทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในปี 2564 ซึ่งไม่เป็นจริงแน่นอน เพราะการปลูกพืชยืนต้นทดแทนพืชเชิงเดี่ยวต้องดำเนินการให้เสร็จในฤดูฝนที่กำลังใกล้จะพ้นไป
ลดเผาไร่อ้อยมาตรการครึ่งๆกลางๆ
แผนเขียนไว้ชัดเจนว่า ให้กำหนดมาตรการทางกฎหมาย ออกระเบียบให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกินร้อยละ 20 ต่อวันภายในปี 2564 และให้อ้อยไฟไหม้หมดไปในปี 2565 ความเป็นจริงคือรัฐบาลต้องมีมติครม.อนุมัติเงินช่วยเหลือในการนี้ ตั้งแต่ 2562 รวมกันแล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาทชดเชยให้กับชาวไร่อ้อยตัดสด มาตรการนี้บังคับการรับซื้อของโรงงานหีบอ้อย เมื่อชาวไร่ตัดสดส่งโรงงานแล้วเสร็จ ในทางปฏิบัติจริงกลับมาก็ยังใช้การเผาเพื่อกำจัดใบอ้อยที่ค้างแปลง หรือไม่ก็ยังต้องเผาเพื่อเตรียมแปลงปลูกใหม่อยู่เช่นเดิม สำหรับไร่อ้อยที่ยังใช้ไฟ ก็ไม่มีมาตรการไปควบคุมการเผา ให้จำกัดวงแปลงเล็ก จึงเกิดการเผาแปลงใหญ่ขนาดหลายร้อยถึงพันไร่ ลามข้ามคืน เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษฝุ่นควันเช่นเดิม แม้จะมีมาตรการออกมาก็ตาม
ส่วนมาตรการที่เขียนว่า ให้มีจังหวัดปลอดการเผาอ้อย 100% จำนวน 5 จังหวัดให้ได้ภายในปี 2563 ไม่เป็นจริงตามแผนที่เขียนไว้
ยกระดับการป้องกันไฟป่าและจัดการไฟป่าภายใน2564?
แผนเขียนว่าให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และมหาดไทยเป็นหน่วยหลักร่วมกับจังหวัดและท้องถิ่นยกระดับการจัดการและป้องกันไฟป่าอย่างมีประสิทธิภาพภายใน 2564 แต่ตลอด 3 ปีมานี้การเผาไหม้หลักของภาคเหนือตอนบนยังเกิดในพื้นที่ป่า ทั้งป่าอนุรักษ์ และป่าสงวนแห่งชาติ รวมกันมากกว่า 40% ของการเกิดไฟทั้งหมด โดยไม่มีแผนและมาตรการที่ดีเพื่อหาสาเหตุต้นตอเพื่อจะมุ่งแก้ไขตามเหตุ ในระหว่างปีหน่วยงานไม่มีระบบการจัดการไฟ วิเคราะห์จุดเกิดไฟ และแนวทางยกระดับป้องกัน พื้นที่เคยเกิดซ้ำซากก็ยังคงเกิดเช่นเดิม
อะไรคือรูปธรรมของการยกระดับจัดการไฟในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ?

ผังเมืองที่คำนึงถึงการสะสมมลพิษที่ระบายอากาศ
แผนมาตรการเขียนว่า ภายในปี 2564 ให้ มหาดไทย/จังหวัด/ท้องถิ่น ส่งเสริมจัดทำผังเมืองและการก่อสร้างต่างๆ คำนึงถึงปัจจัยการระบายอากาศและการสะสมมลพิษ ซึ่งไม่เคยมีเรื่องราวชนิดที่เขียนไว้ในทางปฏิบัติจริงแม้แต่น้อย
พื้นที่สีเขียวในเมือง 9 ตร.ม./คน
แผนยังกำหนดให้เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล คือ 9 ตร.ม./คน โดยให้เกิดขึ้นภายใน 2564 ปรากฏว่าไม่เคยมีจังหวัดและท้องถิ่นหน่วยใดลงมือทำแผนงบประมาณและปฏิบัติให้เป็นไปตามที่เขียน จริงอยู่ที่อปท.หลายแห่งมีแผนเพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่ก็เป็นแผนงานปกติ และไม่ได้มีตัวชี้วัด 9 ตร.ม./คน แต่อย่างใด

ภาคอุตสาหกรรมไม่เคยเกี่ยวกับ pm2.5
แผนได้กำหนดให้ภาคอุตสาหกรรมปรับปรุงยกระดับการปล่อยมลพิษ โดยให้มีมาตรฐานการระบายมลพิษอากาศในรูปแบบ loading โดยคำนึงถึงศักยภาพการรองรับมลพิษของพื้นที่ และติดตั้งระบบตรวจสอบการระบายมลพิษต่อเนื่องโดยอัตโนมัติที่ปล่องโรงงานอุตสาหกรรม เรื่องนี้ไม่มีการดำเนินการใดๆ ออกมาเป็นรูปธรรมให้สาธารณรับรู้ ทั้งๆกำหนดให้แล้วเสร็จในปี 2564
ทำเนียบปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (?)
มาตรการเขียนไว้ว่า ภายในปี 2564 ให้จัดทำทำเนียบปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ Pollutant Release and Transfer Register ซึ่งยังไม่มีออกมาจริง ล่าสุดมีร่างกม. ร่างกฎหมายการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Registers-PRTR) ที่พรรคฝ่ายค้านเสนอถูกตีตกโดยนายกรัฐมนตรีไม่รับรอง อ้างว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน
บัญชีการระบายมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด (?)
อยู่ในมาตรการระยะสั้น (พ.ศ. 2562 – 2564) กำหนดให้จัดทำบัญชีการระบายมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิดเป็นระยะๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการกำหนด/ปรับปรุงแนวทางและมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษ ซึ่งล่าสุดยังไม่ปรากฏว่ามีความคืบหน้าใดๆ ให้สาธารณรับทราบ
เครือข่ายวัดคุณภาพอากาศไม่ครอบคลุม
เครือข่ายที่ว่าอยู่ในทั้งมาตรการระยะสั้น (พ.ศ. 2562 – 2564) และมาตรการระยะยาว (พ.ศ. 2565 – 2567) ให้ดำเนินงานต่อเนื่องเพื่อขยายเครือข่ายการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศและให้ท้องถิ่นติดตามตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ของตนเอง พัฒนาศักยภาพของท้องถิ่นในการดำ เนินการติดตามการตรวจสอบคุณภาพอากาศเพื่อให้มีการเฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่ ล่าสุดยังมีแค่จังหวัดใหญ่ อย่างเชียงใหม่เท่านั้นที่มีระบบและเครือข่ายที่ครอบคลุม
แผนยังระบุว่า พัฒนาศักยภาพของท้องถิ่นในการดำเนินการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ
ในพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งในทางปฏิบัติยังไม่มีดำเนินการจริง

เงื้อง่ามาตรฐานอากาศเทียบ WHO
แผนเขียนว่า มาตรการระยะสั้น (พ.ศ.2562 – 2564) ให้มีการกำหนดค่ามาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศเฉลี่ยรายปีให้เป็นไปตามเป้าหมายระยะที่ 3 ขององค์การอนามัยโลก
(WHO IT-3) การปรับปรุง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพ.ศ. 2535 รวมทั้งศึกษาความเหมาะสมเรื่องกฎหมายอากาศสะอาด (Clean Air Act) รวมถึงการพิจารณาความเหมาะสมในการจัดระเบียบการเผาภาคการเกษตร
ซึ่งทั้งหมดยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ยังไม่แล้วเสร็จแม้ใกล้จะถึงสิ้นปี 2564 แล้วก็ตาม

ระบบคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง จะทัน64 ไหม?
มีข่าวว่ากรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานพันธมิตรกำลังพัฒนาระบบคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง ตามแผนที่กำหนดให้ทำให้แล้วเสร็จในปี 2564 เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการทบทวน/ปรับปรุงมาตรการและแนวทางการดำ เนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษในระยะต่อไป ซึ่งระบบที่ว่ามีความซับซ้อนและต้องอาศัยองค์ประกอบตัวแปรจำนวนมาก ล่าสุดยังไม่มีข่าวความคืบหน้าของระบบคาดการณ์ที่ว่า
