เมื่อศาลปกครองสูงสุด รับอุทธรณ์คดีฝุ่นควันเหนือ ประชาชนคนสูดมลพิษจะได้อะไรบ้าง..จากนี้ ?

บทความ
บัณรส บัวคลี่ /สภาลมหายใจเชียงใหม่

.

1/ เกริ่น

.

คดีความที่ศาลปกครองเชียงใหม่ตัดสิน กรณี นายภูมิ วชร เจริญผลิตผล ราษฎรชาวอ.หางดง จ.เชียงใหม่ ฟ้องร้อง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อให้ประกาศเขตควบคุมมลพิษใน 4 จังหวัด (เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน เชียงราย)  และศาลให้ผู้ฟ้องชนะคดีเมื่อ 8 เมษายนที่ผ่านมานั้น ล่าสุดเรื่องยาวต่อไปอีก เมื่อฝ่ายรัฐยื่นอุทธรณ์ ศาลปกครองสูงสุดได้รับคดีไว้และขณะนี้อยู่ระหว่างเรียกข้อมูลคำแก้อุทธรณ์จากฝ่ายผู้ร้อง

ผลการตัดสินจะออกมารูปใดเป็นเรื่องของอนาคต บทความนี้ไม่ประสงค์กดดันหรือก้าวก่ายการทำหน้าที่ของศาลปกครองสูงสุด และจะน้อมรับผลตัดสินนั้น แต่ในระหว่างนี้จะขอแสดงออกบนสถานะของประชาชนผู้ประสบภัยจากมลพิษฝุ่นควันต่อเนื่องมาเกิน 10 ปี และติดตามการแก้ปัญหาของรัฐมาโดยตลอด ทั้งคาดหวังจะให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ (ต่อให้มีการฟ้องร้องต่อศาลหรือไม่มีการฟ้องร้องใดๆ ก็ตาม)

ผู้เขียนไม่ได้เห็นด้วยกับคำฟ้องของผู้ฟ้องทั้งหมด และ ก็ไม่เห็นด้วยกับคำแก้ต่างแนวทางของรัฐบาลทั้งหมด แต่ก็ต้องให้ความสนใจต่อทั้งคำฟ้องและคำแก้ต่าง เพราะมันมีผลกระทบต่อผู้เขียนเช่นเดียวกัน (คลิกอ่าน : ชุดเอกสารคดีประวัติศาตร์ ชาวบ้าน ฟ้อง! คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ)

.

2/ หัวใจของข้อถกเถียง คือ วิธีการแก้ปัญหา

.

คำฟ้องของ นายภูมิ วชร เจริญผลิตผล ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ชัดเจนว่า เขาเห็นว่ารัฐบาลโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติยังไม่ได้แก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันที่เกิดอย่างเต็มที่ ตามอำนาจหน้าที่ โดยเขาเห็นว่า รัฐต้องประกาศเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่ 4 จังหวัด (รอบๆ ที่อาศัยของผู้ฟ้อง) ตาม มาตรา 59 ที่พรบ.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  กำหนดไว้ ผลจากการประกาศเขตควบคุมพิษจะยกระดับและประสิทธิภาพของการแก้ปัญหา เพราะมีข้อกำหนดให้องค์กรท้องถิ่นในพื้นที่จัดทำแผนปฏิบัติ ให้มีแผนระดับจังหวัดเพื่อจัดการปัญหานี้ต่อเนื่อง

.

พูดภาษาชาวบ้านก็คือ นายภูมิเห็นว่ารัฐยังแก้ไม่ได้ ฝุ่นควันไฟยังเต็มเมือง เขาเลยมองว่า มันยังมีวิธีที่ยกระดับการแก้ปัญหาได้ นั่นก็คือ ให้ประกาศเขตควบคุมมลพิษซึ่งบังคับให้หน่วยงานยกระดับการทำงานขึ้นมา

.

หัวใจของข้อถกเถียง ก็คือ วิธีการแก้ปัญหา !ซึ่งน่าสนใจทีเดียว ถ้ารัฐบาลยอมทำตามที่ประชาชนฟ้อง จะเกิดอะไรขึ้น ? หรือ หากรัฐบาลไม่ยอมล่ะ จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ?

.

ได้อ่านคำแถลงที่ฝ่ายรัฐแก้ตัวต่อศาลปกครองเชียงใหม่แล้ว คิดว่า สมแล้วล่ะที่ศาลท่านตัดสินให้รัฐแพ้ เพราะมีการบอกว่า ฝุ่นควันที่เกิดนั้นไม่อันตรายมาก ไม่เป็นมลพิษร้ายแรง และก็พยายามชี้ว่าที่ทำๆ กัน ก็แก้ปัญหาอยู่แล้ว

.

(พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535)

รัฐบาลกลับไปตั้งหลัก คำอุทธรณ์รอบใหม่รัดกุมกว่าเดิม โดยพยายามจะชี้ว่า ลำพังการประกาศเขตควบคุมมลพิษ ตามมาตรา 59 ของพรบ.สิ่งแวดล้อมแห่งชาตินั้น ไม่ครอบคลุมการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน และไม่ข้ามไปจัดการต้นตอของฝุ่นควันไฟที่ลอยข้ามมาจากเขตอื่น พร้อมกันนั้น ได้มีแผนปฏิบัติการตามวาระแห่งชาติที่ดำเนินการอยู่ หัวใจของข้อโต้แย้งก็คือ รัฐไม่ได้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ (ไม่ประกาศเขตควบคุมมลพิษ) แต่เพราะมองเห็นว่า การแก้ปัญหานี้ต้องใช้กลไกระดับชาติบูรณาการทุกภาคส่วน และข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยมลพิษหมอกควันข้ามแดนอาเซียน  และชี้ว่า แหล่งกำเนิดมลพิษ มีอยู่ทั่วไปไม่ได้เฉพาะพื้นที่ 4 จังหวัดตามที่ขอ

.

นอกจากนั้นยังยืนยันว่าการแก้ปัญหาแบบที่ทำอยู่มีประสิทธิภาพ มีความก้าวหน้าโดยลำดับ

.

ข้ออุทธรณ์ของรัฐในรอบหลังพยายามชี้ว่า วิธีการแก้ปัญหาแบบที่ให้ประกาศเขตควบคุมมลพิษนั้น สู้ชุดมาตรการตามวาระแห่งชาติที่กำลังดำเนินการอยู่ไม่ได้

เอกสารคำอุทธรณ์ ของ ผู้ถูกฟ้อง (คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ)

.

3/ ข้อกังวล

.

ขอสารภาพว่าฐานะผู้ประสบภัย ผู้เขียนมีความขัดแย้งในตัวเองมากทีเดียว เพราะคดีความมีแพ้กับชนะเท่านั้น ! แต่ผู้เขียนต้องการผลลัพธ์ที่มากกว่าวิธีการที่ผู้ฟ้อง (ประชาชน) และผู้ถูกฟ้อง (รัฐ) นำเสนอ

.

ปัญหามลพิษฝุ่นควันไฟในภาคเหนือมีความซับซ้อนและเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน และต้องอาศัยเครื่องมือทางการบริหารที่มีประสิทธิภาพ ถูกต้องเหมาะสมตามสาเหตุแห่งปัญหา การประกาศเขตควบคุมสิ่งแวดล้อมโดยลำพังยังไม่ครอบคลุมกับความซับซ้อนของปัญหา กล่าวได้ว่า จุดเด่นที่สุดของการประกาศเขตฯ ก็คือ ให้บทบาทกับองค์กรปกครองท้องถิ่น และ ลำดับความสำคัญของปัญหานี้ให้สภาพแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนเป็นตัวตั้ง ขณะที่จุดอ่อนก็คือ มลพิษฝุ่นควันไฟเกิดครอบคลุมทั้งในภาคเหนือเองและนอกพื้นที่ การเข้มงวดยกระดับจัดการเพียงบางจังหวัด ก็ยังแก้ปัญหาในภาพรวมไม่ได้

.

ในเมื่อหวังพึ่งการประกาศเขตคุมมลพิษเพียงลำพังยังไม่ได้ แล้วชุดมาตรการที่รัฐทำอยู่ล่ะ พึ่งพาได้มากน้อยแค่ไหน ? คำตอบก็คือ มาตรการตามวาระแห่งชาติที่รัฐบาลชี้แจงว่ามีประสิทธิภาพเหมาะสมแล้ว ก็ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ หาได้มีประสิทธิภาพจริงตามอ้าง

.

จนบัดนี้ (กรกฎาคม 2564) แผนงานตามวาระแห่งชาติหลายประการยังไม่เป็นไปตามที่เขียนไว้ (คลิกอ่าน/ วาระแห่งชาติแก้มลพิษฝุ่นควัน…อืด!!!) ไม่เพียงเท่านั้น แผนงานที่กำหนดเป็นขั้นตอนแก้ปัญหาก็ทำไม่ได้จริงเช่น กำหนดว่าหากพื้นที่ใดมีค่าเฉลี่ย pm2.5 สูงเกิน 100 มคก./ลบ.ม. ให้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและรายงานนายกรัฐมนตรี ก็ไม่เคยปฏิบัติจริง แม้มีค่ามลพิษสูงเกินกำหนดก็ตาม

.

ผลจะออกมาอย่างไร ยากจะคาดเดา ขึ้นกับดุลพินิจมุมมองของศาลฯ อันว่า นับจากที่ปัญหานี้เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ครั้งแรกเมื่อปี 2550 ตลอด 15 ปีการแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟของประเทศเรานั้น ก็มีพัฒนาการเรื่อยมา นัยของชุดมาตรการล่าสุดที่ใช้อยู่ตามวาระแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ประกอบทั้งชุดกฎหมายปกติ และ กฎหมายพิเศษใช้ในสถานการณ์ไม่ปกติ ก็คือ พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดบัญชาการสถานการณ์แบบซิงเกิ้ลคอมมานด์

.

สำหรับมาตรการผู้ว่าฯ ซิงเกิ้ลคอมมานด์ ซึ่งเป็นระบบหลักในการจัดการมลพิษภาคเหนือก็ยังมีปัญหาตรงที่ใช้อำนาจพิเศษได้เฉพาะ 3-4 เดือนที่มีฝุ่นควันไฟป่า เมื่อถึงฤดูปกติฝนตกลงมา การบริหารจัดการต่างๆ กลับมาสู่ระบบปกติ ที่ขึ้นกับกระทรวงทบวงกรมต่างๆ จะขยับมากน้อยแค่ไหน เช่น กระทรวงเกษตรจะดูแลและจัดการปัญหาการเผาในไร่นาแค่ไหน  กระทรวงอุตสาหกรรมดูแลจัดการเผาในไร่อ้อยขนาดไหน หรือกระทั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ โดยกรมอุทยานฯ จะจัดการเชื้อเพลิงและการเตรียมป้องกันไฟในเขตป่ามากน้อยขนาดไหน แต่ละเรื่องผู้ว่าราชการจังหวัดแทบไม่มีอำนาจไปแตะต้อง หรือเร่งรัดให้ทำ

.

ในระหว่างปี องค์กรปกครองท้องถิ่นควรจะมีบทบาทในการร่วมมือกับชุมชนจัดการดูแลและเตรียมป้องกันเหตุในพื้นที่ชุมและพื้นที่ป่าติดกับเขตของตน แต่ในทางปฏิบัติ การจะเข้าไปทำอะไรในเขตป่าโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ทำไม่ได้ กรณีที่กรมป่าไม้ถ่ายโอนอำนาจจัดการไฟในเขตป่าสงวนแห่งชาติให้อปท. ก็ยังมีปัญหาทางปฏิบัติเพราะ อปท.ไม่ได้รับโอนงบประมาณมาให้ และอาจจะติดขัดระเบียบภายในบางประการ ที่ทำให้ไม่กล้าดำเนินการใดๆ เกรงจะผิดกฎหมายตรวจเงินแผ่นดิน นี่ก็เป็นอีกข้อปัญหาหนึ่งของชุดมาตรการวาระแห่งชาติ

.

ซึ่งจะว่าไปแล้ว ลำพัง การประกาศเขตควบคุมมลพิษอาจจะช่วยอุดช่องว่างนี้ได้ แต่ก็ไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด และอาจจะก่อปัญหาใหม่ขึ้น หากไปกระทบกระทั่งกับหน่วยงานปกติที่ดูแลป่าไม้อยู่

.

ปัญหาข้อกังวลของผู้เขียนก็คือ ของใหม่อิทธิฤทธิ์ยังน้อยไป ของเก่าที่ว่าขลังหนักหนาเอาเข้าจริงก็ยังไม่เป็นไปตามที่อวดอ้าง !

.

4/ คำถามทิ้งท้าย

.

เนื้อความที่รัฐบาลอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดฟังดูแล้วเสมือนว่า รัฐมั่นใจมากว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่เป็นทางออก มีประสิทธิภาพและสะสมชัยชนะมาโดยลำดับ ทั้งๆ ที่ตัวชี้วัดมากมายสะท้อนว่ารัฐเองยังต้องปรับปรุงอะไรๆ อีกมากมาย จริงอยู่ การประกาศเขตควบคุมมลพิษเฉพาะบางจังหวัด ไม่สามารถแก้ปัญหาภาคเหนือทั้งภาคได้ แต่มาตรการที่รัฐใช้อยู่ ก็ยังแก้ไม่ได้เช่นกัน

.

ชุดมาตรการระดับภาคที่มีประสิทธิภาพจริง ใช้ได้จริง อุดช่องโหว่ของปัญหาได้จริง และสามารถทำงานตลอดทั้งปีโดยชุมชนและท้องถิ่นมีส่วนร่วม เป็นทั้งคำตอบ และเป็นทั้งคำถาม ?

.

คำถามก็คือ จะให้เกิดมีชุดมาตรการที่ว่าได้อย่างไร ในเมื่อรัฐยืนยันว่า แบบที่โจทก์เสนอไม่ดี และแบบที่รัฐกำลังทำอยู่นั้นดีแล้ว สำเร็จแล้ว

.

ข่าว/บทความ ที่เกี่ยวข้อง

#เพื่อลมหายใจภาคเหนือ

บทความโดย บัณรส บัวคลี่ สภาลมหายใจเชียงใหม่

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →