27 กรกฎาคม 2564 สภาลมหายใจลำพูน และตัวแทนสภาลมหายใจภาคเหนือ ประชุมหารือออนไลน์ เพื่อเตรียมความพร้อม อบรมเชิงปฏิบัติการ “ฝุ่น ฟ้า ลม ไฟ เมืองลำพูน” ครั้งที่ 1 ให้กับเครือข่ายภาคประชาชน เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ที่ทำงานในการแก้ปัญหาฝุ่นควัน ภายใต้โครงการความร่วมมือแลกเปลี่ยนเรียนรู้มลพิษฝุ่นควัน ระหว่าง คณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมี รองศาสตราจารย์ ดร.สมพร จันทระ เป็นประธาน และ สภาลมหายใจภาคเหนือ โดยคาดหวังสร้างความร่วมมือ ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิชาการที่เกี่ยวข้อง การใช้เทคโนโลยี ในการติดตาม เฝ้าระวัง เพื่อแก้ปัญหาและรับมือฝุ่นควัน ซึ่งคาดหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน
.
ตามกำหนดการเดิมก่อนหน้านี้ จะจัดขึ้นในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 โดยมีวิทยากรซึ่งเป็นนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ จาก คณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาให้ความรู้ และอบรมการใช้เทคโนโลยี และแอพพลิเคชั่น ในการติดตามและคาดการณ์สถานการณ์ ให้รู้เท่าทันฝุ่นควัน ตั้งเป้าว่าจะมีผู้เข้าร่วมราว 30-40 คน ก่อนจะมีการปรับแผน เป็นการให้ผู้สนใจเข้าร่วมมารวมตัวกัน ขณะที่วิทยากรจะอบรมผ่านระบบออนไลน์ โดยมีทีมพี่เลี้ยงมาคอยแนะนำช่วยช่วยเหลือ หลังสถานการณ์โควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดและรุนแรงอีกครั้ง และจังหวัดลำพูน เริ่มมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้น

การหารือร่วมกัน หลายคนมองว่า แม้จะมีความพร้อม แต่ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดในขณะนี้ อาจจำเป็นต้องปรับแผนใหม่อีกครั้ง หรือเลื่อนการจัดออกไปก่อน จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น อีกจำนวนหนึ่ง ก็มองว่า เป็นช่วงการเรียนรู้ที่ดี แต่จะต้องมาร่วมกันออกแบบวิธีการฝึกอบรมผ่านทางออนไลน์แบบใหม่ ที่เข้าใจได้ง่ายและไม่ซับซ้อน เช่น เริ่มต้นที่การบรรยายภาพรวมสถานการณ์ ซึ่งส่วนนี้สามารถชวนผู้สนใจจากเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ ในจังหวัดอื่นๆ เข้าร่วมพร้อมกันได้ด้วย เพื่อให้เข้าใจ ได้เห็นภาพ และมีเป้าหมายเดียวกัน ขณะที่การอบรมเชิงปฏิบัติซึ่งค่อนข้างมีรายละเอียด อาจจะต้องมีการอบรมแยกอีกใหม่ หลังสถานการณ์โควิดดีขึ้น และจังหวัดลำพูนเริ่มผ่อนคลายมาตรการ

นางกัลยา ใหญ่ประสาน สภาลมหายใจลำพูน ประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดลำพูน ระบุว่า แม้จะติดปัญหาเรื่องสถานการณ์โควิด-19 แต่เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องต้นๆ ที่ภาคประชาชน จำเป็นที่จะต้องมีความเข้าใจ และรับรู้ โดยหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายแรกคือตัวแทนคนรุ่นใหม่ และกลุ่มผู้ที่ทำงานแก้ปัญหาไฟป่าฝุ่นควัน และปัญหาสุขภาพ ในทุกอำเภอของจังหวัดลำพูน โดยคาดหวังว่า เมื่อสามารถใช้เทคโนโลยีในการช่วยคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นควันได้ล่วงหน้า จะทำให้รู้ว่าช่วงไหนจะเกิดอะไร และควรมีแผนการหรือเตรียมรับมืออย่างไร ไม่ใช่แค่การรอฟังประกาศจากทางจังหวัดเหมือนที่เป็นมา
.
“วันนี้..เรายังไม่เข้าใจกัน เชื่อกันคนและแบบ ยังไม่มีข้อมูลความรู้เชิงประจักษ์ที่อ้างอิงได้ ที่ผ่านมาฟังแต่ภาครัฐพูดอยู่ฝ่ายเดียว ว่าเกิดจากอะไรขึ้น ควรหรือไม่ควรอะไรตอนไหน และมีแค่ไม่กี่คนที่ออกคำสั่งและตัดสินใจ เราไม่เคยรู้กันเลยว่า จริงๆยังมีสาเหตุและปัจจัยอื่นๆ อีกหรือไม่ จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาไหนบ้าง ถ้าเราพอรู้และเข้าใจ จะสามารถสะท้อนปัญหา ความต้องการ ในฐานะภาคประชาชนได้ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อน สำคัญในการกำหนดทิศทางการแก้ปัญหาเรื่องนี้ตามบริบทที่สอดคล้องความเป็นจริง ไม่ใช่แค่เอาตามใจภาครัฐ อย่างที่เป็นมา และอยากเห็นภาพความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน จากศักยภาพที่มีอยู่ ต่อจากนี้” นางกัลยา ระบุ

นายภาณุพงศ์ ไชยวรรณ์ สภาลมหายใจลำพูน สะท้อนว่า ความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ๆ จะช่วยให้เกิดการยกระดับการแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด วันนี้เรายังไม่ได้มองว่า การขับเคลื่อนของสภาลมหายใจลำพูน จะเอางบประมาณจากไหน แต่เรามองตรงกันว่า สิ่งแรกที่ควรจะมี คือองค์ความรู้ เห็นปัญหาเดียวกัน เดินไปในทิศทางเดียวกัน และรวมกันเป็นเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งก่อน
.
ล่าสุด สภาลมหายภาคเหนือ แจ้งว่า ได้มีการปรับรูปแบบการอบรมเป็นแบบออนไลน์ ผ่าน ZOOM ตามกำหนดการเดิม (10 ส.ค. เวลา 9.00-12.00 น.) โดยเนื้อหาหลัก จะเป็นการบรรยายภาพรวมมลพิษอากาศ ฝุ่นควัน pm2.5 ในภาคเหนือ : ความก้าวหน้าและข้อท้าทาย โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สมพร จันทระ คณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และการบรรยาย ภูมิศาสตร์มลพิษฝุ่นควันไฟจังหวัดลำพูน เข้าใจ ลม ฟ้า ฝุ่น และ ไฟ จากมุมมองภูมิศาสตร์ โดย ดร.พลภัทร เหมวรรณ หัวหน้าศูนย์ภูมิภาคและเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) หรือ GISTNORTH
.
เบื้องต้นวันที่ 3 สิงหาคม 2564 เวลา 13.00 น. สภาลมหายใจลำพูน และตัวแทนสภาลมหายใจภาคเหนือ ได้นัดหารือถึงความพร้อมร่วมกันอีกครั้ง ทั้งนี้ผู้สนใจ สามารถสอบถามที่ สภาลมหายใจลำพูน 086-9110731 (คุณกัลยา)

#เพื่อลมหายใจภาคเหนือ
#สภาลมหายใจลำพูน