“รับมือ ปีต่อปี” ไฟป่า-ฝุ่นควัน แม่ฮ่องสอน “ปีหน้าเหมือนเดิม”

ในการประชุมวงสนทนา Maehongson Forum ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ออนไลน์ทาง ZOOM ซึ่งมีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชนชน และส่วนที่เกี่ยงข้อง เข้าร่วม เพื่อพูดคุยหาทางออกในสถานการณ์ต่างๆ ที่เป็นปัญหาของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยครั้งนี้ มี 2 วาระสำคัญ และหนึ่งในนั้น คือ การทบทวนการแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในช่วงที่ผ่านมา และพูดคุยถึงแผนและความคืบหน้า จากภาคส่วนต่างๆ

.

WEVO สื่ออาสา ขอขมวดประเด็นที่หน้าสนใจ จากผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแม่ฮ่องสอน และจากสภาลมหายใจแม่ฮ่องสอน จากวงพูดคุย ไว้ดังนี้

.

.

แม่ฮ่องสอน Hotspot สูงสุด

.

นายสุวิทย์ นิยมมาก ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ร่วมแลกใจการพูดคุยว่า การสรุปจุดความร้อน หรือ hotspot จากดาวเทียมระบบ VIIRS ที่ผ่านมา พบว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน อยู่ในอันดับ 1 ส่วนใหญ่เกิดในป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ เผาในพื้นที่ทำกิน ทิศทางลมทุกทิศที่พัดมาในแต่ละช่วง หอบเอาฝุ่นควันทั้งจากจังหวัดใกล้เคียง ประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามายังแม่ฮ่องสอน และสร้างผลกระทบ

.

นายสุวิทย์ นิยมมาก ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแม่ฮ่องสอน

.

.

บริบทและสาเหตุไฟป่าที่พบ

.

ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อมฯ เล่าว่า เราเคยถอดบทเรียน พบว่าสาเหตุของปัญหาส่วนใหญ่ เกิดจากการเผาป่าเป็นหลัก สาเหตุเพราะต้องการจะใช้ประโยชน์ในพื้นที่แปลงนั้นๆ และการเผาเพื่อหาของป่า เช่น เห็ดถอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างรายได้ในแต่ละปีในกับชาวบ้าน อีกส่วนใหญ่ คือการเผาเพื่อกำจัดเชื้อเพลิง สภาพป่าส่วนใหญ่ เป็นป่าเต็งรัง มีการผลัดใบทุกปี โดยเฉพาะช่วยฤดูแล้ง ทำให้แต่ละปีจะมีเชื้อเพลิงเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านส่วนหนึ่ง จึงจำเป็นต้องกำจัดเชื้อเพลิง เพราะป่าอยู่ติดหมู่บ้าน และหากไม่กำจัดทุกปี เชื้อเพลิงจะสะสม หากเกิน 3 ปีขึ้นไป เมื่อเกิดไฟป่า สถานการณ์จะรุนแรง และไม่สามารถควบคุมได้ จะสร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินทั้งพื้นที่เกษตร และที่อยู่อาศัย จึงต้องมีการกำจัดเชื้อเพลิงกันทุกๆปี อีกส่วนหนึ่ง คือการเผาเพื่อเลี้ยงสัตว์ เผาเพราะต้องการกลั่นแกล้งกันระหว่างชุมชน การเมืองท้องถิ่น และความขัดแย้งกับเจ้าหน้าภาครัฐ ที่เข้าไปบังคับใช้กฎหมาย

.

ชาวบ้าน ยืนยัน “จำเป็นต้องเผา”

.

จากบริบทของแม่ฮ่องสอน ซึ่งชาวบ้านทำกินอยู่ในพื้นที่ป่า ภาพจุดความร้อน หรือ hotspot สะท้อนให้เห็นว่า ส่วนใหญ่ คือการเผาป่า และเกิดควันจำนวนมากตามมาทุกครั้ง เราเข้าใจดีว่าเป็นวิถีชีวิต เคยไปถามกับประชาชนในพื้นที่ “ว่าไม่เผาได้หรือไม่” แต่เขาก็บอก “ไม่ได้” โดยเฉพาะการทำไร่หมุนเวียน ไร่ข้าวโพด ในพื้นที่ภูเขาสูงชัน จำเป็นต้องมีการจัดการเชื้อเพลิงด้วยวิธีการเผาเท่านั้น เพราะไม่สามารถนำเครื่องจักรขึ้นไปไถกลบ หรือกำจัดโดยวิธีอื่นได้ ส่วนการเผา เพื่อหาเห็ดถอบ ก็ยังเข้าใจว่ามีความจำเป็นเช่นเดียวกัน ผอ.สุวิทย์ ระบุ

.

.

ทสจ.แม่ฮ่องสอน “คนใหม่” สั่งลุยแก้ปัญหาสิทธิที่ทำกิน สร้างความยั่งยืน

.

หลังนายเจษฎา เงินทอง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแม่ฮ่องสอน เข้ารับตำแหน่ง มีการประชุมเจ้าหน้าที่สำนักงานฯ ได้มอบนโยบายให้เร่งรัดการแก้ปัญหา คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)  และการใช้ประโยชน์ของหน่วยงานราชการที่เข้าไปดำเนินการในพื้นที่ป่า ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งหากแก้ปัญหาในที่ดินทำกิน และการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าได้โดยเร็ว ก็จะเป็นหนึ่งในทางออก ที่ช่วยลดปัญหาฝุ่นควันและไฟป่าได้ไปในตัว นอกจากนี้ยังช่วยให้เกิดความยั่งยืนในอนาคตด้วย

.

ภาพ : ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน warroom

.

ปัญหาสิทธิที่ทำกิน ที่เชื่อว่าเป็นทางออก “คืบหน้าน้อยมาก”

.

บริบทของแม่ฮ่องสอน ประชาชนอยู่ในพื้นที่ป่ากว่า 84% และป่ามีมากถึง 86% ของพื้นที่ทั้งจังหวัด มีพื้นที่ๆมีเอกสารสิทธิ์เพียง 15% เท่านั้น โดยพื้นที่ป่าส่วนใหญ่ เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และ ลุ่มน้ำชั้น 2 ซึ่งประชาชนทำมาหากินในนั้น เรายังพบอีกว่า ปัจจุบันมีปัญหาและเกี่ยวโยงกันในหลายมิติ โดยเฉพาะเรื่องที่ปากท้อง และข้อกำจัดในสิทธิที่ทำกิน เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ป่า และไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากเก็บหาของป่า กับการเกษตรเป็นหลัก แม้ที่ผ่านจะมีการส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น กาแฟ โกโก้ ถั่วลายเสือ ถั่วเหลือง และงา ซึ่งเป็นทางเลือกเพื่อลดการเผา แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างครอบคลุม การแก้ปัญหาเรื่องการครอบครองสิทธิในที่ทำกินของภาครัฐ ยอมรับว่าล่าช้า และมีความคืบหน้าน้อยมาก ทั้งในพื้นที่ป่าสงวน 69,000 ไร่ และพื้นที่ในเขตอุทยาน 240,000 ไร่ ปัจจุบันยังรับรองสิทธิ์ได้ไม่หมด ขณะที่การแก้ปัญหาในเขตอุทยานแห่งชาติ ยังอยู่ในชั้นกฤษฎีกา คทช. รับรองไปได้เพียง 3 ป่า จากทั้งหมด 9 ป่า ซึ่งเหลืออีก 6 ป่า ที่ยังไม่เรียบร้อย ฉะนั้นการที่ภาครัฐจะเข้าไปปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต การทำมากิน หรือส่งเสริมการเกษตรในด้านต่างๆ ชาวบ้านจึงเลือกที่จะไม่เสี่ยง เพราะพวกเขาไม่มั่นใจว่า แนวเขตที่เขาจะได้รับรองมีเท่าไหร่ และจะถูกภาครัฐ ทวงคืนไปมากแค่ไหน ยังไม่รวมกับปัญหาการถูกตัดงบประมาณที่จะเข้าไปพัฒนาสาธารณูปโภคและพัฒนาคุณภาพชีวิตจำนวนมาก ซึ่งติดปัญหาการอยู่ในเขตป่าเช่นเดียวกัน ที่ทราบตอนนี้ อย่างเช่นงบปี 2564-2565 เราได้เพียงแค่ 70 ล้าน จากที่เคยได้ถึง 200 ล้าน ส่วนนี้ส่งผลให้การพัฒนาในด้านต่างๆ ที่เรามองว่าจะเป็นทางออกให้คนแม่ฮ่องสอน “ด้อยลงไป”

.

“ภาครัฐ” ทำได้เพียง “รับมือ ปีต่อปี”

.

การคาดการณ์ของเรา ในช่วงไฟป่า ฝุ่นควัน ปี 2565 ยังมีปัจจัยใจที่จะทำให้สถานการณ์จะดีขึ้น เนื่องจากมาตรการที่จะแก้ปัญหาในระยะยาวและยั่งยืน ยังไม่เกิด จากปัญหาที่กว่ามา หน่วยงานภาครัฐจึงทำได้เพียงรับมือ ปีต่อปี และเชื่อว่าไฟป่าของแม่ฮ่องสอนก็ยังคงจะเกิดในพื้นที่เดิมๆ เพราะชาวบ้านก็ยังคงจะเผาตามปกติ ที่ผ่านมาเราพยายามบริหารจัดการ แต่ก็ยังทำได้เพียงแค่ 10-20% เท่านั้น เคยทำได้สูงสุดลดได้ถึง 40% แค่ปีเดียว และทำได้แค่นั้น การที่จะกดจุดความร้อนให้ได้มากกว่า 10,000 จุด นับเป็นเรื่องยากมากสำหรับแม่ฮ่องสอน จากบริบทของเรา ปีหน้า และปีต่อๆไปก็คาดว่าสถานการณ์ก็ยังคงจะเป็นเช่นนี้อยู่ ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อมฯ ระบุ

.

ผู้ว่าฯ มอบให้ วิทยาลัยแม่ฮ่องสอนฯ ถอดบทเรียนฯ

.

การถอดบทเรียนการแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนจัดเวทีถอดบทเรียน โดยมีแผนในระดับพื้นที่ ทั้ง 7 อำเภอ ตั้งแต่วันที่ 2-16 สิงหาคม 2564 ซึ่งจะเป็นทั้งผู้ปฏิบัติงาน และส่วนที่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้นทางวิทยาลัยแม่ฮ่องสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ วิทยาเขตแม่ฮ่องสอน จะสรุปเป็นรายงาน ก่อนจะนำเข้าสู่การประชุมของคณะกรรมการศูนย์อำนวยการไฟป่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นประธาน เพื่อนำเสนอข้อมูลจากระดับพื้นที่ ให้ที่ประชุมใหญ่ ได้รับทราบ ร่วมกันพิจารณาให้ความเห็น ข้อยุติ และสุดท้ายจะจัดทำเป็น Final Report เพื่อยึดเป็นแนวทางการบริหารจัดการของจังหวัดแม่ฮ่องสอนต่อไป

.

พร้อมรับฟังความคิดเห็น จากทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไฟป่าฝุ่นควันแม่ฮ่องสอน

.

ทางผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมรับฟังข้อเสนอ และความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกับทางจังหวัด ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว โดยสามารถส่งข้อเสนอ ได้ที่สำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแม่ฮ่องสอน หรือประสานกับทีมถอดบทเรียน วิทยาลัยแม่ฮ่องสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ วิทยาเขตแม่ฮ่องสอน เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกตามกรอบการถอดบทเรียนที่กำหนด ผอ.สุวิทย์ ระบุ

.

ภาพ : ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน warroom

.

ประเสริฐ ประดิษฐ์ สภาลมหายใจแม่ฮ่องสอน และที่ปรึกษาศูนย์ไทใหญ่ศึกษา วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน

.

จับมือร่วม “เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ” สานพลังแก้ปัญหาฝุ่นควัน

.

นายประเสริฐ ประดิษฐ์ สภาลมหายใจแม่ฮ่องสอน และที่ปรึกษาศูนย์ไทใหญ่ศึกษา วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน ระบุว่า การแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นควันของจังหวัดแม่ฮ่องสอน พูดได้เต็มปากว่าเราทำเองไม่ได้ เพราะฝุ่นควันไร้พรมแดน จากข้อมูลที่เรามีกันอยู่ ชัดเจนว่าปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน ของภาคเหนือ และเพื่อนบ้าน มันเชื่อมโยงกันและกัน กระบวนการในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ จะต้องร่วมมือกัน หมดเวลาต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างแก้ อย่างที่เป็นมา เพราะรู้อยู่แล้วว่าไม่เคยประสบความสำเร็จ บางส่วนบางเรื่อง จะต้องใช้ความร่วมมือในการแก้ปัญหา สร้างข้อตกลงร่วมกัน สร้างกระบวนการร่วมกัน วันนี้สภาลมหายใจแม่ฮ่องสอน ที่รวมคนจากทุกภาคส่วน จึงจับมือกับพี่น้องภาคเหนือ เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเดียวกัน ซึ่งเราจะทำควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาในจังหวัดของเรา

#เพื่อลมหายใจภาคเหนือ

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →