“นาแลกป่า” ปฏิบัติการพลิกฟื้นผืนป่าอย่างยั่งยืน ตำบลเมืองจัง จังหวัดน่าน

บทความโดย : พิรญาณ์ พิทักษ์

.

จังหวัดน่าน เป็นพื้นที่หนึ่งที่ประสบปัญหาพื้นที่ป่าไม้ลดลงอย่างหนัก โดยเฉพาะในปี 2551-2556 มีการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ถึง 125,402 ไร่ พื้นที่ป่าธรรมชาติในจังหวัดน่านถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่การเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อการพาณิชย์ โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่มีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนำไปสู่ปัญหาไฟป่า ปัญหาฝุ่นควัน มลพิษทางอากาศ รวมไปถึงปัญหาหนี้สินของเกษตรกร เนื่องจากรายได้ไม่มั่นคง ปัญหาดังกล่าวเกิดเป็นข้อพิพาทระหว่างทางภาครัฐและคนในพื้นที่เรื่อยมา เพราะความไม่เข้าใจกันและไม่สามารถหาข้อตกลงที่ลงตัวได้ แต่ด้วยความพยายามอย่างไม่ลดละของคนในชุมชนร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ที่อยากจะเพิ่มพื้นที่ป่าธรรมชาติ รวมกลุ่มระดมความคิดร่วมกับหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ จึงเกิดเป็น โครงการนาแลกป่า ที่สามารถแก้ปัญหาการลดจำนวนลงของป่าน่านได้อย่างแท้จริง

.

แนวคิด “การแลก” โดยใช้พลังความมือระหว่างประชาชน ผู้นำ และองค์กรในพื้นที่

.

เพื่อบรรลุจุดประสงค์คืนผืนป่าสู่ธรรมชาติ โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการคืนผืนดินที่เป็นป่าสงวนให้กับรัฐด้วยความสมัครใจ ซึ่งแลกเปลี่ยนกับผลตอบแทนที่เอื้อในการดำรงชีวิตตามที่ได้ตกลงต่อกัน เกิดความพึงพอใจกับทุกฝ่าย นำไปสู่ความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ในปี พ.ศ. 2558 บรรลุเป้าหมายระยะสั้น มีประชาชนตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน สนใจเข้าร่วมโครงการจำนวน 32 ครัวเรือน ได้พื้นที่ป่าไม้คืน จำนวน 315.25 ไร่

.

ภาพ : รายงานผลการดำเนินงานตำบลเมืองจัง

.

โครงการนาแลกป่า สร้างกลยุทธ์ “การแลก” 3 รูปแบบ ประกอบด้วย

.

1. ป่าแลกน้ำ เกษตรกรบริจาคพื้นที่ทำกินให้กับสาธารณะ แลกกับการสนับสนุนแหล่งน้ำ ระบบกระจายน้ำ ทั้งระบบน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและระบบน้ำเพื่อการเกษตร เช่น ชลประทาน หรือการขุดสระน้ำ

.

2. ป่าแลกนา เกษตรกรคืนพื้นที่ปลูกข้าวโพด 3 ไร่ แลกกับการขุดนา 1 ไร่ ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวหรือทำเกษตรผสมผสาน เน้นการใช้พื้นที่เล็กให้เกิดผลผลิตสูง

.

3. ป่าแลกอาชีพทางเลือก เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวสู่รูปแบบใหม่ โดยลดพื้นที่ของตนเองจำนวนหนึ่งให้เป็นต้นไม้ใหญ่ และจัดระบบเกษตรกรรมประณีตทำให้เกิดรูปแบบสภาพป่า ในไร่นา

.

ภาพ : รายงานผลการดำเนินงานตำบลเมืองจัง

.

จากแนวคิดแรกเริ่มสู่กระบวนการสร้างรูปแบบ “การแลก” ให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โดยใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นเครื่องในการหาแนวทางความร่วมมือของหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทุกฝ่ายใช้ฐานข้อมูลเเดียวกัน อาศัยแนวคิดผลต่างตอบแทน (Reciprocity) คือ ทุกฝ่ายได้ผลประโยชน์ร่วมกัน เมื่อเกษตรกรมีอาชีพทางเลือก ภาครัฐและภาคเอกชนก็ได้ผืนป่าคืนอย่างยั่งยืน รวมถึงส่งเสริมแนวคิด “คนอยู่ร่วมกับป่า” ให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันดูแลรักษาป่าชุมชน มีการทำข้อตกลงร่วมกันว่าจะไม่รุกล้ำพื้นที่ป่าอีก จนก่อเกิดเป็นขบวนการฟื้นฟูป่าอย่างยั่งยืนในปัจจุบัน

ตำบลเมืองจัง เป็นชุมชนขนาดกลาง ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองน่าน 15 กิโลเมตร มีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบสูง ที่ลาดเชิงเขา และภูเขา ตั้งอยู่ฝั่งซ้ายและขวาของแม่น้ำน่านและแม่น้ำยาว (สาขาแม่น้ำน่าน) ด้านทิศตะวันออกกับทิศเหนือของชุมชนเป็นภูเขาสูงอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีลำห้วยสายต่าง ๆ จำนวนมาก ต่อมาได้รับผลกระทบจากการทำไร่ข้าวโพด เพื่อตอบสนองความต้องการวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มมากขึ้น ตามนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมให้การปลูกข้าวโพดเป็นพืชเศรษฐกิจ ส่งผลให้พื้นที่ป่าธรรมชาติลดลง ตำบลเมืองจังที่มีความพร้อมด้านทุนทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงมีความพร้อมในแง่ของผู้นำและสมาชิกในชุมชนที่สมัครใจเข้ามามีส่วนร่วมในด้านต่าง ๆ จึงเกิดกลุ่มประชาคมที่ร่วมกันขับเคลื่อนปฏิบัติการคืนผืนป่าให้คงอยู่คู่กับป่าต้นน้ำ ได้ดำเนินโครงการนาแลกป่าในหลายพื้นที่ของตำบลเมืองจัง หนึ่งในนั้นคือ บ้านสบยาว หมู่ที่ 7 ซึ่งเป็นพื้นแรก ๆ ของการดำเนินงาน

โครงการนาแลกป่า ดำเนินการโดยคุณสำรวย ผัดผล ร่วมกับกลุ่มประชาชนในพื้นที่และกลุ่มหน่วยงานองค์กรทั้งในและนอกพื้นที่ นำร่องในพื้นที่ตำบลเมืองจัง อำเภอเพียง จังหวัดน่าน

.

.

วิฑูร วรัญสิรภพ แกนนำบ้านสบยาว หมู่ที่ 7 เล่าว่า แรกเริ่มเดิมที เกิดจากการรวมกลุ่มของคนในชุมชนที่ตระหนักถึงปัญหาของการทำไร่ข้าวโพด ที่นำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่ และค่าใช้จ่ายตามมามากมาย จึงมีความต้องการที่จะหาอาชีพทางเลือกอื่น เกิดการรวมกลุ่มคนในพื้นที่ที่มีอุดมการณ์เดียวกันประมาณ 30 ครัวเรือน เพื่อหาแนวทางแก้ไข โดยเชิญองค์กรรัฐ ทั้งนายอำเภอ ทรัพยากรน่าน ป่าไม้น่าน และอบต.เมืองจัง เข้ามานั่งคุยปรึกษาหารือกัน

.

“พื้นที่ของเรามีอยู่ 2 ประเภทคือมีเอกสารสิทธิ์กับไม่มีเอกสารสิทธิ์ เราก็มานั่งปรึกษาหารือกัน เลยเสนอทางภาครัฐไปว่า ถ้าเรามีการคืนป่า 2 ไร่ ให้ทางราชการมาขุดนาให้เรา 1 ไร่ จะโอเคไหม เขาก็ยังไม่ให้คำตอบ จนผ่านไป 3-4 เดือน สุดท้ายพวกเราก็ได้รับข่าวดีจากท่านนายกสำรวย ขณะเดียวกันท่านนายกสำรวยก็ดำเนินโครงการคืนป่าของเอกชนอยู่พอดี ตอนนั้นเราคืนป่าไปกว่า 102 ไร่ ขุดพื้นที่นาให้กับชาวบ้าน 30 กว่าไร่ บางคนก็คืนให้หมด”

.

.

เมื่อมีที่นาแล้ว แต่ก็ยังไม่ครบถ้วนในกระบวนการทำเกษตร ยังมีปัญหาน้ำไม่พอใช้ ทั้งในกรณีอุปโภคบริโภคและใช้ในการเกษตรทั้งหมด ชาวบ้านจึงเสนอความต้องการระบบน้ำ เกิดการขุดสระ ทำร่องเหมือง ระบบชลประทานท่อ เปลี่ยนเป็นเอาระบบน้ำกับอาชีพทางเลือกแลกป่า แรกเริ่มมีปัญหาเรื่องพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ไม่สามารถขุดสระได้ ปัญหาเรื่องงบประมาณ ร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนามาเรื่อย ๆ จนในปัจจุบันชุมชนมีน้ำใช้ตอบโจทย์ได้กว่า 80% แล้ว

.

“ผมได้เข้าร่วมโครงการขุดนาแลกป่า สมัยก่อนทำไร่ข้าวโพดอยู่เกือบ 100 ไร่ ที่เราอยู่ตรงนี้ก็เป็นไร่ข้าวโพด โครงการขุดนาแลกป่า ปัจจุบัน ผู้เข้าร่วมโครงการทำข้าวโพดลดลง หนี้สินลดลง มีข้าวกิน ไม่ต้องไปซื้อข้าวจากข้างนอก และยังมีป่าเพิ่มขึ้น โดยเราไม่ต้องไปปลูกป่า เป็นแหล่งอาหารให้คนในชุมชนได้ เช่น ในฤดูเก็บเห็ด ชาวบ้านก็สามารถเข้าไปเก็บเห็ดในป่ามากินหรือนำไปขายได้”

.

.

.

การคืนพื้นที่ป่า ด้วยกระบวนการแลกทั้ง 3 รูปแบบ ในพื้นที่ตำบลเมืองจัง อาศัยความร่วมมือของคนในชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนทั้งด้านนโยบายและพื้นที่ รวมถึงการประสานความร่วมมือกับหลายฝ่าย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน มีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ชุมชนเข้มแข็ง สามารถต่อยอดแนวคิดเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับตนเองและพัฒนาสังคมต่อไปได้อย่างยั่งยืน

#เพื่อลมหายใจภาคเหนือ

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →