อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เผยวง ZOOM “แก้ฝุ่นควัน ’65 ยกระดับวาระแห่งชาติใหม่”

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 สภาลมหายใจเชียงใหม่ ได้รับการประสานจาก ดร.วีรชัย ตันพิพัฒน์ ที่ปรึกษา อคพ. เข้าร่วมพูดคุยออนไลน์ผ่านระบบ ZOOM กับ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นการพูดคุยวงเล็ก แบบไม่เป็นทางการ และเปิดให้ถามให้ซัก ถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันในช่วงที่ผ่านมา

.

.

นายบัณรส บัวคลี่ สภาลมหายใจเชียงใหม่ หนึ่งในผู้เข้าร่วม ได้โพสต์ในเฟสบุ๊กส่วนตัว โดยเล่าว่าก่อนเข้าร่วมการพูดคุย ต้องการรู้ว่า จากนี้จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง วาระแห่งชาติ ยังจะมีการเปลี่ยนรายละเอียดอีกหรือไม่ จะเข้า ครม. ตอนไหน สิ่งที่ยังไม่ได้ทำ เช่น ค่ามาตรฐานที่เข้มงวดขึ้น จะเอาไง การดำเนินการต่างๆ ของภาครัฐ ในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ ตอนนี้ถึงขั้นไหน

.

โดยนายบัณรส ได้สรุปการบรรยายของ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ไว้อย่างน่าสนใจหลายประเด็น โดยได้โพสต์ดังนี้

.

.

เตรียมปรับโครงสร้าง “ลบจุดอ่อน อปท.”

.

จะมีการปรับโครงสร้างองค์กรจัดการ โดยจะตั้งอนุกรรมการ ปภ. ชุดใหญ่ อิงตาม กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2557 (กฎหมาย ปภ.) โดยมีนายก เป็นประธาน มี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ รัฐมนตรีว่าการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรองประธาน จุดสำคัญขององค์กรนี้ คือ กลไกฝ่ายมหาดไทยและหน่วยอื่นมาร่วม โดยจากนี้ จะใช้กลไกท้องถิ่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ระดับตำบล มาอยู่ในโครงสร้าง กำหนดภารกิจที่ระดับตำบลให้ชัดขึ้น

.

ถามว่าผมโอเคไหมกับโครงสร้างใหม่ที่ว่า ราชการเราน่ะมีปัญหาเรื่องอำนาจหน้าที่แบบแท่ง โอเคล่ะที่ต้องมีกรรมการร่มใหญ่ให้ทุกแท่งขยับ แต่สมรภูมิชี้วัดจริงๆ ก็คือ ท้องถิ่น/ท้องที่ ซึ่งที่ผ่านมา ถูกละเลยมองข้ามมาโดยตลอด ท่านอธิบดีบอกว่า จะลบจุดอ่อน อปท.ไม่มีเงินทำงานด้วย (กรณีอปท.อยากทำแต่ไม่มีเงิน / และยังมีกรณีอปท.ไม่อยากทำ จะถูกภารกิจบังคับทำ)

.

วาระแห่งชาติฯ กับปัญหาที่เห็นชัดเจนขึ้น

วาระแห่งชาติ ที่จะเข้าครม.รอบใหม่ น่าจะมีรายละเอียดเพิ่ม คล้ายปีก่อนที่มีมาตรการเฉพาะกิจเพิ่มมา แต่ที่แน่ๆ ไอ้ที่เคยกำหนดหรูๆ เช่น ขยับมาตรฐานไอเสีย ยูโร 4 เป็น 5 คงไม่ได้ / และมาตรฐานมลพิษใหม่เป็นระดับ 3 ตาม WHO คือเหลือประมาณ 35 มคก. ก็ยังจะไม่ประกาศ ท่านว่า ประกาศไปแล้วแดงทั้งประเทศไม่ได้อะไร ต้องมีมาตรการเตรียมลดต้นตอพร้อมกันไป

.

ส่วนนี้ผมสรุปเอง แต่ไม่ได้พูดกับท่านในวง มันจะเสียบรรยากาศ นั่นก็คือ รัฐเสียหน้านะ อุตส่าห์เขียนเป็นแผนหรูหรา แต่พอเอาจริงทำไม่ได้ นี่เป็นรูปธรรมชี้ว่า ก่อนนี้รัฐยังไม่เข้าใจเนื้อปัญหาถ่องแท้ เลยเขียนวาระชาติมาแบบที่ตัวเองทำไม่ได้ … นาทีนี้คงเริ่มมองเห็นก้อนปัญหาจริงชัดเจนขึ้น

.

มาตรการห้ามเผาที่โล่งและในภาคเกษตร “ปีนี้เอาจริง”

.

ปีนี้ สิ่งที่น่าจะหวังได้มากสุด คือ การเผาที่โล่งในภาคเกษตร ที่จะมีมาตรการจัดการจริงจัง .. แบบเอาจริง

.

ท่านว่า กำลังพัฒนาแอพจองเผา และจะมีมาตรการควบคุมการเผาที่โล่งทั่วประเทศ

.

ผมบอกท่านว่า แอพที่ว่า หากใช้ส่วนอื่นของประเทศ คงไม่มีปัญหามาก แต่หากใช้กับภาคเหนือตอนบนเป็นป่ามาก มีปัญหาสิทธิทำกินซ้อนทับเขตป่ารุงรัง มันจะมีปัญหา เพราะ คนขออนุญาตมา คนที่จะอนุญาตไม่มีอำนาจให้เผา (อ้าว ก็รัฐบอกว่าเป็นเขตป่านี่!) มันจะยุ่งยาก ท่านรับปากเอากลับไปดูรายละเอียดต้องปลดล็อกตรงไหนอีก

.

เรื่องการเผาที่โล่งภาคเกษตร นี่ก็รูปธรรมรัฐล้มเหลวอีกรูปธรรม อันนี้ผมไม่ได้พูดเพราะท่านจะเสียหน้าและบรรยากาศคุยก็จะไม่ดี

.

ปีที่แล้วเผากันวายวอด เหนืออีสานกลางเป็นสิบล้านไร่ รัฐบาลไม่ทำอะไร ทั้งๆ ที่ปรากฏหราในวาระชาติ นครสวรรค์ 8 แสนไร่ / เพชรบูรณ์ล้านกว่า / แต่ละจังหวัด 3-4 แสนไร่ ทั้งนั้น

.

และมันก็ทำให้แดงไปทั้งประเทศ ขอนแก่น พิษณุโลก กำแพงเพชร ย้อนไปดูสถิติเหอะ

.

แต่จากนี้ก็หวังว่า ระบบกลไกขันน็อตราชการคงจะทยอยออก ตามที่ท่านอธิบดีบอก

.

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ลงพื้นที่ติดตามการแก้ปัญหาเผาไร่อ้อย จ.อุทัยธานี
เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564
ภาพ : siamrath

.

เงินก็เอา แต่เผาก็ยังเผา “แก้ปัญหาไร่อ้อยยังไม่ได้”

.

มีกรณีพิเศษเรื่องอ้อย เพราะรัฐ subsidized รวมแล้ว 3 ปี ร่วมหมื่นล้าน เพื่อให้ส่งอ้อยตัดสดเข้าโรงงาน

.

ท่านอธิบดี โชว์ตัวเลข 27% อ้อยเผา แปลว่าที่เหลือตัดสดเข้าโรงงาน

.

ผมนำเรียนไปว่า อ้อยนี่น่ะดราม่า เพราะยังมีเผาอยู่ 2 เด้ง การที่รัฐให้เงินไปช่วยตัดสด คนได้จริงๆ คือโรงงาน รับอ้อยสด ดีสิ…ค่าความหวานเยอะ รง.ได้ประโยชน์

.

แต่เมื่อส่งอ้อยเสร็จกลับมาถึงไร่ ชาวไร่ก็ยังเผาอยู่ดี เพราะใบอ้อยที่สางก่อนตัดไม่รู้ทำอะไร เผาดิครับ / รวมไปถึงกรณีปลูกอ้อยแปลงใหม่ เขาก็ยังใช้การเผาเพื่อเคลียร์พื้นที่

.

อธิบดีรับไปเจรจาบอกต่อกับกระทรวงอุตสาหกรรมต่อปัญหาที่ว่า รัฐให้เงินไปแล้ว หมายถึง ช่วยหนุนไม่ให้เผาก่อมลพิษทั้งกระบวนการ

.

“เงินก็เอา แต่เผาก็ยังเผา”

.

ตัวเลขประกอบการปีนี้ ดีขึ้น ?

.

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้นำเอาตัวเลขพื้นที่เผาไหม้ทั้งอาเซียนบน พม่าลาว เขมร มาดู บอกว่าทุกชาติไฟน้อยลง 20% เพราะลานีญ่า มีฝน แต่สำหรับไทย ลดลงถึง 52 % แสดงว่าให้เห็นว่า เกิดจากการบริหารจัดการด้วย

.

แต่อย่างไรก็ตาม ตัวเลขภาคเหนือ ที่มีพื้นที่เผาไหม้จำนวนมาก ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และป่าอนุรักษ์ เป็นโจทย์ให้ไปจัดการ ส่วนหนึ่งมาจากประชาชนทำกินในเขตป่า (ที่ยืดเยื้อมานานและกำลังมี คทช.)

.

แต่ส่วนที่ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ก็คือ ไฟที่ไหม้ในป่าที่รัฐดูแลจริง ทั้งป่าอนุรักษ์เขตอุทยาน และป่าสงวนที่รัฐล้อมรั้ว (ไม่ใช่แปลงที่ประชาชนเข้าทำกิน)

.

ก็ยอมรับกันตรงๆ ว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะต้องไปจัดการภายในกันเอง เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงฯ ที่ปล่อยให้เกิดไฟ

.

อันนี้ แมนดี..ผมชอบ !

.

เพราะก่อนหน้านั้น เอกสารราชการไม่เคยเอ่ยถึงความผิดพลาดบกพร่องของรัฐ หรือ รัฐเผาเองเลยแม้แต่น้อย ชี้ลงมาที่ราษฎรตลอด

.

จากนี้จะเฝ้าติดตามดูว่า ภาครัฐจะมีมาตรการกลไกอะไรออกมาเพื่อแก้ปัญหาไฟในเขตป่าอนุรักษ์ (และป่าไม้ ที่กรมป่าไม้ล้อมรั้ว เป็นสวนป่า ป่าในเมือง ป่าโน่นนี่นั่น)

.

แต่ละปี ถอดบทเรียนระดับจังหวัด ไม่เคยแพลมมาเลย ปัญหาไฟไหม้ในเขตป่าเอง เกิดจากอะไร จะแก้อย่างไร จะเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการอย่างไร …เงียบเฉยกันไป นี่คือปัญหาใหญ่ของภาคเหนือมานาน

.

แม้ไม่ได้มีการตกลงกันว่าจะนำเอาประเด็นการพูดคุยมาเผยแพร่ได้หรือไม่ แต่มองว่าเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และคนเฝ้าติดตามปัญหานี้ให้ได้รับรู้ ขณะเดียวกันยังเป็นประโยชน์กับภาครัฐด้วย ให้ประชาชนได้เข้าใจว่า ภาครัฐกำลังทำงานเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้อยู่ นายบัณรส ระบุ

.

สำหรับบรรยากาศตลอดการพูดคุยหารือนอกรอบ และไม่เป็นทางการในครั้งนี้ มีการเปิดเผยว่า หลายฝ่ายรู้สึกดี เพราะทำให้รับรู้ระหว่างกันว่าระหว่างทางนี้ ใครกำลังทำอะไร คืบหน้าถึงไหน และจะก้าวต่ออย่างไร

#เพื่อลมหายใจภาคเหนือ

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →