วิเคราะห์ ไฟภาคเหนือ 2564
โดย WEVOสื่ออาสา
.

.
ภาพถ่ายจากดาวเทียม Landsat-8 แสดงรอยไหม้บนพื้นดิน (burned scars) ของ 17 จังหวัดภาคเหนือระยะ 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.2564) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน):GISTDA สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าการใช้ไฟเพื่อการผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศไทย ยังต้องอาศัยไฟในการจัดการ การใช้ไฟสะดวกง่ายและต้นทุนต่ำ แต่ต้องแลกมาซึ่งการสูญเสียแร่ธาตุหน้าดินและมลพิษอากาศ ระดับการผลิตของไทยยังไม่พัฒนาเหมือนประเทศโลกที่ 1 ที่ใช้เทคโนโลยีอื่นแทนการใช้ไฟ
.
ปี 2564 นี้ ภาคเหนือทั้งหมดมีรอยเผาไหม้ burned scars ที่ดาวเทียมจับได้รวม 9,742,344 ไร่ ขนาดพื้นที่ดังกล่าวใหญ่กว่ากรุงเทพฯถึง 10 เท่าตัว (กรุงเทพมีขนาด 980,625 ไร่) ยังไม่เคยมีผู้วิจัยผลกระทบและค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมจากการเผาใหญ่ขนาดดังกล่าว หากมีการแปลงผลเสียหายออกมาก็คงจะมีมูลค่ามหาศาล เพราะในช่วงเวลานั้นแทบทุกจังหวัดเกิดค่ามลพิษอากาศเกินมาตรฐานโดยทั่วไป ไม่ว่า นครสวรรค์ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร ฯลฯ ไม่ใช่แค่ภาคเหนือตอนบนเท่านั้นที่เกิดปัญหามลพิษฝุ่นควัน pm2.5
.
การเผาอย่างขนานใหญ่ในช่วง 5 เดือนดังกล่าว สะท้อนปัญหาเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อมของภาคเหนือ ดังต่อไปนี้
.
1.รัฐยังปล่อยให้มีการเผาในพื้นที่โล่งภาคเกษตรกรรม
.
ถึงแม้ว่าจะมีนโยบายลดการเผาภาคเกษตรปรากฏอยู่ในวาระแห่งชาติ ตลอดถึงแผนมาตรการปกติของกระทรวงเกษตรอยู่แล้ว ในภาคเหนือตอนล่างซึ่งเป็นเขตเกษตรกรรม มีพื้นที่ป่าน้อยกว่าภาคเหนือตอนบน แต่จำนวนการเผาก็ยังสูงมาก เช่น เพชรบูรณ์ มีการเผามากถึง 1,235,778 ไร่ ตัวเลขนี้สูงเป็นลำดับสามของทั้งประเทศรองจาก ตากและแม่ฮ่องสอนที่เป็นเขตป่าเขาสูงชัน ขณะที่การเผาของเพชรบูรณ์ส่วนใหญ่เกิดในที่ราบและแปลงเกษตร โดยเฉพาะไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด พืชเชิงเดี่ยวทั้งปวง จังหวัดนครสวรรค์ก็เป็นอีกจังหวัดที่มีการเผาสูงมากถึง 908,295 ไร่ พื้นที่เผาส่วนใหญ่คือนาข้าว ภาพดาวเทียมในช่วงนั้นแสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีการปล่อยให้เผาข้ามคืน ปล่อยให้ลามไล่ไปเรื่อยๆ ตลอดท้องทุ่ง วิธีดังกล่าวเป็นการจัดการไฟที่สะดวกแต่เกิดมลพิษมากสุด ตัวเลข 9 แสนไร่ของนครสวรรค์สูงกว่าจังหวัดภาคเหนือ ส่วนการเผาที่ยังมากอยู่ก็คือไร่อ้อย แม้ว่า ครม.ได้อนุมัติเงินอุดหนุนชาวไร่อ้อยให้ลดการเผาลง จริงอยู่ที่การตัดอ้อยสดส่งโรงงานมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น แต่ทว่าการเผาไร่อ้อยก็ยังมากอยู่ เนื่องจากบางแปลงหลังจากตัดสดส่งโรงหีบเสร็จแล้ว กลับมาชาวไร่ยังเผาใบอ้อยตัดสางที่ค้างอยู่ หรือกรณีไร่ที่เตรียมปลูกใหม่ก็ยังใช้การเผาตอซังแปลงเดิมอยู่เช่นเดิม
.
2. เหนือบนเผาป่า เหนือล่างเผาไร่
.
พฤติกรรมการเผาของพื้นที่ภาคเหนือตอนบนกับภาคเหนือตอนล่างแตกต่างกัน สัดส่วนการเผาป่า (ทั้งป่าอนุรักษ์และป่าสงวนฯ) ของภาคเหนือตอนบนมีมากที่สุด มากกว่าพื้นที่เกษตร สถิติจุดความร้อน hotspots และรอยไหม้ burned scars ของภาคเหนือตอนบนแสดงให้เห็นชัดเจนว่า การเผาไหม้ในพื้นที่ป่าเป็นปัญหาหลักของ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ล่าสุดสถิติของปี 2564 ระยะ 5 เดือนแรก พบว่ามีการไหม้ในป่าสงวนแห่งชาติ 40% และป่าอนุรักษ์มากถึง 53% มีไหม้ในพื้นที่เกษตรและชุมชนเพียงประมาณ 7% เท่านั้น เมื่อเทียบกับภาคเหนือตอนล่างระยะเดียวกัน มีความต่างอย่างชัดเจนเพราะเป็นการไหม้ในพื้นที่เกษตรมากสุด คือ 41% รองลงมาคือป่าสงวนแห่งชาติ 28% และป่าอนุรักษ์ 22%
.
3. เหนือบน: ยิ่งสัดส่วนป่ามาก ยิ่งไหม้เยอะ
.
เมื่อได้วิเคราะห์ลงลึกถึงภาคเหนือตอนบน 9 จังหวัด ว่าเหตุใดการไหม้จึงเกิดในป่ามากกว่าภาคเกษตร ได้พบว่า ภูมินิเวศของภาคเหนือตอนบนเป็นป่ามากกว่า 65% ไม่เพียงเท่านั้นสถิติย้อนหลังพบว่า จังหวัดใดที่มีสัดส่วนป่ามาก ก็จะยิ่งมีจุดความร้อน hotspots และรอยไหม้ burned scars เยอะ
.
แม่ฮ่องสอน มีพื้นที่ป่าสูงสุดในภาคเหนือ คือ 86.55% จึงไม่แปลกที่แม่ฮ่องสอนจะติดอันดับต้นของการไหม้ตลอดมา โดยเมื่อปี 2563 แม่ฮ่องสอนมีพื้นที่ไหม้มากสุดเป็นประวัติการ 1,786,194 ไร่ รองลงมาได้แก่ จังหวัดตาก 1454741 ไร่ เชียงใหม่ 1384078 ไร่ และ ลำปาง 1340402 ไร่ ทั้งตาก เชียงใหม่ และลำปาง มีพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 70% มากสุดเรียงลำดับลดหลั่นของภาคเหนือ และก็มีสัดส่วนการไหม้ในปีดังกล่าวสูงสุดด้วยเช่นกัน
.
เมื่อเทียบกับจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าน้อย เช่น เชียงราย มีป่าไม้ 40.66% และ พะเยา 51.75% ก็พบว่าจังหวัดทั้งสองมีสถิติการไหม้น้อยกว่าจังหวัดอื่นอย่างชัดเจน รอยไหม้ของเชียงรายเมื่อปี 2563 เท่ากับ 473,151 ไร่ พะเยา 364,385 ไร่ ส่วนปี 2564 ที่ผ่านมา เชียงราย 144,491 ไร่ และ พะเยาเพียง 318,909 ไร่ ห่างจากจังหวัดไฟไหม้หัวแถวหลายเท่าตัว
.
4. hotspots ไม่สอดคล้องกับ burn scars
.
ปัจจุบัน GISTDA ใช้ดาวเทียม Suomi NPP ระบบ viirs และดาวเทียม Terra/Aqua ระบบ modis เพื่อรายงานจุดความร้อน hotspots แต่ปัญหาของดาวเทียมความร้อนทั้ง 2 ระบบก็คือโคจรผ่านประเทศไทยเพียงวันละ 2 รอบ คือ รอบบ่ายราว 13.00-14.00 น. และรอบดึก 1.00-2.00 น. ดังนั้น hotspots ที่จับได้จึงเป็นไฟที่เกิดขึ้นเฉพาะช่วงที่ดาวเทียมโคจรผ่าน สมมติว่ามีไฟใหญ่เกิดตอนบ่ายสามไหม้ลุกลามและมอดดับเองตอนเที่ยงคืน ดาวเทียมทั้งสองระบบก็ไม่สามารถรายงานเหตุการณ์นั้น เทคโนโลยีดาวเทียมก้าวหน้ามากขึ้นก็จริง แต่ก็อาจจะยังไม่สามารถจับไฟที่ค่อยๆ คุลุกลามช้าๆ หรือ อาจจะจับความร้อนจุดอื่น เคยมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตามจุดความร้อนเพื่อจะไปดับ ปรากฏเป็นพิธีเผาศพกลางแจ้งของชาวบ้านก็เคยเกิดขึ้น
.
ปัญหาหนึ่งของภาคเหนือตอนบนก็คือ ประชาชนรู้ว่าดาวเทียมมีข้อจำกัดและผ่านมาเพียงวันละ 2 รอบ บางกลุ่มจึงลอบเผาในช่วงที่ดาวเทียมผ่านไปแล้ว ทำให้รายงาน hotspots ไม่ตรงกับการเผาไหม้จริง
.
ยกตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด เมื่อปี 2563 GISTDA รายงานจุด hotspots ระบบ viirs ของจังหวัดลำปางเกิดเพียง 8,556 จุด ส่วนเชียงใหม่เกิดมากถึง 21,658 จุด แต่เมื่อมาดูรอยไหม้ burned scars จากดาวเทียมสำรวจทรัพยากร Landsat-8 ที่โคจรเหนือฟ้าประเทศไทยตลอดเวลา กลับห่างกันไม่มาก คือไหม้ที่ระดับ 1.3 ล้านไร่ ใกล้เคียงกัน
.
การใช้จุดความร้อน hotspots มาอธิบายปัญหาการเผาและมลพิษเพียงมุมเดียวจึงอาจมีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง
.
5. ประสิทธิภาพการจัดการ
.
ต้นปี 2564 เป็นปีอิทธิพลปรากฏการณ์ลานีญ่า มีฝนมากกว่าปกติ ภาคเหนือเกิดฝนเป็นระยะ และเริ่มตกหนักตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ดังนั้นสถิติไฟของปีนี้จึงต่ำกว่าปีก่อนๆ หน้าอย่างชัดเจน นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ วิเคราะห์ว่า อิทธิพลลานีญ่ามีจริง เพราะ hotspots ของประเทศในภูมิภาคนี้ทั้งพม่าลาวกัมพูชาก็ลดลงเช่นกัน โดยลดลงเฉลี่ย 20% เมื่อมาดูภาคเหนือของไทยเรากลับลดลงมากกว่าคือลดมากถึง 52% ตัวเลขที่เกินจาก 20% ถูกตีความว่าคือประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ซึ่งก็พอสามารถจะตีความเช่นนั้นได้
.
แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันภาคเหนือยังไม่มีดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพการจัดการอย่างแท้จริง ก่อนหน้านี้เคยกำหนดจากจุดความร้อน หรือ hotspots ซึ่งก็พิสูจน์แล้วว่าสามารถเลี่ยงได้ จังหวัดมี hotspots น้อยกลับมีพื้นที่ไหม้มาก และการเผาหลบดาวเทียม ประสิทธิภาพการควบคุมมลพิษไม่ให้เกินมาตรฐานก็ควบคุมยาก เพราะ pm2.5 มากับการเคลื่อนของอากาศ จังหวัดเชียงรายมีไฟน้อยแต่มลพิษสูงมาก เพราะลมหอบมา ที่พอจะเอามาชี้วัดได้บ้างก็คือ ประสิทธิภาพการควบคุมไฟ ซึ่งเป็นที่ทราบว่า บางจังหวัดมีทีมดับไฟจำนวนมาก มีระบบติดตามการทำงานในระดับพื้นที่ แต่บางจังหวัดมีทีมดับไฟน้อยและไม่เน้นการเข้าไปเผชิญเหตุ มีหลายพื้นที่เกิดไฟตั้งแต่เช้าและถูกปล่อยให้ลุกลามจนเชื้อเพลิงหมด บางจังหวัดเน้น KPI ตัวชี้วัดจากช่วงประกาศห้ามเผา จึงปล่อยให้มีการเผามากมายก่อนเวลาห้าม ค่ามลพิษขึ้นสูงแต่ไม่ถูกนับรวมว่าเป็นปัญหาประสิทธิภาพการจัดการ
.

.
วิธีการวัดประสิทธิภาพอีกประการคือ สัดส่วนพื้นที่เผาไหม้ burned scars ต่อพื้นที่จังหวัดทั้งหมด ซึ่งในปี 2564 นี้ จังหวัดที่มีประสิทธิภาพควบคุมการไหม้ให้เกิดน้อยสุดเมื่อเทียบกับพื้นที่รวมได้แก่เชียงราย เกิดไหม้เพียง 1.99% เท่านั้น รองลงมาคือ น่าน 4.54% และเชียงใหม่ 5.83% ส่วนจังหวัดที่มีสัดส่วนการไหม้สูงสุดของภาคเหนือตอนบนคือ ลำปาง 17.089% แม่ฮ่องสอน 16.59% และลำพูน 14.70% ดังตารางแนบ
.

