หลัง การประชุมสรุปผลและถอดบทเรียน (After Action Review : AAR) การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2564 (ผ่าน VDO Conference ระบบ Webex) เมื่อวานนี้ (9 สิงหาคม 2564) ซึ่งมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ และมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้แทนทุกจังหวัดเข้าร่วมการประชุม ซึ่งตัวแทนภาคประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ นายบัณรส บัวคลี่ สภาลมหายใจเชียงใหม่ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสํานักงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ ด้วย

.
24 สิงหาคม 2564 เฟสบุ๊ก บัณรส บัวคลี่ โพสต์ภาพในห้องประชุม และข้อความ โดยระบุว่า “ข้าราชการหลายท่านคงไม่ชอบใจเท่าไหร่ ที่ผมเอาเรื่องราวการได้ไปร่วมประชุมถอดบทเรียน AAR การป้องกันและแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และ ฝุ่นละอองปี 2564 มาเขียนถึงแบบวิพากษ์วิจารณ์.. อุตส่าห์เปิดให้เข้าไปยังเอามาด่าว่าเขาอีก ก็ขอบคุณล่ะครับ ราชการยุคนี้พยายามเปิดกว้างให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมและรับรู้ แต่เมื่อได้รับเชิญเข้าไปฟังความคืบหน้า ไม่มีวาระให้นำเสนอ ผมก็กลับมาสะท้อนดังๆ ให้ท่านได้ทราบว่า ประชาชนคิดอย่างไร การวิพากษ์ตรงๆ ที่เนื้อหาสาระ ดีกว่าเกรงอกเกรงใจซุกขยะใต้พรมกันไปเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งที่ปัญหานี้เรื้อรัง เพราะเราไม่พูดกันตรงๆ” นอกจากนั้น ยังได้สรุป 10 ประเด็น ซึ่งเป็นมุมมองที่น่าสนใจ ไว้ดังนี้
.
1/ บิ๊กป้อม ไม่เอาจริง
.
การที่ท่านตั้งรองนายกฯ พล.อ.ประวิตรมาเป็นประธานดูแลปัญหานี้เหมือนจะดี ตรงที่บิ๊กป้อมมีบารมีสูงสุดในรัฐบาล แต่ว่า 2-3 ปีที่ผ่าน ท่านไม่ได้ลงรายละเอียด ไม่แสดงออกถึงความกระตือรือร้น แม้กระทั่งเวทีถอดบทเรียนล่าสุด วาระประชุมกำหนดไว้สั้นมากๆ ประมาณชั่วโมงครึ่ง เริ่ม 10.00 จบที่ 11.30 แต่เอาเข้าจริงแค่ 51 นาทีเท่านั้น ท่านพูดจบ ปิดประชุมเฉย ไม่มีหารืออื่นเลย แค่มีคนรายงานๆๆ ให้ฟัง มอบ นยบ. อ่านที่เตรียมมา จบเฉยเลย ปัญหาฝุ่นควันมลพิษอากาศมันขยายเพิ่มขึ้นไปทั่วประเทศเพราะรัฐไม่เอาจริง อีสาน กลาง ออกตก มีการเผาที่โล่งจากภาคเกษตรเห็นชัดเจน ขนาดมีนโยบายและวาระแห่งชาติเขียนไว้ ต้นปีที่ผ่านมาก็แดงไปทั้งประเทศ มันแปลว่า คณะกรรมการระดับชาติ ที่อำนวยการ/และควบคุมสั่งการ ไม่ติดตามจี้ไช อย่างจริงจัง…ถูกไหมครับ !? ขนาดมีวาระแห่งชาติเขียนไว้ว่า รัฐจะขยายเครือข่ายเครื่องตรวจคุณภาพอากาศให้ครบ ปีนี้ คพ.เสนอไปเพื่อให้ครบ 77 จว. ถูก กมธ.ตัดงบ เหลือได้มาแค่ 10 เครื่อง รวมของเดิม 46 จะเพิ่มเป็น 56 ที่สำคัญ เครื่องวัด คพ.น่ะ ไม่ได้สะท้อนปัญหาจริงในพื้นที่ครอบคลุม มันสะท้อนแค่รอบๆ สถานีวัดในตัวเมืองเท่านั้น นโยบายก่อนนี้ ไม่หนุนเครือข่าย low cost เพิ่งจะมากลับตัวกันเพราะประชาชนนิยมเครือข่ายที่ตอบโจทย์การใช้จริง
.
2/ โครงสร้างการบริหารจัดการแบบทหาร(เฉพาะกิจ)รัฐบาล คสช.
.
ใช้ทหารกองทัพภาคมาควบคุมบัญชาการแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่า กลับไปย้อนดูเอกสารเก่าๆ ได้เลย เขาเขียนแค่ หมอกควันไฟป่า นั่นก็คือ เน้นที่ปราบปรามการเกิดไฟไหม้ระยะ 3 เดือนที่มาตั้งกองบัญชาการเฉพาะกิจดูภาคเหนือ หมดไฟ ก็จบภารกิจ รายงาน hotspots ค่ามลพิษเกินมาตรฐานกี่วัน ๆ แล้วก็มุ่งพัฒนากลไกปฏิบัติการให้มีประสิทธิภาพ หน่วยไหนไปดับอย่างไรตรงไหน เอาฮ.ขึ้น สั่งรถน้ำมาฉีด … เป็นแบบนี้มานาน มีอยู่ปีนึงที่เชียงใหม่ พ่นน้ำกันสนุก พ่นที่ห้วยตึงเฒ่าบอกว่ามีผลกับตัวเมืองเชียงใหม่ เอาทฤษฎีอะไรมาทำ ทหารเปิด VTR รายงาน เนื้อหาชัดเจนอยู่ในตัวเองว่า มุ่งยุทธศาสตร์ดับไฟ เอาล่ะครับ ปฏิบัติการระยะเผชิญเหตุมันสำคัญ แต่ปัญหาภาคเหนือมันใหญ่กว่าช่วงเผชิญเหตุมันต้องแก้ที่ต้นเหตุกันทั้งปี และควรต้องเน้นภารกิจด้าน precautionary ให้มากขึ้น แต่เราก็ยังไม่ได้เห็นเรื่องเหล่านี้ทหารรายงานว่า มียุทธศาสตร์ประชาสัมพันธ์ด้วยนะ การปชส. ที่ว่า เขาทำคลิปรายงานประจำวัน แต่เหมือนจะเน้นรายงานภารกิจฝ่ายตัวเองให้เจ้านายดูเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้เน้นการรายงานความรู้ความเข้าใจและปฏิบัติการแก้ในภาพรวม การประชาสัมพันธ์ในภาพรวมของรัฐ ยังไม่ดี แต่ท่านคิดว่ามีคลิปทุกวัน คือ ประชาสัมพันธ์ ..ไม่ใช่เลยครับ ขอสะท้อนตรงๆ
.
3/ การแก้ที่เหตุตลอดทั้งปี
.
ภาคเหนือตอนบนไหม้พื้นที่ป่ามากถึง 80% นี่เป็นสาเหตุหลักที่สุดในพื้นที่ป่า 80% ที่ว่า มีพท.เกษตรในป่าของราษฎรราว 11% แต่เอกสารของรัฐแทบทั้งหมดย้อนไปดูได้เลย ชี้ไปที่ประชาชนทำเกษตร ประชาชนเผา หาเห็ดหาของป่า เป็นจำเลยเบอร์ 1 ไฟไหม้ภาคเหนือตอนบนทุกปีราวๆ 6-9 ล้านไร่ พื้นที่ไหม้เยอะมากเลยนะครับ รัฐจะโบ้ยพื้นที่ไหม้ดังกล่าวให้คนล่าสัตว์หาเห็ดทั้งหมด หรือเพาะปลูกไม่ได้ …หลักฐานดาวเทียมก็ชัดเจนแล้วว่า มีแค่ 11% หลักแสนไร่ (ไม่ถึงล้าน) เท่านั้นที่เป็นเกษตร แต่การถอดบทเรียนประจำปีทุกปี ไม่เคยเอ่ยข้อปัญหานี้เลย ว่า การที่ป่าอนุรักษ์ไหม้มากกว่าป่าสงวนฯ เป็นเพราะอะไร ทั้งๆ ป่าอนุรักษ์มีคน มีกำลัง มีหน่วยดับไฟของตัวเองเพียบพร้อมกว่า และที่สำคัญ มีประกาศปิดป่าห้ามเข้าเด็ดขาดด้วยซ้ำไป การแก้ปัญหาตลอดทั้งปี มีเขียนไว้ในวาระแห่งชาติ แต่ทำไม่ได้จริงก.เกษตร คุมไฟภาคเกษตรไม่ได้ ไหม้เป็นสิบๆ ล้านไร่ทั่วประเทศ ไหม้ข้ามคืน ปล่อยลามไม่มีใครสนใจไปจัดการ ขณะที่ ก.ทรัพย์ ทำแกล้งไม่เห็นข้อปัญหาไฟไหม้ป่าภาคเหนือ ยังไม่เคยเห็นการตามถอดบทเรียนการไหม้ระดับพื้นที่จริงจัง เพื่อหาทางแก้ในปีต่อไป
.
4/ ไม่แตะรากเหง้าเชิงโครงสร้างจริง
.
มีนโยบายที่เขียนว่า การแก้ปัญหาจะเน้นที่การจัดการสิทธิครอบครองในป่า เช่น คทช. เพื่อให้ประชาชนปลูกพืชยืนต้น พัฒนาแหล่งน้ำ ฯลฯ เพื่อไม่ต้องปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ใช้ไฟเขียนไว้สวยดี อันนี้ตรงจุดปัญหาภาคเหนือ 3-4 จังหวัดที่มีไฟใหญ่ แต่ในทางปฏิบัติ ไม่เคยเอาตัวเลขความคืบหน้า คทช.มารายงานใน AAR ว่าแต่ละปี ให้ไปเท่าไหร่ มีการเปลี่ยนการผลิตที่ยั่งยืนไปแล้วเท่าไหร่ ติดปัญหาตรงไหนที่ยังไม่สามารถเปลี่ยนวาระแห่งชาติ เขียนว่า หนุนให้ปลูกพืชยืนต้น แต่ในทางปฏิบัติจะทำได้ก็ต่อเมื่อ สิทธิมันชัดเจนแม่ฮ่องสอนมีป่า 86% ไม่เพียงเท่านั้น ที่ทำกินของราษฎรทั้งจังหวัดอยู่ในเขตป่าถึง 84% ของที่ทำกินทั้งหมด แปลว่า ปลูกอะไรยืนต้นไม่ได้เลย นี่คือปัญหาใหญ่ของภาคเหนือ ที่ต้องเร่งรัดจัดการทั้งปี แต่เสียดายไม่มีรายงานใน AAR เลย
.
5/ วิชาการสนับสนุน
.
รมว.ท็อปวราวุธ รายงานว่ามีการตั้งอนุกรรมการวิชาการ ประชุมกันปีแล้วถึง 5 ครั้ง ผมก็เห็นหน้าท่านนักวิชาการเหล่านั้นเป็นกลุ่มคนที่เก่งและตามปัญหาจริง แต่ทว่า ทั้งหมดเป็นวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ เน้นหนักไปที่การหาสาเหตุ ต้นตอ ไม่มีนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์สังคมศาสตร์เลยสักคนเดียวมลพิษฝุ่นควันไฟที่เกิดทั้งภาคเหนือและภาคอื่น เป็นปัญหาที่เกิดจากระบบรวมศูนย์แบบแท่งของรัฐ ปัญหาภารกิจราชการ เงื่อนไขการงบประมาณของราชการ ยกตัวอย่าง การถ่ายโอนภารกิจของกรมป่าไม้ ให้กับ อปท. ถ่ายมาหลายปี แต่ อปท. ไม่กล้าเข้าไปดำเนินการ ไม่มีงบประมาณให้จริง ที่สำคัญคือ มีหนังสือเวียนที่ทำให้ อปท.ไม่กล้าไปยุ่งกับเรื่องนี้ มติครม. มาตรการเฉพาะกิจวาระแห่งชาติ พย.63 ให้เร่งรัดการถ่ายโอนภารกิจอปท. แต่ไม่ได้มีรายงานข้อปัญหาอุปสรรคใน AAR ว่า ทำได้จริง หรือติดข้อปัญหาใด ที่สำคัญคือมุมมองรัฐมองว่า ภารกิจคือ อปท. ไปดับไฟ ตั้งหน่วยดับไฟ เบิกงบอาหารเลี้ยงดูอาสาสมัคร ไปทำแนวกันไฟ ฯลฯมันคนละเรื่องกับบทบาท อปท. ที่ประชาชนอย่างผมอยากเห็น อปท.ในพื้นที่ ต้องทำงานทั้งปี อำนวยการให้ชุมชนหมู่บ้านทำแผน และสามารถเข้าไปดำเนินการในเขตป่าได้ทั้งปี ทำแนวกันไฟเพิ่ม ทำที่พักอุปกรณ์แหล่งน้ำฯลฯ ในป่าได้ … และอุดหนุนชุมชนให้มีอุปกรณ์ข้าวของไปทำงาน อปท.ควรต้องเป็นแกนถอดบทเรียนการเกิดไฟในระดับตำบล ข้ามไปตรวจสอบและหาสาเหตุไฟในป่าร่วมกับ ป่าไม้/อุทยาน/อำเภอ เป็นภารกิจที่ชัดเจน หลายพื้นที่ ป่าไม้ชี้ประชาชน … ประชาชนก็ชี้ป่าไม้นั่นแหละเผา รัฐบาลคงไม่ทราบ !
.
6/ วาระแห่งชาติแผนปฏิบัติการตามวาระแห่งชาติ
.
เป็นกลไกพิเศษที่เหมาะสมสุดเท่าที่กฎหมายจะเอื้อให้เกิดมี แต่ 2 ปีมานี้ วาระแห่งชาติไม่คืบจริงนับข้อได้เลยที่กำหนดว่าจะต้องแล้วเสร็จในปี 2564 ไม่เสร็จจริง เรื่องการเผาภาคเกษตร การยกระดับมาตรฐานยูโร 5 การเผาไร่อ้อยยังหลอกลวงตัวเลขมีแต่อ้อยเข้าโรงงานที่ไม่เผา แต่ที่ไร่กลับมาก็ยังเผา บัญชีมลพิษ มาตรฐานค่ามลพิษใหม่ ฯลฯ ไม่เสร็จสักอย่างเพราะมันไม่มีกลไกจี้ไช ติดตามระหว่างปีจริง หรือว่าอาจไม่มีผู้ใหญ่ที่มีบารมีจี้ไชกับกระทรวงทบวงกรมให้ทำงานตามแผนจริงจังการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันของภาคอื่น ง่ายกว่าภาคเหนือ อีสานกลางคุมเผาเกษตรให้ได้ จะบรรเทาได้เยอะแต่สำหรับภาคเหนือตอนบน มันเป็นเรื่องป่า และโครงสร้างอำนาจ ราชการรวมศูนย์ และปัญหากฏหมายมากมายทับซ้อนจะให้ ชุมชน/ท้องถิ่น มีบทบาทเป็นแกนได้อย่างไร ในเมื่อฝนมา เขตป่าห้ามเข้าไปยุ่มย่าม กระทั่งป่าชุมชนที่มีกฎหมายออกมาแล้ว ควรจะเป็นกลไกและพื้นที่แก้ปัญหาได้ ป่าชุมชนไม่ควรไหม้ด้วยซ้ำ มีคนรับผิดชอบใส่งบลงไปช่วย.. แต่ก็ยังเกิดไม่ได้เลย มันติดอะไรที่ราชก้านราชการสักอย่าง
.
7/ อำนวยการ + ปฎิบัติการ + วิชาการ ประเทศเรายังรวมศูนย์อำนาจ
.
ดังนั้นมันจำเป็นที่ต้องมีคณะกรรมการใหญ่ที่มีอำนาจเต็มมาอำนวยการ ทรัพยากร/เจ้าหน้าที่/งบประมาณ/ปลดล็อกระเบียบต่างๆ ควบคู่กัน ..ก็ต้องมี กลไกปฏิบัติการระดับพื้นที่จริงจัง ซึ่งที่ผ่านมา ไม่มี ! เป็น 2 แทร็คที่ต้องเกิดมีจริงจังให้ได้ แต่ยังไม่มีจริงหลายจังหวัด ยังเกณฑ์กำนันผญบ.อาสารักษาดินแดนไปดับไฟ มีเงินให้บ้างไม่ได้บ้าง แล้วแต่ว่าปีไหนท่านข้างบนมี นยบ.อย่างไร เทคโนโลยีวิชาการยุคใหม่ ง่ายๆ แค่เครื่องวัดคุณภาพอากาศราคาถูก บางจังหวัดยังกีดกันไม่ให้ไปติดด้วยซ้ำ กลัวว่าคนจะรู้ปัญหา อากาศแย่มาก จังหวัดเสียหน้า ตอนนี้ภาคเหนือก็เริ่มมีมุกใหม่ หมอกควันข้ามแดน … ใช่ครับ มันมีจริงๆ แต่สักกี่ % ล่ะ ซึ่งที่จริงพื้นที่ยิ่งห่างจากชายแดน ก็ได้รับผลกระทบน้อยลง จังหวัดน่านไม่ใช่รับควันจากลาวทั้ง 100% หรอกนะ มันขึ้นกับทิศทางลมด้วย …พอปลายมีนาคม ลมตะวันตกมัน มันพัดเข้าลาวส่วนเชียงราย ก็ไม่ใช่อิทธิพลฝุ่นควันพม่าทั้งหมดหรอก มันมีฝุ่นควัน ปาย ปางมะผ้า ไชยปราการ เชียงดาว ด้วย…ในบางวันลมมันขึ้นทางช่องเขาที่ว่า
.
8/ ราชการเอาจริงขึ้น
.
ใช่ครับ ระยะ 2 ปีมานี้ ราชการเอาจริงขึ้น มีอะไรใหม่ๆ และความพยายามใหม่ๆ อย่างชัดเจน แต่ที่เห็นยังเป็นกลไกปฏิบัติ ยังไม่ใช่ ฝ่ายนโยบายที่กุมเจตจำนงทางการเมือง และ กุมกระบวนทัศน์การแก้ปัญหา *เจตจำนงทางการเมือง*กระบวนทัศน์การแก้ปัญหา ที่นำไปสู่ปฏิบัติการ*ข้อติดขัดเชิงโครงสร้างกฎหมายระเบียบซับซ้อน สามเรื่องใหญ่ยังติดอยู่นะ ยังไม่เป็นแบบแผนเดียวกัน ช้างตัวเดียวกัน วิธีการแก้เดียวกันบางจังหวัดเน้นห้ามเผาเด็ดขาด ใช่ เชียงราย พะเยาทำได้ แต่ แม่ฮ่องสอน ตาก เชียงใหม่ ทำไม่ได้ มันมีเงื่อนไขคนละอย่าง ต้องบริหารจัดการตามบริบทพื้นที่ แต่บางปี คำสั่งมาแบบเดียว ชุดเดียว แล้วแต่ท่านที่หมุนเวียนเปลี่ยนตำแหน่งเข้าใจปัญหามากน้อย
.
9/ ปลอดเผา ปลอดฝุ่นการห้ามเผาเด็ดขาด
.
ทำไม่ได้จริงหรอก เพราะนิเวศเหนือบนเป็นแอ่งภูเขาป่าผลัดใบ ฤดูร้อนเป็นฤดูการเตรียมผลิต ลมสงบ แถมที่พัดก็พัดมาจากเพื่อนบ้านตะวันตกก็มีมาเจือ อย่างไรเสียฤดูนี้มันก็มีมลพิษอากาศมากกว่าฤดูอื่นแต่เราบริหารจัดการจริงจัง ตามลักษณะบริบทพื้นที่ได้ ปัญหาจะบรรเทาลงแน่นอน…..ท่านจะแก้แม่ฮ่องสอนอย่างไร? ท่านจะแก้ 4 อำเภอรอบๆ ทะเลสาบเขื่อนภูมิพลของจังหวัดตากอย่างไร ? ท่านจะแก้ลี้ ลำพูน และรอบๆ อย่างไรตรงนั้นไฟล้านไร่ ? ท่านจะแก้เชียงใหม่อย่างไร ?มาตรการเดียวเหวี่ยงแห ห้ามเผาๆ มันง่าย ประกาศออก แต่ทำไม่ได้เลย.. เป็นแบบนี้มากี่ปีแล้วบางจังหวัดปล่อยผี ปล่อยเผา เอา KPI หลอกลวงกันไปเป็นปีๆ
.
10/ ท่านเปิดให้ผมเข้าร่วมประชุม
.
เป็นเรื่องดีที่เปิดให้ประชาชนเข้าไปฟัง.. และผมก็ขอขอบคุณท่านด้วยการสะท้อนความเห็นตรงๆ แบบนี้ เพราะเชื่อว่าท่านหลายๆ ท่านกำลังมีความพยายามแก้ไขปัญหาเช่นกัน แต่ก็ติดขัดกับข้ออุปสรรคแบบที่ผมนำเสนออยู่นี่ ผมเป็นประชาชนไม่ต้องเกรงใจอะไรใครมาก ไม่เหมือนราชการด้วยกัน ขยับเสนออะไรขึ้นไปลำบาก
