รายงาน
.
ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่คนล่าสุด นายประจญ ปรัชญ์สกุล ที่กำลังจะมารับตำแหน่ง 1 ตุลาคมนี้ไม่ได้เป็นคนหน้าใหม่ เพราะเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.เชียงใหม่ แล้วจากนั้นก็เลื่อนเป็น ผ.อ.ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 15 เชียงราย และเขต 10 ลำปาง ไม่เพียงเท่านั้น นับจากปี 2560 ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ต่อด้วย เชียงราย เป็นเวลา 4 ปีต่อเนื่อง ย่อมต้องรู้จักและเข้าใจปัญหาวิกฤตมลพิษอากาศไฟป่าฝุ่นละอองของภาคเหนือเป็นอย่างดี เพราะคลุกคลีกับปัญหานี้ยาวนาน
.
ผู้ว่าฯ ประจญ ปรัชญ์สกุล ได้รับการต้อนรับไม่ราบรื่นนัก เพราะทันทีที่มีข่าวโยกย้ายดำรงตำแหน่งที่เชียงใหม่ ก็เกิดมีแถลงการณ์ของชมรมสื่อมวลชนอาวุโส ไม่เห็นด้วยกับการตั้งผู้ว่าฯ ที่มีอายุราชการเหลือเพียง 1 ปีดำรงตำแหน่งที่เชียงใหม่ ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการโพสต์ข้อมูลในโซเชียลมีเดียถึงปฏิกิริยาของชาวเชียงรายแสดงความดีใจที่ผู้ว่าฯ ย้ายออก
.
“มีชาวเชียงรายให้คะแนนการทำงานของนายประจญเป็นลบ ข้อมูลความไม่พอใจจากชาวเชียงราย (กลุ่มหนึ่ง) ชุดนี้ถูกโพสต์ต่อในแวดวงจังหวัดเชียงใหม่ต่ออีก นับเป็นการต้อนรับที่ไม่อบอุ่นเลย สำหรับผู้ว่าราชการจังหวัดใหญ่สุดของภาคเหนือ”
.
นายประจญ ผ่านการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดมาแล้ว 2 จังหวัดคือ พะเยา และเชียงราย เคยเป็นข่าวใหญ่ก็เมื่อครั้งย้ายสลับกับผู้ว่าฯ หมูป่า นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร แบบกะทันหัน นอกฤดูโยกย้ายเมื่อกรกฎาคม 2561 วงการวิจารณ์ว่า คนหนึ่งจากจังหวัดใหญ่ไปเล็ก…อีกคนจากจังหวัดเล็กส้มหล่นไปจังหวัดใหญ่ จากนั้นก็มีเสียงวิจารณ์มากมายตามมาว่า เพราะนายณรงค์ศักดิ์ไม่ยอมเซ็นต์งบประมาณให้กับบางโครงการ เป็นคนหัวแข็ง ขัดแย้งกับพื้นที่ จึงมีคนแปลความหมายต่อว่า นายประจญที่มาแทนคงจะหัวอ่อนไม่ดื้อเหมือนผู้ว่าฯหมูป่า ซึ่งจะอย่างไรก็ตาม นายประจญก็บริหารราชการที่จังหวัดเชียงรายมาได้ 3 ปี จนกระทั่งได้รับโบนัสก่อนเกษียณขึ้นเป็นผู้ว่าฯจังหวัดเกรดเอ อย่างเชียงใหม่ สมควรมีข้อดีที่ผู้บังคับบัญชามองเห็น
.
เวลา 1 ปีนับจากนี้จะเป็นห้วงของการท้าทาย “ผู้ว่าฯรอเกษียณ” จะเป็นอย่างที่ถูกปรามาสไว้ หรือจะทิ้งทวนสร้างผลงานเป็นที่ประทับใจชาวบ้าน
.
สิ่งที่ท้าทายสุดเรื่องแรกของผู้ว่าฯประจญ ทันทีที่รับตำแหน่งใหม่ก็คือ การเปิดเมืองหลังโควิด เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ภาคธุรกิจเตรียมการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวหลังจากเหี่ยวเฉามาทั้งปี การเปิดเมืองเชียงใหม่ระหว่างที่สถานการณ์โรคระบาดยังไม่จบเป็นภารกิจเฉพาะหน้า
.
หลังจากนั้นก็คือวิกฤตมลพิษอากาศฝุ่นควันไฟที่เกิดประจำทุกปี คนเชียงใหม่เคยนัดหมายรวมกลุ่มชุมนุมเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหามาหลายครั้งแล้ว และหากยังจำได้เคยมีการระดมล่ารายชื่อขับไล่ผู้ว่าราชการจังหวัดในท่ามกลางฝุ่นควันมาแล้ว นายประจญ มีเวลาสั้นๆ สำหรับการเตรียมระบบแผนปฏิบัติงานรับมือวิกฤตฝุ่นควัน เพราะแต่ละปีจังหวัดเชียงใหม่จะเริ่มมีประกาศและแนวทางรับมือตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไป
.
ผู้ว่าฯ ประจญ มีประสบการณทำงานรับมือกับมลพิษฝุ่นควันไฟยาวนานร่วม 15 ปี ตั้งแต่เป็น ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด จนขึ้นเป็นผู้ว่าฯพะเยาเมื่อปี 2560 สำหรับผลงานรับมือปัญหาที่จังหวัดเชียงรายปีล่าสุด สามารถดูแลจัดการจุดเกิดไฟ hotspots และพื้นที่ไหม้ burned scars น้อยสุดในบรรดาจังหวัดภาคเหนือตอนบน แต่อย่างไรก็ตาม เป็นเพราะเชียงรายมีพื้นที่ป่าน้อยสุดในบรรดาจังหวัดภาคเหนือตอนบน และระบบการจัดการที่เข้มแข็งลงไปถึงกำนันผู้ใหญ่บ้านควบคุมการเกิดไฟถูกวางไว้ตั้งแต่ยุคอดีตผู้ว่าฯ บุญส่ง เตชะมณีสถิต สามารถทำให้เชียงรายมีจุด hotspots เป็นศูนย์ในระหว่าง 60 วันห้ามเผาเป็นจังหวัดแรกและจังหวัดเดียว ข้อสำคัญคือแนวทางและเทคนิควิธีการแก้ปัญหาแบบเชียงราย/พะเยา กับ บริบทปัญหาของเชียงใหม่ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
.
เชียงราย/พะเยา เป็นแอ่งขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ราบมากกว่าพื้นที่ป่า มีการเกษตรหลักคือนาข้าวซึ่งควบคุมง่าย และพื้นที่จังหวัดมีขนาดเล็กกว่าเชียงใหม่หลายเท่า โดยเชียงใหม่มีพื้นที่ประมาณ 13 ล้านไร่ ขณะที่เชียงรายประมาณ 7.2 ล้านไร่ พะเยา 3.9 ล้านไร่ สัดส่วนป่าไม้เชียงใหม่มากถึง 69% ส่วนเชียงรายมีป่าไม้จริงแค่ราว 30% ( ตัวเลขทางการ 40.66% รวมที่เปลี่ยนเป็น พท.เกษตรของประชาชนไปแล้วด้วย)
.
“ดังนั้นการอาศัยประสบการณ์แก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันที่พะเยา หรือเชียงรายมาก่อน ก็เป็นคนละบริบทกับโจทย์ปัญหาไฟป่ามลพิษฝุ่นควันไฟที่เชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งไฟขนาดใหญ่เฉลี่ยไหม้ปีละ 8 แสน-1.3 ล้านไร่ ล้อมรอบด้วยแหล่งไฟใหญ่เกินล้านไร่ ทั้งด้านแม่ฮ่องสอน ลำพูน ตาก”
.
เทคนิควิธีการของจังหวัดเชียงราย แม้จะบริหารงานบนฐานอำนาจพรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้อำนาจผู้ว่าฯ single command เหมือนกัน แต่รายละเอียดแตกต่างกัน เชียงรายใช้เทคนิคประกาศห้ามเผาเด็ดขาด 90 วัน ระหว่าง 1 ก.พ.-30 เม.ย.2564 ขณะที่เชียงใหม่ใช้ระบบบริหารจัดการเชื้อเพลิง แม้จะห้ามเผาโดยทั่วไปแต่มียกเว้นส่วนที่ได้รับอนุญาตโดยพิจารณาจากลมฟ้าอากาศ เชียงรายมีนโยบายกำหนดวันระดมการฉีดน้ำขึ้นฟ้าสร้างความชุ่มชื้นพร้อมกัน 18 อำเภอพร้อมกับทำฝนหลวง ซึ่งวิธีการแบบนี้ฝ่ายวิชาการที่เชียงใหม่แนะนำว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จึงไม่มีการใช้รถน้ำฉีดที่เชียงใหม่ในปี 2564 ฯลฯ
จึงเป็นคำถามว่านายประจญ จะใช้เทคนิควิธีการตามประสบการณ์ตนที่ได้ใช้ที่เชียงรายมาใช้ที่จังหวัดเชียงใหม่หรือไม่ ? เพราะหากจะใช้ตามแนวทางที่เคยทำที่เชียงราย ก็ต้องปรับเปลี่ยนแนวทางที่จังหวัดเชียงใหม่ดำเนินการภายใต้แนวทาง “เชียงใหม่โมเดล” ที่นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าฯเชียงใหม่คนปัจจุบันประกาศใช้
.
แนวทางแก้ปัญหามลพิษอากาศฝุ่นควันไฟแบบเชียงใหม่โมเดลนั้น เริ่มใช้เป็นปีแรกเมื่อ 2564 ที่ผ่านมา เปลี่ยนจากเดิมที่เคยใช้การประกาศห้ามเผาเด็ดขาดมาเป็นการบริหารจัดการเชื้อเพลิงบนฐานข้อมูลสภาพภูมิอากาศและการระบายอากาศ และใช้ห้องวอร์รูมมีข้อมูลสารสนเทศจุดเกิดไฟลมฟ้าอากาศค่ามลพิษฝุ่นควันจากทุกแหล่งไม่เฉพาะจากสถานีวัดอากาศของกรมควบคุมมลพิษมาประกอบการตัดสินใจสั่งการ ทำให้ผลงานการทำงานปีนี้ของเชียงใหม่ดีขึ้นจากปีก่อนหน้า มีสถิติพื้นที่ไฟไหม้ burned scars ระยะ 5 เดือนที่ 803,493 ไร่ จากที่เคยไหม้มากกว่า 1.3 ล้านไร่ในปี 2563 และระดับค่าเข้มข้นมลพิษเกิน 100 มคก./ลบ.ม.ก็ลดลงจากเดิม แต่อย่างไรก็ตามปฏิบัติการแบบเชียงใหม่โมเดลเพิ่งใช้งานได้ปีแรก ยังไม่สมบูรณ์แบบ และยังมีข้อบกพร่องอยู่พอสมควร
.
นี่เป็นคำถามตัวใหญ่ๆ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดคนใหม่ หากจะใช้ระบบนี้ต่อไป ผู้ว่าราชการจังหวัดคนใหม่ (ที่ถูกปรามาสก่อนรับตำแหน่งว่ามารอเกษียณ) จะตัดสินใจเช่นไร ? จะยังคงใช้อยู่หรือเปลี่ยนแปลงแบบไหนอย่างไร-ต่อไป
.



