เดโช ไชยทัพ “แก้แบบนี้ อีก 100 ปีก็ไม่เสร็จ”

วิพากษ์มาตรการเร่งรัด คทช. ช่วยแก้ฝุ่นควันไฟป่า

เดโช ไชยทัพ “แก้แบบนี้ อีก 100 ปีก็ไม่เสร็จ”

.

3 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณาอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ให้สามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับประชาชนได้ครบทั้ง 3.9 ล้านไร่ ใน 76 จังหวัด ให้แล้วเสร็จได้ทันภายในสิ้นปี 2564 นี้ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนให้กับพี่น้องประชาชน หลังจากที่มีหนังสือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด่วนที่สุด ที่ ทส sbob.๔๕๒o๑๒ แจ้งว่า ในการประชุมคณะกรรมการ พิจารณาการใช้ประโยชน์ในเซตป่าสงวนแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ได้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในการพิจารณา คําขออนุญาตเข้าทําประโยชน์ในเซตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อดําเนินโครงการจัดที่ดินทํากินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) โดยให้เชิญผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อํานวยการสํานักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด และ ผู้อํานวยการสํานักจัดการทรัพยากรป่าไม้ท้องที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมเพื่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถ ชี้แจงทําความเข้าใจกับราษฎรในพื้นที่ได้ และขอให้กระทรวงมหาดไทยกําชับให้จังหวัดดําเนินการ ดังนี้

.

.

  1. เร่งรัดการยื่นคําขออนุญาตและส่งคําขออนุญาตเข้าทําประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อดําเนินโครงการจัดที่ดินทํากินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล ให้กรมป่าไม้พิจารณาโดยด่วน
  2. เข้าร่วมประชุมผ่านระบบ VDO Conference กับคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ กรณีมีการพิจารณาเรื่องราวคําขออนุญาตเข้าทําประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ เพื่อดําเนินโครงการจัดที่ดินทํากินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลในเขตท้องที่จังหวัด
  3. แจ้งผู้อํานวยการสํานักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเข้าร่วมประชุมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด
  4. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เร่งรัดการพิจารณาให้ความเห็นประกอบการพิจารณา การขออนุญาตเข้าทําประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อดําเนินโครงการจัดที่ดินทํากินให้ชุมชน ตามนโยบายรัฐบาล รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดสิ่งที่ส่งมาด้วย ได้ทางเว็บไซต์ของสํานักนโยบาย และแผน สํานักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย www.ppb.moi.go.th หัวข้อ หนังสือแจ้งเรียนประชาสัมพันธ์

.

กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้ว เพื่อให้การดําเนินการจัดที่ดินทํากินให้ชุมชนตามนโยบาย รัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรผู้ยากไร้และไม่มีที่ดินทํากินในพื้นที่เป้าหมายได้รับการ จัดที่ดินทํากินเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงให้จังหวัดพิจารณาดําเนินการตามข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ของคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว ลงชื่อโดย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย

.

“แต่สำหรับภาคประชาชนส่วนหนึ่ง มองว่า ในความเป็นจริง…ไม่มีงบประมาณ ไม่มีคนทำงาน เป็นแค่ประกาศ หากไม่มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน การแก้ปัญหาเรื่องนี้อาจไม่มีวันแล้วเสร็จ ความหวังที่ว่าจะไปช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควัน ยังมองไม่เห็น”

.

.

9 กันยายน 2564 เพจเฟสบุ๊ก เดโช ไชยทัพ โพสต์ข้อความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างหน้าสนใจ โดยระบุว่า 10 เรื่องที่คทช ควรเร่งปรับปรุง (ผมเก็บประเด็น​จากคนเกี่ยวข้องมากบอกเล่า) ส่วนเรื่องบวก+++ผมขอไม่กล่าวถึง ณ ตอนนี้ ( วันนี้​เสนอ 8 ข้อ )​

.

  1. คำขออนุญาต ตามมาตรา16และ19​ควรเพิ่มเติมจากการขอดำเนินโครงการโดยผวจ คนเดียวเป็นการขอร่วมระหว่างผวจ.และผู้เข้าร่วมโครงการ เพราะตอนนี้ประชาชนที่เข้าโครงการคทช. ไม่มีสิทธิในการนำที่ คทช ไปเชื่อมโยงสิทธิที่ต่อเนื่องได้ แต่ประการใด เพราะผวจ.คือผู้เดียวที่ได้รับสิทธิจากการอนุญาต ประชาชนหาหลักฐานการอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายไปขออนุญาต ก่อสร้างบ้านเรือน อาคารต่างๆ ให้ท้องถิ่นพิจารณาตรวจสอบรับรอง ตามอำนาจในพรบ. ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็ไม่ได้ จะไปขึ้นทะเบียนสวนป่า ก็ไม่ได้จะไปขอใบรับรองgap หรือทำนิติกรรมอันสืบเนื่องใดๆก็ทำไม่ได้
  2. การสำรวจข้อมูลที่ดินของชุมชนไม่ควรทำทีละกลุ่ม ทีละขบวนรถไฟ ทีละลุ่มน้ำ ควรทำพร้อมกันทั้งหมด ทั้งชุมชนแล้วค่อยมาแยกแยะ ว่าจะไปดำเนินการตามช่องทางไหนภายหลัง ทำทีละขบวนปัญหาเยอะมากในภาคเหนือ
  3. ในการกลั่นกรองที่ทำกิน ว่าอยู่ในห้วงเวลาใด การใช้แค่ผลวิเคราะห์​ภาพถ่าย
    ทางอากาศ เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ มีปัญหาเยอะพอควร การใช้หลักฐานอื่น รวมพยายบุคคลและการทำประชาคมหมู่บ้านจำเป็นมาก อันนี้มีอยู่แล้วในมติ30 มิย 41 แต่ทำไมไม่ยอมเอามาใช้กันให้เป็นระบบ
  4. สร้างการมีส่วนร่วมโดยการตั้งคณะทำงานคทช.ระดับตำบล หมู่บ้านจำเป็นมาก ใช้ soft power ลดความขัดแย้งได้ดี ต้องเร่งทำ
  5. การเขียนคำขอ ควรครอบคลุมการใช้ประโยชน์​ยชน์จริงควรทำให้รอบด้านและถามประชาชนด้วยว่าตรงกับที่เขาต้องการไหม เช่น ควรเขียนเรื่องท่องเที่ยวชุมชนยั่งยืนเข้าไป ไม่ใช่ให้ทำแต่เกษตร อันราคาตกต่ำเข้าไป
  6. ให้หน่วยอื่นที่หน้าที่ตามกฏหมาย เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าไปทำหน้าที่สำรวจข้อมูล งานจะได้เร็ว ส่วนการคัดกรองให้เข้าเงื่อนไขกรมป่าไม้ก็กรองต่อไป
  7. มาตรการในการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ประเภทปลูกต้นไม้อะไร.. เท่าไหร่ ควรให้ชุมชนร่วมกำหนดกติกา ดีกว่า เขียนแบบที่เป็นอยู่ที่รัฐกำหนดอย่างเดียว เขาจะปลูกถ่ายรูปส่งรายงานจบ.. และไม่ได้เพิ่มพท สีเขียวจริง
  8. ทำไมต้นไม้ที่ปลูกในคทช ไม่ได้รับสิทธิการปลูกและใช้ประโยชน์ ตามความในมาตรา7 ของพรบ ป่าไม้ 2484 อำนาจอยู่ที่รมต ประกาศกำหนด

.

ปล.บทเร่งรัดของมหาดไทยที่ออกคำสังล่าสุดดีมาก แต่ถ้าหากทบทวนให้ คทช ชาติ ปรับปรุงสร้างเงื่อนไขดีๆขึ้นมาใหม่จะดีมากกว่า การเร่งทำในความสลัว

นายเดโช ไชยทัพ

.

บทเร่งรัดที่ว่า..ให้ใครทำ?

.

ย้อนไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา WEVO สื่ออาสา พูดคุยกับ นายเดโช ไชยทัพ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) และ ประธานคณะทำงานด้านป่าไม้และที่ดินในพื้นที่ป่า ภายใต้คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นควันจังหวัดเชียงใหม่แบบบูรณาการและมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ผู้ที่ติดตามและร่วมผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาเรื่องนี้มาโดยตลอด เล่าว่า หนังสือประกาศเร่งรัดจังหวัด เร่งรัดแก้ปัญหา คทช. เป็นแค่เพียงประกาศฉบับหนึ่งเท่านั้น ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะต้องไปเร่งรัดใคร ให้ทำอะไร และ สุดท้ายก็วนกลับมาที่เดิม คือ แล้วคนที่จะให้เขาทำ มีงบประมาณหรือไม่ เขามีกำลังเจ้าหน้าที่ที่พร้อมจะขับเคลื่อนหรือไม่ เช่น ถ้าบอกว่าให้กรมป่าไม้ทำ แล้วกรมป่าไม้ถามกลับว่าจะเอางบประมาณมาจากที่ไหน คนก็ไม่มี มันก็จะวนอย่างนี้ตลอด นี่แค่ตัวอย่างหน่วยงานเดียว แต่ถ้าบอกว่าให้ชุมชนและท้องถิ่น ช่วยทำ แล้วท้องถิ่นมีงบหรือไม่ ก็ต้องไปลงรายละเอียดว่ากันอีกครั้ง

.

ภาพ : สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.เชียงใหม่ 

.

ชูให้ “อปท. ช่วย” ถึงจะไว…

.

ในกระบวนการขับเคลื่อน ซึ่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมนโยบายที่ดินแห่งชาติ 3  คณะหลัก คือ คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน คณะอนุกรรมการจัดที่ดิน คณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด ทั้ง 3 อนุฯ ที่ว่า ในความเป็นจริงควรจะเพิ่มหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย เช่น อบต. หรือตัวแทนชุมชน เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว อาจจะให้เข้ามาช่วยสำรวจ เพราะถ้ารอแต่ทางกรมป่าไม้ฝ่ายเดียวอย่างที่ผ่านมา เห็นแล้วว่ามันจะช้ามาก คนก็น้อย งบก็น้อย วนอยู่เหมือนเดิมซ้ำๆ สิ่งแรกคือต้องเพิ่มให้คนเหล่านี้เข้ามาช่วย เมื่อ คทช.ระดับจังหวัดเห็นชอบ และเสนอให้กรมป่าไม้เห็นชอบในการปฏิบัติ จากนั้นก็ตรวจสอบอีกครั้ง เช่น หมู่บ้านเสนอมา 1,000 ไร่ เข้าเงื่อนไขหรือไม่ ตามที่กฎหมายกำหนด หากเข้าเงื่อนไข ก็จะมีการตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง ก่อนจะนำไปสู่การอนุมัติและอนุญาต แบบนี้จะทำงานกระบวนการรวดเร็วขึ้น และหลังจากนั้น ในส่วนการจัดคนลงก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่จะไปหนักที่การส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด ซึ่งจะต้องเร่งรัดและบรรจุให้อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ให้ชัด ซึ่งในท้ายที่สุด ถ้าหากไม่ทำในเรื่องนี้ หลังชาวบ้านได้สิทธิ์มา พวกเขาก็ยังคงจะปลูกข้าวโพด หรือทำการเกษตรที่ใช้ไฟเยอะๆเหมือนเดิม ฉะนั้น อบต. อบจ. กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และส่วนที่เกี่ยวข้อง จะต้องมาวางแผนร่วมกับชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าใครจะเข้ามาช่วยหนุนเรื่องการเกษตร คือใคร หน่วยงานที่จะมาช่วยแปรรูปผลผลิต ใครจะมาช่วยวางแผนด้านการตลาด จากนี้จะต้องคิดในเชิงรุก เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงยุทธศาสตร์ด้วย เมื่อทุกอย่างดีขึ้น แก้ปัญหาเรื่องไฟป่าและฝุ่นควัน คือผลพลอยได้ที่จะตามมา

.

เอาให้ชัด…ใครใครทำอะไรแค่ไหน

.

ตอนนี้เรื่องของอนุการพัฒนาอาชีพ ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งจะต้องมียุทธศาสตร์ ต้องมีงบประมาณ ต้องทุน และกลไกใหม่ๆเข้ามาเติม ส่วนตัวมองว่าทรัพยากรบุคคล ความรู้ความสามารถในภารกิจ เรามีอยู่เต็มประเทศ แต่จะต้องเปิดและมอบหน้าที่ให้มันชัดเจน ว่าจะให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมทำอะไร แค่ไหน เช่น ถ้าจะให้หน่วยส่งเสริมการเกษตรเข้ามาทำแผน ในความจริงหากไม่มีคำสั่งที่ชัดเจน เขาทำไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาทำได้แค่ในพื้นที่ๆมีเอกสารสิทธิ์เท่านั้น อย่างแรกเลย คือต้องเชื่อมกันทำงานในตรงนี้ให้ได้ด้วย แต่ตอนนี้ วันนี้ ยังไม่มีใครเลย

.

หากเดินแบบนี้ 2 ปี เสร็จ

.

การเดินแบบใหม่ที่ว่ามานี้ เราได้แล้วที่ใน 7 ตำบล ของอำเภอแม่แจ่ม ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้เสนอให้เป็น คทช.ระดับอำเภอ แห่งแรก การขับเคลื่อน เราไม่ได้รอแค่วันที่กรมป่าไม้ขยับ(ฝ่ายเดียว) ปัจจุบันเรามีการเสนอพื้นที่เป้าหมาย พร้อมฐานข้อมูล 5 ตำบล คือ บ้านทับ ปางหินฝน แม่นาจร แม่ศึก และกองแขก การทำแบบนี้สามารถทำได้รวดเร็วมาก เพียงแต่จะต้องช่วยติดตามอย่าให้สิ่งทีทำมาสูญเปล่า หรือเงียบหายไป จะต้องติดตามด้วยว่า เมื่อไหร่จะมีการทำต่อ เมื่อไหร่จะมีการอนุมัติและอนุญาต อย่างที่ทราบกันดี ว่าประเทศไทย มีข้อสั่งการก็จริง แต่รายละเอียดย่อยคือข้อปัญหาและอุปสรรค ถ้าทำอย่างนี้ คือเร่งรัด ให้ท้องถิ่น หรือชุมชน เข้ามามีส่วนร่วม ให้ พอช. ช่วยหนุนเสริมภารกิจนี้ สามารถทำพร้อมๆกันได้ทั้งประเทศ และจากพลังของท้องถิ่น มั่นใจว่าหากเดินแบบนี้ไม่เกิน 2 ปีเสร็จแน่นอน

.

เดินแบบเดิม 100 ปี ก็ไม่เสร็จ

.

สิ่งที่กลัวมากคือหัวหลักยังคงกำหนดทิศทางและให้เดินแบบ ค่อยๆทำไป ยกตัวอย่างพื้นที่เป้าหมาย 1,000 แห่งของจังหวัดเชียงใหม่ กว่าร้อยละ 70 เป็นลุ่มน้ำชั้น 1 ชั้น 2 ปัจจุบันยังได้แค่ 20% ต่อปี อีก 80% ยังไม่เคยมีการสำรวจหรือทำอะไรเลย และยังไม่รู้ว่าจะเดินหน้าต่ออย่างไร แบบนี้ 100 ปีก็ไม่เสร็จ เท่ากับว่า มันก็เหมือนไม่แตะต้องสาเหตุ ที่เป็นวิกฤตฝุ่นควันไว้เหมือนเดิม เราก็จะบ่นว่าฝุ่นควันเกิดจากเรื่องนั้นเรื่องนี้แบบเดิม ขณะที่ชาวบ้านก็จะบอกว่า เขาขอโอกาสในการพัฒนาใหม่ๆ ถ้าคุณให้มันก็จะจบ…

.

สำหรับ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2557 เห็นชอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ.2557 ตามที่ ทส.เสนอให้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ขึ้น โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการ ซึ่งต่อมาได้ออกเป็นพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ.2562 เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศไทย

.

โดยการดำเนินงานในระยะแรกของ คทช. มุ่งเน้นการจัดที่ดินทำกินให้กับชุมชนเป็นหลัก เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนเป็นอันดับแรก โดยมีหลักการที่จะจัดที่ดินทำกินให้กับชุมชนในลักษณะแปลงรวม โดยมิให้กรรมสิทธิ์ แต่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐเป็นกลุ่มหรือชุมชน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ คทช.กำหนด ในรูปแบบสหกรณ์ หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม โดยราษฎรแต่ละรายสามารถถือครองที่ดินได้ตามความเหมาะสมแต่จะต้องไม่เกินรายละ 20 ไร่

.

โดยพื้นที่เป้าหมายที่อยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติทั้ง 3.9 ล้านไร่ คทช.จังหวัด ได้เสนอเป้าหมายให้คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินพิจารณาให้ความเห็นชอบไปแล้ว 2.3 ล้านไร่ ซึ่งทางจังหวัดจะต้องยื่นขออนุญาตใช้ประโยชน์จากคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามมาตรา 16 ของ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ โดยปัจจุบันคณะกรรมการได้มีการให้ความเห็นชอบไปแล้วกว่า 1.9 ล้านไร่ และอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการอีกประมาณ 2 ล้านไร่

.

ในส่วนของพื้นที่ที่ได้มีการเห็นชอบอนุญาตให้ใช้พื้นที่จากคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินเรียบร้อยแล้วในช่วงปี 2558-2564 ได้ออกหนังสืออนุญาตให้ชุมชนเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยไปแล้วกว่า 280 พื้นที่ 66 จังหวัด เนื้อที่กว่า 750,000 ไร่

#เพื่อลมหายใจภาคเหนือ

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →