อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ “มั่นใจแก้ฝุ่นควัน…เดินมาถูกทางแล้ว”

ช่วงหนึ่ง ของปาฐกถาพิเศษ : อนาคตประเทศไทยกับการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ PM 2.5ในงาน “สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วย การจัดการปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ” เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ในนามตัวแทนของรัฐบาล ได้เล่าถึงภาพรวมและความคืบหน้า ในการดำเนินการส่วนต่างๆ โดยระบุว่า การแก้ไขปัญหา PM 2.5 เป็น 1 ในเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาก และมีการกำหนดมาตั้งแต่ปี 2562 ให้เป็นวาระแห่งชาติ ทั้งในมิติของการทำงาน ของภาครัฐ วิธีการทำงานที่จะแสวงหาความร่วมมือจากทุกๆกลุ่ม โดยเฉพาะภาคประชาชน การขับเคลื่อนในแต่ละด้านตลอดช่วงที่ผ่านมา เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น ในปี 2564 และมีผลที่เป็นตัวชี้วัด ทั้งค่าเฉลี่ยของ PM 2.5 ปริมาณจุดความร้อนหรือฮอตสปอต ที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด (ลดลง 52%) ล้วนมาจากมาตรการที่ชัดเจน และจากการร่วมมือกันของทุกฝ่าย ขณะเดียวกันยังเป็นปีที่ทุกกระทรวงฯ ร่วมมือในการแก้ไขปัญหา รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ซึ่งทุกหน่วยงานให้ความสำคัญและยึดแผนตามวาระแห่งชาติซึ่งเป็นแผนปฎิบัติที่ชัดเจน และนำไปปฏิบัติซึ่งมีตัวชี้วัดและผลปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ที่สำคัญยังมีแนวทางเฉพาะกิจอีก 12 แนวทาง ซึ่งเป็นมติของคณะรัฐมนตรีฯ เพิ่มเติมจากแผนวาระแห่งชาติ ซึ่งจะให้ความสำคัญในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ และการบูรณาการในเรื่องของการใช้เทคโนโลยี และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา มีการจัดตั้งศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศภายใต้คณะอนุกรรมการ ศึกษาบูรณาการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศโดยมีปลัดสำนักนายกฯ เป็นประธาน นี่คือกรอบโครงสร้างของการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ในช่วงใกล้จะถึงฤดูฝุ่นควัน อีกไม่กี่เดือนทาง

.

นายอรรถพล ยังระบุอีกว่า ส่วนตัวเชื่อว่าในปี 2565 วิกฤติฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศ ซึ่งเราจะต้องเผชิญกันอีกครั้ง ภาครัฐ ซึ่งมีกลไกที่ชัดเจนและมีความแข็งแรงที่มากขึ้น เหลือแต่เพียงมาตรการป้องกันมาตรการในการประเชิญเหตุมาตรการในการที่จะให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ ได้ป้องกันตนเอง หรือแม้แต่ในการดูแลสุขภาพ รวมไปถึงมาตรการที่จะแสวงหาความร่วมมือร่วมกับภูมิภาคเพื่อนบ้านซึ่งได้รับผลกระทบเรื่อง PM 2.5 เช่นกัน ก็เชื่อว่าจะทำได้ดีขึ้นกว่าปีก่อนๆ

.

“อยากจะเรียนว่า นอกจากโครงสร้างของรัฐบาลในการบริหารจัดการแล้ว เรายังให้ความสำคัญในเรื่องของแหล่งกำเนิด ทั้งพื้นที่ในเมืองและพื้นที่นอกเมือง โดยเฉพาะพื้นที่เกษตร และพื้นที่ป่า เราจะมุ่งเน้นในเรื่องของการหยุดยั้งแหล่งกำเนิดที่ตรงจุดมากที่สุด เช่น ในเมืองก็จะเกี่ยวข้องกับภาพการจราจรเรื่องการเผาไหม้ จากการสันดาปของเครื่องยนต์ภายใน ขณะที่นอกเมือง เราชให้ความสำคัญกับการเผาในที่โล่งแจ้ง โดยเฉพาะการเผาในพื้นที่เกษตร และพื้นที่ป่า ในปีที่ผ่านมาจุดความร้อนที่เกิดขึ้น ในพื้นที่ป่าสูงเกือบ 80% ซึ่งเราค่อนข้างประสบความสำเร็จ ขณะที่ในพื้นที่เกษตรที่เป็นไร่อ้อย กระทรวงอุตสาหกรรม สามารถสร้างผลการดำเนินการ โดยคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล ที่จะมีการสนับสนุนให้ตัดอ้อยที่ไม่เผา ซึ่งสามารถลดไปได้กว่า 80% นี่ถือว่าเป็นเรื่องที่ประสบความสำเร็จมาก ส่วนเรื่องของโรงงานอุตสาหกรรม ทางกระทรวงอุตสาหกรรม พยายามที่จะออกระเบียบว่าด้วยการติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ หรือเซ็นเซอร์ที่ปล่องควัน โดยเฉพาะการตรวจวัดค่า PM 2.5 และ สารประกอบอื่นๆที่มีผลต่อสุขภาพให้อยู่ภายใต้การควบคุม” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุ

.

ขณะที่หนึ่งในความท้าทาย คือเครื่องการเผาในพื้นที่เกษตร การประชุมล่าสุดร่วมกับ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในการส่งเสริมให้ใช้เครื่องจักรในการจัดเก็บ และบดอัดวัสดุทางการเกษตร ก่อนจะป้อนให้กับภาคเอกชน ที่มีโรงไฟฟ้าในการชีวมวล เพื่อเอาไปใช้ประโยชน์ หรือแปรรูปเป็นอย่างอื่น ที่ก่อให้เกิดรายได้กับพี่น้องประชาชน ควบคู่ไปกับการปฏิรูปการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ไม่ต้องใช้ไฟ ภายใต้การจัดที่ดินทำกิน หรือ คทช. ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชน ที่สำคัญก็ยังส่งผลดีต่อการอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำ ขณะที่ความร่วมมือระหว่างประเทศ ก็มีความร่วมมือภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยเรื่องฝุ่นควันข้ามแดน และมีการประสานงานผ่านทางสำนักงานเลขาธิการอาเซียน ซึ่งก็มีการแจ้งเตือนให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับประเทศเพื่อนบ้านแต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องของการปฎิบัติและเราเองก็พยายามที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีถ่ายทอดองค์ความรู้ ถ่ายทอดบทเรียนต่างๆที่เคยได้จัดทำไว้ ให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้สื่อสารกันอย่างใกล้ชิดต่อไปด้วย

.

“ทั้งหมดนี้อยากจะบอกว่าเราเดินหน้ามาถูกทางแล้ว ภายใต้แผนวาระแห่งชาติ และเชื่อว่าในอนาคตจะดีขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่แนวร่วมที่สำคัญ คือพี่น้องประชาชน เรามีกลุ่มองค์กรกลุ่มสมัชชา สภาลมหายใจ และอีกหลายหลายกลุ่ม ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยมีการหยิบยกประเด็นที่สำคัญ เช่น ประเด็นการถ่ายโอนภารกิจที่จะให้ท้องถิ่น มีความเข้มแข็งในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเราได้รับมาพิจารณาแล้ว ขณะเดียวกันก็จะรับเอาความเห็นของสมัชชาสุขภาพ(เฉพาะประเด็น) นำไปพิจารณาเพิ่มเติม เพื่อเตรียมจะเสนอต่อมติ ครม. ก่อนจะกำหนดเป็นแผนเฉพาะกิจ ในปี 2565 ด้วย” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวทิ้งท้าย

.

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →