เชียงใหม่ไม่เหมือนเชียงราย ฝากนำเรียนท่าน ผวจ.

6 ตุลาคม 2564 เฟสบุ๊ก บัณรส บัวคลี่ ได้เขียนถึงปัญหาการบริหารจัดการฝุ่นควัน ฝากไปถึง นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งพ่อเมืองคนใหม่ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า

เมื่อวาน ทสจ.ชวนไปหารือวงเล็ก เรื่อง ผวจ.ใหม่จะมีประชุมคณะกก.แก้ฝุ่นควันแบบบูรณาการในวันที่ 20 จะกำหนดเนื้อหาสาระนำเสนออย่างไร คณะกก.ชุดนี้ตั้งโดย ผวจ. คนก่อน มีภาคประชาชน ภาคเอกชน และวิชาการเป็นแกน ทำงานแบบนอกกรอบ คู่ไปกับคณะกก.ตามกฎหมาย ปภ. ที่มีราชการโดยตำแหน่งทั้งหมด ทสจ.โผล่มาทักทายแว้บเดียว เพราะมีวงประชุมแก้เรื่องยางนาล้ม แจ้งข่าวสั้นๆ ว่า ผวจ.จะคิกออฟประกาศห้ามเผาแก้ฝุ่นควันวันที่ 1 พ.ย. แบบเดียวกับที่เคยทำ ที่เชียงราย บอกกล่าวสั้นๆ แล้วฝากวงให้ ผอ.สมคิด ฝ่ายแผนยุทธศาสตร์ประชุมต่อ ผมเสนอความเห็นผอ.สมคิด ฝากนำเรียนเสนอยังผู้กำหนด นยบ.ของจังหวัด ทั้งท่าน ทสจ./ ผวจ.ใหม่ ดังนี้

.

1/ บริบทภูมิรัฐศาสตร์ ลมฟ้าการทำมาหากินและสาเหตุฝุ่นไฟแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ไฟหลักๆ ของภาคเหนือบน กับ ไฟเหนือล่าง มาจากคนละเหตุ เหนือบนมีป่ามากกว่า 65% ของพื้นที่ ส่วนเหนือล่างไหม้เยอะเหมือนกันแต่ไหม้ไร่นา ดังนั้นการจะแก้ปัญหาเหนือบน กับ เหนือล่าง ต้องใช้มาตรการคนละแบบ

.

2/ ในบรรดา 9 จังหวัดภาคเหนือบน ก็แตกต่างกันอีก เพราะพื้นที่ป่าไม่เท่ากัน แม่ฮ่องสอน 86% ป่าล้วนๆ คนส่วนใหญ่ก็อยู่ในเขตป่า ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ขณะที่เชียงรายมีที่ราบมากกว่าใครเพื่อน เชียงรายเลยไม่ค่อยมีปัญหาไฟป่า ฮอตสปอตเท่าจังหวัดเพื่อนบ้านข้อเท็จจริงตลอดหลายปี จังหวัดที่มีป่ามากกว่า 70% คือ แม่ฮ่องสอน ตาก เชียงใหม่ ลำปาง มีปัญหาไฟและฝุ่นรุนแรงสุด หัวแถว ส่วนใหญ่มีรอยไหม้มากกว่า 1 ล้านไร่ ยกเว้นเชียงใหม่เมื่อปีกลายที่บริหารจัดการจนลดลงต่ำล้าน ดังนั้น มาตรการจัดการของแต่ละจังหวัดย่อมไม่ควรเหมือนกัน ใช้มาตรการแบบพะเยา เชียงราย ซึ่งมีที่ราบมาก มาใช้กับ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ มีที่แต่ป่าก็อาจจะไม่เวิร์ค

.

3/ สถิติก่อนหน้า ไม่เคยมีการห้ามเผาเด็ดขาด ที่ได้รับผลสำเร็จเลย บางจังหวัดมันเป็นแค่แท็คติกรับ KPI ของราชการเท่านั้น เช่น กำหนดห้ามเผาเด็ดขาด 60 วัน แต่ก่อนหน้าหลิ่วตาให้เผาให้เรียบหมดเป็นล้านไร่ จมูกชาวบ้านฉิบหายไม่สนใจ เพราะราชการขีดเส้นเอาจริงเฉพาะ 60 วันเท่านั้น เอาสถิติของปี 2562 มาดู ในปีนั้นท่านผู้ว่าฯประจญ อยู่เชียงราย ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ หมูป่าอยู่ลำปาง ปรากฏในช่วงห้ามเผาเด็ดขาด ก็ยังมีการเผาอยู่ดี ในเมื่อ enforcement บังคับทำไม่ได้จริง… การออกประกาศไปก็เสียเวลาเปล่า รังแต่จะเป็นจุดอ่อนให้คนเขาเห็น เพราะยุคนี้เทคโนโลยีดาวเทียมเช้ามาก็รู้แล้วว่า เกิดไฟกี่จุด พิกัดใดบ้าง และลามมากี่วันแล้ว ไม่มีการเข้าไปดับ

.

.

4/ ในสองสามปีมานี้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงความรับรู้ของการบริหารจัดการแก้ปัญหาฝุ่นหน้ามือหลังมือ เมื่อก่อนมาตรฐาน pm10 ราชการชอบ เพราะเข็มไมล์แข็งฝุ่นท่วมเมืองดัชนียังสวย แต่พอถูกบังคับเปลี่ยนเป็น pm2.5 ชาวบ้านก็เริ่มเข้าใจว่าอันตราย ฮอตสปอตก็เช่นกัน แต่ก่อนราชการชี้โน่นนี่ สาเหตุปัญหาให้สังคมเขวอย่างไรก็ได้ แต่ยุคนี้ คนสามารถรู้และเข้าใจต้นตอของเหตุได้เท่าเทียมราชการ สถิติ 2 ปีมานี้ชัดเจนว่า ไฟที่เกิดในภาคเหนือ อยู่ในเขตป่า ทั้งป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ที่ราชการรับผิดชอบร่วมๆ 80% ของสาเหตุทั้งหมด ต่อให้ประกาศห้ามเผาเด็ดขาดบังคับกับราษฎรได้จริง ไฟที่เหลือ 20% ไม่มี… แต่หากไม่มีมาตรการไปใช้กับหน่วยงานรัฐด้วยกัน ปัญหาก็ยังคงเกิด ดังนั้นมาตรการใดๆ ต้องเท่าเทียม ไม่เหลื่อมล้ำ ไม่ปิดตาข้างเดียว

.

5/ แนวคิดการบริหารจัดการไฟที่เชียงใหม่เริ่มทำมาปีแรก ควรจะได้รับการสานต่อ เพราะจะทำให้ไฟที่จำเป็นได้รับการดูแล จัดการให้สามารถเกิดได้บนการบริหารจัดการให้ดับ/จบ/เรียบร้อย มาตรการแบบเดิม พื้นที่ไหนห้ามเด็ดขาด เขาใช้ไม้ขีดก้านเดียว เผาทิ้งไว้ปล่อยลาม ดังที่ปรากฏในสถิติย้อนหลังไฟภาคเกษตรที่จำเป็นต้องใช้ระหว่างฤดูแล้งเอาเข้าจริงอาจจะไม่ถึง 20% ของไฟที่เกิดแต่ละปี และหากจัดการดีๆ ไฟดังกล่าวสามารถลดลงแค่ 10% หากมีความเข้าใจระหว่างภาคส่วนต่างๆ การช่วยกันอนุรักษ์ดูแลพื้นที่ปกป้องไม่ให้เกิดไฟจะง่ายขึ้น

.

6/ เพิ่มประสิทธิภาพและอุดจุดอ่อนของมาตรการบริหารจัดการเดิม เช่น ตัวเลขการจัดการเชื้อเพลิงภาครัฐต้องเป็นตามหลัก prescribe burns จริงๆ ไม่ใช่เขียนตัวเลขโควต้าเผาจากบนโต๊ะ ให้มีโฆษกสถานการณ์ ให้เกิดมีแผนชุมชน แผนตำบล โดยใช้โหนดตำบลเป็นศูนย์บริหารจัดการ และเพิ่มพื้นที่ปฏิบัติการเข้มข้นโดยดูจากสถิติไฟปีก่อนหน้า

.

7/ KPI ตำบล ขอให้เชียงใหม่เป็นจังหวัดแรกที่เริ่มใช้ตัวชี้วัดลงไปถึงตำบล เพราะ KPI ที่รัฐทำกันมานั้น ไม่ใช่ตัวชี้วัดจริง ค่ามาตรฐานอากาศที่ติดตั้งในเมือง เป็นตัวแทนค่าอากาศของอมก๋อย แม่แจ่ม เชียงดาวไม่ได้ …รัฐจะมาโม้ว่าอากาศดีกี่วันๆ ไม่ได้ หากคนบางพื้นที่สีม่วงน้ำตาลฝุ่นท่วมตลอด 3 เดือน / หรือ บางตำบลอยู่ในทำเลดี เป็นโอเอซิส เขาก็ควรได้รับการยกขึ้นมาว่า เป็นพื้นที่อากาศดี

.

8/ มลพิษภาคเมือง ปกติแล้วเชียงใหม่อากาศดี เพราะหน้าฝนลมระบาย แต่ในช่วงวิกฤตอากาศปิด มลพิษเมืองก็ต้องลด เราละเลยปัญหาแหล่งกำเนิดภาคเมือง เช่น เตาเผาศพยังไม่ได้มาตรฐาน ยุคใหม่ระบบสองเตา 900-1200 องศาเซนเซียส … มีสุสานใกล้เมืองที่ยังไม่มีเมรุและเตาเผา ยังใช้วิธีเผากลางแจ้งแบบโบราณ ซึ่งมลพิษฝุ่นสารต่างๆ จะสูงมาก ขอให้จังหวัดมีนยบ.เร่งรัดให้จัดหาเตาเผาศพมาตรฐานให้ครบ

.

9/สุขอนามัยเชิงรุก ให้คนป่วย /เด็ก/คนด้อยโอกาส ที่เข้าไม่ถึงเครื่องฟอกอากาศ สามารถยืมไปติดตั้งที่บ้านได้ ยุคนี้อุปกรณ์ราคาถูกลงแล้ว

.

10/รัฐบาลและจังหวัด ต้องมีนโยบายชัดเจน จะเอาอย่างไรกับแหล่งต้นตอไฟและฝุ่นควันใหญ่สุดของภาคเหนือ ป่าอนุรักษ์ และ ป่าสงวนฯ ที่เป็นหน่วยงานรัฐบาลด้วยกัน การไปบี้บังคับประชาชนพื้นที่เล็กๆ แต่ปล่อยไม่มีมาตรการอะไรกับพื้นที่ปัญหาของรัฐแปลงใหญ่หมื่นแสนไร่ คือ ความไม่เป็นธรรม และ ไม่เอาจริง รู้ทั้งรู้ว่าสาเหตุอยู่ในเขตป่าของรัฐ แต่ระหว่างปี ไม่มีมาตรการใดๆ ไม่เคยมีรายงานถอดบทเรียนใดๆ ออกมาเลย

.

11/ การแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันภาคเหนือ ไม่ใช่ การจัดการพิบัติภัยน้ำท่วม ฝนแล้ง แผ่นดินไหวแบบที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเคยชิน แต่มลพิษอากาศเป็นผลจากกิจกรรมของสังคม บนนิเวศแอ่งภูเขา เปรียบเสมือน บ้านคนก็มีส้วมมีการปล่อยของเสียนั่นแหละ มันต้องบริหารจัดการ ไปห้ามไม่ให้คนอึคนฉี่ไม่ได้ ห้ามรถปิคอัพดีเซลไม่ได้ ห้ามเผาศพไม่ได้ ห้ามทำเกษตรไม่ได้ ฯลฯ แต่เราบริหารจัดการ ใช้เทคโนโลยี ใช้การหลีกเลี่ยงหาวิธีอื่น หรือ ลดบรรเทาเบาลงให้ได้มากสุด เหมือนที่โรงงานติดตั้งเครื่องดักมลพิษที่ปากปล่องนั่นล่ะครับ วิธีคิด และ กระบวนทัศน์มองให้เห็นเนื้อปัญหา ภาพรวมของทั้งภาค / ภาพรวมแยกย่อยให้เห็นรายละเอียดที่ต่างกันไปของแต่ละจังหวัด และเข้าใจกิจกรรมของผู้คนจึงมีความสำคัญ สถิติบอกเราไว้ชัดเจน ว่า คำสั่งห้าม มีประกาศห้ามอย่างเดียว ไม่เคยได้ผล เพราะมันไม่ใช่ภัยพิบัติน้ำท่วมลมพายุ

.

12/ ดังนั้น การเปิดให้มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวางจึงจำเป็นมาก สำหรับการแก้ปัญหานี้ ภาควิชาการมีบทบาทมากขึ้นๆ เพราะเรารู้แล้วว่า ปัญหาเกี่ยวข้องผูกกับสภาพภูมิอากาศ ความกด แรงลม การยกตัวอย่างแยกไม่ออก วิชาการของเราก้าวหน้า สามารถบอกได้ว่า การฉีดน้ำขึ้นฟ้าแบบที่ราชการยุคก่อนใช้แก้ปัญหา”หมอกควัน”มันไม่ได้ผล เป็นต้น ดังนั้นการระดมฉีดน้ำขึ้นฟ้าจึงล้าสมัยไปแล้ว

.

จึงฝากท่าน ผอ.สมคิด ช่วยนำเรียนท่าน ทสจ. และกรุณาขัดเกลาอย่างไรก็ได้เพื่อนำเรียนท่านผู้ว่าฯต่อ อันที่จริงในวงมีคนอื่นเยอะแยะ เขาคงจะรวบรวมกันต่อ แต่นี่เป็นส่วนของผมที่อยากจะสื่อให้สังคมได้ทราบพร้อมกันไปด้วย เพราะปัญหานี้สังคมต้องรู้ร่วมกัน ใช่! ราชการเป็นกลไกหลักมีพลังที่สุด แต่ราชการโดดๆ ก็ทำเองไม่สำเร็จ มีแต่ต้องร่วมกันแบบเปิดกว้าง จริงจัง

.

บทความโดย : บัณรส บัวคลี่

#เพื่อลมหายใจภาคเหนือ

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →