ดร.เจน ชาญณรงค์ อนุกรรมการสื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ แจ้งกลุ่มไลน์แก้ไขฝุ่นควันภาคเหนือ ถึงพื้นที่เผาไหม้ซ้ำซากและเป็นปัญหาของภาคเหนือ วิเคราะห์จาก ผลิตภัณฑ์รอยไฟ FIRECCI51 ของ European Space Agency (ESA) โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมระบบ MODIS
.
การวิเคราะห์พื้นที่ไหม้ซ้ำซากตลอด 10 ปี ระหว่าง 2553-2562 รวบรวมขนาดพื้นที่แผลเผาไหม้เฉลี่ย ในบริเวณพื้นที่ซึ่งเกิดไฟในที่เดิมๆ มากกว่า 5 ครั้ง
.
ผลปรากฏว่า ภาคเหนือ มีแผลไหม้ซ้ำซาก 6.53 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ ไหม้อยู่ในเขตป่า 5.03 ล้านไร่ เท่ากับเกิดไฟในป่ามากถึง 77% ของพื้นที่เผาไหม้ทั้งหมด
.
ทั้งนี้เมื่อคำนวนรอยไหม้ซ้ำซากจากทั้งประเทศในรอบ 10 ปี พบว่า มีรอยไหม้รวม 9.73 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นการไหม้ในพื้นที่ป่า 6.34 ล้านไร่ หรือประมาณ 65% ของพื้นที่ไหม้ทั้งหมด
.
ข้อมูลดังกล่าวยืนยันว่าการไหม้ในเขตป่าเป็นปัญหาสำคัญ และเป็นแหล่งใหญ่สุดของต้นตอมลพิษอากาศ
.
สำหรับพื้นที่ไหม้ซ้ำซากในภาคเหนือ สามารถขีดวงการไหม้ที่อยู่ในเขตเดียวกัน ได้ 4 เขตใหญ่ คือ
.
- แม่ปิง+อมก๋อย+แม่ตื่น 581,872 ไร่
- ลุ่มน้ำปาย 212,000 ไร่
- สาละวิน 515,075 ไร่
- เขื่อนศรีนครินทร์ 166,689 ไร่
.
ข้อมูลที่ดร.เจน ได้นำเสนอทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า พื้นที่ไหม้ซ้ำซากที่ใหญ่สุดและเรื้อรังมานานคือ เขตป่าทางตอนเหนือของทะเลสาบเขื่อนภูมิพล อุทยานแห่งชาติแม่ปิง อ.อมก๋อย ป่าแม่ตื่น คาบเกี่ยวพื้นที่รอยต่อเชียงใหม่ ตาก และลำพูน ส่วนเขตป่าสาละวินนั้น ก็เป็นอีกพื้นที่ปัญหาเพราะติดชายแดนและเคยมีไฟข้ามเขตพรมแดนมาผสมด้วย
