ไฟแปลงใหญ่ซ้ำซากล้านไร่ ! สาเหตุหลักวิกฤตฝุ่นควันเหนือ ที่(ยัง)รอการจัดการ

ด้วยอานุภาพของเทคโนโลยีดาวเทียมทำให้สังคมเริ่มเข้าใจชัดเจนโดยลำดับว่าพื้นที่เกิดไฟไหม้ในภาคเหนือ ช่วงวิกฤตมลพิษฝุ่นควันก็คือ ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ แต่ละปีมีพื้นที่ถูกเผาไหม้ (burned scars) ในภาคเหนือตอนบน 10 จังหวัด (รวมตาก) ระหว่าง 7-10 ล้านไร่โดยประมาณ การจะจัดการกับการเผาไหม้ขนาดใหญ่ระดับนี้ เป็นเรื่องท้าทายการบริหารจัดการอย่างยิ่ง พื้นที่เผาไหม้ที่ยากจัดการที่สุดก็คือไฟแปลงใหญ่ ที่มีพื้นที่การไหม้ลุกลามกว้างขวาง และไหม้ต่อเนื่องหลายวัน ไฟใหญ่ลักษณะนี้ยากที่หน่วยดับไฟป่าจะสามารถตามไปไล่ดับได้ทัน ต้องปล่อยให้ลามไปจนหมดเชื้อเพลิงไปเอง หรือ อย่างดีก็ทำแนวกันไฟดักไว้ 

ไฟแปลงใหญ่ จึงเป็นสาเหตุลำดับต้นๆ ของปัญหาเรื้อรังวิกฤตมลพิษฝุ่นควันไฟในภาคเหนือ เชื้อเพลิงชีวมวลในพื้นที่ไหม้ระดับหมื่นแสนไร่ คือแหล่งกำเนิดมลพิษขนาดใหญ่ แต่ในทางปฏิบัติตลอดหลายปีมานี้แทบไม่มีการกล่าวถึงเรื่องนี้อย่างจริงจังเท่าใด 

.

เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ที่ผ่านมา นายวิทยา ครองทรัพย์ สภาลมหายใจภาคเหนือ และ ดร.พลภัทร เหมวรรณ ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นตัวแทนเครือข่ายผลักดันการแก้ปัญหามลพิษอากาศเข้าประชุมนำเสนอข้อปัญหานี้ให้กับ คณะกรรมการสมาชิกวุฒิสภาภาคเหนือตอนบน โดยมีจนท.จากหน่วยงานเกี่ยวข้องอาทิ กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมด้วย ทั้งนี้การประชุมเกิดจากการผลักดันจากสภาลมหายใจภาคเหนือผ่าน ส.ว.ยงยุทธ สาระสมบัติ ที่ติดตามข้อปัญหานี้อยู่ 

นายวิทยา ครองทรัพย์ กล่าวว่าตนได้นำเสนอสภาพของภาคเหนือที่มีป่าไม้เป็นสัดส่วนกว่า 65% และไฟที่เกิดส่วนใหญ่ก็เกิดในป่า สถิติก่อนหน้าชัดเจนว่ามีการไหม้แปลงใหญ่ในเขตป่าและเขตรอยต่อระหว่างจังหวัดอำเภอ ที่ถูกละเลยจนเกิดเป็นการลุกลามไหม้ต่อเนื่องข้ามวันในระดับหมื่น หรือ แสนไร่ โดยพื้นที่ซึ่งประชาชนจับตาเป็นพิเศษ มี 6 เขตสำคัญคือ

  1. เขตพื้นที่รอบๆ ทะเลสาบเขื่อนภูมิพล นำโดย อ.สามเงา อ.บ้านตาก อ.แม่ระมาด เฉพาะสามอำเภอมีพื้นที่เผาไหม้เฉลี่ยปีละ 8-9 แสนไร่  เนื่องด้วยเป็นเขตป่าเขา คมนาคมลำบาก และห่างไกลจากตัวเมืองส่งกำลังสนับสนุนยาก ประกอบกับการบริหารจัดการเชิงพื้นที่แบบเดิม จะมีเฉพาะหน่วยดับไฟป่า เพียง 1-2 หน่วยเท่านั้น
  2. เขตรอยต่อ 4 จังหวัด อ.สามเงา ตาก ตอนบน อ.ลี้ลำพูน อ.อมก๋อย เชียงใหม่  เขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิง และอุทยานแห่งชาติแม่วะ มีไฟจำนวนมากในแต่ละปี พื้นที่ส่วนนี้นอกจากเป็นรอยต่อระหว่างจังหวัดแล้ว ยังห่างไกล คมนาคมลำบาก มีความทับซ้อนในเชิงบริหารจัดการระหว่างกรมอุทยานฯ กับ จังหวัดเขตปกครอง ขาดเจ้าภาพสั่งการในภาพรวม  พื้นที่ส่วนนี้เป็นเขตไฟใหญ่สุดของภาคเหนือเป็นประจำทุกปี และเป็นต้นทางของฝุ่นควัน เพราะลมในเดือนกุมภาพันธ์-กลางมีนาคม จะพัดจากใต้ขึ้นเหนือ ไปยังชุมชนในแอ่งเชียงใหม่ลำพูนและลำปาง 
  3. เขตชายแดนตะวันตก แม่สะเรียง เป็นเขตป่าเขาซับซ้อนยากดับไฟ ไฟลามง่าย และมีไฟข้ามแดนจากพม่าเข้ามาบ่อยๆ สถิติเมื่อปี 2563 อ.แม่สะเรียง อำเภอเดียว มีรอยไหม้สูงถึง 3.68 แสนไร่  ไฟจากพื้นที่นี้ เป็นทางเข้าแอ่งเชียงใหม่ 
  4. ปางมะผ้า ปาย เชียงดาว ป่าตอนบน ไฟส่วนนี้ไหม้ลาม ดับยากเพราะเป็นเขตป่าเขาสูง คมนาคมลำบาก บ่อยครั้งต้องปล่อยให้ลามและดับเอง สถิติปี 2563 เฉพาะ อ.ปาย ไหม้ถึง 3.97 แสนไร่ รวมเขตนี้สามอำเภอไหม้รวมไม่น้อยกว่า 6 แสนไร่  และเป็นต้นทางลมพัดเฉียงเข้าจังหวัดเชียงรายผ่าน ร่องเขาด้านอ.ไชยปราการ เชียงใหม่เข้า อ.แม่สรวย เชียงราย และอ.เมืองเชียงราย การที่จ.เชียงราย แม้จะมีไฟน้อย แต่มลพิษสูง ทางหนึ่งมาจากฝุ่นควันไฟในรัฐฉาน แต่ลมตะวันตกจะพัดแรงชัดเจนราวกลางมีนาคมเป็นต้นไป อีกทางหนึ่งมาจากไฟเขตนี้ คือ ปางมะผ้า ปาย เชียงดาว 
  5. แม่โถ ออบขาน แม่แจ่ม เชียงใหม่ เป็นไฟใหญ่ด้านทิศใต้ของแอ่ง เป็นต้นลมและมลพิษหลักที่พัดเข้าสู่ตัวจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ที่มีประชากรหนาแน่น ไม่ใช่แค่ไฟป่า หรือ ชาวบ้านลักลอบเผา  เมื่อปีที่ผ่านมา กรมอุทยานและกรมป่าไม้ ได้ทำการชิงเผา บริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ดังกล่าวหลักแสนไร่ และมีการตรวจพบว่าไฟที่ชิงเผาของรัฐไหม้ลามในกลางคืน ไม่ได้จัดการดับให้หมดภายในวันเดียว ตามหลักวิชาการ ดังนั้นไฟจากภาครัฐเองก็มีส่วนสำคัญ
  6. พื้นที่สุดท้าย ที่เป็นไฟใหญ่พิเศษเพิ่มขึ้น คือลำปางทั้งจังหวัดซึ่งเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา ไหม้รวมกันมากกว่า 1.3 ล้านไร่ ส่วนใหญ่เกิดในเดือนกุมภาพันธ์ก่อนหน้าประกาศห้ามเผาเด็ดขาด ทำให้ลำปางเกิดมลพิษอากาศเกินค่ามาตรฐานสูงสุดในภาคเหนือตลอดเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ไฟที่ไหม้ใหญ่พร้อมกันในช่วงเวลาเดียวทั้งจังหวัด แต่จะอยู่นอกคำประกาศห้ามเผา แต่ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมโดยรวม

.

สถิติของ GISTDA ทำให้เห็นภาพชัดเจนถึงไฟแปลงใหญ่ที่เกิดอำเภอห่างไกล และมีเขตติดต่อคาบเกี่ยวกัน  พื้นที่เผาไหม้ burned scars เมื่อปี 2563 รายอำเภอ สูงสุด 12 อันดับ ที่ไหม้เกิน 2 แสนไร่ ได้แก่ 

  • อันดับ 1 อำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีพื้นที่เผาไหม้ 465,102 ไร่
  • อันดับ 2 อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน พื้นที่ไหม้ 397,925 ไร
  • อันดับ 3 อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน 368,783 ไร่
  • อันดับ 4 อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน 354,343 ไร่
  • อันดับ 5  อ.เมืองตาก จ.ตาก 303,929 ไร่
  • อันดับ 6 อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ 257,624 ไร่
  • อันดับ 7 อ.นาน้อย จ.น่าน 237,830 ไร่
  • อันดับ 8 อ.เถิน จ.ลำปาง 236,772 ไร่
  • อันดับ 9 อ.ลี้ จ.ลำพูน 227,645 ไร่
  • อันดับ 10 อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ 227,365 ไร่
  • อันดับ 11 อ.บ้านตาก  ตาก 210,763 ไร่
  • อันดับ 12 อ.ปางมะผ้า แม่ฮ่องสอน 207,747 ไร่

จึงไม่ใช่แค่ปัจจัยสัดส่วนพื้นที่ป่าไม้ที่มีมากแค่เพียงปัจจัยเดียว ปัจจัยระยะทางที่ห่างไกล การคมนาคมยากลำบาก และการอยู่ในพื้นที่ต่อเชื่อมกันระหว่างอำเภอที่มีไฟมากด้วยกัน ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ ยังกรณีพื้นที่ต่อเชื่อมระหว่างอำเภอและระหว่างจังหวัด เช่น อ.สามเงา กับ อ.ลี้ ที่ต่างก็อยู่ในลำดับต้นของพื้นที่เกิดไฟด้วยกัน ปัจจัยความทับซ้อนของพื้นที่ป่ากับชุมชน  และที่สำคัญคือ บริหารจัดการพื้นที่ดังกล่าวนั้นยังไม่ได้ถูกเน้นย้ำ เจาะจงเป็นพิเศษด้วยเพราะเป็นอำเภอเล็กห่างไกลจากตัวจังหวัด

ดร.พลภัทร เหมวรรณ อีกหนึ่งตัวแทนที่เข้าไปชี้แจงได้นำเสนอสถิติที่ GISTDA สกัดพื้นที่แปลงใหญ่ไหม้ซ้ำซากโดยสถิติไหม้ซ้ำซากช่วง 5 เดือนของภาคเหนือ 9 จังหวัด (ไม่รวมอุตรดิตถ์)  ที่น่าสนใจเช่น 

  1. เขตไหม้ปางมะผ้า ปาย แม่ฮ่องสอน ไหม้ซ้ำซากที่เดิม 387,430 ไร่
  2. เขตขุนยวม แม่ฮ่องสอน ไหม้ซ้ำซากที่เดิม 108,196 ไร่
  3. เขตจอมทอง แม่แจ่ม ฮอด ไหม้ซ้ำซากที่เดิม 108,389 ไร่
  4. เขตสามเงา ลี้ แม่พริก ไหม้ซ้ำซากที่เดิม 48,340+30,242 ไร่ = 78,582 ไร่
  5. เขตติดต่อ สามเงา บ้านตาก จ.ตาก กับ อ.เถิน อ.แม่พริก ลำปาง 112,442 ไร่
  6. เขต แม่ระมาด บ้านตาก ไหม้ซ้ำซากที่เดิม 65,053 ไร่
  7. เขต นาน้อย นาหมื่น เวียงสา น่าน ไหม้ซ้ำซากที่เดิม 48,624 ไร่
  8. เขต ไหม้ซ้ำซากลำปาง งาว แจ้ห่ม เมืองปาน วังเหนือ 67,803 ไร่

ตัวอย่างที่ยกมาเป็นเพียงแปลงใหญ่ที่ไหม้ซ้ำซากยังมีไหม้ขนาดกลางระดับ 3-5 หมื่นไร่อีก เช่น เขตไหม้เสริมงาม สบปราบ และเขตไหม้แม่สะเรียง เขตไหม้งาวแม่เมาะ เป็นต้น 

เขตไหม้ดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำที่เดิมทุกปี ในระดับไม่น้อยกว่า 1 ล้านไร่  ซึ่งหากตัดมาพิจารณาเฉพาะ เขตแม่ฮ่องสอนกับตากที่เป็นต้นทางลมของภาคเหนือ รวมกันมากกว่า  8 แสนไร่ 

ดร.พลภัทร เหมวรรณ ระบุว่าเขตไหม้ตากส่วนใหญ่เกิดในเดือนกุมภาพันธ์ ตรงกับช่วงลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดอ้อมใต้ขึ้นมา ทำให้เป็นแหล่งต้นทางที่หอบเอาฝุ่นควันมลพิษเข้าสู่จังหวัดที่อยู่ตอนบน คือ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง  ส่วนไฟไหม้ที่แม่ฮ่องสอนเกิดมากในเดือนมีนาคม และโชคร้ายที่กระแสลมเกิดเปลี่ยนทิศ เป็นลมตะวันตกเฉียงใต้พอดี ทำให้มลพิษจากแม่ฮ่องสอนถูกลมหอบไปยังจังหวัดภาคเหนือตอนในที่เหลือ ไฟไหม้แปลงใหญ่ที่บวกกับกระแสลมหอบเข้าพื้นที่ตอนในจึงเป็นปัญหาที่ควรแก้ไขอย่างจริงจัง 

นายวิทยา ครองทรัพย์ กล่าวว่าวงประชุมให้ความสนใจข้อปัญหานี้แต่ก็ยอมรับถึงอุปสรรคข้อจำกัดกำลังพลเมื่อเทียบขนาดของป่าไม้และพื้นที่ไหม้ แต่อย่างไรก็ตามก็ควรจะต้องมาลงรายละเอียดในรายเขตและรายแปลงว่าสามารถจะแก้ไขบรรเทาอย่างไรได้บ้างต่อไป 

#เพื่อลมหายใจภาคเหนือ

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →