วาระแห่งชาติเหลว! ไฟในนาข้าวภาคเหนือเกินล้านไร่ ขณะฤดูเผาตอซังกำลังเริ่มอีกครั้ง

การเผาตอซังฟางข้าวในนา เป็นปัญหาที่คนในวงการเกษตรทราบกันมานาน มูลนิธิเกษตรรักษ์สิ่งแวดล้อม (ประเทศไทย) ประมาณการว่าในแต่ละปี พื้นที่นาข้าว 65 ล้านไร่ จะมีปริมาณตอซังหลังการเก็บเกี่ยวประมาณ 16.9 ล้านตัน และมีฟางข้าวเฉลี่ย 25.45 ล้านตันที่ต้องกำจัด โดยเฉลี่ยนาข้าว 1 ไร่ จะมีตอซังและฟางมากถึง 650 ก.ก.  ซึ่งก็มีเกษตรกรไม่น้อยที่ใช้การเผาทำให้สูญเสียแร่ธาตุ ทำลายดิน และปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์ออกสู่บรรยากาศ และที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐพยายามรณรงค์ให้ลดการเผาด้วยเทคนิคต่างๆ แต่ก็ยังไม่สำเร็จ

.

ตัวเลขการเผาในนาข้าวเป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหามลพิษฝุ่นควันของประเทศไทย เมื่อฤดูแล้งของปี 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) รวบรวมสถิติพื้นที่เกิดไฟไหม้ burned scars จากดาวเทียม Landsat-8 ในเขต 17 จังหวัดภาคเหนือ ระยะ 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.64) ในส่วนของภาคเกษตรกรรม พบว่า มีการเผาในนาข้าวรวมกัน 1,036,080 ไร่  ข้าวโพดและไร่หมุนเวียน 926,119 ไร่  อ้อย 450,054 ไร่  พื้นที่เกษตรอื่นๆ 731,842 ไร่  

การเผาในนาข้าวจึงเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญหนึ่งของการเกิดปัญหามลพิษอากาศฝุ่นละออง pm2.5 โดยภาคเหนือตอนล่างเกิดจากการเผาภาคเกษตรเป็นหลัก ส่วนภาคเหนือตอนบนเกิดในพื้นที่ป่าเป็นหลัก จังหวัดใหญ่ๆ ในเขตภาคเหนือตอนล่าง เช่น นครสวรรค์ มีการเผาในนาข้าวมากถึง 363,724 ไร่ พิจิตร 179,374 ไร่ เพชรบูรณ์ 161,726 ไร่ พิษณุโลก 72,465 ไร่ เป็นต้น 

แม้ว่าแผนมาตรการตามวาระแห่งชาติแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองของรัฐบาลจะเขียนถึงการควบคุมและลดมลพิษจากการเผาในที่โล่งและภาคเกษตรเอาไว้ เช่น ส่งเสริมการจัดการเศษวัสดุการเกษตรและลดเผา ห้ามเผาริมทาง ส่งเสริมพืชชนิดอื่นทดแทนพืชที่ต้องใช้ไฟเผา ฯลฯ แต่ในทางปฏิบัติ การแก้ปัญหาเผาตอซังและฟางในนาข้าวยังไม่ได้ผลจริง มีเพียงโครงการนำร่องขนาดเล็กของกระทรวงเกษตรที่ทำมายาวนานหลายปี จังหวัดละไม่กี่จุด จึงเกิดไฟไหม้นาข้าวในภาพรวมของภาคเหนือรวมกันมากกว่า 1 ล้านไร่ในปีที่ผ่านมา

จนกระทั่งล่าสุดฤดูเก็บเกี่ยวก็เวียนกลับมาอีกครั้ง และก็ยังมีการเผาตอซังในไร่นาอยู่เช่นเดิมตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา ทั้งเริ่มมากขึ้นเมื่อถึงเดือนธันวาคม เว็บไซต์https://firms.modaps.eosdis.nasa.gov ขององค์การนาซ่าที่สามารถดูจุดความร้อนในประเทศไทยได้ แสดงให้เห็นชัดเจนถึงการเผาในท้องทุ่งนาภาคกลาง ขึ้นไปถึงภาคเหนือ มีหย่อมไฟหนาแน่นตั้งแต่ นครสวรรค์ พิษณุโลก ขึ้นไปถึงอุตรดิตถ์ อย่างที่เคยเกิดเป็นปกติ โดยไม่มีชุดมาตรการลดการเผาหรือควบคุมจัดการใดๆ จากภาครัฐ แม้ว่า เมื่อต้นปีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯและหน่วยงานเกี่ยวข้อง แถลงว่ากำลังพัฒนาแอพพลิเคชั่นบริหารจัดการการเผา โดยให้เกษตรกรจองการเผาเข้ามาก่อน แต่แอพพลิเคชั่นดังกล่าวยังไม่สามารถใช้การได้ทั้งประเทศ ยังเป็นเพียงการทดสอบในพื้นที่นำร่องเท่านั้น 

.

สำหรับปัญหาการเผาตอซังในนาข้าวฤดูนี้ ยังมีกรณีที่ปีนี้มีน้ำเพียงพอจะทำนาปรัง ดังนั้นเกษตรกรจึงต้องเร่งปรับพื้นที่ ไถพรวนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ไม่สามารถใช้วิธีการทางธรรมชาติเช่นแช่ขังตอซังและฟางให้เน่าเปื่อยเองซึ่งต้องใช้เวลานานเกินไป คาดว่าปีนี้การเผาในนาข้าวจะมีปริมาณไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา

.

จะด้วยเหตุใดก็ตามในปีนี้จึงยังไม่มีการแถลงใดๆ จากภาครัฐว่ามีชุดมาตรการบริหารจัดการการเผาภาคเกษตรในพื้นที่นาข้าว ซึ่งต่างจากพืชเกษตรชนิดอื่นเช่น อ้อย ที่รัฐบาลได้อุดหนุนเงินช่วยเหลือเพื่อไม่ให้เกษตรกรเผาโดยให้ส่งอ้อยสดเข้าโรงงาน แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม สถิติรอยเผาไหม้ burned scars /GISTDA  ในไร่อ้อยของ 17 จังหวัดภาคเหนือ ก็ยังสูงถึง  450,054 ไร่ ในฤดูแล้งที่ผ่านมา (จากพื้นที่ปลูกรวมประมาณ  2,668,136 ไร่ ) เป็นที่น่าสังเกตว่า แผนปฏิบัติการตามวาระแห่งชาติแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง กำหนดให้อ้อยไฟไหม้ต้องหมดไปภายในปี 2565 นั่นหมายถึงว่าหากจะให้แผนมาตรการดังกล่าวเป็นจริง ในฤดูหีบอ้อยที่จะถึง นับจากมกราคม 2565 เป็นต้นไป จะต้องไม่มีการเผาในไร่อ้อย และยุติการรับซื้ออ้อยไฟไหม้อีกต่อไป

.

#เพื่อลมหายใจภาคเหนือ

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →