KPI หลอกตัวเอง

บทความโดย : บัณรส บัวคลี่ 

*หมายเหตุ บทความนี้ โพสต์ครั้งแรกในเฟซบุ๊ค บัณรส บัวคลี่ 6 ก.w. 2565

.

การใช้จำนวน hotspots และจำนวนวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานมาเป็นตัวชี้วัด ผลสำเร็จของการแก้ปัญหามลพิษอากาศฝุ่นละออง pm2.5 ถึงเวลาต้องปรับปรุงเสียที

ในยุคหนึ่ง เรามีเทคโนโลยีจำกัดอยู่แค่นี้ คือ มีสถานีวัดอากาศ pm 10 ตัวใหญ่ๆ ตั้งในจังหวัดละเครื่องสองเครื่อง กับดาวเทียม modis บอกจำนวนจุดความร้อน hotspots รายวันได้ เราก็นำมาเป็น KPI ของปฏิบัติการ เพื่อให้มีมาตรฐานร่วมกันสักระบบด้วย เพราะตอนนั้นมันไม่มีอะไรดีไปกว่าที่มี

เอาเข้าจริง ประดาตัวชี้วัด key index ที่เราใช้อยู่นั้นมันมีจุดอ่อน… !!hotspots มีจุดอ่อน / AQI มาตรฐานมลพิษอากาศมีจุดอ่อน / จุดที่ตั้งของเครื่องวัดก็ มีจุดอ่อน รวมไปถึง จำนวนผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ ที่จับสถิติระหว่างช่วงวิกฤตสองสามเดือนมาวัดประสิทธิภาพการช่วยเหลือป้องกันบรรเทาเชิงสุขภาพ ก็มีจุดอ่อนเช่นกัน

ถ้าเราเจตจำนงอยากจะยกระดับการแก้ปัญหามลพิษอากาศฝุ่นควันไฟจริง KPI ที่ใช้มานานเหล่านี้ควรต้องรื้อใหม่ ไม่งั้นจะเป็น KPI หลอกตัวราชการเอง ในเมื่อหลอกราชการผู้ปฏิบัติได้มันก็ หลอกประชาชนด้วย ปัญหาไม่ได้แก้จริง เผลอๆ หลงทางอยู่ในเขาวงกต

.

  • กรณี hotspot

hotspot ที่ใช้กันอยู่มันก็พัฒนาความละเอียดตรวจจับมาเป็นลำดับ จาก modis เป็น viirs แต่ดาวเทียมโคจรวันละ 2 รอบ ทำให้มีช่วงปลอดดาวเทียม 8-10 ชั่วโมง ถ้าตั้งใจเผาหลบ ดาวเทียมจับไม่ได้ จึงควรใช้ร่วมกับรอยไหม้ burned scars / burnt scars (ฝรั่งอังกฤษอเมริกามันก็ใช้ประสาคล่องมัน เลือกมาสักตัวความหมายเดียวกัน)

แต่ burned scars ก็มีจุดอ่อนเช่นกัน เทคนิควัดสีมาเทียบก่อนหน้าหลังเผาสามารถผิดพลาดได้ ก็ควรต้องร่วมกับสำรวจภาคพื้น แต่เราไม่มีงบ ยังไม่มีแผนสำรวจเรื่องอะไรแบบนี้จริงจัง ต่อให้เคยสำรวจ เช่นตอนดอยหลวงเชียงดาวไหม้ เขาก็เก็บเงียบกันในหน่วยเสียหายเท่าไหร่กี่ไร่อย่างไร กว่าจะบอกสาธารณะก็นานและเลือกบอกเท่าที่จำเป็น

ในทางเทคนิคมันก็สามารถปรับปรุงกันไปได้ ตามเทคโนโนโลยีก้าวหน้า บางจังหวัดใช้ burned scars มาเป็น KPI แต่บางจังหวัดยังยึดแค่ hotspots (แล้วกระซิบบอกชาวบ้านเฮ้ยเผาบ่ายสามนะ)

.

  • สถิติไฟ 5 เดือน !!??

GISTDA มีคุณูปการกับการแก้ปัญหาฝุ่นควันมาก ยกระดับปฏิบัติการได้หลายอย่าง แต่ก็ยังมีจุดที่ต้องทบทวนจริงจังในระดับยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาในทิศทางใหญ่ เพราะ GISTDA เปลี่ยนมารายงานสถิติ hotspots ช่วงวิกฤติรวม 5 เดือน (ม.ค.~พ.ค.) ได้สองปีแล้ว จากเดิมรายงานถึง เมษายนเท่านั้น

เรื่องนี้โทษ GISTDA หน่วยเดียวไม่ได้ แต่เป็นชุดความคิดใหญ่เบื้องหลังนโยบายแก้ปัญหา ที่เน้นการดับไฟห้ามไฟไม่ให้เกิด มองไฟทุกกองเป็นปิศาจเหตุของปัญหา

ถิติ 5 เดือนที่ไม่แยกแยะ ทำให้ทิศทางของนโยบายเทไปสู่การห้ามเผาทั้ง 5 เดือน ให้คุณให้โทษผู้ปฏิบัติจากสถิติรวม 5เดือน ส่งผลให้การแก้ปัญหาผิดเพี้ยน ไฟทุกกองในระยะ 5เดือน มีผลกับผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งๆ มกราคมอากาศยังดี พฤษภาคมฝนมาแล้วชาวบ้านเริ่มเพาะปลูกและใช้ไฟ

จะให้ดีและเกิดประโยชน์จริง สถิติไฟ5เดือน ควรจะแยกจำนวนเกิดของแต่ละเดือนมาด้วย เพราะไฟมกราคมกับไฟพฤษภาคมเป็นไฟดี ที่ไม่ได้ก่อผลกระทบค่ามาตรฐานอากาศ

ไฟเกิดเดือนกุมภาพันธ์มีนาคมมากๆ เติมมลพิษเกินค่าวิกฤต กับไฟเดือนพฤษภาคมฝนมาฟ้าใส ระดับคุณภาพอากาศกลับมาดี แตกต่างกัน ถ้าที่ไหนอั้นไม่เผามีนา มาเผาพฤษภาคมได้ถือว่าจัดการได้ผล ไม่ควรนับเป็นโทษ การใช้สถิติเหมารวม 5 เดือน ส่งเสริมมาตรการห้ามเผาเด็ดขาด zero burning ที่ไม่แยกแยะ และก่อปัญหาขัดแย้งทางสังคมตามมา

ถ้าจะแก้แบบด่วนๆ ง่ายๆ คือ ให้แยกสถิติไฟของแต่ละจังหวัดเป็นรายเดือน เพราะไฟมีนาคม มีความหมายต่างจากไฟเดือนพฤษภาคม

.

  • กรณีจำนวนวันเกินค่ามาตรฐาน

แต่ก่อนเรานับจากค่า pm10 ซึ่งใช้มาตรฐาน 120 มคก/ลบ.ม /เฉลี่ย 24 ชม. ซึ่งมันเป็นเกณฑ์ที่ไม่สนใจแยแสสุขภาพผู้คนเลย กว่าที่เครื่องวัดจะไปถึงตัวเลขนั้น สภาพอากาศจริงต้องขุ่นเหลืองสาหัสไปแล้ว ประเทศไทยเพิ่งมาใช้มาตรฐาน AQI และ ให้ใช้ pm2.5 เป็นตัวเลขสาธารณะเตือนค่าอากาศก็เมื่อตุลาคม 2562 นี่เอง

KPI ของรัฐ ยึดค่า pm2.5 แบบเฉลี่ย 24 ชม โดยทั้งจังหวัดให้ใช้เครื่องวัดตัวเดียว (ส่วนใหญ่อยู่ที่ตัวจังหวัดที่ตั้งศาลากลาง)

จุดอ่อนของ KPI แบบนี้ก็คือ การรวมศูนย์ไว้ที่ศาลากลางที่ตั้งเมือง โดยไม่สนใจค่าอากาศจริงที่เกิดในอำเภอรอบนอก

หากบางจังหวัดมีพื้นที่สีแดงโซนมลพิษต่อเนื่องในอำเภอห่างไกลจากเครื่องวัด 50~80 ก.ม. ไม่มีทางที่เครื่องวัดจะสะท้อนปัญหาวิกฤตคุณภาพอากาศของพื้นที่โซนแดงได้จริง ประชาชนที่เดือดร้อนจริง ถูกละเลย มองข้าม ทอดทิ้ง

เรามี KPI จำนวนวันคุณภาพอากาศเกินมาตรฐานขึ้นมา เพื่อจะดูว่ามีประชาชนเดือดร้อนกี่วัน ใช่หรือไม่?

แต่การเลือกใช้เครื่องวัดเครื่องเดียว แถวๆ ศาลากลาง กลับไม่ได้ตอบโจทย์การดูแลสุขภาพจริง มิหนำซ้ำเคยมีบางจังหวัดค่าฝุ่นกำลังพุ่งสูง จู่ๆ เครื่องวัดหลักตัวเดียวตัวนั้นก็ใช้การไม่ได้สองสามวัน พอกลับมาดี ค่าฝุ่นก็ลดลงแล้ว จังหวัดที่ว่าจึงอยู่ในเกณฑ์ KPI ต่อไป

ยุคนี้เทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น เซ็นเซอร์คุณภาพดีราคาถูกมีใช้ทั่วไป สามารถวัดค่าคุณภาพอากาศรายตำบล เป็น KPI รายตำบลได้เลยด้วยซ้ำไป

เพราะค่าอากาศของแต่ละหมู่บ้านตำบลแต่ละพิกัดก็อ่อนแก่ไม่เท่ากัน การดูแลสุขภาพคำเตือนการช่วยเหลือประชาชนทั้งจังหวัด ไม่ควรพึ่งเจ้าตัวใหญ่รวมศูนย์แถวๆ ศาลากลางเพียงตัวเดียว

ส่วนกรณีค่ามาตรฐานไทย ที่ก้าวไม่ทันโลก ตามไม่ทันสิงคโปร์ มาเลเซียด้วยซ้ำ อย่าว่า ญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป อเมริกาเลย นี่ก็ตัวการสำคัญ ตัวแม่ของ KPI ล้าหลังเลยก็ว่าได้

ถ้าเราจะออกจากปัญหาวิกฤตฝุ่นจริงจัง ทิศทางการแก้ปัญหาต้องชัด มีมาตรการและเกณฑ์ชี้วัด แบบที่ไม่ใช่ที่ทู่ซี้ ใช้ๆกันอยู่

#เพื่อลมหายใจภาคเหนือ

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →