Fire Is Coming สำรวจภูมิทัศน์ไฟป่าในภูมิประเทศภาคเหนือ

 มรสุมขนาดย่อมได้สัญจรผ่านพ้นภาคเหนือไปแล้ว หลังจากมาตามนัดหมายดังที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไว้ ในช่วงวันที่ 4 – 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้เกิดฝนตกหนักหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ทำให้มีปริมาณฝนสะสมในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งทำให้คุณภาพอากาศโดยรวมของภาคเหนืออยู่ในเกณฑ์ดี แต่หลังจากนี้อาจจะเป็นฤดูกาลของไฟป่าอย่างแท้จริง เพราะในช่วงเวลาจากนี้ไปจนถึงต้นเดือนมีนาคม ยังไม่มีแนวโน้มและสัญญาณของฝนในพื้นที่ภาคเหนือ

.

ไฟหลังฝน

        รายการบ่ายโมงสถานีฝุ่นประจำวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ได้วิเคราะห์ว่า หลังจากนี้จะเป็นฤดูกาลของไฟป่าอย่างแท้จริง ข้อมูลจาก GISTDA (จิสด้า) เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ระบุว่า พบจุดความร้อน (Hotspot) ทั้งประเทศ 689 จุด เพิ่มขึ้นจากวันก่อน 355 จุด พบมากที่สุดในพื้นที่เกษตร 207 จุด, พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 179 จุด, พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 125 จุด, พื้นที่เขต สปก. 103 จุด, พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 66 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 9 จุด

.

        จังหวัดที่พบจุดความร้อนมากสุด คือ กาญจนบุรี 58 จุด, ลำปาง 47 จุด และชัยภูมิ 37 จุด โดยพบจุดความร้อนกลับมากระจายตัวเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ภาคเหนือลงมาถึงภาคกลาง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือสูงสุดอยู่ที่ 253 จุด ผสมกับจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้พื้นที่ภาคกลาง คือ จังหวัดสมุทรปราการและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีคุณภาพอากาศปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อยู่ในระดับปานกลาง อาจเริ่มส่งผลกระทบกับระบบทางเดินหายใจ

.

        จากการรวบรวมข้อมูลจุดความร้อนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 8 กุมภาพันธ์ GISTDA พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจุดความร้อน 4,561 จุด, ภาคเหนือ 4,204 จุด และภาคกลาง 3,279 จุด

.

        สำหรับจุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้านพบสูงสุดในกัมพูชาติดต่อกัน 6 วัน 1,416 จุด รองลงมาเป็นเมียนมา 1,259 จุด และ สปป.ลาว 717 จุด ซึ่งจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ PM 2.5 ในพื้นที่บริเวณแนวชายแดนภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง เนื่องจากมีลมพัดฝุ่นละอองและหมอกควันเข้ามา

.

ภูมิทัศน์ของไฟป่า

        ทุกจุดความร้อนบนแผนที่ดาวเทียมล้วนแล้วแต่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกันหมด แต่ประเด็นที่สถานีฝุ่นพยายามจะชี้ให้เห็นก็คือ ในภูมิทัศน์ของไฟป่ามีประเภทของไฟซึ่งหากจำแนกได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการปัญหาหมอกควันและไฟป่า

.

        ลักษณะภูมิประเทศของภาคเหนือบ่งบอกและจำแนกประเภทของไฟได้ในเบื้องต้น ภูมิประเทศของภาคเหนือมีพื้นที่ราบเพียง 10% พื้นที่เชิงเขา 30% และพื้นที่สูง 60% เมื่อถึงช่วงเดือนมกราคม-เมษายน เป็นช่วงที่มีการยกตัวของอากาศต่ำ เมื่อเกิดฝุ่นควันจากการเผาในพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่า ส่งผลให้การระบายอากาศทำได้น้อย เหมือนมีฝาชีครอบฝุ่นควันอยู่ในบริเวณพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พ้นจากเดือนเมษายนอากาศจึงจะยกตัวสูง ระบายอากาศได้ดี

.

        ภูมิศาสตร์ของพื้นที่ภาคเหนือตอนบน มีป่าผลัดใบจำพวกป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณซึ่งครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาค เมื่อป่าเหล่านี้เริ่มผลัดใบในช่วงฤดูแล้ง มันจะแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี ผู้เชี่ยวชาญหลายคนระบุตรงกันในช่วงหลายปีของปัญหาหมอกควันและไฟป่าว่า ไฟป่าที่เกิดขึ้นในรอบหลายปีมานี้ เกินกว่า 90% เป็นไฟป่าที่เกิดจากฝีมือมนุษย์

.

        สังคมไทยอยู่กับปัญหาฝุ่นควันมานานพอจะเข้าใจถึงความหมายของคำว่าไฟป่าที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ว่าในทุกจุดความร้อนที่เกิดขึ้น มีทั้งความจำเป็น ความไม่เข้าใจ และความเหลื่อมล้ำ

.

จำแนกแยกไฟ

        ไฟป่าที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์มีหลายสาเหตุ ผู้สื่อข่าว ‘WEVO สื่ออาสา’ ลองจำแนกประเภทของไฟป่าได้ดังนี้

.

        1.ไฟป่าที่เกิดจากการหาของป่า ซึ่งการเผาป่าเพื่อประทังชีวิตได้สะท้อนความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำด้านพื้นที่ หากชาวบ้านสามารถเข้าถึงที่ดินทำกิน ก็ไม่จำเป็นต้องเผาเพื่อหาของป่าประทังชีวิต ที่ผ่านมา ‘WEVO สื่ออาสา’ พยายามนำเสนอไปที่ต้นตอของปัญหา ซึ่งความเหลื่อมล้ำทางสังคมเกี่ยวกันอย่างแยกไม่ออกจากปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจาก PM2.5

.

        2.ไฟจากการเผาวัชพืชหรือเศษซากพืชที่เหลืออยู่ภายหลังการเก็บเกี่ยวในระบบการผลิตพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ ดร.โยธิน บุญเฉลย หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการส่วนหน้ากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้กล่าวในรายการ Dust Talk ของสถานีฝุ่นว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ต้องเข้ามาช่วยในการค้นหาว่า มีเทคโนโลยีใดช่วยย่อยสลายเศษวัชพืชทดแทนการเผาได้ รวมถึงการพัฒนาระบบชลประทานบนพื้นที่สูงจะสามารถแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และตอบโจทย์ชีวิตเกษตรกร เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ให้เกิดความยั่งยืน

.

        “ทำอย่างไรให้มีระบบกระจายน้ำบนพื้นที่สูง ทำอย่างไรให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งถ้ามีระบบเหล่านี้ก็จะเอื้อให้เกิดเกษตรบนที่สูงที่มีลักษณะแบบวนเกษตร เทคโนโลยีน่าจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้” ดร.โยธินกล่าว

.

        3.การบริหารจัดการเชื้อเพลิง หรือการชิงเผาเชื้อเพลิงสะสมก่อนที่จะเกิดไฟป่า ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นในพื้นที่ การบริหารจัดการเชื้อเพลิงจะต้องมีการวางแผน กำหนดขอบเขต มีการเตรียมการณ์ เป็นการบริหารจัดการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งสังคมได้เรียกร้องรณรงค์ให้การบริหารจัดการเชื้อเพลิงเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและชุมชน มีการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงและโปร่งใส      

.   

        4.ไฟที่จุดด้วยความคึกคะนองหรือกลั่นแกล้ง ซึ่งต้องยอมรับว่าก็เป็นข้อเท็จจริงหนึ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งประเด็๋นนี้มองได้หลายแบบ ส่วนหนึ่งอาจจะมีที่มาจากระบบการทำงานแบบราชการที่มีการคาดโทษ มีตัวชี้วัดที่ไม่สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ จึงทำให้มีการแข่งขันกัน ดังที่ ประเสริฐ ประดิษฐ์ ประธานสภาพลเมือง แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า มาตรการการแก้ไขปัญหาที่มีการคาดโทษลงมาเป็นช่วงชั้นทำให้เกิดการละเลยข้อเท็จจริงในพื้นที่ การแก้ปัญหาที่ผ่านมาคือการทำอย่างไรก็ได้ให้ฮอตสปอตอยู่ในเกณฑ์ที่หน่วยงานรัฐกำหนด คนในพื้นที่ก็แก้ปัญหาแบบแข่งขันกัน ปีนี้อำเภอของเราต้องมีฮอตสปอตน้อยที่สุดนะ ซึ่งวิธีแก้ปัญหาเช่นนี้บิดเบือนและทำลายวิถีชีวิตของชาวบ้าน

.

        มาตรการห้ามเผาของภาครัฐที่ทำให้การเผาทั้งหมดเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ธรรมชาติของป่าผลัดใบ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ต้องมีไฟป่าเกิดขึ้นเป็นธรรมดาอยู่แล้ว รวมถึงการผลิตของชุมชนที่อยู่บนดอยบางส่วน จำเป็นต้องเผาเพื่อการทำไร่หมุนเวียน เป็นการเผาในลักษณะเพื่อการยังชีพ แต่เมื่อการเผาเป็นเรื่องผิดกฎหมายจากมาตรการที่เกิดขึ้น ทำให้มีการแอบเผา แอบจุดไฟ บางครั้งชาวบ้านอยากจุดแค่เฉพาะไร่ตัวเองก็จุดไม่ได้ ต้องออกไปจุดจากที่ไกลๆ ให้ลามมาถึงไร่ของตัวเอง ยิ่งทำให้เกิดไฟป่าได้ง่ายขึ้น

.

การแก้ปัญหาในยุคที่ข้อมูลอยู่ในมือประชาชน

        การจำแนกไฟป่าจะทำให้การแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันมีประสิทธิภาพ วิธีคิดแบบป่าเป็นของชาติเป็นวิธีคิดจากส่วนกลาง คนในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วมในการจัดการปัญหา ทั้งๆ ที่ชุมชนได้สั่งสมภูมิปัญญาในการจัดการป่าและไฟป่ามายาวนาน ท้องถิ่นไม่มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ เมื่อเกิดไฟป่าท้องถิ่นก็ไม่มีศักยภาพในการจัดการ ระดับจังหวัดเองก็ทำได้น้อยมากในการแก้ปัญหา

.

        เราอยู่ในยุคสมัยที่ข้อมูลกระจายไปอยู่ในมือของคนทุกคน แต่อำนาจยังรวมศูนย์อยู่ที่หน่วยงานรัฐ ประชาชนตื่นเช้าขึ้นมาสามารถตรวจสอบคุณภาพอากาศของโลกทั้งใบ รวมถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นฝน ลม จุดความร้อน ดังนั้นการกระจายอำนาจจึงเป็นแนวทางที่จะต้องเกิด โดยมีแกนหลักคือชุมชน ท้องถิ่นและท้องที่เป็นผู้ประสาน โดยมีหน่วยงานส่วนกลางเป็นผู้สนับสนุนให้ชุมชนเป็นผู้ Kick off เพราะหมดฝนแล้ว ไฟป่ากำลังจะ Take off

.

ข้อมูลอ้างอิง

https://thestandard.co/northern-bush-fire-mystery/

https://prachatai.com/journal/2020/03/87007

https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220209155814264

#เพื่อลมหายใจภาคเหนือ

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →