“เราค้นพบความจริงที่น่าเจ็บปวดว่า การล่าสัตว์ด้วยการใช้ไฟป่าต้อนสัตว์มาเข้าทางปืนในบริเวณรอยต่อจังหวัดลำพูน ลำปาง และตาก เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดไฟป่าซ้ำซากในอุทยานแห่งชาติแม่ปิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณทุ่งกิ๊ก จนทำให้อุทยานแห่งนี้เกิดไฟป่าซ้ำซากที่สุดในประเทศ”
.

.
เพจ ‘ฝ่าฝุ่น’ ได้รายงานข้อมูลที่ชวนให้สะเทือนใจเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ระบุว่า “ดาวเทียมโมดิสชี้ว่าทุ่งกิ๊กมีไฟป่ามากกว่า 20 ครั้ง จากการเฝ้าติดตามทั้งหมด 22 ปี”
.
ไม่เผาเพื่อหาที่มาไฟ
.
WEVO สื่ออาสา เคยรายงานว่า ในปี 2565 เป็นปีที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิงมีมาตรการไม่บริหารจัดการเชื้อเพลิง นั่นหมายความว่าไฟทุกดวงที่เกิดในอุทยานแห่งชาติแม่ปิงจะเฉลยให้เห็นว่าที่มาของไฟมาจากเหตุใด
.
พ้นจากวันแห่งความรักไปหนึ่งวัน เพจ ‘ฝ่าฝุ่น’ ได้เผยพฤติกรรมของไฟป่าที่มีที่มาจากการลักลอบล่าสัตว์ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิงว่า “นายพรานจะจุดไฟเผาป่าในบริเวณหุบที่มีห้วยไหลลงแม่น้ำปิงที่มีพื้นที่เป็นหุบที่มีสันเขาล้อมรอบ เมื่อสัตว์ได้กลิ่นควันและเห็นไฟป่าก็จะตกใจพากันวิ่งลงสู่แม่น้ำปิงเบื้องล่างเพื่อเอาตัวรอดตามสัญชาตญาณ ในขณะที่นายพรานทั้งหลายซุ่มรออยู่ด้วยปืนไรเฟิลข้างทางออกห้วย เป็นวิธีล่าสัตว์ที่เอาเปรียบมาก”
.

.
ไฟป่าที่เกิดขึ้นจากการล่าสัตว์ได้ลุกลามต่ออีกเป็นสัปดาห์และเข้าเผาผลาญทุ่งกิ๊ก ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญของบ้านก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
.
“เหตุการณ์แบบนี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกในอุทยานแห่งชาติแม่ปิงเป็นเวลาถึง 20 ปี และปีนี้เป็นปีแรกที่เจ้าหน้าที่อุทยานเริ่มต่อสู้ ส่งสัญญาณว่าอุทยานและชาวบ้านจะไม่ทนการล่าสัตว์แบบทำลายป่าแบบนี้อีกต่อไป” ฝ่าฝุ่นระบุ
.
นอกจากนี้ ยังพบพฤติกรรมการทำลายป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อยและแม่ตื่น ซึ่งมีการลักลอบมากกว่าในอุทยานแห่งชาติแม่ปิง “เนื่องจากมีหุบร่องห้วยตัว V จำนวนมาก ดาวเทียมแสดงภาพไฟป่าในร่องห้วยนี้ไว้อย่างชัดเจน” ข้อมูลจากเพจฝ่าฝุ่นระบุ
.
รายการสถานีฝุ่นประจำวันที่ 7 กุมภาพันธ์ นำเสนอมาตรการการจัดการไฟป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิงว่า เป็นการทดลองที่น่าสนใจ เพราะหากผลลัพธ์ออกมาสำเร็จก็จะเป็นแนวทางให้พื้นที่อื่นนำไปปรับประยุกต์
.
“ในปีนี้เขาจึงทดสอบกันใหม่ว่า ถ้าเราไม่ชิงเผาล่ะ ผลลัพธ์จะเป็นยังไง ซึ่งผมคิดว่าน่าสนใจ ในเขตอำเภอลี้เป็นพื้นที่ไฟใหญ่ที่สุดในลำพูน เป็นจุดอ่อนของลำพูน ถ้าเขาจัดการตรงนี้ได้ พื้นที่เผาไหม้ของลำพูนจะลดลงอย่างมากเลย ลำพูนจึงน่าสนใจด้วยประการฉะนี้” บัณรส บัวคลี่ กล่าว
.
จากป่าแม่ปิงถึงผืนป่าแอมะซอน
.
ขณะที่เพจ ‘อุทยานแห่งชาติแม่ปิง’ ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าแห่งอุทยานแห่งชาติแม่ปิงถือปืนวิ่งไล่ล่ากลุ่มผู้ต้องสงสัยที่อาจเข้ามาลักลอบตัดไม้หรือล่าสัตว์ป่า เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าแห่งอุทยานแห่งชาติแม่ปิงได้รับรายงานว่า มีการจุดไฟบริเวณใกล้ๆ กับที่เกิดเหตุ
.
(ใส่คลิปจาก FB อุทยานแห่งชาติแม่ปิง)
.
ข้อมูลจากเพจ ‘ฝ่าฝุ่น’ และภาพการไล่ล่าจากเพจ ‘อุทยานแห่งชาติแม่ปิง’ ยืนยันว่ามีผู้ลักลอบเข้าไปแสวงประโยชน์จากผืนป่าที่มีความสำคัญทางระบบนิเวศ
.
ไฟป่าในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อยและอุทยานแห่งชาติแม่ปิง เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ข้อมูลเมื่อเดือนมีนาคม 2564 พบว่า อุทยานแห่งชาติแม่ปิงในเขตจังหวัดตากเกิดจุด Hotspot ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 140 จุด ขณะที่ในพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค – 2 มี.ค. 2564 เกิดจุด Hotspot 579 จุด ในส่วนพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแม่ปิง เกิดจุด Hotspot 273 จุด
.
ไฟป่าเป็นปรากฎการณ์ระดับโลก ในปี 2019 นักวิทยาศาสตร์ต่างหันมามองปรากฎการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นในป่าแอมะซอน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างสมดุลภูมิอากาศโลกและช่วยต่อสู้กับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง แอมะซอนเหมือนคนป่วยหนักที่กำลังได้รับความเสียหายอย่างหนักในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ระหว่างเดือน ม.ค.-ส.ค. 2562 ตรวจพบการเกิดไฟป่าในป่าแอมะซอนมากถึง 72,000 จุด ป่าแอมะซอนเป็นป่าฝนเขตร้อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน
.
เพื่อให้เข้าใจถึงระดับการทำลายล้างที่แท้จริง นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศเสนอว่า จำเป็นต้องนำเอาปัจจัยอื่นๆ ที่ร่วมกันทำให้ป่าเสื่อมสภาพเข้ามาพิจารณาด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไฟป่าหรือการลักลอบล่าสัตว์โดยผิดกฎหมาย รวมถึงผลมาจากปัจจัยทางภูมิอากาศอย่างเช่นภัยแล้ง ซึ่งสภาพการณ์เหล่านี้ขัดขวางไม่ให้ระบบนิเวศทำหน้าที่ของมันอย่างที่ควรจะเป็น
.
พูดง่ายๆ ว่าลำพังปรากฎการณ์ธรรมชาติก็ส่งผลให้ป่าแอมะซอนกลายสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม ดังนั้นการกระทำของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบตัดไม้ เผาป่าเพื่อล่าสัตว์ ก็เป็นการกระทำให้เกิดอัตราเร่งให้เกิดหายนะกับป่าที่มีความสำคัญในระบบนิเวศ
.
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าหากเราไม่สามารถแก้ไขระดับความรุนแรงของการตัดไม้ทำลายป่าและการเสื่อมสภาพของป่าให้เปลี่ยนแปลงไปจากอัตราที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นไปด้วย
.
ป่าแอมะซอนไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวของเรา เพราะไฟป่าที่เกิดในป่าแอมะซอนเป็นเรื่องเดียวกับไฟป่าที่เกิดในอุทยานแห่งชาติแม่ปิง
.
ข้อมูลอ้างอิง
