จาก Zero Burn ถึง Prescribed Burning: ชิงเผาแบบสมาร์ทในแคลิฟอร์เนีย และ ‘พาราไดม์’ ที่กำลังจะ ‘ชิฟท์’ ของไฟป่าไทย

ในช่วงเช้าวันนี้ (17 ก.พ.) ศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของกรุงเทพมหานคร (กทม.) รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ ฝุ่น PM2.5 ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของ กทม. ช่วงเวลา 07.00 น. เฉลี่ย 24 ชั่วโมงของฝุ่น PM2.5 ตรวจวัดได้ 29-72 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) พบเกินมาตรฐานจำนวน 45 พื้นที่ (จากค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) และแนะนำให้ประชาชนในพื้นที่ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งก็ทำให้กรุงเทพมหานครที่เพิ่งมีชื่อเรียกภาษาอังกฤษใหม่ แดงอีกแล้ว

.

ขณะที่ค่ามาตรฐานอากาศรายชั่วโมงในเช้าวันเดียวกันที่แม่ฮ่องสอน ตรวจวัดได้ 161 มคก./ลบ.ม. รพ.สต.ป่าตึงงาม จังหวัดเชียงใหม่ ตรวจวัดได้ 148 มคก./ลบ.ม. รพ.สต.อรุโณทัย ตรวจวัดได้ 138 มคก./ลบ.ม. อำเภองาว จังหวัดลำปาง ตรวจวัดได้ 93 มคก./ลบ.ม. นอกจากพื้นที่เหล่านี้ที่มีค่าอากาศเกินมาตรฐาน พื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคเหนือคุณอากาศอยู่ในเกณฑ์ดี

.

Prescribed Burning การบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบสมาร์ท

.

บัณรส บัวคลี่ บรรณาธิการสถานีฝุ่น ได้กล่าวถึงการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบ Prescribed Burning ในรายการบ่ายโมงสถานีฝุ่น ว่า เมื่อปลายปีที่แล้ว แคลิฟอร์เนียแก้กฎหมายให้สามารถบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบ Prescribed Burning ซึ่งเป็น “กระสวนความคิดชุดใหม่ที่ใช้แทนความคิดแบบเดิมคือการห้ามเผาเด็ดขาด” บัณรส ระบุ ซึ่งนี่คือเรื่องใหม่ เพราะในอดีตเจ้าหน้าที่ป่าไม้อเมริกาใช้ไม้แข็งจัดการไฟป่า

.

.

“เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของอเมริกาได้รับอนุญาตให้ยิงได้เลยนะครับถ้ามีใครไปจุดไฟเผาป่าในเขตที่กำหนด แต่ปัจจุบัน กฎหมายใหม่ของแคลิฟอร์เนียที่ออกมาเมื่อเดือนธันวาคมอนุญาตให้มีการใช้ไฟที่ดีหรือไฟที่จำเป็นในการบริหารจัดการไฟ ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ เป็นแนวโน้มใหม่ของโลก” บัณรส กล่าว

.

ดูเหมือนว่าแนวทางการห้ามเผาเด็ดขาดหรือ Zero Burn จะกลายเป็นการบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่ไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาไฟป่าอีกต่อไป ไม่ว่าจะที่แคลิฟอร์เนีย หรือเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน

.

สืบเนื่องจากสภาวะอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไป สภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้ง ไฟป่าใหญ่ได้กลายเป็นภัยพิบัติขนาดใหญ่ “จึงต้องบริหารเชื้อเพลิง ตามข่าวไม่ใช่แค่แคลิฟอร์เนียนะครับ เพราะก่อนหน้านี้ ฟลอริดา โอเรกอน ก็เปลี่ยนความคิดในเรื่องการจัดการไฟเช่นเดียวกัน” บรรณาธิการสถานีฝุ่น ระบุ

.

นอกจากความคิดเรื่อง Prescribed Burning ประเด็นว่าด้วยองค์ความรู้เกี่ยวกับสภาวะอุตุนิยมวิทยาของการระบายอากาศ (Ventilation Rate) ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญของการพิจารณาให้อนุญาตหรือปฏิเสธการเผา

.

“ก่อนนี้ การเผาใดๆ ที่มีขนาดกองใหญ่เกินกว่ากำหนด เช่น 2 ฟุต x 2ฟุต จะได้รับอนุญาต โดยแต่ละเขต แต่ละเคาท์ตี้ หรือแต่ละเขตป่าอนุรักษ์ ก็มีระเบียบของตน จะเผาได้ก็ต่อเมื่ออากาศยกและระบายได้ดี” บัณรส กล่าว

.

ผู้สื่อข่าวสถานีฝุ่นสำรวจตารางคู่มือการบริหารจัดการเผาของ North Carolina Forest Service พบว่ามีการแบ่งคุณภาพการระบายอากาศออกเป็น 5 ระดับ ซึ่งแต่ละระดับจะมีคำแนะนำกำกับ

.

.

“หากอากาศระบายไม่ดีนัก เขาจะห้ามเผากลางคืน หากอากาศระบายแย่ ก็ห้ามเผาในระหว่างนั้น การห้ามเผากลางคืนของบ้านเราก็ยังเป็นเรื่องใหม่ มิหนำซ้ำไปขัดภูมิปัญญาชาวบ้านบางกลุ่ม ผังอัตราการระบายอากาศเป็นเรื่องจำเป็น เป็นปัจจัยหนึ่งของการจัดการไฟ เหมือนค่าอุณหภูมิ ความกดอากาศ ฝนฟ้าประจำวัน” บัณรสกล่าว

.

Zero Burn ‘พาราไดม์’ ที่กำลังจะ ‘ชิฟท์’ ของการบริหารจัดการเชื้อเพลิงไทย

.

เมื่อสำรวจข้อมูลการระบายอากาศในเว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบข้อมูลอัตราการระบายอากาศและคำแนะนำในการจัดการเชื้อเพลิงในแต่ละระดับ ดังนี้

.

.

อัตราการระบายอากาศที่มีตัวเลขต่ำกว่า 2,000 อยู่ในเกณฑ์แย่ (Poor) ซึ่งการเผาในที่โล่งจะส่งผลต่อคุณภาพอากาศ / อัตราการระบายอากาศที่ระดับ 2,000-4,000 อยู่ในเกณฑ์อ่อน (Fair) การเผาในที่โล่งก่อน 11.00 น. และ หลัง 16.00 น. ส่งผลกระทบค่อนข้างมาก / อัตราการระบายอากาศที่ระดับ 4,000-8,000 อยู่ในเกณฑ์ดี (Good) การเผาในที่โล่งที่อากาศยกตัว ส่งผลกระทบปานกลาง / อัตราการระบายอากาศที่ระดับ 8,000-16,000 อยู่ในเกณฑ์ดีมาก (Very Good) การเผาในที่โล่งส่งผลกระทบน้อย / อัตราการระบายอากาศที่ระดับมากกว่า 16,000 อยู่ในเกณฑ์ดีที่สุด (Excellent) ลมแรง การเผาในที่โล่งด้วยความระมัดระวัง ส่งผลกระทบน้อย

.

ผู้สื่อข่าวสำรวจอัตราการระบายอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 พบ อัตราการระบายอากาศที่มีตัวเลขต่ำกว่า 2,000 อยู่ในเกณฑ์แย่

.

.

“เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองขอนแก่น สงขลา และกรุงเทพฯ จะพบว่า อันตราการระบายอากาศของเชียงใหม่แย่กว่าเมืองที่กล่าวมาทั้งหมด การระบายอากาศของกรุงเทพฯส่วนมากจะอยู่ที่ระดับมากกว่า 4,000 ก็อยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งถ้าวันไหนกำลังแรงลมและการยกตัวของอากาศในกรุงเทพฯต่ำกว่าระดับ 2,000 วันนั้นกรุงเทพฯก็จะแดง เพราะอากาศมันไม่ระบาย

.

“เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น เราจะพบว่าเชียงใหม่มีอัตราการระบายอากาศที่แย่ การบริหารจัดการเชื้อเพลิงก็ต้องจัดการภายใต้คุณภาพการระบายอากาศแบบนี้ วันไหนที่แรงลมและอากาศยกสูงขึ้นมากกว่า 2,000 ก็ชิงเผาเสีย” บัณรสระบุ

.

สภาวะของอุตุนิยมวิทยาเป็นปัจจัยสำคัญของการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบ Prescribed Burning เราจะเห็นว่าการบริหารจัดการเชื้อเพลิงของภาครัฐในหลายจุดที่ผ่านมามักจะเกิดขึ้นในเวลากลางคืน ซึ่งไม่สอดคล้องกับการระบายของอากาศ “เรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านการจัดการปัญหาไฟป่า คนส่วนใหญ่ของภาครัฐยังเชื่อว่าห้ามเผาเด็ดขาด คนที่อยู่กรุงเทพฯบางคนสั่งการมาว่า ห้ามมีไฟ ดังนั้น KPI ก็เลยเป็นแบบนี้ หน่วยงานราชการก็เลยใช้ Hotspot เป็น KPI ไม่ได้ดูเรื่องการบริหารจัดการเป็นหลัก มันจึงต้องมีการสร้างองค์ความรู้เพื่อเปลี่ยนแปลง เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เรื่องยาว ยังไม่จบง่ายๆ”

.

แนวโน้มในปี 2565 การบริหารจัดการไฟน่าจะเป็นหัวข้อในการถกเถียงพูดคุยอย่างจริงจัง ชุดความรู้และความเข้าใจในระบบการจัดการไฟของโลกกำลังเปลี่ยน แม้ว่าภาครัฐจะเริ่มปรับตัวด้วยการผ่อนปรนมาตรการ Zero Burn ลง นี่คือสัญญาณของการขยับเพื่อเปลี่ยนแปลง แต่ก็เป็นการขยับในจังหวะที่เชื่องช้า ถ้าพูดด้วยสำนวนของบรรณาธิการฝุ่นก็ต้องบอกว่า “มันเป็น Paradigm ที่ยังไม่ Shift”

.

นับจากนี้ สถานีฝุ่นจะพยายามนำเสนออัตราค่าระบายอากาศ หรือ Ventilation Rate ให้มากขึ้น แม้จะเป็นเรื่องใหม่ แต่ก็ต้องหมั่นศึกษาและสร้างความเข้าใจร่วมกัน เพราะทุกปัจจัยล้วนเกี่ยวข้องโยงใยถึงกัน คล้ายความเชื่อมโยงถึงกันของดอกไม้และเดือนดาว

#เพื่อลมหายใจภาคเหนือ

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →