ลานีญ่าที่รัก ความแปรปรวนของอากาศกับจุดยืนอันเสถียรของฝุ่นควัน

ปรากฎการณ์เอลนีโญ่/ลานีญ่า เป็นเหมือนด้านตรงข้ามของกันและกัน ปรากฎการณ์ทั้งสองส่งผลต่อความหนักเบาของมลพิษ ในช่วงไพรม์ไทม์ของ PM2.5 ปีนี้คาบเกี่ยวกับวงรอบสภาวะลานีญ่า หากแนวโน้มด้านสภาวะอากาศเป็นไปตามที่หลายสำนักคาดการณ์ ลมหายใจของคนภาคเหนือในปี 2565 น่าจะปลอดโปร่งจากฝุ่นควัน

.

เมืองฝุ่นภายใต้วงรอบของลานีญ่า

.

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ กรมอุตุนิยมวิทยาได้เผยแพร่ประกาศเตือนฉบับที่ 1 ‘เรื่อง อากาศแปรปรวนบริเวณภาคเหนือตอนบน’ ระบุว่า คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือในช่วงวันที่ 4 – 6 กุมภาพันธ์ 2565 ทำให้ภาคเหนือบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน และแพร่ มีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียสในภาคเหนือตอนบน

.

ในเอกสารการเฝ้าระวังปรากฎการณ์เอลนีโญ่/ลานีญ่าฉบับวันที่ 21 มกราคม 2565 กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า จะเกิดสภาวะลานีญ่าช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2565 ซึ่งในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปีเป็นช่วงที่ลมหายใจของภาคเหนือตอนบนประสบกับภาวะมลพิษ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่อากาศไม่สามารถยกตัวได้ดี ค่ามาตรฐานอากาศส่งผลเสียต่อสุขภาพ ปรากฎการณ์ลานีญ่าที่คาดว่าจะเกิดในช่วงเดือนมีนาคมเป็นลานีญ่าที่มีขนาดปานกลาง ขณะที่ปรากฎการณ์ลานีญ่าที่มีขนาดรุนแรงเกิดขึ้นครั้งหลังสุดเมื่อปี 2553-54

.

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน International Research Institute for Climate Society (IRI) มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา คาดการณ์ว่า ความน่าจะเป็นที่จะเกิดปรากฏการณ์ลานีญ่าเกิน 90% ผลพยากรณ์ในวันที่ 15 พ.ย. 2564 บ่งชี้ว่า จากกำลังของลานีญาที่เร่งตัวทำให้ฝนจะมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ โดยช่วง ก.พ.-พ.ค. 2565 ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาคและมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ

.

การคาดการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับทาง APEC Climate Center ที่ระบุว่า ช่วง ก.พ.-เม.ย. 2565 ฝนจะมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ

.

ลานีญ่ากับหิมะในทะเลทราย

.

เมื่อต้นปี 2564 ได้เกิดหิมะตกในทะเลทรายซาฮาราเขตประเทศซาอุดิอาระเบีย และหิมะยังตกที่ประเทศแอลจีเรีย พร้อมกับอุณหภูมิลดต่ำลงเหลือเพียง -2 องศา ปรากฏการณ์ลานีญ่าได้ทำให้หลายประเทศทั้งในยุโรปและเอเชียต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่ลดต่ำกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็นสเปน ที่เจอพายุหิมะจนอุณหภูมิแถบเทือกเขาลดติดลบ 25 องศาเซลเซียส ซึ่งหนาวที่สุดในรอบ 20 ปี ในกรุงมาดริดเจอหิมะตกหนักที่สุดในรอบ 50 ปี หรือในกรุงปักกิ่งของจีนที่อุณหภูมิติดลบ 19.6 องศาเซลเซียส ซึ่งต่ำสุดในรอบ 55 ปี

.

เมื่อเดือนมกราคม 2565 ก็เกิดปรากฏการณ์ “สโนว์นาโด” (Snownado) ที่ประเทศกรีซและตุรกี พายุหิมะที่ตกหนักและต่อเนื่องปกคลุมหนาถึง 30-40 เซนติเมตรในช่วงเวลาข้ามคืน ประชาชนในตุรกีหลายพันคนติดอยู่บนถนนนานกว่า 10 ชั่วโมง สภาพการจราจรทางบกหยุดชะงัก สนามบินอิสตันบูลต้องปิดทำการ หน่วยงานด้านภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉินแจ้งว่าทั่วประเทศมีผู้คนประมาณ 4,600 คนติดอยู่บนท้องถนนและที่อื่นๆ และอีกหลายพันคนต้องอยู่ในที่พักชั่วคราว ความแปรปรวนของสภาวะอากาศสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับสถานการณ์ด้านฝุ่นควันของภาคเหนือและประเทศไทย

.

สายฝนในความคาดหมาย ความคาดหมายในสายฝน

.

ข้อมูลการคาดหมายปริมาณฝนของกรมอุตุนิยมวิทยาของพื้นที่ภาคเหนือตอนบนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ระบุว่า จะมีฝนในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม ขณะที่ข้อมูลปริมาณฝนรวมเฉลี่ยรายภาค ระหว่างวันที่ 1-30 มกราคม 2565 แสดงให้เห็นปริมาณฝนที่มากกว่าฝนในปี 2564

.

“ในปีนี้วงรอบของพายุที่พัดมาจากอินเดีย ได้หอบเอาความเย็นเดินทางผ่านบังคลาเทศ ผ่านพม่าเข้ามาในภาคเหนือ อุณหภูมิของชั้นอากาศที่อยู่สูงเย็นกว่าอากาศที่อยู่ต่ำมากจึงเกิดเป็นลูกเห็บ ภาวะนี้มักเกิดในภาคเหนือช่วงเดือนเมษายน ซึ่งเมื่อถึงช่วงปลายเดือนมีนาคม ก็จะมีการแจ้งเตือนให้ระวังพายุฤดูร้อน แต่ปีนี้ฝนมาเร็วกว่าปกติ” บรรณาธิการสถานีฝุ่นกล่าว

.

ข้อมูลการคาดการณ์จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะปานกลางแห่งยุโรป (ECMWF) แสดงถึงมวลฝนบริเวณภาคเหนือตอนบน คาดว่าในช่วงวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ จะมีฝนตกบริเวณภาคเหนือตอนบนตรงกับการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา

.

ในบทความ ใช่เธอหรือเปล่า…’ลานีญ่า’ ซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 2563 บัณรส บัวคลี่ กล่าวถึงสภาวะภูมิอากาศในฐานะที่เป็นปัจจัยที่มีผลต่อมลพิษฝุ่นควัน ประกอบด้วย 1. ทิศทางลมตามฤดูกาล ทั้งระดับบนและระดับพื้นผิว 2. ลมจากเพื่อนบ้านโดยเฉพาะจากตะวันตกที่หอบมลพิษฝุ่นควันมาถล่มแม่สาย – เชียงรายทุกปี 3. ความกดอากาศ ซึ่งความกดอากาศทั้งสูงและต่ำต่างก็มีผลต่อปัญหาฝุ่นควัน 4. ภาวะอากาศผกผันและปิดตัวหรือ inversion และ 5. ปรากฏการณ์เอลนีโญ่และลานีญ่า

.

“ซึ่งจะว่าไปปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดแทบไม่ถูกนำมาพิจารณาเพื่อออกเป็นนโยบายและมาตรการด้วยซ้ำไป” บัณรสเขียนบทความชิ้นนี้เมื่อปี 2563

.

บริบทในตอนนั้น ประเทศไทยและดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในช่วงท้ายของภาวะอากาศแบบเอลนิโญ่ ภาวะลานีญ่ากำลังจะมาแทนตามแบบแผนของสภาวะอากาศ

.

แนวโน้มจากปรากฎการณ์ลานีญ่าที่กำลังจะเข้ามาแทนความแล้งของเอลนิโญ่ ก็ทำให้เขาในฐานะผู้เฝ้าสังเกตปรากฎการณ์ฝุ่นควันทิ้งท้ายบทความชิ้นนั้นว่า “สถานการณ์มลพิษฝุ่นควันของภาคเหนือในฤดูแล้ง 2564 ดีขึ้นแน่นอน สถิติบอกไว้เช่นนั้น!”

.

ในปี 2565 กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนตั้งแต่ต้นปีว่า ปีนี้ฝนจะมาก รวมถึงการคาดการณ์สภาวะอากาศจากสำนักต่างๆ ก็มีทิศทางเดียวกัน ฝนจะมากกว่าค่าเฉลี่ย และมาเร็วตั้งแต่ต้นปี ซึ่งตรงกับฤดูกาลฝุ่นควัน

.

สถานการณ์มลพิษฝุ่นควันของภาคเหนือในฤดูแล้ง 2565 จะเป็นเช่นไร สถิติยังเชื่อถือได้หรือไม่ ภายใต้ความแปรปรวนของสภาวะภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงปีที่ผ่านมา

#เพื่อลมหายใจภาคเหนือ

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →