เปลวเพลิงลุกโชนบนเทือกเขาด้านทิศตะวันตกของถนนสายเลี่ยงเมือง เทศบาลเมือง – บ้านปางหมูในช่วงค่ำของวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ไฟเรือนยอดได้เปลี่ยนเทือกเขาให้กลายเป็นเนินไฟ ฤดูแล้งต้อนรับชาวเมืองแม่ฮ่องสอนด้วยไฟลูกใหญ่ สุดท้ายทุกอย่างผ่านพ้นไปด้วยดี เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนร่วมกันทำการดับไฟป่าที่เกิดขึ้น แม้จุดที่เกิดไฟป่าอยู่ห่างปั๊มแก๊ส ถนนเลี่ยงเมืองประมาณ 500 เมตร แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนและปั๊มแก๊ส
.
ไฟเรือนยอดที่ปางหมู
.
ประเสริฐ ประดิษฐ์ คณะกรรมการควบคุม/แก้ไขปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวกับกองบรรณาธิการสถานีฝุ่น ถึงสาเหตุของการเกิดไฟป่า ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าสัก การผลัดใบเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี มาตรการห้ามเผาในช่วงหลายปีที่ผ่านมาส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวไม่ได้ถูกบริหารจัดการเชื้อเพลิง จึงเป็นพื้นที่เชื้อเพลิงสะสม เป็นสาเหตุของอุบัติภัยที่เกิดขึ้น
.
ชนิดของไฟป่าที่เกิดขึ้นที่แม่ฮ่องสอนเรียกว่า ไฟเรือนยอด (Crown Fire) ไฟชนิดนี้มีอัตราการลุกลามรวดเร็วและเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เนื่องจากมีความสูงของเปลวไฟตั้งแต่ 10 ไปจนถึง 50 เมตร ในขณะเดียวกัน ลูกไฟจากเรือนยอดสามารถตกลงบนพื้นป่า ก่อให้เกิดเปลวไฟตามผิวดินไปพร้อมกันได้อีกด้วย
.
บัณรส บัวคลี่ บรรณาธิการสถานีฝุ่น ระบุว่า จากข้อมูลที่ตรวจสอบพบว่าพื้นที่ป่าดังกล่าวมีเชื้อเพลิงสะสม เนื่องจากไม่ได้มีการบริหารจัดการมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งลักษณะของป่าผลัดใบเช่นนี้ควรมีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดการเกิดไฟป่า ดังนั้น “ไฟป่าที่เกิดขึ้นเมื่อค่ำที่ผ่านมาจึงเป็นไฟใหญ่ที่ลุกท่วมดอย” บรรณาธิการผู้นี้กล่าวอีกว่า หากประชาชนเห็นว่ามีเชื้อเพลิงสะสมมาก และมีความจำเป็นที่จะต้องชิงเผา “ก็ควรทำ ด้วยการประสานเจ้าหน้าที่ให้เข้าดำเนินการ” บัณรสระบุ
.
ชิงเผาตัดตอน
.
หลังจากที่ ‘WEVO สื่ออาสา’ นำเสนอค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศรายชั่วโมงที่ตำบลฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งมีปริมาณฝุ่นสูงถึง 325 มคก./ลบ.ม. เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวทดลองสำรวจค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศรายชั่วโมงที่ตำบลฟากท่าอีกครั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พบค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศรายชั่วโมงลดลงเหลือ 38 มคก./ลบ.ม. ลดลงราวกับตำบลฟากท่าเมื่อวานเป็นคนละเมืองกับตำบลฟากท่าในวันนี้ ปริมาณมลสารที่ลดลงอย่างฉับพลันทำให้กองบรรณาธิการของสถานีฝุ่นต้องการหาคำตอบ
.
จากการตรวจสอบจุดความร้อน FIRMS (Fire Information for Resource Management System) ของ NASA พบจุดความร้อนลดลงจากเมื่อวานอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลจุดความร้อน หรือ Hotspot จากระบบ VIIRS พบจุดความร้อนปรากฎในพื้นที่เขตป่าแทบทั้งสิ้น ซึ่งจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าซึ่งอยู่ในการดูแลของหน่วยงานรัฐ เป็นเหตุที่ทำให้เกิดผลปริมาณฝุ่นที่เข้มข้นสูงที่ตำบลฟากท่าในคืนที่ผ่านมา
.
กองบรรณาธิการสถานีฝุ่น ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวพบว่า จุดความร้อนที่หนาแน่นในพื้นที่ป่าในจังหวัดอุตรดิตถ์ของวันที่ผ่านมา เป็นจุดความร้อนที่เกิดจากการบริหารจัดการเชื้อเพลิงของเจ้าหน้าที่ หรือพูดในภาษาชาวบ้านก็คือเจ้าหน้าที่ชิงเผาตัดตอน
.
รายงานข่าวชิ้นหนึ่งของสำนักข่าว NBT ยืนยันในข้อมูลดังกล่าวว่า จากสถิติการเกิดจุด Hotspot (VIIRS) ของวันที่ 29 มกราคม 2565 ในจังหวัดอุตรดิตถ์จำนวน 85 จุด เปรียบเทียบวันเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งพบจำนวน 8 จุด (เพิ่มขึ้น 77 จุด) โดยมีการเกิด Hotspot (VIIRS) สะสมวันที่ 1-29 มกราคม 2565 จำนวน 358 จุด ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าเขตพื้นที่ อำเภอท่าปลา ทองแสนขัน และฟากท่า
.
ข่าวชิ้นดังกล่าวยังระบุว่า จุดความร้อนส่วนหนึ่งเกิดมาจากการชิงเผาตัดตอน ซึ่งทางหน่วยงานได้ทำแผนแจ้งส่วนกลางไว้ล่วงหน้าแล้ว เพราะมีคำสั่งห้ามเผาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป
.
“หน่วยงานจึงชิงเผาตัดตอนก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งมาตรการห้ามเผาจะมีผลบังคับใช้” รายงานข่าวชิ้นดังกล่าวระบุ
.
ไฟทุกดวงไม่ใช่ปิศาจ
.
หลักการ ‘ชิงเผา’ ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เป็นวิธีการบริหารจัดการไฟตามหลักสากล แต่มุมมองของภาครัฐและสังคมส่วนใหญ่มองการชิงเผาในแง่ร้าย ซึ่งเรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในการจัดการปัญหาไฟป่าที่เรื้อรังมายาวนานในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน
.
การชิงเผา (ที่ถูกต้องตามหลักการ) ถูกช่วงชิงความหมายและความถูกต้องไปโดยมาตรการห้ามเผาเด็ดขาดในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นนโยบายหลักในการจัดการปัญหาหมอกควันและไฟป่า ประกอบกับเกณฑ์การประเมินผลแบบหน่วยงานราชการก็ทำให้การปฏิบัติงานมีลักษณะแข็งทื่อ ไม่ยืดหยุ่นและไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่
.
บัณรส กล่าวถึงลักษณะภูมิประเทศของภาคเหนือตอนบนที่มีพื้นที่ราบน้อยกว่าพื้นที่ป่า ซึ่ง “ป่าภาคเหนือเป็นป่าผลัดใบมากกว่าครึ่ง ซึ่งยังไงก็ต้องมีเชื้อเพลิง หน่วยงานของรัฐจึงจำเป็นต้องบริหารจัดการเชื้อเพลิง ไม่ให้เกิดการสะสมของเชื้อเพลิง แต่ปัญหาในแต่ละปีก็คือ เราไม่เคยเอาเรื่องการชิงเผามาพูดคุยกันอย่างจริงจัง เพราะเราถูกมาตรการห้ามเผาช่วงชิงความคิดในการแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง พอเราพูดกันถึงเรื่องชิงเผา มันจึงมีลักษณะขมุกขมัว คลุมเครือ เจ้าหน้าที่จะชิงเผาก็ไม่กล้าเปิดเผย การแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้าเป็นสิ่งจำเป็น แต่หน่วยงานรัฐเหนียมอายที่จะบอก ประชาชนก็ไม่รู้ข้อมูลล่วงหน้า นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น” บัณรส กล่าว
.
อำเภอแม่แจ่ม เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เพราะมีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงร่วมกันระหว่างหน่วยงานและประชาชนทุกภาคส่วน มีการกำหนดวันเผา ระบุพิกัด แสดงแผนที่ชิงเผาชัดเจน และแจ้งข่าวต่อประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชนจึงสามารถเตรียมควาพร้อมในวันที่จะมีการกำจัดเชื้อเพลิงไม่ให้เกิดไฟป่าได้
.
“แต่การบริหารจัดการอย่างนี้ไม่ได้เกิดขึ้นทุกพื้นที่” บัณรสกล่าวว่า การบริหารจัดการเชื้อเพลิงอย่างมีส่วนร่วมและเปิดเผยจะทำให้ทุกฝ่ายรู้ข้อมูลร่วมกัน “ป้องกันไม่ให้เกิดความสับสนอลหม่าน เพราะผู้คนที่เกี่ยวข้องและใช้ชีวิตในพื้นที่ได้รับความข้อมูลไม่เท่ากัน มันจึงเป็นการบริหารจัดการแบบใต้โต๊ะ”
.
ชิงเผาบนหลักความรู้ไม่ใช่ความกลัว
.
บรรณาธิการสถานีฝุ่น กล่าวว่า การบริหารจัดการภายใต้เกณฑ์วัดผลที่เน้นตัวเลขการทำยอด ทำให้สายตาของหน่วยงานรัฐที่มองไฟทุกดวงที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่มาตรการบังคับใช้เป็นปีศาจ แต่ “ไฟทุกดวงไม่ใช่ปิศาจ มันสามารถบริหารจัดการได้ตามหลักการสากล” บัณรสกล่าว
.
คำว่า ชิงเผา (Early Burning) จึงต้องมีความพร้อมในการควบคุม ตั้งแต่การเตรียมคน เจ้าหน้าที่ และชุมชนที่มีความพร้อมในการรับมือ ดูสภาพเชื้อเพลิง อากาศ เครื่องไม้เครื่องมือ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา ไม่สามารถกระทำการโดยคนใดคนหนึ่ง จึงจะเรียกได้ว่าการเผาตามหลักวิชาการ
.
นโยบายการบริหารจัดการเชื้อเพลิง หรือการชิงเผาตามหลักการควรจะเป็นหนึ่งในมาตรการใหญ่ในการแก้ปัญหาในภาคเหนือ ถึงเวลาที่เราควรยุติการหลอกตัวเองและเปิดตาข้างที่หลับเสียที พิจารณาถึงมาตรการที่ออกมาว่าสอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงของพื้นที่และชุมชนหรือไม่ ปลายทางของการแก้ปัญหาคือตัวเลขหรือตัวคน เราต้องการการชิงเผาที่เป็นไปตามหลักการสากล เผาบนหลักความรู้ไม่ใช่ความกลัว
.
ข้อมูลประกอบการเขียน :
รายการ ‘บ่ายโมงสถานีฝุ่น’ ประจำวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 https://web.facebook.com/DustStationTH/videos/1107567546694240
ผู้ว่าฯ อุตรดิตถ์ ลงพื้นที่กำชับเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220130145044184
‘ชิงเผา’ กลายเป็นผู้ร้าย เพราะขาดความเข้าใจและมีปัจจัยแทรกซ้อน
https://www.igreenstory.co/early-burning-2/
