จากไฟป่าถึงเห็ดถอบ สำรวจปอดและปากท้องของลำพูน

ลำพูนเป็นเมืองเล็กๆ แต่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่า เมืองเล็กๆ แห่งนี้เป็นประหนึ่งประตูทางเข้าสู่แอ่งเชียงใหม่ – ลำพูน ลำพูนตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเชียงใหม่ สายลมพัดพาจากทิศใต้ขึ้นสู่ทิศเหนือ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเมืองเล็กๆ อย่างลำพูนย่อมกระทบกับผู้คนกว่า 2 ล้านในเมืองที่อยู่เหนือขึ้นไป นั่นคือเชียงใหม่

.

ในช่วงวิเคราะห์สถานการณ์ ‘ส่องมาตรการลำพูน 2565’ ในรายการข่าวของสถานีฝุ่น ได้โฟกัสไปยังเมืองเล็กๆ อย่างลำพูน เพื่อสำรวจสุขภาพปอดของเมืองผ่านสถานการณ์และมาตรการไฟป่า รวมถึงปากท้องของผู้คนผ่านพืชเศรษฐกิจอย่างเห็ดเผาะหรือ ‘เห็ดถอบ’ ของคนเหนือ

.

ลำพูนไฟพีคทุกปี

.

ลำพูนมีสถิติเรื่องไฟป่าที่ย่ำแย่ จากสถิติพื้นที่เผาไหม้สะสม 9 จังหวัดภาคเหนือเมื่อปี 2563 ลำพูนมีพื้นที่เผาไหม้สะสม 561,461 ไร่ ซึ่งถือว่ามากเมื่อเทียบกับพื้นที่ทั้งจังหวัด 2,799,012 ไร่ สัดส่วนการเผาไหม้ต่อพื้นที่ทั้งหมดขับเน้นให้เมืองเล็กๆ อย่างลำพูนน่าจับตามองและต้องเฝ้าระวัง

.

ย้อนกลับไปในปี 2562 จังหวัดที่มีพื้นที่เผาไหม้เป็นอันดับ 1 ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมด 7,987,861 ไร่ มีพื้นที่ไหม้สะสม 1,528,375 ไร่ คิดเป็น 19.13 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด ขณะที่ลำพูนในปี 2562 มีพื้นที่ไหม้สะสม 502,949 ไร่ คิดเป็น 17.97 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด ขณะที่สถิติในปี 2563 ลำพูนมีพื้นที่ไหม้สะสมเพิ่มเป็น 561,461 ไร่ คิดเป็น 20.06 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด

.

ข้อมูลการวิเคราะห์ด้วยดาวเทียม Landsat-8 ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2563 อำเภอลี้อุดมไปด้วยดวงไฟของ Hotspot จำนวน 227,645 ไร่ ขณะที่แม่ทา 137,894 ไร่

.

ข้อมูลจาก GISTDA ในปี 2564 ลำพูนมีพื้นที่เผาไหม้ 411,651 ไร่ ลดลงจากปี 2563 เพราะในปี 2564 เกิดปรากฎการณ์ลานีญา เมื่อจำแนกประเภทพื้นที่จะพบว่า พื้นที่เผาไหม้สูงสุด ได้แก่ ป่าอนุรักษ์ 230,420 ไร่, ป่าสงวนแห่งชาติ 159,582 ไร่, พื้นที่ชุมชน 14,459 ไร่, พื้นที่เกษตร 4,686 ไร่, พื้นที่ สปก. 2,238 ไร่ และพื้นที่ริมทางหลวง 265 ไร่

.

เมื่อจำแนกเป็นรายอำเภอ อำเภอลี้คือพื้นที่ที่มีการเผาไหม้สูงสุด จำนวน 216,391 ไร่ เมื่อจำแนกประเภทพื้นที่ที่มีการเผาไหม้ในอำเภอลี้ พบว่า ป่าอนุรักษ์เป็นพื้นที่เผาไหม้มากที่สุด 154,879 ไร่ รองลงมาคือป่าสงวนแห่งชาติ 53,142 ไร่ พื้นที่ชุมชน 7,012 ไร่ ขณะที่พื้นที่เกษตร 606 ไร่ อำเภอที่มีพื้นที่เผาไหม้รองลงมาคืออำเภอแม่ทา 86,249 ไร่ เมื่อจำแนกประเภทพื้นที่ในอำเภอแม่ทา พบว่า พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 58,550 ไร่ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 26,242 ไร่ พื้นที่ชุมชน 851 ไร่ ขณะที่พื้นที่เกษตร 77 ไร่

.

ข้อมูลการวิเคราะห์ด้วยดาวเทียม Landsat-8 ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2564 จะพบรูปแบบการเผาไหม้ของลำพูน ซึ่งจะมีจุด Hotspot หนาแน่นบริเวณอำเภอลี้และบริเวณฝั่งที่ติดกับจังหวัดลำปาง ซึ่งเราจะพบความหนาแน่นของจุด Hotspot บริเวณพื้นที่ดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอในทุกปี

.

ขณะที่ลำดับพื้นที่การเผาไหม้ระยะ 4 เดือนแรกของปี 2564 ลำพูนมีพื้นที่เผาไม้คิดเป็น 14 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งรองจากลำปางที่มีพื้นที่เผาไหม้ 16.787 เปอร์เซ็นต์ และแม่ฮ่องสอน 16.284 เปอร์เซ็นต์

.

มาตรการของลำพูน

.

บัณรส บัวคลี่ บรรณาธิการสถานีฝุ่น ตั้งข้อสังเกตว่า การบริหารจัดการเชื้อเพลิงในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ รวมถึงเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในพื้นที่จังหวัดลำพูนไม่มีการประชาสัมพันธ์แต่อย่างใด

.

“ไม่มีการป่าวประกาศและประชาสัมพันธ์ ซึ่งสิ่งที่เราเรียกร้องมาตลอดคือการชิงเผาที่มีหลักการและโปร่งใสใช่มั้ยครับ หน่วยงานควรที่จะประกาศออกมาเลยว่า เจ้าหน้าที่จะชิงเผาจุดไหน เวลาใด คนจะได้เตรียมพร้อมรับมือ จากการทำงานของสถานีฝุ่น เราก็ทราบว่ามีการชิงเผาจริง จากดาวเทียมที่เราตรวจสอบก็พบมีการชิงเผาจริง แต่เขาไม่ประกาศ ไม่ประชาสัมพันธ์” บัณรสกล่าว

.

บรรณาธิการสถานีฝุ่น ระบุอีกว่า แม้จะมีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในเขตอุทยานของลำพูน แต่ในปีนี้มีการเจรจาต่อรองให้งดการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง ซึ่งตามสถิติเป็นพื้นที่ที่มีการเผาไหม้สูงสุดของลำพูน

.

“ผมได้ยินมาว่าในปีนี้เขาตกลงกันแล้วว่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิงจะไม่มีการชิงเผา ซึ่งการงดชิงเผาครอบคลุมพื้นที่ประมาณหลักหมื่นไร่ จะไม่มีการเผาเลย การห้ามชิงเผาในเขตอุทยานฯเป็นนโยบายที่สั่งมาจากส่วนกลาง แต่การบริหารจัดการเชื้อเพลิงยังต้องทำ เขาก็ต้องย้ายไปบริหารเชื้อเพลิงที่จุดอื่น” บัณรสกล่าว

.

รายการสถานีฝุ่นประจำวันที่ 7 กุมภาพันธ์ มองมาตรการการจัดการไฟป่าของลำพูนในปี 2565 ว่าเป็นการทดลองที่น่าสนใจ เพราะหากผลลัพธ์ออกมาสำเร็จก็จะเป็นแนวทางให้พื้นที่อื่นนำไปปรับประยุกต์และจะทำให้พื้นที่เผาไหม้ของลำพูนลดลง

.

“คนที่ผลักดันนโยบายนี้ มองว่าการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในเขตนี้นำไปสู่การลุกลามเป็นไฟใหญ่ระดับสองแสนไร่ ตามหลักคือเขาจะชิงเผาแค่หลักหมื่นหรือสองหมื่นไร่ ในปีนี้เขาจึงทดสอบกันใหม่ว่า ถ้าเราไม่ชิงเผาล่ะ ผลลัพธ์จะเป็นยังไง ซึ่งผมคิดว่าน่าสนใจ ในเขตอำเภอลี้เป็นพื้นที่ไฟใหญ่ที่สุดในลำพูน เป็นจุดอ่อนของลำพูน ถ้าเขาจัดการตรงนี้ได้ พื้นที่เผาไหม้ของลำพูนจะลดลงอย่างมากเลย ลำพูนจึงน่าสนใจด้วยประการฉะนี้” บัณรสกล่าว

.

จากไฟป่าถึงเห็ดถอบ

.

อำเภอลี้ยังเลื่องชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งเห็ดถอบ พื้นที่ที่แวดล้อมด้วยภูเขา เหมาะสมกับการเจริญงอกงามของเห็ดถอบ ในฤดูของเห็ดชาวบ้านต่างเข้ามาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง (ก้อ) อำเภอลี้เป็นจำนวนมาก เห็ดถอบจากอำเภอลี้มีราคาแพงกว่าเห็ดถอบพื้นที่อื่นๆ ราคาที่สำรวจในปี 2563 มีราคาลิตรละ 270-280 บาท

.

“พื้นที่ตรงนั้นเป็นแหล่งเก็บเห็ดขนาดใหญ่ บางปีมีมูลค่า 10 ล้านบาทต่อฤดูกาล เป็นเขตเศรษฐกิจใหญ่ ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเห็ดจะงาม ป่าต้องไหม้ เพราะถ้าไฟไม่ไหม้มันจะไม่มีเห็ด พื้นที่ทุ่งกิ๊กจะมีเขตที่ไฟไหม้ตลอด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คนไปเก็บเห็ดด้วย” บัณรสกล่าวถึงพื้นที่ในมิติเศรษฐกิจ ซึ่งสัมพันธ์กันอย่างมีนัยยะสำคัญกับการเป็นพื้นที่เผาไหม้สูงสุดของลำพูน

.

รายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่ามีพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศไทยถูกเผาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 จนถึงเดือนเมษายน 2563 รวมทั้งสิ้น 170,835 ไร่ ในจำนวนนี้กว่า 3 ใน 4 เป็นพื้นที่ป่าในเขตภาคเหนือ ซึ่งสาเหตุสำคัญของการลักลอบเผาป่ามาจากเรื่องปัญหาปากท้องของคนในชุมชนละแวกใกล้เคียง ประกอบกับความเชื่อดั้งเดิมของคนพื้นถิ่นที่ว่า “ยิ่งเผา เห็ดยิ่งขึ้น”

.

นักวิทยาศาสตร์หักล้างความเชื่อ “ยิ่งเผา เห็ดยิ่งขึ้น” ด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เพราะไฟป่าทำให้ความชื้นและธาตุอาหาร รวมไปถึงเชื้อจุลินทรีย์พื้นถิ่นในดินตามธรรมชาติได้ถูกทำลายไปพร้อมกับไฟป่าจนหมดสิ้น และแน่นอนว่าไฟป่าสร้างปัญหาการแพร่กระจายของฝุ่น PM2.5 ในชั้นบรรยากาศ กลายเป็นหมอกควันพิษให้กลับมาทำลายสุขภาวะของคนในพื้นที่เองอีกด้วย

.

“ข้อมูลของนักวิชาการสวนทางกับความเชื่อของชาวบ้าน ปีนี้มีนโยบายจากส่วนกลางว่าจะไม่มีการชิงเผาในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ซึ่งน่าจะเป็นการพิสูจน์ว่าถ้าพื้นที่ตรงนั้นไม่มีไฟป่าแล้วชาวบ้านจะมีเห็ดหรือไม่ ซึ่งน่าสนใจมาก เพราะผลลัพธ์เรื่องไฟป่าในปีนี้จะเปลี่ยนมายด์เซ็ตของคนในพื้นที่ที่มีต่อเรื่องเห็ดถอบ” บัณรส กล่าว

.

นอกจากนโยบายห้ามเผาเด็ดขาดในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ซึ่งจะตอบสมมติฐานให้ปัญหาปากท้องเรื่องเห็ดถอบของชาวบ้านคลี่คลายหายสงสัยว่า ตกลงแล้วไฟป่าส่งผลดีหรือไม่ดีต่อการเจริญเติบโตของเห็ด โครงการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ก็เป็นอีกแรงสนับสนุนในการใช้เรื่องเศรษฐกิจปากท้องเข้ามาแก้ปัญหาหมอกควัน PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่สำคัญ 2 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ป่าอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และเขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ภายใต้โครงการ “นวัตกรรมเห็ดเผาะลดไฟป่าหมอกควัน สร้างป่า…สร้างรายได้”

.

โครงการนี้นำงานวิจัยการใช้ราไมคอร์ไรซาที่สามารถสร้างดอกเห็ดที่กินได้ อาทิ เห็ดเผาะ เห็ดตะไค เห็ดระโงก เห็ดน้ำหมาก รวมถึงเห็ดป่าอื่นๆ นำมาใช้ฟื้นฟูป่า ที่นอกจากจะได้ความหลากหลายทางชีวภาพกลับมาแล้ว ยังได้เห็ดที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างแรงจูงใจให้คนในพื้นที่หันมาใช้ไม้พื้นถิ่นร่วมกันฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าได้อย่างยั่งยืน

.

ในการแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่า เราต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์นำ และผลักดันด้วยความเชื่อ ความเชื่อประการหนึ่งก็คือ ปากท้องกับสิ่งแวดล้อม คือเรื่องเดียวกัน

.

ข้อมูลอ้างอิง
https://web.facebook.com/DustStationTH/videos/1338720099976694
http://www.sustainability.chula.ac.th/th/report/2442/
https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1352195/
https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1009927/

#เพื่อลมหายใจภาคเหนือ

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →