1 Hotspot = 1 ความเหลื่อมล้ำ คือวลีตั้งต้นการพูดคุยในรายการ Dust Talk โดยสถานีฝุ่นประจำวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 วลีดังกล่าวสะสมความไม่สอดคล้องต้องกันระหว่างปัญหากับวิธีการแก้ปัญหา สะสมความไม่เข้าใจกันระหว่างหน่วยงานรัฐ สังคมไทย และชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง สิ่งเหล่านี้สะสมทับถมเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหมอกควันและไฟป่า
.
หลายปีที่ผ่านมา สังคมไทยปิดตาแล้วชี้นิ้วมาที่แม่ฮ่องสอนในฐานะต้นเหตุของปัญหามลพิษ แต่การจะดับไฟในจุดความร้อนสะสมได้ดีที่สุด คือการลดนิ้วที่ชี้ตีตราผู้อื่นลง เปิดตาทำความเข้าใจวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่ เข้าใจไฟทั้งในมิติของปากท้อง จิตวิญญาณของชาติพันธุ์ รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคม
.
วงสนทนา Dust Talk ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่าที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญาชุมชนที่สอดคล้องกับภูมิประเทศที่สลับซับซ้อน ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะต้องมีบทบาทในการแก้ปัญหา การมีส่วนร่วมของชุมชนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาหมอกควัน รวมถึงนโยบายที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ
.
เข้าให้ถึงหัวใจของปัญหา เข้าให้ถึงใจกลางของ Hotspot
.
ความเหลื่อมล้ำในปัญหาหมอกควัน
.
“แม่ฮ่องสอนถูกตราหน้าเป็นจำเลยของสังคมไทยมายาวนาน” ประเสริฐ ประดิษฐ์ ประธานสภาพลเมือง แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า มาตรการการแก้ไขปัญหาที่มีการคาดโทษลงมาเป็นช่วงชั้นทำให้เกิดการละเลยข้อเท็จจริงในพื้นที่ สุดท้ายจึงกลายเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด
.
“พื้นที่ไหนมีจุดความร้อนสะสมสูงก็จะกลายเป็นต้นตอของปัญหาฝุ่นควันและไฟป่า กลายเป็นตัวก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ถูกคาดโทษจากผู้มีอำนาจเบื้องบน นายอำเภอต้องรับผิดชอบ กำนันผู้ใหญ่บ้านต้องรับผิดชอบ พื้นที่ไหนสามารถจัดการได้ตามเป้า ก็จะมีการให้ความดีความชอบ นี่คือสาเหตุของความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น เพราะทำให้เกิดการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด การแก้ปัญหาที่ผ่านมาคือการทำอย่างไรก็ได้ให้ฮอตสปอตอยู่ในเกณฑ์ที่หน่วยงานรัฐกำหนด คนในพื้นที่ก็แก้ปัญหาแบบแข่งขันกัน ปีนี้อำเภอของเราต้องมีฮอตสปอตน้อยที่สุดนะ ซึ่งวิธีแก้ปัญหาเช่นนี้บิดเบือนและทำลายวิถีชีวิตของชาวบ้าน การห้ามเผาทุกกรณีทำให้ชาวบ้านชาติพันธุ์เดือดร้อน” ประเสริฐกล่าว
.
แม่ฮ่องสอนอุดมไปด้วยพื้นที่ป่า 86.99% พื้นที่ป่า 7 ล้านไร่ ป่าอนุรักษ์ 4 ล้านไร่ ป่าสงวน 3 ล้านไร่ ลักษณะป่าแม่ฮ่องสอนเป็นป่าผลัดใบ ซึ่งมีไฟเป็นหนึ่งในระบบนิเวศ
.
ประธานสภาพลเมือง แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ในอดีตชาวชาติพันธุ์ประกอบอาชีพเกษตรกรรมแบบหมุนเวียนเป็นหลัก การเผาวัชพืชและเศษใบไม้แห้งเพื่อเตรียมพื้นที่เกษตรเป็นส่วนหนึ่งในระบบการผลิตตามภูมิประเทศบนที่สูง แต่ปัจจุบันระบบการผลิตพืชเชิงเดี่ยวสร้างปัญหาหลายมิติ การแก้ปัญหาที่ผ่านมายังขาดภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วม ภาครัฐละเลยภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งประชากรในแม่ฮ่องสอนมีความหลากหลาย ประกอบด้วย 9 ชาติพันธุ์ แต่ละชาติพันธุ์มีองค์ความรู้ในการจัดการไฟที่สั่งสมกันมา แต่องค์ความรู้นี้กลับไม่ได้ถูกนำมาใช้แก้ปัญหา
.
“สภาพลเมืองแม่ฮ่องสอนได้ทำข้อเสนอถึงจังหวัด ผู้ว่าฯก็รับข้อเสนอไปเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ในการแก้ปัญหา นำเอาภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วม ผมก็มีโอกาสเข้าไปเป็นคณะกรรมการแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่าในระดับจังหวัด รวมถึงเครือข่ายประชาสังคมอีก 21 เครือข่าย เข้าไปเป็นกลไกในโครงสร้างการแก้ปัญหา” ประเสริฐกล่าว
.
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากภาคประชาสังคมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่า คือการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดในการมองปัญหา วลีที่ว่า ‘1 Hotspot = 1 ความเหลื่อมล้ำ’ ได้ถูกทำลายลงไป จนเกิดเป็นคำสำคัญคำใหม่
.
“ในปัจจุบัน คณะกรรมการที่แก้ปัญหาหมอกควันไฟป่ามีความเข้าใจที่ดีขึ้น จึงเกิด Wording ใหม่ออกมา หน่วยงานรัฐบอกว่า ‘เราจะไม่คาดโทษชุมชนชาติพันธุ์ เราเข้าใจแล้ว เราเข้าใจวิถีของท่านแล้ว’ แต่ก็มีปัญหาอยู่ดี เพราะเราอยู่ในป่าอนุรักษ์เสียเป็นส่วนใหญ่ กว่า 415 ชุมชนอยู่ในป่าอนุรักษ์ ซึ่งมี พ.ร.บ.คุ้มครองหลายเรื่อง ซึ่งยังเป็นประเด็นปัญหาอยู่ในวันนี้” ประเสริฐกล่าว
.
แม้มายาคติจะถูกทำลายลงไป หน่วยงานรัฐมีความเข้าใจที่ดีต่อชุมชน แต่ความเหลื่อมล้ำยังคงอยู่ หากความเหลื่อมล้ำเป็นมลสาร ก็ยังเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดและส่งผลกระทบต่อการแก้ปัญหา
.
“มันมีความเหลื่อมล้ำอะไรซ่อนอยู่หรือเปล่าในจุดความร้อนที่เกิดขึ้น” บัณฑิต นิลอุดมศักดิ์ ประธานหอการค้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งคำถามและเสนอว่า การแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่าในแม่ฮ่องสอนจะต้องแก้ปัญหาที่ ‘สาเหตุ’ ที่ทำให้เกิด Hotspot
.
“การบริหารจัดการเชื้อเพลิงหรือการชิงเผาอย่างมีหลักการเป็นเรื่องจำเป็นในพื้นที่ครับ การเผาลักษณะนี้จะมีการวางแผน มีการเตรียมการณ์ เป็นการบริหารจัดการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่การเผาที่ไร้เหตุผล หรือแม้แต่การเผาเพื่อหาของป่า ซึ่งการเผาป่าเพื่อประทังชีวิตมันสะท้อนความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำด้านพื้นที่ ถ้าเขามีที่ดินทำกิน ก็ไม่จำเป็นต้องเผาเพื่อหาของป่าประทังชีวิต ผมก็เลยพยายามจะมองไปที่ต้นตอของปัญหา ซึ่งเกิดจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำด้านพื้นที่ เราสามารถเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้อย่างไรได้หรือไม่ เพื่อเข้าไปแก้ปมที่เป็นสาเหตุแท้จริง” ประธานหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าว
.
ภูมิปัญญาชาติพันธุ์กับวิทยาศาสตร์ของการดับไฟ
.
พื้นที่แม่ฮ่องสอนติดต่อกับรัฐฉาน ดร.โยธิน บุญเฉลย หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการส่วนหน้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวถึงหมอกควันข้ามแดนซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญ ปัญหาหมอกควันและไฟป่าในรัฐฉานถูกบันทึกอยู่ในนวนิยายคลาสิกเรื่อง ‘สิ้นแสงฉาน’ ของ อิงเง เซอร์เจน ซึ่งถูกเขียนมากว่า 60 ปี เรื่องแต่งในนวนิยายส่องสะท้อนกับข้อเท็จจริงที่เกิดระหว่างพรมแดนของรัฐชาติ พรมแดนระหว่างเรื่องแต่งกับเรื่องจริงนี้ยังสะท้อนให้เห็นการดำรงอยู่ของปัญหาหมอกควันไฟป่าข้ามเขตแดนที่มีมาอย่างยาวนาน
.
ดร.โยธิน กล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคเหนือในการใช้วิชาการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่าอย่างครบวงจร
.
“ในการแก้ปัญหาต้นน้ำ คือการลด PM2.5 จากแหล่งกำเนิด ซึ่งกระบวนการแก้ปัญหาก็ทำมาต่อเนื่อง เช่น การทำแนวกันไฟ การห้ามเผาในที่โล่ง แต่จุดอ่อนที่ไม่ค่อยมีคนกล่าวถึงก็คือวิถีชุมชนในเรื่องการทำมาหากินที่สัมพันธ์กับการเผา ในเมื่อเราห้ามไม่ให้พวกเขาเผาบนเขตพื้นที่สูง เรามีวิธีไหนที่จะนำเสนอต่อพวกเขา นักวิทยาศาสตร์จะต้องเข้ามาช่วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมต้องเข้ามาช่วยในจุดนี้ มีเทคโนโลยีใดช่วยย่อยสลายเศษวัชพืชทดแทนการเผาได้” หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการส่วนหน้า กระทรวง วอ. ระบุ
.
ดร.โยธิน เสนอว่า การพัฒนาระบบชลประทานบนพื้นที่สูงจะสามารถแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และตอบโจทย์ชีวิตเกษตรกร เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ให้เกิดความยั่งยืน
.
“ทำอย่างไรให้มีระบบกระจายน้ำบนพื้นที่สูง ทำอย่างไรให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งถ้ามีระบบเหล่านี้ก็จะเอื้อให้เกิดเกษตรบนที่สูงที่มีลักษณะแบบวนเกษตร เทคโนโลยีน่าจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้”
.
การเพิ่มประสิทธิภาพระบบแจ้งเตือน การสร้างและใช้ฐานข้อมูล Big Data เป็นเรื่องที่สำคัญในการแก้ปัญหาหมอกควัน รวมถึงการสร้างความตระหนักและการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีให้ชุมชน
.
“ถ้าเราลองไปคุยกับชาวบ้านจริงๆ ชาวบ้านไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา เพราะเป็นวิถีชีวิตที่ทำกันมาตลอด กระบวนการสร้างความตระหนักเพื่อทำให้เห็นผลกระทบในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงการศึกษาในมิติเศรษฐกิจ สุขภาพ การบริการจัดการองค์ความรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นเรื่องสำคัญ” ดร.โยธิน กล่าว
.
สำหรับกฎหมายและนโยบายที่จะมีผลต่อการแก้ปัญหา ดร.โยธิน ยกตัวอย่างการกำหนดมาตรฐานค่าอากาศของ PM2.5 นโยบายเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน การนำภูมิปัญญาชาติพันธุ์มาใช้ประโยชน์ในการจัดการไฟป่า
.
“ชาติพันธุ์มีภูมิปัญญาและกระบวนการจัดการไฟป่าอยู่แล้ว เช่น การปลูกพืชบางชนิด การเลี้ยงผี การทำใบตองแตบคา (หลังคาใบตองตึง) ซึ่งน่าจะถูกให้ความสำคัญ ผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา” ดร.โยธิน ระบุ
.
นอกจากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่เป็นภาคส่วนสำคัญในการแก้ปัญหา ภูมิปัญญาชาติพันธุ์ก็เป็นองค์ความรู้ที่มองข้ามไม่ได้
.
ประธานสภาพลเมือง แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า พื้นที่ป่าในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีบริบทที่แตกต่างและหลากหลาย ชุมชนในแต่ละตำบลของแม่ฮ่องสอนทั้งหมด 48 ตำบล มีอัตลักษณ์และวิถีหาอยู่หากินที่สอดคล้องกับป่า
.
“พวกเขารู้จักป่าเป็นอย่างดี สันดอยอยู่ตรงไหน ห้วยอยู่ตรงไหน ไฟป่ามักเกิดขึ้นตรงไหน ถ้าเกิดตรงนี้จะลามไปตรงไหน ภูมิปัญญาต่างๆ อยู่ในนั้นหมดเลย แต่ทุกวันนี้การสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐยังไม่ตรงกับความต้องการของชาวบ้าน ชาวบ้านต้องการเครื่องเป่า รัฐก็ให้ถังน้ำ ก็มันแบกขึ้นดอยไม่ไหว ชาวบ้านก็พูดปากเปียกปากแฉะ เขาต้องการเครื่องเป่า เราลองโยนโจทย์ไปให้ตำบลดูไหม ให้เขาคิดอ่านแก้กันไหม โดยเราสนับสนุนงบประมาณหรือสิ่งที่เขาต้องการ” ประเสริฐ กล่าว
.
กระจายอำนาจให้ชุมชนในจุดความร้อนสะสม
.
“เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดในการแก้ปัญหา” ประเสริฐกล่าวว่า ฐานคิดแบบราชการไม่สอดคล้องกับการบริหารจัดการปัญหาหมอกควันและไฟป่า
.
“ไฟป่าเป็นเรื่องของชุมชนครับ เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ เราจะต้องเอาธรรมชาติสู้กับธรรมชาติ นั่นคือใช้วิถีชุมชนแก้ปัญหา สร้างระบบชุมชนในการแก้ปัญหา อาจจะมีคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนให้เกิดระบบชุมชน โดยแยกส่วนเป็นรายตำบล เราลองให้ 48 ตำบลจัดการเขียนแผนกันเอง คณะกรรมอยู่ข้างหลัง สนับสนุนความคิด วิธีการ เทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหา”
.
ขณะที่ ดร.โยธิน มองว่า กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยที่ฐานล่างเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่า
.
“ผมคิดว่ามันจะเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม ตระหนักรู้ ตรวจสอบการทำงานภาครัฐ ซึ่งเชื่อมโยงการจัดการไฟป่า”
.
สำหรับภาคเอกชนอย่างประธานหอการค้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน มองว่า ความไม่ต่อเนื่องในการแก้ปัญหาที่สาเหตุเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาที่เรื้อรังนี้
.
“การแก้ปัญหาที่ทุกสาเหตุคือคีย์เวิร์ดสำคัญครับ สิ่งที่ต้องทำต่อก็คือความต่อเนื่องครับ ไม่ว่าผู้บริหารของจังหวัดหรือผู้บริหารภาครัฐจะเปลี่ยนอย่างไร แต่การแก้ปัญหาของภาคประชาชนต้องต่อเนื่องโดยแก้ที่ทุกสาเหตุ เราประชุมกันบ่อยครับ เสนอข้อเสนอกันก็มาก คำถามคือมันได้ถูกนำไปทำให้เกิดความต่อเนื่องหรือไม่” บัณฑิตตั้งคำถาม
.
เมื่อปีที่แล้ว เครือข่ายภาคประชาชนร่วมกันจัดทำข้อเสนอ 7 ข้อเสนอเพื่อนำไปสู่การจัดการปัญหาหมอกควันไฟป่าอย่างมีส่วนร่วมและความยั่งยืน ซึ่งในการที่ปัญหาหมอกควันและไฟป่าเวียนมาอีกครั้งเช่นทุกปี บัณฑิตได้กล่าวทวนทั้ง 7 ข้อเสนออีกครั้ง ราวกับจะเน้นย้ำคีย์เวิร์ดสำคัญ – ความต่อเนื่องในการแก้ปัญหาที่สาเหตุ
.
“การมีส่วนร่วมเป็นสิ่งจำเป็นครับ เพราะพื้นที่แต่ละแห่งมีความแตกต่าง จะแก้ปัญหาเหมือนสั่งตัดเสื้อโหลจากโรงงานไม่ได้ ชุมชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วม และทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน ก็ต้องทำให้ต่อเนื่อง ผมคิดว่าทุกวันนี้เรายังสื่อสารการแก้ปัญหาที่ทุกต้นเหตุกันน้อยเกินไป แทบทุกการประชุมที่มีอยู่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์จะพูดถึงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเสียมาก อาจจะต้องเพิ่มองค์ประชุมในการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ การส่งเสริมพืชที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนของเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม แก้ให้ครบกระบวนการ แก้ให้ถึงทุกสาเหตุในการเกิดไฟป่า เพิ่มพื้นที่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุครับ” ประธานหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าว
