Air4Thai โลกสวยด้วยแอปเดียว

ราวกับว่าประเทศไทยได้เข้าสู่วงรอบของปัญหา PM2.5 อย่างเป็นทางการ เมื่อคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร อยู่ในระดับส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ

.

กทม.แดงจัด

.

ศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประจำวันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 เวลา 07.00 น. พบค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานจำนวน 43 พื้นที่ ตรวจวัดได้ระหว่าง 38-72 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.)

.

เขตทวีวัฒนา บริเวณทางเข้าสนามหลวง 2 มีค่าฝุ่นสูงที่สุดใน 43 พื้นที่ดังกล่าว เท่ากับ 72 มคก./ลบ.ม. ขณะที่ดอนเมืองเป็นพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นน้อยที่สุด 51 มคก./ลบ.ม. ซึ่งค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศที่กำหนดโดยกรมควบคุมมลพิษ ไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.

.

ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า ในระหว่างวันที่ 8-9 ก.พ. การระบายอากาศของกรุงเทพฯไม่ดี ส่งผลต่อค่ามลพิษอากาศแย่ลง

.

เฉดสีของการสื่อสารและเพดานของอากาศไทย

.

เช้าวันเดียวกันนั้น รศ.ดร. วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้วิจัยผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ได้โพสในเฟซบุ๊กกลุ่ม ‘เครือข่ายผู้เดือดร้อนจากฝุ่น’ ถึงความไม่เป็นสากลของค่ามาตรฐานอากาศไทย เนื่องจากแอปพลิเคชันที่แสดงคุณภาพอากาศในระดับสากล ต่างก็แสดงข้อมูลในทิศทางเดียวกันว่า คุณภาพอากาศกรุงเทพฯในเช้าวันนั้นมีอันตรายต่อสุขภาพ แต่ข้อมูลจากแอปพลิเคชันของหน่วยงานกลับแสดงผลข้อมูลแจ้งเตือนเป็นสี “เหลืองและส้ม” บ่งชี้ว่าคุณภาพอากาศยังอยู่ในระดับที่ไม่อันตรายมาก

.

“มันคืออะไร?? ปรับได้แล้วครับ! ค่ามาตรฐานฝุ่นพิษ PM2.5 ของไทย และการสื่อสารความเสี่ยงต่อสุขภาพ ก่อนที่คนไทยจะเจ็บป่วยและล้มตายกันมากไปกว่านี้” รศ.ดร.วิษณุ ตั้งคำถามผ่านข้อความดังกล่าว

.

สืบเนื่องจากกรณีดังกล่าว รายการบ่ายโมงสถานีฝุ่นประจำวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ได้นำเสนอบทวิจารณ์การแสดงผลระดับความเสี่ยงต่อสุขภาพของแอปพลิเคชัน Air4Thai รวมถึงปัญหาใหญ่อย่างเพดานค่ามาตรฐาน PM2.5 ของกรมควบคุมมลพิษ

.

ปลายเดือนกันยายน 2564 WHO ได้ประกาศ ‘เกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศ’ (Air Quality Guidelines: AQGs) ฉบับใหม่ ซึ่งเป็นการปรับเกณฑ์ครั้งแรกในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่ปรับครั้งล่าสุดเมื่อปี 2548 มาตรฐานใหม่กำหนดให้ค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 ที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยจะไม่เกิน 5 มคก./ลบ.ม. จากเดิมที่ 10 มคก./ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 15 มคก./ลบ.ม. จากเดิม 25 มคก./ลบ.ม.

.

การปรับครั้งนี้ทำให้ค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ของไทยตามหลังเกณฑ์แนะนำของ WHO หลายเท่าตัว โดยปัจจุบันค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ของไทยเฉลี่ยรายปีคือไม่เกิน 25 มคก./ลบ.ม. และเฉลี่ย 24 ชั่วโมงต้องไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.

.

ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ปัจจุบันมาเลเซียมีการกำหนดค่าเฉลี่ยฝุ่นพิษ PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง คือ 35 ไมโครกรัม/ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยรายปี คือ 15 ไมโครกรัม/ลบ.ม. สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่แตกต่างกัน

.

โลกใบสวยของ Air4Thai ในวันที่ประชาชนแสบหูแสบตา

.

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา รัฐบาลมีการประกาศให้ ‘การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง’ เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ โดยคณะอนุกรรมการสื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ได้จัดทำแอปพลิเคชัน Air4Thai ขึ้นมาเมื่อปี 2563 เพื่อทำหน้าที่รายงานการตรวจวัดค่าฝุ่นละอองทั่วประเทศของกรมควบคุมมลพิษ ทั้งนี้ กรมประชาสัมพันธ์ยืนยันว่าระบบมีความแม่นยำ ถูกต้อง เพราะได้มาตรฐานสากล

.

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่เชื่อมั่นใน Air4Thai เริ่มจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกมาแจ้งเตือนประชาชน และได้สร้างเครื่องมือและเกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศ พวกเขาสร้างเครือข่ายติดตามรายงานคุณภาพอากาศกันเอง โดยไม่อ้างอิงของกรมควบคุมมลพิษ

.

หลังจากนั้น ภาคประชาสังคมได้ตั้งคำถามถึงความแม่นยำของ Air4Thai มาโดยตลอด ในปี 2563 นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Rungsrit Kanjanavanit ตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่แก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ของกรมควบคุมมลพิษ

.

เนื่องจากค่าที่แสดงใน Air4Thai เป็นค่าเฉลี่ยราย 24 ชม. ซึ่งการแปรผันของคุณภาพอากาศในแต่ละช่วงเวลาของวันผันผวนตามช่วงเวลาของวัน ข้อมูลรายชั่วโมงจะสะท้อนข้อเท็จจริงได้ตรงกว่า ประชาชนสามารถปรับกิจกรรมของตนเองได้ แต่ค่าเฉลี่ยราย 24 รายชั่วโมงแสดงภาพรวมเฉลี่ยของคุณภาพอากาศ

.

นอกจากนี้สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษยังมีเฉพาะเมืองใหญ่เท่านั้น ไม่สะท้อนค่าที่เป็นจริงตรงตามพื้นที่ที่เป็นจริงทั้งหมด บางจังหวัดมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศเพียงแห่งเดียว

.

ขณะที่ข้อมูลในแอปพลิเคชันหลีกเลี่ยงการเตือนภัยในระดับรุนแรง หรือรุนแรงมาก เมื่อผู้สื่อข่าวเข้าไปตรวจสอบรายละเอียดของข้อมูลโดยการสุ่มรายพื้นที่ กลับพบค่ามาตรฐานที่สูงกว่าข้อมูลที่แสดงบนหน้าหลักของแต่ละพื้นที่ มิพักต้องกล่าวถึงค่ามาตรฐานขั้นต่ำของเราที่สูงกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก 2 เท่าอยู่แล้ว

.

ดังนั้น ข้อความในเฟซบุ๊กของ รศ.ดร.วิษณุ ในปี 2565 ข้อความในเฟซบุ๊กของ นพ.รังสฤษฎ์ เมื่อปี 2563 จึงเป็นข้อความเดียวกันกับข้อความของบทวิเคราะห์สถานการณ์ในรายการบ่ายโมงสถานีฝุ่น นั่นก็คือข้อความที่ว่า “Air4Thai ไม่ตอบโจทย์”

.

ข้อมูลอ้างอิง
https://web.facebook.com/DustStationTH
https://web.facebook.com/wevogroup/photos/a.104749631050870/472977274228102
https://www.igreenstory.co/Air4Thai/

#เพื่อลมหายใจภาคเหนือ

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →