Dust Talk: ขบถอากาศกับการปฏิวัติ AQI

เสียงเรียกร้องดังขึ้นเรื่อยๆ ให้หน่วยงานรัฐปรับเกณฑ์มาตรฐานในการกำหนดค่าอากาศให้สอดคล้องกับสภาพปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นจริง แต่ดูเหมือนว่าสภาพของปัญหาจะเดินนำหน้าวิธีแก้ปัญหาอย่างน้อยก็ 21 ปี

.

ขณะที่ภาคประชาสังคมในประเทศไทยได้ก้าวหน้าสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยสร้างเครือข่ายร่วมกับนักวิชาการทั้งระดับภูมิภาคและระดับสากลในการแก้ปัญหาฝุ่นควันที่ไม่ได้เกิดเฉพาะประเทศไทย แต่เป็นปัญหาระดับโลก เพราะฝุ่นควันเดินทางได้โดยไม่ต้องมีหนังสือเดินทาง และไม่จำเป็นต้องกักตัวตามมาตรการการระบาด

.

รายการ Fireday Dust Talk ประจำวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 สนทนากับ อ.ดร.ว่าน วิริยา คณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มช.และ ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ

.

มาตรฐานของ AQI

.

อ.ดร.ว่าน วิริยา คณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มช. เริ่มต้นอธิบายถึงโลกของ AQI ว่า AQI: Air Quality Index หรือ ดัชนีคุณภาพอากาศ เป็นการรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศในรูปแบบที่ง่ายต่อความเข้าใจของประชาชนทั่วไป เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนได้รับทราบถึงสถานการณ์มลพิษทางอากาศในแต่ละพื้นที่ว่าอยู่ในระดับใด มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยหรือไม่

.

AQI คำนวณมาจากมลพิษทางอากาศ 6 ประเภท โอโซน ไนโตรเจนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ PM10 และ PM2.5 การรายงานคุณภาพอากาศขึ้นอยู่กับว่าแอปพลิเคชันนั้นใช้ดัชนีวัดคุณภาพอากาศจากแหล่งใด เช่น ดัชนีคุณภาพอากาศโดยสหรัฐอเมริกา ดัชนีวัดคุณภาพอากาศของจีน ดัชนีวัดคุณภาพอากาศของแคนาดา หรือแม้แต่ประเทศไทยก็มีดัชนีวัดคุณภาพอากาศเป็นของตัวเองเช่นกัน และแต่ละประเทศนั้นจะวางสีกำกับตัวเลขไม่เหมือนกัน จึงทำให้แอปพลิเคชั่นแสดงผลออกมาไม่เหมือนกัน

.

อ.ดร.ว่าน เปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างของดัชนีวัดคุณภาพอากาศระหว่างของอเมริกากับของไทย ดัชนีคุณภาพอากาศของสหรัฐอเมริกาถูกออกแบบขึ้นโดยองค์กรทางด้านสิ่งแวดล้อม United States Environmental Protection Agency (EPA) การแสดงผลของดัชนีคุณภาพอากาศนี้แสดงผลทั้งหมด 6 ระดับ

.

ถ้าดัชนีคุณภาพอากาศมีค่าสูงกว่า 101 – 150 คุณภาพอากาศจะถูกแสดงเป็นสีส้ม หมายถึงมีผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง (คนที่เป็นหอบหืด ภูมิแพ้ เด็กและผู้สูงอายุ) ถ้าดัชนีคุณภาพอากาศที่มีค่าสูงตั้งแต่ 151 – 200 คุณภาพอากาศจะถูกแสดงเป็นสีแดง หมายถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ ถ้าดัชนีคุณภาพอากาศที่มีค่าสูงตั้งแต่ 201 – 300 คุณภาพอากาศจะถูกแสดงเป็นสีม่วง หมายถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพมาก

.

ดัชนีวัดคุณภาพอากาศของประเทศไทยถูกออกแบบขึ้นโดยกรมควบคุมมลพิษ โดยแบ่งเป็น 5 ระดับตั้งแต่สีเขียวไปจนถึงสีแดง ดัชนีคุณภาพอากาศมีค่าสูงกว่า 100 แอปพลิเคชันจะแสดงผลเป็นสีส้ม หมายความว่าเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ดัชนีคุณภาพมีค่าสูงกว่า 201 ขึ้นไปหมายความว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพ

.

“เกณฑ์ของ WHO จะมีสิ่งที่เรียกว่า Interim Target เป็นเป้าหมายเฉพาะช่วงเวลาในการเปลี่ยนแปลงที่สอดรับกับสภาพของปัญหาที่ทวีความรุนแรง จะมีช่วงเวลาในการเปลี่ยนค่าเกณฑ์มาตรฐานในรอบ 5 ปีหรือ 10 ปี เหมือนเป็นการอัพเดต ซึ่ง Air Quality Guideline สำหรับค่ามาตรฐาน PM2.5 รายปีของประเทศไทยอยู่ที่ 25 มคก./ลบ.ม. พูดง่ายๆ ว่า เราอยู่ใน Interim Target ที่ 2 ของ WHO ซึ่ง Interim Target ที่ 2 นี้ก็คือปีที่หลายประเทศทั่วโลกปรับเกณฑ์เมื่อปี 2000 หรือเมื่อ 21 ปีที่แล้ว ค่ามาตรฐานของเขากับของเราห่างกัน 21 ปี ซึ่ง 21 ปีมันนานมากนะครับ” อ.ดร.ว่าน กล่าว

.

PM1.0 แนวโน้มใหม่ของโลกแห่งฝุ่น

.

นักวิชาการผู้ทำการศึกษาปัญหาฝุ่นควันผู้นี้ระบุว่า Air Quality Index อ้างอิงจากผลกระทบต่อสุขภาพ เกณฑ์ต่างๆ ล้วนมีเหตุและผลรองรับ

.

“จากการศึกษาทางวิชาการ ขนาดของฝุ่นที่ยิ่งเล็กก็จะยิ่งอันตราย เพราะมันสามารถเข้าไปในระบบทางเดินหายใจส่วนลึกของเราได้ ในช่วงเวลาที่เกิดหมอกควันในภาคเหนือ ฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า PM2.5 มีมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์นะครับ แต่ที่น่ากลัวมากกว่านั้นคือ PM1.0 ซึ่งโลกให้ความสนใจมา 5-6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งบ้านเรามี PM1.0 มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ แล้วฝุ่นที่เล็ก PM1.0 ล่ะ”

.

อนุภาค PM1.0 สามารถเดินทางไปยังบริเวณที่ลึกที่สุดของปอด ผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ของถุงลม (ถุงเล็ก ๆ นับล้านในปอดของเราซึ่ง O2 และCO2 มีการแลกเปลี่ยน) เข้าสู่กระแสเลือด ทำลายผนังด้านในของหลอดเลือดแดง เข้าสู่เนื้อเยื่อในระบบหัวใจและหลอดเลือดและอาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ ที่เลวร้ายที่สุด PM1.0 สามารถนำไปสู่โรคร้ายแรง เช่น หัวใจวาย มะเร็งปอด ภาวะสมองเสื่อม ถุงลมโป่งพองเรื้อรัง อาการบวมน้ำ และโรคร้ายแรงอื่น ๆ ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

.

“เม็ดเลือดของเรามีขนาด 5-7 มคก.แต่ฝุ่นบ้านเราเล็กกว่านั้นครับ” อ.ดร.ว่าน กล่าวว่า หลักฐานแน่ชัดว่าฝุ่นขนาดเล็กส่งผลต่อคนที่เป็นโรคหัวใจหรือโรคสมองตีบ ดังนั้น “การที่ WHO มีค่ามาตรฐานที่เข้มงวดมากขึ้นก็มาจากเหตุผลทางวิทยาศาสตร์และผลกระทบต่อสุขภาพที่อันตราย” อ.ดร.ว่าน ระบุ

.

อ.ดร.ว่าน ยืนยันว่า ในอนาคตจะโลกจะมีเกณฑ์มาตรฐาน PM1.0 แน่นอน ซึ่งจะเป็นแนวโน้มใหม่ที่ต้องจับตา

.

“ผมคิดว่าไม่เกิน 3 ปีแน่นอน เพราะบางประเทศมีแล้ว ผมคิดว่าถ้าเรามีเกณฑ์ PM1.0 ภาคเหนือมีค่าเกินมาตรฐาน PM1.0 แน่นอนครับ ตอนนี้เรามีเครื่องมือในการตรวจวัดฝุ่นนาโนแบบเรียลไทม์ ราคาประมาณ 5-6 ล้าน ที่ มช. เพื่อดูว่า ณ นาทีนั้น มีฝุ่นขนาดเล็กเพียงใด ซึ่งสามารถวัดได้ระดับนาโน”

.

ขบถอากาศ

.

หลายปีก่อน ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกมาแจ้งเตือนประชาชนถึงสถานการณ์ที่เลวร้าย และตั้งคำถามถึงระบบการรายงานข้อมูลและแจ้งเตือนภัยของแอปพลิเคชันของหน่วยงานรัฐ พวกเขามองว่าเกณฑ์มาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษสูงเกินไป จึงได้สร้างเครื่องมือและเกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศ พวกเขาสร้างเครือข่ายติดตามรายงานคุณภาพอากาศกันเอง โดยไม่อ้างอิงของกรมควบคุมมลพิษ

.

ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ เป็นหนึ่งในกลุ่มนักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามและสร้างความเปลี่ยนแปลงประหนึ่งขบถ

.

“เราเห็นว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้ในปัจจุบันค่อนข้างสูงกว่าสภาพความเป็นจริง หมายความว่า เราจะแจ้งเตือนประชาชนได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็นถ้าเรายังใช้เกณฑ์ PM2.5 ของกรมควบคุมมลพิษที่ตั้งไว้สูงมาก ก็จะทำให้ประชาชนเสี่ยงในการรับมลพิษ กว่าค่าอากาศมันจะวิ่งไปแตะถึงระดับที่เป็นอันตรายตามเกณฑ์ที่สูงมาก ประชาชนก็สูดเข้าไปตั้งนานแล้ว

.

“ทีมวิจัยของ มช.ก็ได้มารวมตัวกันด้วยเหตุนี้ครับ เรามีการพูดคุยเรื่องมาตรฐานที่เราควรจะใช้ ซึ่งเราเห็นตรงกันว่าควรใช้มาตรฐานระดับสากล ซึ่งหลายประเทศใช้กัน มีการแจ้งเตือนที่ตรงสภาพความเป็นจริง เราจึงเลือกมาตรฐานของ US EPA” ศ.นพ.ขวัญชัย กล่าว

.

CMAQHI หรือ Chiangmai Air Quality Health Index จึงเกิดขึ้นมาโดยมีเว็บไซต์ CMAQHI.org เป็นคลังรวบรวมข้อมูล

.

“ตอนนั้นเราใช้เครือข่ายที่มีก็คือคนที่ติดตั้งเครื่องวัดระดับคุณภาพอากาศที่มีอยู่เดิม แรกเริ่มเราทำครอบคลุมทุกอำเภอในเชียงใหม่ ตอนนั้นเรามีวัตถุประสงค์ที่จะรายงานคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ คือรายงานเป็นรายนาที โดยข้อมูลสะสมไว้ที่เซิฟเวอร์สถาบันวิจัยเพื่อสุขภาพ เราจะวิเคราะห์ว่าในแต่ละนาทีคุณภาพอากาศเป็นอย่างไร นอกจากดูเป็นรายนาทีแล้วเรายังสามารถดูเป็นรายชั่วโมง แต่เดิมประชาชนก็จะรู้แค่ว่า เมื่อวานนี้คุณภาพอากาศเป็นอย่างไร แต่ไม่รู้ว่าวันต่อไปจะเป็นยังไง ชั่วโมงต่อไปอากาศเป็นอย่างไร ถ้าเรารายงานคุณภาพอากาศรายชั่วโมง ประชาชนจะรู้ว่าชั่วโมงต่อไปแนวโน้มอากาศจะเป็นอย่างไร ยิ่งถ้าใช้เรียลไทม์ มันสามารถบอกรายนาทีได้เลย เราจะแสดงย่านสีแบบ US UPA แล้วก็พัฒนาเป็นแอปพลิเคชัน มีทั้ง IOS และ Android”

.

CMAQHI ขยับขยายเครือข่ายออกไปติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศ จากเชียงใหม่ไปยังจังหวัดอื่น มีเป้าหมายให้ครอบคลุมลมหายใจของคนภาคเหนือ

.

“เราได้รับการสนับสนุนจาก มช. เราใช้เครื่องที่คณะวิทยาศาสตร์เป็นผู้ผลิต เราไปติดตั้ง 200 จุดทั่วเชียงใหม่ ทำงานมา 2 ปี จนครอบคลุมเชียงใหม่ เราคิดว่าน่าจะขยายไปต่างจังหวัด ลำพูน แม่ฮ่องสอน เชียงราย เมื่อขยายเกินเมืองเชียงใหม่ เราจึงต้องเปลี่ยนชื่อเป็น NTAQHI ย่อมาจาก Northern Thailand Air Quality Health Index หมายความว่า ต่อจากนี้ภารกิจของเราไม่ใช่แค่เชียงใหม่ แต่ครอบคลุมทุกจังหวัดในภาคเหนือ

.

“ปีนี้เราตั้งใจจะขยายเพิ่มไปยังจังหวัดอื่น ก็ได้รับความอนุเคราะห์จากสภาลมหายใจภาคเหนือ สนับสนุนเครื่องวัดคุณภาพอากาศเพื่อกระจายให้ครบทุกจังหวัด เราร่วมมือกันขยายเครือข่าย คิดว่าในปีนี้น่าจะครอบคลุมครบทุกจังหวัดภาคเหนือตอนบนรวมจังหวัดตาก ก็เป็น 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน” ศ.นพ.ขวัญชัย กล่าว

.

โลว์คอสต์เซ็นเซอร์: ไม้ซีกต้องงัดไม้ซุง

.

อ.ดร.ว่าน ระบุว่า ในช่วงหลัง 5-6 ปีที่ผ่านมา เครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) แบบ Low-Cost Sensor ได้ถูกนำไปติดตั้งกระจายตัวในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น ซึ่งกระบวนการติดตั้งโลว์คอสต์เซ็นเซอร์ได้เผยให้เห็นระบบราชการที่ยังก้าวตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลง

.

“เมื่อก่อน Dust Boy ก็เผชิญกับอุปสรรคนานับประการกับระบบราชการ หน่วยราชการรวมถึงผู้บริหารประเทศยังติดกับคำถามที่ว่า โลว์คอสต์เซ็นเซอร์ได้มาตรฐานเหรอ แต่ปัจจุบันเรามีความก้าวหน้ามากขึ้น เรามีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยที่ทำโลว์คอสต์เซ็นเซอร์ ในการตรวจวัดมลพิษทางอากาศ ทำงานร่วมกับ คพ. วช.

.

“เพื่อนของผมมักจะถามว่าดูแอพไหนดี ผมก็แนะนำว่าไม่ต้องดู Air4Thai เพราะเขารายงานราย 24 ชั่วโมง ผมเเนะนะให้ดูโลว์คอสต์เซ็นเซอร์ ไม่ก็ AirVisual เพื่อสุขภาพ แต่ถ้าจะดูมาตรฐานก็ดู Air4Thai ได้เลย เราสามารถดูควบคู่ไปได้เลยครับ เลือกลักษณะการรายงานข้อมูลให้เหมาะกับความต้องการใช้ข้อมูล”

.

ปัจจุบัน เชียงใหม่มีสถานีวัดปริมาณฝุ่นขนาดใหญ่จากกรมควบคุมมลพิษมากขึ้น ทั้งจังหวัดมี 5 แห่ง อำเภอเมืองมี 3 แห่ง ที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ และดอยสุเทพ-ปุย ส่วนอีก 2 แห่งอยู่ที่อำเภอแม่แจ่มและอำเภอเชียงดาว

.

“แต่ถามว่าอมก๋อย ไชยปราการ ฝางละ ดังนั้นโลว์คอสต์เซ็นเซอร์ก็เป็นทางเลือก ต่างประเทศนิยมมานานเป็น 10 ปีแล้ว ที่ต่างประเทศมีสถานีวัดขนาดย่อมที่สามารถวัดมลพิษทางอากาศ 6 ประเภท แต่บ้านเรายังไม่มีครบทั้ง 6 ค่า ตามเสาไฟฟ้าในเมืองบลอนดอนเขาติดตั้งสถานีวัดขนาดย่อมที่เสาไฟฟ้าเลยนะครับ เรายังติดขัดหลายอย่าง การเมืองเป็นอุปสรรคตัวใหญ่เลย แต่ถ้าเราพูดถึงวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะเชียงใหม่เป็นดินแดนที่น่าสนใจในการทำวิจัยเรื่องฝุ่นมาก ใน 5-6 ปีที่ผ่านมา นาซ่า ไต้หวัน จีน ก็มุ่งมาที่บ้านเรา

.

“เชียงใหม่เป็นฮับของการวิจัยฝุ่นนะครับ หน่วยงานรัฐต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากๆ มันไม่ใช่ภาวะปกติที่เกิดขึ้น เพราะโลกตื่นตัวมาก เขาสร้างเครือข่ายทางวิชาการแล้วขยายไปทั่วโลก เราไม่ได้อยู่คนเดียว ปัญหาฝุ่นไม่ได้เกิดที่เชียงใหม่ที่เดียว ไม่ได้เกิดที่กรุงเทพฯที่เดียว แต่มันเกิดทั้งโลก เกิดในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พม่า ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย การที่โลกสนใจเรา มันหมายความว่าเรามีปัญหาและศักยภาพที่จะพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่จะแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นอย่างยั่งยืน” อ.ดร.ว่าน กล่าว

#เพื่อลมหายใจภาคเหนือ

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →