เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีวงเสวนาในหัวข้อ “สถานการณ์ ความท้าทาย และทิศทางในการบริหารจัดการไฟป่าในของประเทศไทย” จัดโดย สภาลมหายใจ เชียงใหม่, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน, คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า ประเทศไทย
.
WEVO สื่ออาสา เก็บประเด็นที่น่าสนใจมานำเสนอให้เห็นสถานการณ์ในพื้นที่ต่างๆ ในภาคเหนือ รวมถึงความท้าทายและทิศทางในการบริหารจัดการไฟป่าของประเทศไทย
.
ความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม
.
ในมุมมองของ ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการอำนวยการ สภาลมหายใจเชียงใหม่ ความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม คือประตูที่จะทำให้สังคมไทยเปิดไปพบกับปัญหาที่ตรงจุด
.
“เวลาที่เราพูดถึงคำว่า ‘ไฟป่า’ หรือ ‘ปลูกป่า’ ทำให้มุมมองของเรามีข้อจำกัดครับ” ชัชวาลย์ เริ่มต้นประเด็นด้วยนิยามของคำว่าไฟป่า “เราพบว่ามันมีทั้งไฟป่าในเมือง ไฟป่านอกเมือง ไฟป่าในประเทศเพื่อนบ้าน ไฟป่าในเมืองมีจุดกำเนิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของรถยนต์ จากโรงงานอุตสาหกรรม จากการก่อสร้าง ซึ่งเป็นวิวัฒนาการของการพัฒนาเมือง การเติบโตของภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ไฟนอกเมืองก็เป็นเรื่องของการเผาไหม้จากชีวมวล ไฟจากการเกษตร ไฟในป่า ขณะที่ไฟจากประเทศเพื่อนบ้านก็เป็นเรื่องของชีวมวลเช่นกัน”
.
ประธานคณะกรรมการอำนวยการ สภาลมหายใจเชียงใหม่ ชี้ประเด็นให้เห็นถึงระบบที่เกี่ยวเนื่องโยงใยถึงกัน
.
“เพราะฉะนั้น ผมอยากจะบอกว่าปัญหาไฟป่ามีลักษณะซับซ้อน มีลักษณะเชื่อมโยง เลื่อนไหลเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่าถ้าเราขยายมุมมองก็จะดีเยี่ยม เพราะถ้าเราไม่ขยายมุมมองเหล่านี้ มันจะเกิดอะไรขึ้นครับ มันจะเกิดความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม ผมอยากจะยกประเด็นไฟป่า เป็นประเด็นเชิงโครงสร้างมากขึ้น ปัญหาเชิงนโยบายมากขึ้น ไม่ใช่ไฟป่าในภาคปฏิบัติเพียงอย่างเดียว”
.
ความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม ได้ทำให้เกิดการตีตราและเหมารวมว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะคนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งทำให้สังคมละเลยการมองปัญหาที่ตรงจุด
.
“เราจะพบว่า ข้อมูลและสถิติในพื้นที่การภาคเกษตร พื้นที่ป่า พื้นที่ชุมชน เรามีละเอียดมาก แต่เราไม่สามารถจับจุดฮอตสปอตในเมืองได้ รถยนต์ที่เคลื่อนที่ไปไม่ต่างอะไรกับไฟหนึ่งกอง ซึ่งปล่อย PM2.5 ไม่ต่างกัน หรือโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยฝุ่นควันตลอดเวลา แต่เราไม่รู้เลยว่ามันส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศอย่างไร GISTDA ก็จับไม่ได้ ผมก็อยากจะฝาก GISTDA เรื่องพัฒนาเทคโนโลยีการจับฝุ่นควันในเมืองให้ละเอียดขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นปัญหาคืออะไรครับ พี่น้องในภาคเกษตร พี่น้องบนดอยก็จะตกเป็นจำเลยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอยู่ร่ำไป”
.
เนื่องจากความซับซ้อนของปัญหา ชัชวาลย์ มองว่า บทบาทของหน่วยงานรัฐแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะระบบงานของราชการแบ่งแยกอย่างเป็นเอกเทศ ขณะที่ปัญหาไฟป่าเป็นปัญหาแบบบูรณาการ
.
“สภาลมหายใจมองว่า จุดคานงัดที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ ก็คือการรวมพลังของทุกภาคส่วน แล้วใช้ศักยภาพของทุกภาคส่วนเข้ามาแก้ปัญหา มันจะทำให้การมองปัญหารอบด้าน หรือมองเห็นช้างทั้งตัวได้ เพราะบางคนยืนอยู่บนหูช้าง บางคนยืนอยู่บนงาช้าง มันไม่สามารถมองเห็นช้างทั้งตัวได้ ผมคิดว่าการทำงานร่วมกันจะทำให้เกิดการมองเป็นองค์รวม ที่สำคัญคือการมองเห็นดาวดวงเดียวกันหรือเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น”
.
ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการ สภาลมหายใจเชียงใหม่ เขาเสนอว่า “ให้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ชุมชนเป็นแกนหลัก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นแกนประสาน รัฐและภาคธุรกิจเป็นองค์กรสนับสนุน เพราชุมชนอยู่ติดดินติดป่าติดน้ำ เพราะฉะนั้นความรู้ การใช้ประโยชน์ และการสร้างปัญหาอยู่ตรงนี้หมดเลย ถ้าชุมชนไม่ลุกขึ้น ท้องถิ่นไม่สนับสนุน รัฐและเอกชนไม่ยื่นมือ ผมว่ามันไม่ได้ ต่อให้นโยบายดีขนาดไหนก็ไปไม่ได้ครับ ผมคิดว่าประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเป็นเรื่องใหญ่”
.
Zero Burning ไม่ตอบโจทย์
.
สำหรับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบ Zero Burning ชัชวาลย์ มองว่า เป็นวิธีการจัดการที่ไม่สอดคล้องกับความจริง เพราะไฟมีหลายประเภท มีทั้งไฟจำเป็นและไฟไม่จำเป็น ซึ่ง “ไฟที่ไม่จำเป็นก็ต้อง Zero Burning แต่ไฟที่จำเป็นของชาวบ้านของชุมชน เราต้องบริหารจัดการเชื้อเพลิงให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด”
.
ชัชวาลย์ กล่าวว่า การกระจายอำนาจเป็นสิ่งจำเป็นในการแก้ปัญหา เพราะชุมชนมีศักยภาพที่จะจัดการปัญหาให้สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดในบ้านของตัวเอง
.
ขณะที่ บัณรส บัวคลี่ แห่งสถานีฝุ่น กล่าวถึงแนวโน้มการบริหารจัดการไฟของโลกว่า แนวคิดเรื่อง Prescribed Burning เป็นเทรนด์ที่หลายเมืองทั่วโลกกำลังใช้ในการจัดการไฟป่า ซึ่งพิจารณาถึงปัจจัยทางสภาวะของอุตุนิยมวิทยา
.
“เราจะเห็นว่าการบริหารจัดการเชื้อเพลิงของภาครัฐในหลายจุดที่ผ่านมามักจะเกิดขึ้นในเวลากลางคืน ซึ่งไม่สอดคล้องกับการระบายของอากาศ เรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านการจัดการปัญหาไฟป่า คนส่วนใหญ่ของภาครัฐยังเชื่อว่าห้ามเผาเด็ดขาด คนที่อยู่กรุงเทพฯบางคนสั่งการมาว่า ห้ามมีไฟ ดังนั้น KPI ก็เลยเป็นแบบนี้ หน่วยงานราชการก็เลยใช้ Hotspot เป็น KPI ไม่ได้ดูเรื่องการบริหารจัดการเป็นหลัก มันจึงต้องมีการสร้างองค์ความรู้เพื่อเปลี่ยนแปลง เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เรื่องยาว ยังไม่จบง่ายๆ”
.
บรรณาธิการสถานีฝุ่น กล่าวว่า แนวโน้มในปี 2565 การบริหารจัดการไฟน่าจะเป็นหัวข้อในการถกเถียงพูดคุยอย่างจริงจัง ชุดความรู้และความเข้าใจในระบบการจัดการไฟของโลกกำลังเปลี่ยน แม้ว่าภาครัฐจะเริ่มปรับตัวด้วยการผ่อนปรนมาตรการ Zero Burn ลง นี่คือสัญญาณของการขยับเพื่อเปลี่ยนแปลง แต่ก็เป็นการขยับในจังหวะที่เชื่องช้า
.
บทบาทที่สำคัญของ GISTDA
.
อนุสรณ์ รังสิพานิช ผอ.สำนักพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ GISTDA กล่าวว่า บทบาทของ GISTDA คือการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมสนับสนุนการดับไฟป่าของเจ้าหน้าที่ และข้อมูลยังเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง
.
นอกจากข้อมูล Hotspot อนุสรณ์กล่าวว่า GISTDA ได้ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดปานกลางมาแปลเป็นภาพแสดงพื้นที่เกิดไฟป่า ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการสามารถมองเห็นพื้นที่ที่เกิดไฟจริง
.
จากการทำงานกับข้อมูลในฐานะผู้อำนวยการ GISTDA เขามองว่า ปัจจัยของสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เป็นปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม เพราะมีผลต่อการเกิดไฟป่าและหมอกควัน
.
“สถิติการเกิดไฟป่าจากดาวเทียมโมดิส ตั้งแต่ปี 57-65 ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ ฮอตสปอตในพื้นที่จังหวัด โดยรวมแล้วเฉลี่ยประมาณปีละ 14,000 จุด ซึ่งจะมีปีที่ฮอตสปอตน้อยกว่าปกติอยู่ 2 ปี ผมเชื่อว่าปรากฎการณ์เอลนีโญกับลานีญามีผลต่อฮอตสปอตพอสมควร ปีไหนที่มีฝนในฤดูร้อนก็จะทำให้ปริมาณฮอตสปอตลดลง”
.
เมื่อเปรัยบเทียบข้อมูลจุดความร้อนสะสมของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน จะพบแนวโน้มที่น่าสนใจ “ปีไหนที่จุดฮอตสปอตของไทยลดลง จุดฮอตสปอตของพม่าก็ลดลงด้วย มันไปในทิศทางเดียวกันครับ บางครั้งการลดลงมันไม่ได้เกิดจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง มันเกิดจากปรากฎการณ์ลานีญาด้วย เพราะอย่างปี 2564 ประเทศไทยเราลดลงเยอะ แต่พม่ายังสูง ก็แสดงว่าปัจจัยที่เราร่วมไม้ร่วมมือร่วมกัน ก็น่าจะมีผลต่อจุดฮอตสปอตที่ลดลง ซึ่งเราบอกชัดเจนไม่ได้นะครับ แต่ข้อมูลมันทำให้เห็นแนวโน้มบางอย่าง”
.
ข้อมูลที่ GISTDA กำลังศึกษาและพัฒนาคือการติดตามและคาดเดาทิศทางของไฟ ขณะนี้อยู่ในช่วงการวิจัยในหัวข้อ ‘การพัฒนานวัตกรรม และเว็ปแอปพลิเคชัน แสดงการคาดคะเนการลุกลามของไฟป่า จากข้อมูลจุดความร้อน (Hotspot) ในประเทศไทย’
.
“เมื่อไฟเกิดขึ้นแล้ว เราอยากจะรู้ว่ามันจะไปที่ไหนต่อ เพื่อตามไปดับได้อย่างมีประสิทธิภาพ” อนุสรณ์ กล่าว และอธิบายว่า “ถ้าใครจำได้ว่าเกิดไฟไหม้บนภูกระดึงปี 63 สังเกตว่าจุดสีเหลือเป็นบริเวณที่ไฟไหม้ ส่วนสีแดงนั่นคือจุดฮอตสปอต ถ้ามองดีๆ กลุ่มของฮอตสปอตมันลุกลามไปเรื่อยๆ เรามองว่าถ้าเราเอาข้อมูลมาจับกลุ่ม แล้ววิเคราะห์รายวันก็จะเห็นการเคลื่อนตัวของจุดความร้อน ถ้าเราเห็นได้เร็วขึ้นก็จะรู้ว่าฮอตสปอตเคลื่อนไปตรงไหน ในแต่ละวันไฟมีการเคลื่อนตัว เราจะใช้ดาวเทียมอีกสองตัวมาช่วยวิเคราะห์ คือ Suomi-NPP กับ NOAA-20 ซึ่งวิ่งเวลาต่างกัน 50 นาที เราใช้วิเคราะห์ร่วมกัน” ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว
.
ประเด็นสำคัญที่อนุสรณ์ได้นำเสนอก็คือ อินเวอร์ชัน (Inversion) หรือ “การผกผันของอุณหภูมิ” ซึ่งเป็นเงื่อนไขทางอุตุนิยมวิทยาที่สำคัญที่จะช่วยทำให้การบริหารจัดการเชื้อเพลิงมีประสิทธิภาพ
.
“ถ้าเรารู้ว่าช่วงเวลาไหนเกิดอินเวอร์ชัน เราก็ไม่ทำให้เกิดไฟในช่วงนั้น หรือกลับกันถ้าเรารู้ว่าช่วงไหนไม่มีอินเวอร์ชัน เราก็บริหารเชื้อเพลิงในช่วงนั้น เพราะไฟไม่ใช่ปัญหา แต่หมอกควันต่างหากที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพประชาชน”
.
ในมุมมองของผู้อำนวยการ GISTDA มาตรการจัดการเชื้อเพลิงจะเน้นมาตรการการปกครอง ซึ่ง “มันได้ผลระยะสั้น ผมคิดว่าแผนด้านเศรษฐศาสตร์จะเป็นประโยชน์ในระยะยาว เช่น การจัดการอ้อย จะเห็ว่ามาตรการที่รับซื้ออ้อยที่มาจากไร่ที่มีการเผาในราคาต่ำมีส่วนจูงใจการเผาในการเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยมาก” อนุสรณ์ ระบุ
.
เรื่องเล่ารอบกองไฟป่า
.
ประนอม เชิมชัยภูมิ ประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า สิ่งแรกที่จำเป็นต้องเข้าใจร่วมกันคือคำว่า ไฟ ฝุ่น สภาวะอากาศ
.
“สามคำนี้หลายคนเอามาปะปนกัน เลยมองปัญหาไม่ออก องค์กรชาวบ้านมองไฟ 2 ส่วน ไฟในพื้นที่การเกษตร ชาวบ้านมองว่า การจัดการไฟในพื้นที่การเกษตรเป็นส่วนหนึ่งของระบบการผลิต ผมยืนยันว่า ในพื้นที่เกษตร ต้องมีการบริหารไฟอย่างเหมาะสม ซึ่งการบริหารจัดการเชื้อเพลิงเป็นเรื่องที่แสดงว่า ภาครัฐเริ่มเข้าใจชุมชนมากขึ้น
.
“ไฟในป่า เรื่องนี้หลายท่านคงได้รับรู้ว่า ชาวบ้านมองว่าไฟในป่าของเรา เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ การสร้างความสมดุลในื้นที่ป่า คำโบราณที่ ‘ไฟมา ป่าเป่ง มดแดงเต้ง ผักหวานโป่ง ฝนลง เห็ดถอบออก หญ้างอก งัวเล็ม’ หมายถึง ไฟคือส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ หลายพื้นท่ี่ยืนยันหากไม่เกิดไฟป่าสัก 3 ปี เชื้อเพลิงจะสะสมหนาขึ้น ถ้าไฟป่าเกิดทีฝุ่นควันจะมาก ต้องเข้าใจว่าไฟป่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ”
.
ประนอม เสนอว่า หน่วยงานและประชาชนจะต้องจัดกระบวนการในการร่วมมือกันแก้ปัญหา และต้องทำควาเข้าใจปัญหานี้ร่วมกัน ว่าปัญหาไฟป่าและหมอกควันมีความสัมพันธ์กับเรื่องสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง
.
“สิ่งที่เชียงรายกำลังขับเคลื่อนคือ เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน เป็นองค์กรในการขับเคลื่อนในการประสานให้เกิดความร่วมมือกันในสามสี่ส่วน เราเลือกพื้นที่ดอยผาหม่น เป็นพิ้นที่ทำงานนำร่อง เพราะเป็นพื้นที่นี้ถูกสังคมตีตราว่าเป็นจำเลย เราจะพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้านดอยยาว-ดอยผาหม่น ในฐานะพื้นที่ปฏิการนำร่อง”
.
ตัวแทนจากจังหวัดลำพูน กล่าวให้ฟังถึงสถานการณ์การจัดการไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่จังหวัดลำพูนว่า ลำพูนมีป่าชุมชน 300 กว่าแห่ง ซึ่งป่าชุมชนแต่ละแห่งจะมีคณะกรรมการประจำป่าชุมชน ซึ่ง “เรามองว่าน่าจะเป็นกลไกสำคัญ เวลามีฮอตสปอตเกิดขึ้น เราใช้ฐานข้อมูลของ GISTDA ส่วนการปฏิบัติงาน คนในท้องที่ กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกับท้องถิ่น ได้แก่ อบต. เทศบาล ในการร่วมกันจัดการไฟป่า”
.
ดูเหมือนว่าวิถีชุมชนจะมีศักยภาพในการดูแลป่า วิชิต ถิ่นวัฒนากูล ที่ปรึกษามูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา จึงมองว่า การออก พ.ร.บ.ป่าชุมชน เป็นเรื่องผิดพลาดหนึ่งของรัฐ
.
“เพราะชุมชนมีระบบการบริหารจัดการป่ามาแต่ดั้งแต่เดิมแล้ว พอรัฐไปรวบอำนาจไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยกันพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ พื้นที่ป่าสงวน ชุมชนก็เลยมีความรู้สึกเป็นเจ้าของน้อยลง ปัญหามันก็เลยเกิด ชาวบ้านอยู่กับป่ามาตลอด เขารู้จักป่าเหมือนรู้จักร่างกายตัวเอง แล้วก็รู้ว่าใครเป็นคนหากินกับป่า พอถูกรวบอำนาจ การมีส่วนร่วมใของเขากับป่าก็น้อยลง ความชอบธรรมในการไปเจรจา ไปเฝ้าระวังมันน้อยลง ข้อเรียกร้องข้อหนึ่งก็คือควรจะมีการกระจายอำนาจกลับคืนมาให้ชุมชน ให้ชุมชนเป็นเจ้าของ”
.
วิชิตกล่าวทิ้งท้ายว่า เกษตรกรเมืองพะเยากำลังหาวิธีการลดเชื้อเพลิงทางการเกษตร เพราะพะเยามีนาข้าวเยอะ รวมถึงพื้นที่พืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด
.
“เราหานวัตกรรมการแปรรูปเศษวัสดุทางการเกษตรเหล่านี้ ซึ่งมันจะเป็นการลดเชื้อเพลิง ที่จะเป็นต้นเหตุของปัญหาฝุ่นควันลงได้” วิชิตกล่าว
.
ตัวแทนของจังหวัดน่าน กล่าวว่า ข้อมูลของ GISTDA และการเคลื่อนไหวภาคประชาชน มีส่วนในการขยับแนวทางการแก้ปัญหาของน่าน ให้เกิดความร่วมมือทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และชาวบ้าน
.
“น่านเปลี่ยนแปลงเยอะครับ เมื่อก่อนคนในเมืองสนใจประเด็นมลพิษที่กระทบต่อการท่องเที่ยว หมอกควันบดบังทัศวิสัยของเครื่องบิน ขณะที่ภาคเกษตรกรมีความเคลื่อนไหวใหญ่พอสมควร กลุ่มป่าชุมชน กลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการหยุดยั้งไฟป่า กิจกรรมของเขาอาจไม่ได้เชื่อมโยงกับป่าโดยตรง แต่ก็อย่างที่หลายคนทราบว่าปัญหานี้เชื่อมโยงถึงกันอย่างแยกไม่ออก การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพจึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาไฟป่าและหมอกควัน”
.
ตัวแทนจากจังหวัดน่านยังกล่าวถึงแนวโน้มที่สำคัญอีกประการ นั่นคือพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้แก่เกษตรกร เป็นแนวกันไฟโดยปริยาย
.
“ในกลุ่มเกษตรกร มีพืชที่เป็นพืชเศรษฐกิจของชาวบ้าน ยางพารา กระท่อม ที่ทำให้เขาดูแลป่าไปโดยปริยาย ในแปลงเกษตรผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า เขาจัดการในขอบเขตของเขา มันจึงไม่เกิดการลุกลาม เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของชาวบ้านและเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของคนในเมือง แต่เขาไม่ได้พูดภาษาเดียวกับเราเท่านั้นเอง แต่มันเป็นปัญหาเดียวกัน เขาพูดเรื่องการท่องเที่ยว แต่เรามีจุดเชื่อมโยงเดียวกัน เรื่องอากาศ และสุขภาพ”
