Dust Talk: ดร.เจน ชาญณรงค์ บ้านก้อแซนด์บ๊อกซ์ ภารกิจดับไฟป่าที่ความจน

บ้านก้อ ตำบลก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นหมู่บ้านที่ประสบปัญหาไฟป่ามากที่สุดในประเทศ ตลอด 22 ปีที่ผ่านมาพื้นที่อุทยานแม่ปิงที่ล้อมรอบบ้านก้อเกิดไฟป่าสูงสุดถึงกว่า 20 ครั้ง คิดเป็นพื้นที่ป่ากว่า 300,000 ไร่ทุกปี แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่บ้านก้อ

.

รายการ Dust Talk ประจำวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ได้พูดคุยกับ ดร. เจน ชาญณรงค์ ในฐานะประธานชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ซึ่งผลักดันโปรเจ็กต์ “บ้านก้อแซนด์บ๊อกซ์” นำสหวิชาการเข้าไปเรียนรู้ปัญหาไฟป่าและ PM2.5 ในหมู่บ้านก้อที่ตั้งอยู่ใจกลางอุทยานแห่งชาติแม่ปิง

.

ดร.เจน เรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดลไปศึกษาต่อปริญญาโท สาขาวิศวกรรมเครื่องกลและปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมการผลิตที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) สหรัฐอเมริกา จากนั้นกลับมาเป็นอาจารย์ ทำงานในอุตสาหกรรมการบิน ปัจจุบันทำงานอยู่ในภาคเอกชน

.

ความสนใจเรื่องลมฟ้าอากาศและฝุ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเจอทุกวันเมื่อครั้งทำสายการบิน แล้วถ่ายทอดความสนใจนี้ให้ออกมาเป็นข้อมูลที่สื่อสารง่ายในเพจ ฝ่าฝุ่น

.

บ้านก้อเป็นพื้นที่หนึ่งที่น่าสนใจ จากหมู่บ้านที่แห้งแล้งกลายเป็นหมู่บ้านที่มีการบริหารจัดการน้ำ จากหมู่บ้านที่เกิดไฟป่าใหญ่มาตลอด ตอนนี้พวกเขาควบคุมเพลิงเอาไว้แล้ว

.

ก้อ: หมู่บ้านในเงาฝน

.

“ผมเดินทางไปที่ก้อครั้งแรกเดือนกรกฎาคม 2562” ดร. เจน เกริ่นถึงช่วงเวลาก่อนที่โปรเจ็กต์ “บ้านก้อแซนด์บ๊อกซ์” จะถือกำเนิด

.

“ก่อนนั้นผมไม่รู้จักหมู่บ้านก้อเลยนะครับ ชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดลเข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพฯ ท่านก็เล่าเรื่อง PM2.5 ว่าเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ชมรมฯส่งนักเรียนไปเรียนต่างประเทศมายาวนาน แต่ยังไม่เคยทำอะไรร่วมกันเลย จากจุดนี้เราน่าจะร่วมมือกันแก้ปัญหา PM2.5 เพราะเรามีสหวิชาชีพประมาณ 400 คน”

.

เนื่องจากเคยทำงานในอุตสาหกรรมการบิน ดร.เจน ได้คลุกคลีกับปัจจัยที่แวดล้อมปัญหา PM2.5 มาโดยตลอด จึงเริ่มที่จะเพ่งมองมันและศึกษาอย่างจริงจัง

.

“หลังจากศึกษาภาพถ่ายดาวเทียมไปมากๆ ดูภาพถ่ายดาวเทียมย้อนหลัง 20 ปี ก็พบว่าที่ก้อมีปัญหาเยอะมาก แดงฉานไปทั้งอุทยานแห่งชาติแม่ปิง เราก็เริ่มเข้าไปศึกษาปัญหาที่ก้อ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิงล้อมรอบไว้”

.

สิ่งแรกที่ทีมนักวิจัยค้นพบก็คือ การเผาป่าคือสัดส่วนจำนวน 70 เปอร์เซ็นต์ของการเผาในที่โล่ง “เราจึงเข้าไปหาสาเหตุว่าอะไรที่ทำให้เกิดไฟป่าเยอะขนาดนี้ นี่คือสาเหตุที่พาเราเข้าไปที่บ้านก้อ” ดร.เจน บอก

.

หมู่บ้านก้อตั้งอยู่ใจกลางพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง ชาวบ้านยากจน ข้าวโพดเป็นพืชหลักของเกษตรกร ดร.เจน ทำความเข้าใจว่าเพราะอะไรทุกบ้านจึงปลูกข้าวโพด

.

“พื้นที่ของก้ออยู่ในพื้นที่เงาฝนครับ” แอดมินเพจ ฝ่าฝุ่น บอก “ฝนในหมู่บ้านจะมีปริมาณ 500 มิลลิเมตรต่อปี ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงนิยมปลูกข้าวโพด เพราะข้าวโพดไม่ต้องการน้ำมาก และไม่ต้องการการดูแลมาก”

.

ดร.เจนและทีมนักวิจัย ค่อยๆ พูดคุยกับชาวบ้าน เข้าไปช่วยดับไฟหลายครั้ง พยายามทำความเข้าใจบริบทของพื้นที่ จนเข้าใจรูปแบบชีวิตชาวบ้านก้อมากขึ้น

.

“เราพบว่าใน 1 ปีพวกเขาจะไม่มีอาชีพในช่วงฤดูแล้งเป็นเวลา 6 เดือน เพราะปลูกอะไรก็ตายหมด ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงต้องเข้าไปหาของป่า ซึ่งเป็นป่าเต็งรัง อุทยานแห่งชาติแม่ปิงเป็นป่าเต็งรัง 80 เปอร์เซ็นต์ ในฤดูแล้งต้นไม้จะทิ้งใบลงหมดทั้งป่า ฉะนั้นผืนป่าในแม่ปิงก็จะเต็มไปด้วยใบไม้ มันก็พร้อมจะติดไฟ แล้วพอชาวบ้านไม่มีอาชีพ เขาก็เข้าไปในป่า ซึ่งการจุดไฟเผามันเป็นวิธีที่ง่ายสำหรับเขา” ดร.เจน เล่า

.

ไฟใหญ่ที่เกิดขึ้นทุกปีบนภาพดาวเทียมบริเวณอุทยานแห่งชาติแม่ปิงจึงมีสาเหตุหนึ่งเพราะความจน การจะดับไฟป่าที่ยั่งยืนจึงต้องเข้าไปดับที่ความจน

.

ปลดล็อกกฎหมายที่ดินทำกิน

.

“วิธีแรกในการแก้ปัญหาคือการแก้เรื่องสิทธิในที่ทำกิน เรื่องกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องยาก และเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศ ” ดร.เจน เล่าถึงปมแรกที่เข้าไปปลด “แต่บังเอิญว่าในปี 2562 มีการเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ เราก็เลยใช้มาตรา 64 ที่ให้สิทธิชาวบ้านในการทำกินในพื้นที่อุทยาน ชาวบ้านสามารถเข้ามาทำการเกษตรในพื้นที่ของอุทยานได้”

.

พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 กำหนดในบทเฉพาะกาล มาตรา 64 ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่ทำกินภายในเขตอุทยานแห่งชาติ เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินผ่านการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

.

“พอเริ่มปลดล็อกเรื่องกฎหมาย สิ่งแรกที่เราทำคือเรื่องน้ำ เพราะพื้นที่อยู่ในเขตเงาฝน ป่าก็เผาเสียจนไม่เก็บน้ำ มันต้องเริ่มพัฒนาน้ำ ขณะเดียวกันไฟป่าก็เยอะ ปี 62 เกิดไฟป่า 2.7 แสนกว่าไร่ ปี 63 ลดลงมาเหลือ 1.7 แสนไร่ พื้นที่ก้ออยู่ติดเขื่อนภูมิพล เราก็เริ่มขุดบ่อบาดาล ประกอบกับโครงการน้ำบาดาลพระราชดำริ ก้อเป็น 1 ใน 10 หมู่บ้านของประเทศที่ประสบภัยแล้ง ในหลวงพระราชทานโรงงานน้ำ ดูดน้ำใต้ดินใส่ถังแล้วถ่ายไปยังระบบประปา จากที่เคยขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ก็เริ่มมีน้ำใช้”

.

นอกจากนี้ ยังมีการขุดบ่อวงตามพื้นที่ตามมาตรา 64 ของ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ประมาณ 33 บ่อ ซึ่งพื้นที่ตามมาตรา 64 ของชาวบ้านก้อมีอยู่ 2,500 ไร่

.

“พื้นที่มาตรา 64 เป็นพื้นที่ราบ ห้วยก้อไหล่ผ่านลงแม่น้ำปิง ไหลไปรวมกันที่เขื่อนภูมิพล เป็นที่ที่อุดมสมบูรณ์นะครับ เพราะเวลาน้ำเขื่อนขึ้นสูงมันจะท่วมแถบนี้ ดินแถบนี้จะเป็นดินตะกอน แต่มันมีความเสี่ยงนิดหน่อย ถ้าน้ำสูงมากมันจะท่วม แต่ถ้าเราไปดูสถิติ เขื่อนภูมิพลขึ้นสูงสุดไม่กี่ครั้งตลอดช่วงเวลา 60 ปีที่ผ่านมา ประมาณ 5 ครั้งที่น้ำขึ้นสูงสุด โดยเฉลี่ยก็ 12 ปีต่อครั้ง เราก็เลยไม่กังวลเท่าไหร่ แต่เราอาจจะไม่สามารถปลูกไม้ยืนต้น เพราะมันเป็นที่ที่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม แต่ตามมาตรา 64 เราต้องปลูกต้นไม้นะครับ เราจึงไปปลูกด้านข้าง เป็นป่าที่เสื่อมโทรมแล้ว เป็นที่ที่สูงกว่าน้ำเขื่อน” ดร.เจนเล่า

.

สิ่งแปลกปลอมที่เรียกว่า ‘น้ำ’

.

จากหมู่บ้านในเงาฝนที่แล้งน้ำ ก้อกลายเป็นหมู่บ้านที่พอจะมีน้ำเข้ามาหล่อเลี้ยงทั้งการอุปโภคและบริโภค และน้ำภาคการเกษตรก็เป็นโปรเจ็กต์ที่ทำให้ทุกคนมีความหวัง แต่ชาวบ้านก้อกลับตื่นน้ำ มองน้ำเป็นสิ่งแปลกปลอม

.

“เราในฐานะนักวิชาการก็ไม่เข้าใจ เพราะมีน้ำแล้วแต่ไม่มีใครใช้ เปิดฝาดูก็เห็นน้ำอยู่ก้นบ่อ เราสูบขึ้นมาใส่ถังให้ แต่ชาวบ้านก็ยังนิ่งๆ อยู่ สุดท้ายเราก็พบว่า มันไม่ใช่แค่การเปิดก็อกน้ำแล้วน้ำไหลนะครับ น้ำมันเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงชีวิตเขา เมื่อลองมองในมุมเขาก็พบว่าครอบครัวจะทะเลาะกันระหว่างคนรุ่นเก่ากับคุนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่เห็นน้ำก็อยากปลูกนั่นปลูกนี่เต็มไปหมด แต่คนรุ่นเก่าจะปลูกข้าวโพด ก็ทะเลาะกันไปพักหนึ่ง คำตอบที่เราได้ก็คือเราจะแบ่งที่มาส่วนหนึ่งแล้วทดลองก่อนดีกว่า คนรุ่นใหม่ก็เริ่มทดลองในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ เขาก็ปลูกผักนานาชนิดที่อยากปลูก ปรากฎว่าสักพักมันได้ผล เพราะมันมีน้ำ ปลูกอะไรก็ขึ้น คนรุ่นเก่าก็ค่อยๆ กลับมาช่วย ในที่สุดก็เป็นเรื่องของการค่อยๆ เปลี่ยนแปลง

.

“คนที่ปลูกข้าวโพดเขาอยู่ในวัฎจักรเงินกู้ ยิ่งทำยิ่งขาดทุน เพราะผลตอบแทนสุทธิติดลบ หนี้สินคนปลูกข้าวโพดพะรุงพะรัง การที่เขาจะออกมาจากวัฎจักรเงินหมุนมันไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่เรื่องน้ำเรื่องเดียว ไม่ใช่ว่ามีน้ำแล้วเขาจะเปลี่ยนแปลงเลย มันเป็นการลงทุนกับพืชใหม่ๆ ที่เขาไม่รู้จัก มันก็เป็นความเสี่ยง ความกลัว ถ้าเรามีสัก 2-3 ครอบครัวที่ทำสำเร็จ มันจะทำให้ครอบครัวอื่นกล้าที่จะออกมาจากระบบการผลิตแบบเดิม เราต้องให้เวลาเขา”

.

เผาป่าล่าสัตว์

.

“ปี 63 เราพยายามทำความเข้าใจพฤติกรรมไฟ เราไปถามชาวบ้าน ชาวบ้านบอกเจ้าหน้าที่จุด ไปถามเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่บอกชาวบ้านจุด” ซึ่งตลกร้ายเรื่องนี้ ดร.เจนเฉลยว่า “ทุกคนก็พูดความจริงนะครับ แต่เส้นแบ่งระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้านมันบางมากๆ เพราะเจ้าหน้าที่ก็คือชาวบ้านในหมู่บ้านนี่แหละ ถอดเครื่องแบบออกก็เป็นชาวบ้าน เราก็พยายามเข้าให้ถึงเขา ในหลวงสอนให้เข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา เราค้นพบว่าไฟในปี 63 ไม่ลดเลย เพราะเราเข้าไม่ถึงใจชาวบ้าน เข้าไม่ถึงใจเจ้าหน้าที่”

.

ภารกิจการเข้าถึงหัวใจของชาวก้อจึงเป็นภารกิจหลักของทีมนักวิจัย

.

“เราใช้เวลาทั้งปี เอาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับไฟ คนจุดไฟ คนดมควัน ฝ่ายปกครอง จนกระทั่งปีนี้เขาตกลงกันว่า เราลองชะลอการชิงเผาไหม? ขอเวลา 2 ปี ปีนี้ราชการเลยหยุดการบริหารเชื้อเพลิง” ดร.เจน บอก

.

ชาวบ้านก้อมีฉันทมติร่วมกันในเรื่องไฟป่า พวกเขาไม่อยากให้เกิดไฟป่าที่จะก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ จนกระทั่งสถานการณ์ไฟป่าพื้นที่บ้านก้อดีขึ้น เรียกได้ว่าพวกเขาสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีพอสมควร

.

“ปีนี้ยังไม่มีไฟเลยครับ ซึ่งทุกปีในช่วงนี้จะต้องมีไฟแล้ว ซึ่งอาจจะมีบ้างเล็กน้อย แต่เราก็มีทีมอาสาสมัคร วัยรุ่นในหมู่บ้านก็เข้ามา เราควบคุมไฟได้แล้ว แต่กลับกลายเป็นว่า เราค้นพบว่ามีไฟมาจากข้างนอก”

.

แต่เมื่อน้ำลดตอผุด หลังจากการชะลอการบริหารจัดการไฟในพื้นที่ ไฟที่เกิดจึงส่องสว่างให้มองเห็น

.

“ไฟข้างนอกมันมาตามหน้าผา ไม่สามารถดับได้ครับ เพราะเป็นที่สูง รูปแบบของมันแปลก มันจะมีหุบเขาที่มีร่องน้ำตรงกลางที่ไหลลงแม่น้ำปิง ต้องบอกว่าพื้นที่เราสูงชันนะครับ ขอบภูเขาอยู่สูงกว่าแม่น้ำ 600 เมตร ก็คือตึกใบหยกสองตึกต่อกัน เราอยู่สูงกว่ามาก เราพบว่าในห้วยที่ไหลมีลักษณะเป็นหุบๆ เป็นเวิ้งของสันเขาที่มีห้วยตรงกลาง ซึ่งมีไฟในห้วยบ่อยๆ มีลักษณะเหมือนการเผาต้อนสัตว์ลงมา มันวิ่งมาตามห้วย เพราะตามสัญชาตญาณของสัตว์ก็จะวิ่งหนีมาที่แม่น้ำ แล้วเราก็พบว่ามีนายพรานยืนรอพร้อมปืน มันก็ทำให้เราเห็นปัญหาใหม่ แถวนี้มีการล่าสัตว์เยอะมาก ซึ่งเป็นสัตว์ที่หายาก ละมั่ง เลียงผา เป็นสัตว์สงวนบนพื้นที่สูง การจุดไฟเผ่าป่าก็ทำให้สัตว์เหล่านี้หนีลงมา”

.

นอกจากการล่าสัตว์ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ดร.เจนยังพบลักษณะการล่าสัตว์ลักษณะนี้ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อยและแม่ตื่น ซึ่งเป็นพื้นที่ข้างเคียง

.

“บริเวณทุ่งกิ๊ก ซึ่งเป็นหัวใจต้นน้ำของหมู่บ้าน เกิดไฟป่าปีละแสนไร่ ก็เพราะเขาจุดไฟเผาเพื่อล่าสัตว์ ด้วยเหตุนี้ผมว่าเราควรลาดตระเวนทางน้ำให้มากขึ้น ถ้าเราปล่อยไปแบบนี้ หมู่บ้านจะไฟไหม้ตลอด” ดร.เจนเล่า

.

ดับไฟที่ความจน

.

ย้อนกลับมาที่บ้านก้อ ดร.เจน เล่าว่า เริ่มมีชาวบ้านใจกล้าที่อยากจะทดลองปลูกพืชชนิดใหม่ๆ

.

“สิ่งที่เราทำก็คือสนับสนุน ใครอยากลองจะปลูกพืชที่ไม่เคยปลูก เราก็ไปค้นหาพืชที่มีศักยภาพมาลงที่ก้อ แล้วก็ทำแปลงสาธิต เราค้นพบว่า ผักออแกนิคได้ผลดีที่ก้อ แต่ขอให้มีน้ำ”

.

บ้านก้อมีประชากร 2,400 กว่าคน แต่ลือกันว่ามีวัวกว่า 5,000 ตัว

.

“แต่ถ้าเข้าไปในหมู่บ้านก็แทบไม่เห็นเลยนะ เพราะชาวบ้านเลี้ยงวัวอยู่ในป่า แต่วัวผอมมาก คำถามก็คือทำไมไม่เลี้ยงวัวให้มีคุณภาพ เราก็ลองเอาหญ้าไปปลูก โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ในมาตรา 64 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงน้ำท่วม เราควรปลูกพืชที่เก็บเกี่ยวได้เร็ว เราก็ลองปลูกหญ้าเนเปียร์ ซึ่งได้ผลดีมาก ทุกคนก็ชอบมาก การพัฒนาตลาดวัวจึงเป็นทางเลือกใหม่ เราก็ส่งนักเรียนทุนที่ชำนาญปศุสัตว์เข้าไปในก้อ ในอนาคตเราอาจจะเห็นก้อเหมือนสวิตเซอร์แลนด์ เป็นเมืองทุ่งหญ้า ไม่มีไฟป่า” เป็นฝันไม่ไกลความจริงของ ดร.เจน

.

“หลังจากปลดล็อกกฎหมายที่ดินทำกิน ก้อมีน้ำ มีดิน มีปุ๋ย มีปศุสัตว์ อีกอันที่สำคัญคือการเรียนรู้ เด็กนักเรียนจะเป็นกำลังสำคัญ เราสนับสนุนให้เขาได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์บ้านของเขา ต้นทุนของชุมชน แอพลิเคชันที่จำเป็นในการป้องกันเรื่องไฟป่า เด็กๆ ก็จะสามารถทำแผนที่ไฟได้เอง อีกอันที่ยังไม่ได้ทำคือการท่องเที่ยว”

.

จากหมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่กลางไฟป่าในทุกช่วงต้นปี ก้อหลายเป็นภาพความฝันที่ชวนให้เรามีความหวัง ว่าปัญหาไฟป่าและหมอกควันมีทางออกอยู่จริง

#เพื่อลมหายใจภาคเหนือ

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →