ด่วนที่สุด ด่วนตรงไหนเอาปากกามาวง ภารกิจป้องกันและควบคุมไฟป่า ของ อปท. หนึ่งทศวรรษของความเจ็บปวด

สืบเนื่องจากเอกสารการถ่ายโอนภารกิจป้องกันและควบคุมไฟป่าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า อปท.จำนวน 101 แห่งจะได้รับการถ่ายโอนภารกิจในการควบคุมไฟป่า ปัญหาใหญ่ของภาคเหนือ

.

อ่านผ่านๆ มองเผินๆ ก็เหมือนจะเป็นข่าวน่ายินดี แต่รายการบ่ายโมงสถานีฝุ่นในช่วงวิเคราะห์สถานการณ์กลับมองในด้านตรงข้าม

.

“นี่คือเรื่องชวนหดหู่ที่สุดเรื่องหนึ่งในการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันครับ” บัณรส บัวคลี่ สรุปสาระใจความสำคัญของเอกสารดังกล่าวด้วยความรู้สึก ก่อนจะบอกว่า การถ่ายโอนภารกิจป้องกันและควบคุมไฟป่าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เริ่มดำเนินมาตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การถ่ายโอนภารกิจ มีแต่คำว่า ‘ภารกิจ’ ซึ่งได้สร้างภาวะสุญญากาศในการบริหารจัดการของ อปท.

.

“เป็น 10 ปีของความเจ็บปวด ส่วนกลางโยนภารกิจมาจากกรุงเทพฯ พวกคุณมีหน้าที่ดับไฟป่านะ ขณะที่ท้องถิ่นได้รับภารกิจ แต่งบประมาณไม่เคยมี กฎระเบียบต่างๆ ก็ไม่เคยมี บทบาทหน้าที่ไม่ชัดเจน มันจึงเกิดภาวะสุญญากาศ เป็นช่องว่างในการบริการจัดการไฟในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา” บรรณาธิการสถานีฝุ่นกล่าว

.

ภาวะสุญญากาศดังกล่าวคือการไม่มีอำนาจ บทบาท และงบประมาณ ของ อปท. จึงไม่มีเจ้าภาพในการจัดการปัญหาระยะสั้น ระยะกลาง ไม่ต้องพูดถึงการจัดการปัญหาระยะยาว

.

โดยความรับผิดชอบทางกฎหมาย อปท.มีภารกิจควบคุมไฟในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่ง อปท.ในบางพื้นที่ไม่มีอำนาจ บทบาท และงบประมาณ ทำให้ การแก้ปัญหาต้อง “ลูบหน้าปะจมูก”

.

“เขาต้องแก้ปัญหารายฤดูกาล ปล่อยให้ไฟลามบ้าง ความเป็นสุญญากาศนี้เพิ่งจะมีตัวตนให้เห็นก็ตอนที่สภาลมหายใจเชียงใหม่ก่อตั้ง พวกเราจึงรู้ปัญหา มีการจัดวงพูดคุยกันเพื่อชี้ว่า อปท.ประสบเคราะห์กรรมนี้อยู่นะครับ ในช่วงสองปีที่ผ่านมารัฐบาลเริ่มรู้แล้วว่า ภาคประชาชน ภาคท้องถิ่นมีปัญหาตรงนี้ แต่ก็เอาปัญหาซุกใต้พรม” บัณรส ระบุ

.

กระทั่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 สำนักงานกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบในหลักการให้ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ตั้งงบประมาณ (งบกลาง) ในปี 2566 เงินอุดหนุนรวมกว่า 1,658,703,000 บาท เป็นข้อเสนอเพื่อจัดสรรให้ อปท. 2,316 แห่ง ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 1,741 แห่ง ใช้งบประมาณ 1,267,085,500 บาท เทศบาลตำบล 555 แห่ง ใช้งบประมาณ 378,847,500 บาท และเทศบาลเมือง 20 แห่ง ใช้งบประมาณ 12,770,000 บาท โดยให้จัดหากำลังพล “อาสาสมัครท้องถิ่น หมู่ควบคุมไฟป่า” และค่าจัดหาอุปกรณ์

.

มติดังกล่าวแยกเป็นพื้นที่ป่า 3 ระดับ

.

ระดับเล็ก ตั้งแต่ 1 ไร่ – 49,999 ไร่ 2,097 แห่ง ให้มีกำลังพลแห่งละ 15 นาย ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,338,934,500 บาท เป็นค่าจัดหาอุปกรณ์ 18,700 บาท ประกอบด้วย ไม้ตบ 8 อัน ลาโค่ 2 อัน ถังน้ำ 3 อัน เครื่องเป่าลม 2 เครื่อง

.

ระดับกลาง ตั้งแต่ 50,000 ไร่ – 100,000 ไร่ 144 แห่ง ให้มีกำลังพลแห่งละ 30 นาย ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 179,856,000 บาท เป็นค่าจัดหาอุปกรณ์ 37,400 บาท ประกอบด้วย ไม้ตบ 16 อัน ลาโค่ 4 อัน ถังน้ำ 6 อัน เครื่องเป่าลม 4 เครื่อง

.

ระดับใหญ่ ตั้งแต่ 100,000 ไร่ขึ้นไป 75 แห่ง ให้มีกำลังพลแห่งละ 45 นาย ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 139,912,500 บาท ป็นค่าจัดหาอุปกรณ์ 56,100 บาท ประกอบด้วย ไม้ตบ 24 อัน ลาโค่ 6 อัน ถังน้ำ 9 อัน เครื่องเป่าลม 6 เครื่อง

.

นอกจากนี้ ยังจัดสรรให้ อปท.ที่ไม่มีป่าสงวนด้วย จำนวน 225 แห่ง และกำหนดค่าเบี้ยเลี้ยงให้อาสาสมัครฯ วันละ 240 บาท/คน และค่าน้ำมันเชื้อเพลิง 10,000 บาท/เดือน ให้อีก 5 เดือน

.

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและควบคุมไฟป่า เช่น การจัดฝึกอบรม, การประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้, การจัดชุดลาดตระเวณ เฝ้าระวังช่วง ม.ค.-พ.ค ของทุกปี โดย จัดสรรให้ อปท.ขนาดเล็ก 638,500 บาท ,ขนาดกลาง 1,249,000 บาท ขนาดใหญ่ 1,865,500 บาท

.

“แต่ก่อนหน้านี้ อปท.ไหนทำกิจกรรมเหล่านี้ ผิดครับ สตง.เล่นงานครับ อปท.บางแห่งอยากจะช่วยชาวบ้าน เขาก็ต้องซิกแซกครับ แต่ความเจ็บปวดดังกล่าวคือ คนไทยเรา โดยเฉพาะคนในท้องถิ่นไม่รู้มาก่อนเลยว่ามีเรื่องแบบนี้ พวกเขาก็คิดว่า อบต.ไม่มีบทบาท เทศบาลไม่มีบทบาท ถูกตัดออกจากกองมรดกทุกอย่าง อยากขยับเข้าไปมีส่วนร่วมในปัญหาของพื้นที่ตนเองก็ถูก สตง.เล่นงาน เขาถูกตัดออกทั้งที่เขาอยู่กับพื้นที่”

.

อย่างไรก็ตาม รายการบ่ายโมงสถานีฝุ่นก็ชวนให้ประชาชนติดตามรายละเอียดในเรื่องนี้ต่อไป เพราะอย่างน้อยที่สุด ก็นับว่าเป็นความก้าวหน้าของการแก้ปัญหาที่เรื้อรังมานาน

.

“ภารกิจของ อบต.คือการเป็นแกนประสานหลักที่เเข็งแรง เอื้ออำนวยให้ชาวบ้านในชุมชนสามารถทำงานตลอดทั้งปี แต่วิธีการส่วนกลาง วิธีการของผู้ว่าฯส่วนใหญ่ทำคือการดับไฟรายวัน ดับไฟรายฤดู แต่ชุมชนต้องการแก้ปัญหาตลอดทั้งปี ก็อยากจะชวนจับดูต่อว่าจะเป็นอย่างไร แต่ก็เป็นความก้าวหน้าแบบหนึ่งในรอบ 10 ปี แม้ว่ามันจะเผยให้เราเห็นความเจ็บปวดด้วยก็ตาม” บรรณาธิการสถานีฝุ่น กล่าว

.

ขณะที่ ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวถึงเดดล็อกของ อปท. ในงานเสวนาในหัวข้อ “สถานการณ์ ความท้าทาย และทิศทางในการบริหารจัดการไฟป่าในของประเทศไทย” เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า ส่วนกลางต้องปลดล็อกให้ท้องถิ่นได้ทำงานอย่างเต็มที่ แต่การปลดล็อกอย่างเดียวไม่เพียงพอ ส่วนกลางต้องสนับสนุนอำนาจ บทบาท และงบประมาณอย่างเต็มที่ด้วย

.

“การถ่ายโอนภารกิจมาให้ อปท. แต่ไม่มีงบประมาณมาเลย มันก็ไม่ใช่ ปัญหานี้มันซับซ้อน มีความเชื่อมโยง เลื่อนไหล และมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งความรู้ ข้อมูลวิชาการ งบประมาณสนับสนุน ต้องถูกสนับสนุนเต็มที่ เราเรียกร้องให้ชาวบ้านเปลี่ยน เรียกร้องให้ชาวบ้านปฏิบัติการ แต่ไม่หนุนอะไรเลย มันจะเกิดประโยชน์อะไรครับ เราต้องหนุนอย่างเต็มที่”

.

ประธานคณะการรมการสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า ที่ผ่านมา อปท. ไม่มีความมั่นใจในอำนาจและบทบาทของตน ว่าสามารถจัดการปัญหาในพื้นที่ได้มากน้อยเพียงใด

.

“ที่ผ่านมาพวกเขาไม่มั่นใจเพราะกลัว สตง.ตรวจ ทั้งอำนาจ บทบาท และงบประมาณ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะไปหนุนปฏิบัติการของชาวบ้านในเรื่องนี้”

.

การแก้ปัญหามลพิษไม่ใช่การดับไฟรายวัน การแก้ปัญหาจะต้องถูกออกแบบให้มีทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ประธานคณะการรมการสภาลมหายใจเชียงใหม่ มองว่า ยังมีกฎหมายบางข้อที่ล็อกไว้ไม่เอื้อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ

.

“เช่น กฎหมายบรรเทาสาธารณภัย ที่บอกว่า งบประมาณหรือเครื่องจักร จะใช้ได้ต่อเมื่อเกิดอุบัติภัย แต่ฝุ่นควันมันเป็นปัญหาที่เน้นการป้องกัน และต้องทำตลอดทั้งปี มีแผนระยะสั้น กลาง ยาว ปลดล็อกให้กฎหมายตัวนี้ทำได้ตลอดทั้งปีได้มั้ยครับ ไม่ใช่ตั้ง Single Command ในเดือนธันวา พอเดือนเมษาจบภารกิจ กลับกรมกอง มันไม่ได้ครับ” ชัชวาลย์ กล่าว

#เพื่อลมหายใจภาคเหนือ

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →