โลกกำลังเผชิญไฟป่าที่รุนแรง ยาวนาน คาดไม่ถึง

ประเทศไทยกำลังเจอกับสภาพอากาศแปรปรวน ฝนตกลงมาในฤดูแล้ง แต่อีกฟากฝั่งของโลก อาร์เจนตินากลับเผชิญภัยแล้งอย่างรุนแรง

.

กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เกิดไฟป่าครั้งใหญ่ทางตอนเหนือของอาร์เจนตินา ไฟป่าลุกลามครอบคลุมพื้นที่กว่า 5,000,000 ไร่ หลังจากที่เกิดภาวะอากาศแล้งจัด ไฟได้ทำลายพื้นที่การเกษตร ปศุสัตว์ และสัตว์ป่าและป่าไม้คุ้มครองในอุทยานแห่งชาติ Ibera ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญของประเทศและดินแดนอเมริกาใต้

.

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติ ระบุว่าสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย เนื่องจากอุณหภูมิสูงและไม่มีฝนตก มีการคาดการณ์ว่าไฟป่าสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ 234 ล้านดอลลาร์ ต่อการผลิตผลไม้ ปศุสัตว์ และสินค้าเกษตรอื่นๆ

.

ตลอดทั้งปี 2021 โลกเผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้ว พายุไอดาที่เข้าถล่มบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 45 ราย ครัวเรือนหลายแสนครัวเรือนในรัฐลุยเซียนา รัฐนิวยอร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย และรัฐมิสซิสซิปปี น้ำท่วมฉับพลันทำให้ระบบรถไฟใต้ดินเกือบทั้งหมดต้องหยุดชะงัก มีคนอย่างน้อย 14 รายเสียชีวิต โดย 11 คนในจำนวนนี้จมน้ำขณะติดอยู่ในที่พักชั้นใต้ดิน

.

ขณะที่เหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่เป็นผลจากฝนที่ตกหนักเป็นประวัติการณ์ในภาคกลางของจีน ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 12 ราย และประชาชนกว่า 100,000 คน ต้องอพยพออกจากบ้าน มีกว่า 12 เมืองในมณฑลเหอหนานที่ได้รับผลกระทบ เราจะเห็นภาพแปลกตาเมื่อน้ำท่วมถึงเอวคนบนท้องถนนและในสถานีรถไฟฟ้า

.

ยุโรปเองก็เผชิญกับฝนตกหนักจนทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรง นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าน่าจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ น้ำท่วมในเยอรมนี เบลเยียม และอีกหลายพื้นที่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 220 คน นักวิจัยระบุว่า โลกร้อนมีโอกาสทำให้เกิดเหตุฝนตกหนักเช่นนี้ในยุโรปตะวันตกมากขึ้นเป็น 9 เท่า ขณะที่ปริมาณน้ำฝนในภูมิภาคเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 3-19% เนื่องจากปัญหาโลกร้อนที่เกิดจากมนุษย์

.

ฝั่งตะวันตกของแคนาดาและสหรัฐฯ ต้องเจอกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงเป็นประวัติการณ์เพราะโดมความร้อน (Heat Dome) หรือปรากฏการณ์โดมความร้อน โดยหมู่บ้านลิตตัน ทางฝั่งตะวันตกของแคนาดา อุณหภูมิสูงถึง 49.6 องศาเซลเซียส จากที่แคนาดาเคยอุณหภูมิสูงสุดแค่ 45 องศาเซลเซียส

.

ในปี 2021 ไซบีเรียประสบไฟป่าครั้งใหญ่ สร้างความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมโลกอย่างมหาศาล สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า ไฟป่าไซบีเรียในปี 2021 กินพื้นที่กว้างถึง 161,300 ตารางกิโลเมตร โดยอาจเป็นไฟป่าครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกเท่าที่เคยมีการบันทึกมา การเกิดไฟป่ารุนแรงในเขตอากาศหนาวจัดเช่นนี้ สะท้อนถึงสถานการณ์ปัจจุบันของภาวะโลกร้อนที่ยิ่งเลวร้ายลงทุกที

.

ขณะที่ไฟป่าที่รุนแรงกินบริเวณกว้างสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในบริเวณใกล้เคียงให้แปรปรวนได้อีกด้วย นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าอิทธิพลจากภาวะโลกร้อนและไฟป่าครั้งใหญ่ของไซบีเรีย ส่งผลให้ฝนตกลงมาแทนหิมะที่ยอดเขาของกรีนแลนด์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

.

รายงานเมื่อเดือนสิงหาคม 2021 จากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ของสหประชาชาติ ระบุว่า หากโลกยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามระดับที่คาดการณ์ในปัจจุบัน อุณหภูมิอาจเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียสในปี 2060 และ 2.7 องศาเซลเซียสเมื่อสิ้นศตวรรษ และสถานการณ์อาจเลวร้ายลง หากภาวะโลกร้อนทำให้เกิดวงจรป้อนกลับที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น เช่น การละลายของชั้นดินเยือกแข็งคงตัว (Permafrost) หรือการที่พืชพันธุ์ในป่าทั่วโลกประสบปัญหาตายจากยอดลงสู่โคนต้น (Dieback)

.

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ระบุว่า ความแปรปรวนของสภาพอากาศที่ยากเกินจะคาดเดานี้ เกิดมาจากปรากฎการณ์ Polar Vortex หรือที่ภาษาไทยเรียกว่า “ลมวนขั้วโลก”

.

“ความแปรปรวนของสภาพอากาศในปรากฎการณ์ Polar Vortex นั้นเกิดจากความแตกต่างของอุณหภูมิบริเวณขั้วโลก เดิมทีผิวน้ำแข็งมหาสมุทรอาร์กติกและทวีปแอนตาร์กติกาจะคอยทำหน้าที่สะท้อนความร้อนจากดวงอาทิตย์ แต่ภาวะโลกร้อนทำให้ชั้นบรรยากาศถูกทำลายจนเกิดช่องโหว่ให้แสงอาทิตย์ส่องเข้ามายังโลกได้มากขึ้น น้ำแข็งที่ละลายจะไม่สามารถสะท้อนความร้อนกลับได้อย่างที่เคย แย่กว่านั้นเมื่อละลายจนหมดทำให้พื้นดินดูดซับความร้อนเก็บไว้บนพื้นโลก การเปลี่ยนแปลงจุดนี้ส่งผลให้เกิดความแตกต่างของสภาพอากาศ ส่งผลให้มวลความเย็นถูกแผ่ลงมายังเขตที่อุ่นกว่า และบางพื้นที่กลับมีความอุ่นเข้าไปแทนที่” รายงานจาก GISTDA ระบุ

.

ปรากฎการณ์ Polar Vortex มีความเชื่อมโยงกับกระแสลมกรด (Jet Stream) เมื่อใดที่สภาพอากาศไม่สมดุลทำให้กระแสลมกรดอ่อนกำลังลง Polar Vortex จะเคลื่อนที่ต่ำลงมาสร้างความหนาวเย็นให้กับเขตที่อุ่นกว่า GISTDA ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เกิดในตอนกลางของสหรัฐอเมริกาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งที่มีทั้งหิมะ ลูกเห็บ อากาศที่หนาวเย็นสุดขั้วและพายุที่รุนแรงในหลายรัฐอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

.

นอกจากปรากฎการณ์ Polar Vortex ยังมีปรากฎการณ์อื่นๆ ที่ทำให้สภาพอากาศนั้นผิดปกติไปจากเดิม เช่น ปรากฎการณ์เอลนีโญ (El Niño) และลานีญา (La Niña) ที่ส่งผลกระทบกับกระแสลมกรดทำให้บางพื้นที่เกิดฝนตกเพิ่มมากขึ้น บางที่เคยแล้งก็แล้งหนักกว่าเก่า

.

“บางเมืองก็เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ตรงกันข้ามบางเมืองจากที่เคยเกิดในรอบ 10 ปี กลับเกิดภัยพิบัติถี่ขึ้น กลายเป็นปรากฎการณ์ภูมิอากาศสุดขีด (Extreme Events) อย่างเช่น การเกิดพายุลูกเห็บที่พะเยาเมื่อเดือนที่ผ่านมา หรือเร็วๆ นี้มีลูกเห็บตกในจังหวัดตรังและสตูลในรอบหลายปี ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องที่ดีกับมนุษย์และสัตว์โลกแน่นอน เพราะฉะนั้นเราทุกคนต้องช่วยให้โลกใบนี้กลับมาสู่สภาวะสมดุลอย่างที่เคยเป็น ถึงแม้ว่าอาจต้องใช้เวลา แต่อย่างน้อยก็พอที่จะช่วยบรรเทาผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้บ้าง” GISTDA ระบุ

.

ขณะที่รายงานจาก WWF & Boston Consulting Group: Fires, Forests, and the Future (2020) ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ฤดูร้อนหรือฤดูแล้งมีความยาวนานมากขึ้นถึง 30-50% หรือยาวเพิ่มขึ้นประมาณ 6 สัปดาห์ ซึ่งหมายถึงโอกาสและความถี่ที่จะเกิดไฟป่าจะเพิ่มสูงขึ้นมาก เช่น ที่ป่าอเมซอน จะมีฤดูไฟป่ายาวถึง 5 เดือน และป่าในทวีปแอฟริกาจะยาวถึง 3 เดือน และการที่ฤดูไฟป่ายาวนานขึ้นนั้น จะเกิดความยากในการคาดเดา ยากในการจัดการ เนื่องด้วยความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ

.

“การที่ไฟป่าเกิดขึ้นบ่อยในแต่ละพื้นที่นั้น ย่อมส่งผลกระกบต่อการฟื้นตัว และแน่นอนว่าระบบนิเวศจะเกิดการเปลี่ยนแปลงและอาจล่มสลายได้ เช่น ชนิดของพันธุ์ไม้จะเปลี่ยนแปลง ความหลากหลายทางชีวภาพจะลดลง และเกิดการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์บางชนิดอย่างถาวร ซึ่งแน่นอนว่าจะเกิดผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นวงจรกระทบถึงอุณหภูมิและฤดูกาลที่จะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็จะเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดไฟป่าที่รุนแรง บ่อยครั้ง และขยายวงกว้างมากขึ้น ซึ่งสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนนั้น ไม่ใช่เฉพาะอากาศร้อนและแล้งที่ทำให้เกิดไฟป่าเท่านั้น แต่ยังพบว่าแม้แต่ในช่วงการเกิดฝนฤดูร้อนนั้น ฟ้าผ่า ได้ทำให้เกิดไฟป่าในป่าเขตหนาว และแรงลมรุนแรงก็มักเป็นตัวเร่งให้ไฟป่ากระจายตัว และควบคุมได้ยากในหลายพื้นที่ทั่วโลก” บทความดังกล่าว ระบุ

.

รายงานชิ้นดังกล่าวรายงานข้อมูลผลกระทบด้านสุขภาพว่า ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากการป่วยด้านระบบหายใจและไหลเวียนโลหิตที่เกี่ยวเนื่องกับไฟป่า ถึง 340,000 คน ในอินโดนีเซียยังมีผู้ป่วยเรื้อรังกว่า 1 ล้านคนที่เกี่ยวเนี่องกับมลพิษจากไฟป่าพรุ (Peatland Fires) ซึ่งมาจากการเผาทำลายป่าเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน กว่าร้อยละ 80 ของผู้ได้รับผลกระทบด้านระบบหายใจอาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกาใต้สะฮารา

.

“การศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดยังพบว่า การได้รับฝุ่นควันในระยะเวลานาน จะทำให้อัตราความเสี่ยงเสียชีวิตจาก COVID-19 เพิ่มขึ้นถึง 15% และยังพบปัญหาด้านความเครียดจากปัญหาไฟป่าและหมอกควันด้วย” รายงานระบุ

.

ข้อมูลอ้างอิง
https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9650000017271?fbclid=IwAR26-D0OMJ6tdHy9u5hSxxH3CDcTRmhNo-3U3hLapyy9bGkiJ6VrWv2yMy8
https://mgronline.com/around/detail/9640000078670?fbclid=IwAR2d8k5BNG53R6JU0-u_bBKjlfLWrq1qcoQsofZWKb9Aen0GLAU6BnDcVw4
https://www.bbc.com/thai/international-58440569
https://www.bbc.com/thai/international-58290911?fbclid=IwAR1NamPMgW42iE3yF6NQS7BffCFwI1S76KUsDyalBJVOwjy540N1vCB3Dnc
https://web.facebook.com/photo/?fbid=320972473402629&set=a.308224414677435
https://www.wwf.or.th/?364616%2F—&fbclid=IwAR1CamFUZqB2JMVU6OjRFkqlY4wDLlzakKkL_ErrGQR1xqT52wsHqgL0pu4

#เพื่อลมหายใจภาคเหนือ

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →