“การหายใจด้วยอากาศที่มีคุณภาพถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน”
.
คำขวัญของ WHO ดูเหมือนว่าจะเป็นเพียงอากาศธาตุในสังคมไทย เมื่อแนวทางการแก้ไขเชิงนโยบายเกี่ยวกับ PM2.5 ยังอยู่ในความเงียบ
.
อากาศถือเป็นทรัพยากรที่จำกัดตามหลักเศรษฐศาสตร์ มลพิษทางอากาศได้สร้างมูลค่าความเสียหายให้กับสังคมไทยอย่างมาก การเจ็บป่วยและค่ารักษาพยาบาลคือหนึ่งในนิยามของมูลค่าความเสียหาย
.
ขณะที่ ‘มะเร็งปอด’ ได้กลายเป็นกระแสตลอดทั้งวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เมื่อกรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติออกมาให้ข้อมูลว่า ‘มะเร็งปอด’ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนไทย ซึ่ง PM2.5 เป็นปัจจัยที่ถูกกล่าวถึง
.
ในอดีตเรามักจะลากเส้นโยงมะเร็งปอดไปยังบุหรี่ แต่ข้อมูลใหม่ๆ ระบุว่า PM2.5 ทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดได้มากถึง 1 – 1.4 เท่า มีการเปรียบเทียบว่า PM2.5 ในปริมาณ 22 มคก./ลบ.ม.เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 1 มวน ช่วงเวลาที่ผู้สื่อข่าวเขียนรายงานชิ้นนี้ PM2.5 มีปริมาณ 39.5 มคก./ลบ.ม. น่าจะเทียบเท่าบุหรี่เกือบสองมวน
.
PM2.5 เป็นสารก่อมะเร็งที่มีขนาดโมเลกุลเล็กเพียง 2.5 ไมครอน เล็กมากจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ดังนั้นเมื่อ PM2.5 ลอยเข้าไปในหลอดลมจนถึงปอด จะเข้าไปโดยที่เราไม่รู้สึกตัวและป้องกันไม่ได้ เมื่อเข้าไปในปอดแล้วก็จะทำให้เกิดการอักเสบ มีการกลายพันธุ์ของ DNA RNA หากร่างกายได้รับสาร PM2.5 ในปริมาณมากและยาวนานเกินไป ร่างกายต่อสู้ไม่ไหว จะทำให้กลายเป็นมะเร็งปอดได้ โดยมะเร็งที่พบสัมพันธ์กับ PM2.5 ก็คือเป็นชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา (Adenocarcinoma) หรือมะเร็งชนิดต่อม
.
ศาสตราจารย์ Tyler Cowen นักวิจัยมหาวิทยาลัย George Mason ประมาณการว่า คนไทยเสียชีวิตจาก PM2.5 กว่า 71,184 คน สูงเป็นอันดับสามของอาเซียน รองจากอินโดนีเซียและเวียดนาม
.
จากการศึกษาของ ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางการหายใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่า ภาคเหนือตอนบนเสียชีวิตจากมะเร็งปอดมากที่สุด ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเผาในที่โล่ง
.
ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือมีมานานกว่า 2 ทศวรรษ และมีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้น ค่าฝุ่นละอองส่งผลกระทบต่อสุขภาพ 3 ด้าน คือ 1. ทำให้อายุขัยสั้นลง มีการศึกษาจากประเทศจีนพบว่า ฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุก 10 มคก./ลบ.ม./ปี จะทำให้อายุสั้นลง 0.98 ปี หากเทียบกับจำนวนประชากรโลกที่มีหลายพันล้านคน พบว่าประชากรโลกอายุขัยเฉลี่ยสั้นลง 1.8 ปี ขณะที่อินเดียอายุขัยสั้นลง 6 ปี
.
ศ.นพ.ชายชาญ และคณะ ได้ศึกษาวิจัยในอำเภอเชียงดาวและอำเภอเมืองเชียงใหม่เมื่อปี 2559-2560 พบว่า คนเชียงใหม่มีอัตราการเสียชีวิตรายวันโดยไม่ทราบสาเหตุ ที่ไม่เกี่ยวกับอุบัติเหตุและการฆาตกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ใน 1 สัปดาห์ เฉพาะที่ อ.เชียงดาว เสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ผู้ป่วยแอดมิทที่โรงพยาบาลเชียงดาว เนื่องจากนอนรักษาโดยไม่มีเครื่องปรับอากาศ สัมผัสทั้งวันทั้งคืน อัตราเสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ในทุก 10 มคก./ลบ.ม.ที่เพิ่มขึ้น
.
ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางการหายใจ ยังระบุอีกว่า ความเจ็บป่วยของประชาชนที่รุนแรงขึ้น มีความสัมพันธ์กับการกำหนดค่ามาตรฐานของฝุ่น PM2.5 และดัชนีคุณภาพอากาศของไทยที่ยังต่ำกว่าองค์การอนามัยโลก และเป็นการลวงให้ประชาชนเข้าใจผิดว่ายังไม่อันตราย ทำให้ประชาชนไม่ป้องกันตนเองและครอบครัว
.
ศ.นพ.ชายชาญ เป็น 1 ในนักวิชาการที่รวมตัวกันในนาม Chiang Mai Air Quality Health Index ใช้ดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพที่ไม่ได้อิงมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ แต่อิงตามองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา ที่ค่า PM2.5 อยู่ที่ระดับ 35 มคก./ลบ.ม. หมายถึงจะมีผลกระทบกับร่างกาย
.
“เริ่มจากการที่เราพบว่า ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยที่ใช้โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมจากกรมมลพิษ ไม่ได้อิงระดับผลกระทบต่อสุขภาพ” ศ.นพ.ชายชาญ ให้สัมภาษณ์กับกรีนพีชไว้เมื่อปี 2020 ปัจจุบันกรมควบคุมมลพิษก็ยังยึดที่ค่ามาตรฐานอากาศที่จะส่งผลต่อสุขภาพที่ 50 มคก./ลบ.ม.เช่นเดิม
.
“มาตรฐานนี้เอื้อประโยชน์ให้กับภาคเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมการขนส่งมากกว่า คือเรายอมให้มีมลภาวะมากขึ้นได้ ซึ่งเราใช้ค่านี้มา 20 – 30 ปีแล้ว แต่ทีนี้องค์การอนามัยโลกเขากำหนดว่า PM2.5 รายวันอยู่ที่ 25 ส่วนรายปีอยู่ที่ 10 เนี่ย แค่นี้ก็มีการตายเพิ่มขึ้นแล้ว เพียงแต่มันยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ถ้าจริงใจ และจริงจัง แต่ประเทศไทยเราไปกำหนดว่า ค่ารายวันอยู่ที่ 50 ส่วนรายปีอยู่ที่ 25 ปัญหาคือมันไม่มีงานวิจัยที่บอกว่า คนไทยสามารถทนมลพิษได้ดีกว่าชาติอื่นๆ สองเท่า เรามโนขึ้นมาเอง ทีนี้ผมเลยเห็นว่า อะไรแบบนี้มันไม่เป็นธรรมต่อประชาชนนะ เพราะมันอาจมีคนไปเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอย่างเด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ คนไข้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ หัวใจ และหลอดเลือด คนไข้กลุ่มนี้มีเยอะมาก” ศ.นพ.ชายชาญ กล่าว
.
ขณะที่ รศ.พญ.บุษยามาส ชีวสกุลยง หัวหน้าหน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ผู้หญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดชนิดนี้ได้มากกว่าผู้ชาย ส่วนคนที่สูบบุหรี่อยู่แล้วเมื่อสูด PM2.5 เข้าไป ความเสี่ยงโรคมะเร็งปอดจะทวีคูณขึ้นเป็น 2 เท่า
.
แม้จะไม่มีค่า PM2.5 ที่ต่ำสุดที่ถือว่าปลอดภัยไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ แต่องค์การอนามัยโลกได้แนะนำความเป็นไปได้ที่ประเทศต่างๆ ควรมีแผนการดำเนินการกำหนดเป้าหมายให้ระดับ PM2.5 ไม่เกินค่าที่แนะนำเพื่อลดผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพให้เหลือน้อยเท่าที่จะบริหารจัดการได้ตามหลักฐานงานวิจัยทั่วโลกที่ใช้ประกอบคำแนะนำ แต่ละประเทศจะกำหนดค่ามาตรฐานของประเทศตนเองอย่างไรขึ้นอยู่กับระดับมลพิษ PM2.5 การชั่งความสมดุลเรื่องชีวิตและสุขภาพกับงบประมาณการลงทุนเพื่อปรับปรุงสภาวะแวดล้อมของแต่ละประเทศ ตลอดจนความเข้าใจ ความตั้งใจและความจริงจังในการปรับปรุงคุณภาพอากาศของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยพิจารณาจากการมีฝ่ายปกครองมีคำมั่นสัญญาที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม กำหนดนโยบาย งบประมาณ แผนการดำเนินการ วิธีการดำเนินการและการประเมินผลที่มีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนทันต่อสถานการณ์แนวโน้มระดับมลพิษอากาศ
.
จากการศึกษาในหลายประเทศ พบว่างบการลงทุนเพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศมีความคุ้มทุนสูงมากหลายสิบเท่าและเห็นผลดีอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านชีวิต สุขภาพ และเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจเจริญก้าวหน้าควบคู่ไปกับอากาศที่มีคุณภาพได้ ตัวอย่าง เช่น จีน สหรัฐอเมริกา ไนจีเรีย เป็นต้น
.
ขณะที่ พ.ร.บ.อากาศ ยังคงถูกแขวนค้างอยู่ในความหวัง รัฐบาลยังไม่มีคำตอบหรือแนวทางที่ชัดเจนต่อทิศทางเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคุณภาพอากาศ แม้ว่าประเด็น PM2.5 จะอยู่ในวาระการอภิปรายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 แต่ท่าทีเพิกเฉยยังคงเป็นบุคลิกเด่นของรัฐบาล
.
ข้อมูลอ้างอิง
https://thematter.co/social/environment/why-thai-govt-ignore-pm25-crisis/137991
https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_3134217
https://www.electricityandindustry.com/%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%9A-%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A9%E0%B8%9D%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B9%8B%E0%B8%A7-pm2-5/
https://theactive.net/news/20210318/
https://web.facebook.com/environman.th/photos/a.1745027465625693/4582545041873907/
https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_2155096
