Dust Talk: คุยกับ รศ.พญ. บุษยามาส ชีวสกุลยง ปอดของชาติสะท้อนหัวใจของรัฐ

ต่อให้ ไม่สูบบุหรี่, วิ่งสัปดาห์ละ 180 นาที, กินอาหารคลีน ก็ไม่ได้การันตีว่าสุขภาพจะแข็งแรง เมื่อเราอยู่ในคุณภาพอากาศที่ย่ำแย่หรือเป็นมลพิษ โดยเฉพาะไม่มีนโยบายที่จะสร้างเกราะป้องกันใดๆ

.

แอปพลิเคชันหลายสำนักให้ข้อมูลในทิศทางเดียวกันว่า คุณภาพอากาศของวันแรกในเดือนมีนาคมส่งผลกระทบต่อสุขภาพ หลายเมืองทั่วโลกแดงเกินมาตรฐาน เชียงใหม่ติดอันดับที่ 12

.

งานวิจัยในช่วงหลังๆ ค่อยๆ คลี่เผยให้เราเห็นความสัมพันธ์ระหว่าง PM2.5 กับมะเร็งปอด

.

Dust Talk โดยสถานีฝุ่น พูดคุยกับ รศ.พญ.บุษยามาส ชีวสกุลยง หัวหน้าหน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่เป็นวาระระดับโลก

.

ความสัมพันธ์ระหว่างมะเร็งปอด บุหรี่ และ PM2.5

.

“โดยสถิติแล้ว คนภาคเหนือเป็นมะเร็งปอดมากกว่าทุกภูมิภาคค่ะ” รศ.พญ.บุษยามาส ชีวสกุลยง กล่าวว่า มีผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดเพศชายในทะเบียนมะเร็งของจังหวัดเชียงใหม่ 14,299 ราย ขณะที่ผู้ป่วยระเร็งปอดเพศหญิง 5,664 ราย เมื่อพิจารณาอัตราการการป่วยด้วยมะเร็งปอดภาพรวมของประเทศไทย ผู้ชายป่วยเป็นมะเร็งปอดร้อยละ 9.3 ขณะที่เพศหญิงร้อยละ 20.6 ขณะที่ข้อมูลผู้ป่วยในเชียงใหม่ ผู้ชายร้อยละ 22.3 ผู้หญิงร้อยละ 29.6, ที่ลำปาง ผู้ชายร้อยละ 27.6 ผู้หญิงร้อยละ 53, ที่สงขลา ผู้ชายร้อยละ 4.9 ผู้หญิง 13.5

.

“ภาคเหนือเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการป่วยเป็นมะเร็งปอดมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่น เมื่อก่อนเราจะบอกว่าการเป็นมะเร็งปอดมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ แต่อัตราการสูบบุหรี่ของคนภาคเหนือไม่ได้มากกว่าคนภาคอื่น แต่อัตราการเสียชีวิตด้วยมะเร็งปอดกลับสูงกว่าคนภาคอื่นๆ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น สมัยก่อนพ่ออุ๊ยจะชอบสูบบุหรี่ขี้โย การแพทย์ก็จะบอกว่า นี่คือสาเหตุหลักของมะเร็ง แต่ปัจจุบัน การสูบบุหรี่ลดลงอย่างมาก แต่อัตราการเป็นมะเร็งปอดก็ยังสูงอยู่ดี งานวิจัยในช่วงหลังๆ พบว่า ชนิดของมะเร็งปอดมีส่วนเกี่ยวข้องกับ PM2.5” หัวหน้าหน่วยมะเร็งวิทยา ระบุ

.

งานศึกษาของ รศ.พญ.บุษยามาส ระบุว่า PM2.5 เป็นสารก่อมะเร็งที่มีขนาดโมเลกุลเล็กเพียง 2.5 ไมครอน เล็กมากจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ดังนั้นเมื่อ PM2.5 ลอยเข้าไปในหลอดลมจนถึงปอด จะเข้าไปโดยที่เราไม่รู้สึกตัวและป้องกันไม่ได้ เมื่อเข้าไปในปอดแล้วก็จะทำให้เกิดการอักเสบ มีการกลายพันธุ์ของ DNA RNA หากร่างกายได้รับสาร PM2.5 ในปริมาณมากและยาวนานเกินไป ร่างกายต่อสู้ไม่ไหวจะทำให้กลายเป็นมะเร็งปอดได้ โดยมะเร็งที่พบสัมพันธ์กับ PM2.5 ก็คือเป็นชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา (Adenocarcinoma) หรือมะเร็งชนิดต่อม ซึ่งผู้หญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดชนิดนี้ได้มากกว่าผู้ชาย ส่วนคนที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว เมื่อสูด PM2.5 เข้าไป ความเสี่ยงโรคมะเร็งปอดจะทวีคูณขึ้นเป็น 2 เท่า

.

รศ.พญ.บุษยามาส บอกว่า ในอดีตชนิดของมะเร็งปอดที่พบคนป่วยในภาคเหนือคือสแควมัสคาร์ซิโนมา (Squamous Carcinoma) แต่แนวโน้มในปัจจุบันพบมะเร็งชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมาในผู้ป่วยมากขึ้น

.

“สมัยก่อนมะเร็งปอดที่คนภาคเหนือเป็นกันมากจะเรียกว่า Squamous แต่ช่วงหลังเป็น อะดีโนคาร์ซิโนมา กันเยอะมาก จากการทดลองพบว่า PM2.5 เป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งปอดชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา ข้อมูลสองส่วนนี้มันสัมพันธ์กันพอดี เราพบมะเร็งปอดชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมาเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับสภานการณ์ PM2.5 ที่ก่อให้เกิดมะเร็งชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมามากกว่า Squamous”

.

ผู้ป่วยหลายคนของ รศ.พญ.บุษยามาส ไม่สูบบุหรี่ ดูแลสุขภาพอย่างดี แต่มีจุดร่วมกันก็คือ มีบ้านใกล้จุดเผาในที่โล่ง

.

“เราพบว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือคุณภาพอากาศ มลพิษทางอากาศ เหมือนที่เราเคยได้ยินมาว่า เรามองภูเขาแทบจะไม่เห็น นั่นมันหมอกหรือควัน ก็เกิดคำถามว่าปัจจัยนี้ทำให้ภาคเหนือมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปอดมากกว่าภาคอื่นๆ หรือเปล่า ด้วยลักษณะภูมิประเทศของภาคเหนือที่เป็นแอ่ง ฤดูหนาวก็ทำให้ความกดอากาศไม่ยกตัว ฝุ่นควันไม่ระบาย มันแออัดที่เราอยู่อาศัย ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เราเป็นมะเร็งปอด โดยเฉพาะคนไข้ไม่ได้สูบบุหรี่ ญาติไม่ได้เป็นมะเร็ง ความเสี่ยงอื่นไม่มี ดูแลตัวเองอย่างดี แล้วทำไมเป็นมะเร็งปอด โดยเฉพาะช่วงหลังเราพบผู้ป่วยในเพศหญิง บุหรี่ไม่สูบ เหล้าไม่ดื่ม ดูแลสุขภาพดี แต่อาศัยอยู่ภาคเหนือ แล้วทำไมเป็นมะเร็งปอด ก็เป็นจุดที่น่าสนใจมาก” รศ.พญ.บุษยามาส ระบุ

.

PM2.5 ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำ

.

องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ฝุ่นละออง PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งเป็นสาเหตุให้ 1 ใน 8 ของประชากรโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ในขณะที่รายงานของธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่ามลพิษในอากาศในประเทศไทยทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึง 50,000 ราย ชี้ให้เห็นว่าผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ส่งผลทั้งทางด้านสุขภาพและทางด้านเศรษฐกิจ

.

ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้ศึกษาการเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศของคนไทย ตั้งแต่ปี 2560 – 2563 พบว่าผู้สูงอายุเจ็บป่วยด้วย 4 โรคหลักมากที่สุด ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคมะเร็งปอด

.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ประเทศมีค่าเสียโอกาสด้านสุขภาพ (ค่ารักษาพยาบาล ค่าหน้ากากอนามัย เครื่องฟอกอากาศ) กว่า 2,000-3,000 ล้าน และอาจต้องจัดเตรียมเงินสำหรับการรักษาพยาบาลโรคที่เกี่ยวข้องในอนาคตสูงถึง 200,000 บาท

.

นอกจากปริมาณค่าใช้จ่ายที่มากมายมหาศาล คุณภาพในการเข้าถึงการรักษาก็เป็นปัญหา รศ.พญ.บุษยามาส ระบุถึงวิธีการตรวจคัดกรองผู้ป่วยที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ จนทำให้กว่าผู้ป่วยจะเข้าสู่ระบบการรักษาก็เป็นมะเร็งปอดในระยะสุดท้ายแล้ว

.

“วิธีการตรวจคัดกรองของเราในปัจจุบันก็ยังไม่ดีพอสำหรับมะเร็งปอดที่เกิดจาก PM2.5 ค่ะ ดังนั้นเราจะพบผู้ป่วยก็ตอนที่เขาเป็นระยะท้ายๆ แล้ว ซึ่งวิธีการตรวจคัดกรองในปัจจุบัน จะมีการตรวจคัดกรองสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ แต่การตรวจคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งที่อาจเกิดจาก PM2.5 ยังไม่มีนะคะ เราควรจะเริ่มป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ ดีกว่ามาสู้กับในระยะสุดท้ายของโรค”

.

แม้ว่าวิวัฒนาการในการรักษาโรคมะเร็งจะทำให้ผู้ป่วยมะเร็งมีอายุที่ยืนยาวขึ้น แต่ รศ.พญ.บุษยามาส มองว่า ปัญหาสุขภาพทำให้เกิดค่าใช้จ่ายของประเทศสูงมาก “ทุกวันนี้เรามียาพุ่งเป้า ยาภูมิคุ้มกันบำบัด การรักษามะเร็งดีขึ้น ทำให้คนไข้มีชีวิตยืนยาวได้ แต่รัฐบาลต้องละลายเงินไปกับยาราคาแพง ทำไมรัฐบาลไม่ทุ่มเทในการออกนโยบายที่ต้นทาง รัฐบาลบอกว่า ถ้าเราปรับลดเพดานค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศ มันต้องกำหนดนโยบายที่ตามมาอีกมากมาย แล้วใช้เงินทุนเยอะ แต่เราต้องคิดดูให้รอบด้านว่า เงินค่ารักษาพยาบาลมากมายนะคะ ไปๆ มาๆ อาจจะมากกว่าการไปกำหนดนโยบายที่ต้นทางเสียอีก”

.

รศ.พญ.บุษยามาส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ยาที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง หากใช้สิทธิราชการหรือรัฐวิสาหกิจย่อมสามารถเบิกยาได้ครอบคลุมกว่าสิทธิบัตรทอง แต่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศถือบัตรทองในการเข้าถึงการรักษา ประเด็นการเข้าถึงการรักษาพยาบาลจึงสะท้อนปัญหาในอีกมิติหนึ่งในม่านหมอกควัน PM2.5

.

PM2.5 ไม่ได้ก่อให้เกิดมะเร็งปอดเพียงอย่างเดียว เพราะขนาดที่เล็กทำให้สามารถกระจายไปทั่วร่างกาย เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดอุดตัน ถุงลมโป่งพอง หอบหืด โรคหัวใจ ฯลฯ

.

ปอดของชาติ หัวใจของรัฐ

.

รศ.พญ.บุษยามาส กล่าวว่า PM2.5 มีหลายองค์ประกอบในตัวของมัน และมีปัจจัยขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของแต่ละพื้นที่ ซึ่งในเมืองใหญ่มีองค์ประกอบของสารพิษที่มากกว่า

.

“สังเกตตามอุบัติการณ์ คนไข้จะมาจากลำปาง เชียงราย เชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกต แต่เรายังไม่ได้ทำ Mapping ว่า สัดส่วนคนไข้มีความเชื่อมโยงอย่างไรกับตำแหน่งของพื้นที่ที่เกิด PM2.5 ในปริมาณที่สูงขนาดไหน มันเชื่อมโยงกับ PM2.5 หรือเปล่า ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ เราลองไปจับคู่ดูสิว่า พื้นที่ที่มี PM2.5 มันมีความเชื่อมโยงกับคนไข้มะเร็งปอดหรือไม่อย่างไร”

.

การป้องกันตัวเองเป็นสิ่งแรกซึ่งสำคัญ แต่การป้องกันตัวเองของประชาชนก็เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐ

.

“ถ้าเรารู้ข้อมูลว่า คุณภาพอากาศข้างนอกบ้านเราอยู่ในระดับไหน เราก็หาวิธีป้องกัน เช่น ใส่หน้ากาก N95 ถ้าเเมสก์ธรรมดาไม่สามารถป้องกันได้ แล้วถ้าอยู่ในบ้านล่ะ ปลอดภัยมั้ย ฝุ่นก็สามารถเข้ามาได้ค่ะ เราอาจจะต้องมีเครื่องกรองอากาศชนิดที่สามารถกรองฝุ่น PM2.5 ได้ แล้วเราจะต้องไม่ก่อกิจกรรมที่ทำให้เกิดควัน การเดินทางไปไหนเราอาจจะต้องตรวจรถของเราว่าควันมันมีคุณภาพดีมั้ย ซึ่งรถไฟฟ้าก็เป็นจุดที่คนสนใจที่จะมาทดแทนรถยนต์”

.

รศ.พญ.บุษยามาส กล่าวถึง Better Normal ในการใช้ชีวิตของผู้คนในยุคที่เราต้องเผชิญกับ New Normal รอบด้าน

.

“ภาครัฐอาจจะต้องมีนโยบายในการป้องกัน นี่คือจุดที่สำคัญ รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายที่เอาใจใส่ ต้องกำหนดเพดานค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในการเตือนที่ถูกต้อง เพราะจะทำให้ประชาชนทราบข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริง ตระหนักว่าอากาศภายนอกไม่ได้ดีเหมือนที่ค่ามาตรฐานเดิมกำหนดไว้สูง การป้องกันก็มีหลายระดับ ทั้งตนเอง ชุมชน และนโยบายของรัฐ

.

“เราควรตระหนักว่า PM2.5 เป็นสารพิษที่จะเวียนมาในช่วงเวลาต้นปี แต่ไม่ควรตระหนก รวมถึงเราไม่ควรเป็นผู้ก่อมลพิษเสียเอง นอกจากนี้ เราควรส่งสัญญาณไปยังรัฐบาลให้เกิดมาตรการหรือนโยบายที่จะไปสู่การเปลี่ยนแปลง เพราะประชาชนได้ดูแลตัวเองอย่างถึงที่สุดแล้ว” รศ.พญ.บุษยามาส กล่าว

#เพื่อลมหายใจภาคเหนือ

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →