เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา นายภูมิ วชร เจริญผลิตผล ราษฎรชาวเชียงใหม่ผู้ฟ้องคดีให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศยกระดับค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ต่อศาลปกครองกลาง ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Bhumi Wachara Charoenplidpol ถึงความล่าช้าของคดี เหตุจากฝ่ายรัฐบาลผู้ถูกฟ้อง คือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขอเลื่อนส่งเอกสารแก้คำฟ้องหลายรอบ โดยมีเนื้อความว่า
.
ความคืบหน้าคดีฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ประกาศมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5)
ขณะนี้เดือนมีนาคมแล้วคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติยังไม่ทำคำให้การแก้คำฟ้องคดีที่ผมฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ประกาศมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5)
คดีนี้ผมยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564 และศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติทำคำให้การแก้คำฟ้องยื่นต่อศาลภายใน 30 วัน แต่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ขอเลื่อนทำคำให้การแก้คำฟ้องยื่นต่อศาลมาจนกระทั่งวันนี้
ขณะนี้ประเทศไทย (ยกเว้นภาคใต้) เข้าสู่เทศกาลฉลองการกลับมาของฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ประจำปี 2565…
.
หลังจากที่รับคำฟ้องของนายภูมิเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติทำคำให้การแก้คำฟ้อง (เอกสารแก้ต่าง) ต่อศาลภายใน 30 วัน ซึ่งต่อมาผู้ถูกฟ้องขอขยายเวลาส่งเอกสารเมื่อวันที่14 ธันวาคม 2564 และมีการขอเลื่อนเพิ่มเติมอีก 2 ครั้ง คือเมื่อวันครบรอบส่งคำฟ้อง 12 มกราคม 2565 และ วันครบรอบส่งคำฟ้อง 10 กุมภาพันธ์ 2565 ทำให้นายภูมิออกมาเคลื่อนไหวโพสต์ข้อความแจ้งให้สาธารณะรู้ว่า จนถึงปัจจุบัน คดีที่ตนยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติยังไม่มีความคืบหน้า
.
ทั้งนี้ในวันที่ 10 มีนาคม 2565 ที่จะถึงนี้ จะครบกำหนดเงื่อนเวลาที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต้องส่งเอกสารแก้คำฟ้องตามที่ศาลสั่ง หลังจากที่ขอเลื่อนมาแล้ว 3 ครั้ง (3 เดือน) อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ณ วันที่ 5 มีนาคม ทนายความของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็ยังไม่ได้ส่งเอกสารที่ว่าต่อศาลแต่อย่างใด
.
อนึ่ง ค่ามาตรฐานอากาศ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่นายภูมิ วชร เจริญผลิตผล ยื่นขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งนั้น เป็นขอให้ปรับจากค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชม. จาก 50 ไมโครกรัม/ลบ.ม. มาเป็น 37 ไมโครกรัม/ลบ.ม. และค่าฝุ่นรายปี จาก 25 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ให้เหลืออยู่ที่ 15 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ซึ่งมาตรฐานใหม่ดังกล่าว กรมควบคุมมลพิษและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้จัดทำร่างประกาศใหม่ และเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่ 16 มกราคม 2564 หรือเมื่อกว่า 1 ปีที่ผ่านมา แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการประกาศใช้จริง
