วันนี้ (5 มี.ค. 2565) สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ เผยแพร่การประกาศแจ้งวิทยุสื่อสาร ที่ ชม 0021/ว 6685 วันที่ 4 มี.ค. 2565 ลงนามโดย นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่/ผู้อำนวยการจังหวัด ที่ส่งถึงนายอำเภอทุกอำเภอ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ นายกเทศมนตรีเมืองทุกแห่ง/ผู้อำนวยการท้องถิ่น และประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีสาระสำคัญคือการแจ้งให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเตรียมรับสถานการณ์ในช่วงวันที่ 6-8 มี.ค. เนื่องจากคาดว่าจะเกิดพายุฤดูร้อน ซึ่งอาจทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงในพื้นที่ภาคเหนือ
.

.
การวิทยุแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานต่างๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากประกาศของกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่แจ้งเตือนว่าอาจเกิดพายุฤดูร้อนในพื้นที่ประเทศไทยตอนบน โดยทาง ปภ.ได้ทำแผนที่เฝ้าระวังสถานการณ์พายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง ระหว่างวันที่ 6-8 มี.ค. รวม 62 จังหวัด พร้อมกับแจ้งให้จังหวัดต่างๆ เตรียมการรับผลกระทบจากพายุฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้น
.

.
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าการแจ้งเตือนของทาง ปภ. มีการประเมินว่าทุกจังหวัดทางตอนบนของประเทศอาจได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้น ขณะที่ในประกาศฉบับที่ 1 เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทย (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 6-8 มีนาคม 2565) ของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ทาง ปภ.นำมาอ้างอิงนั้น แม้จะระบุว่าพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจะประกอบด้วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ตอนบน แต่ในส่วนของภาคเหนือ ในอินโฟกราฟิกที่เผยแพร่ออกมานั้น จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดแม่ฮ่องสอนไม่ได้รวมอยู่ในจังหวัดที่เสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากพายุฝนฟ้าคะนองแต่อย่างใด
.

.

.
นอกจากนี้ในประกาศฉบับที่ 2 ของกรมอุตุนิยมวิทยาที่เผยแพร่ในวันนี้ (5 มี.ค. 2565) ระบุว่าจังหวัดในภาคเหนือที่จะได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อนในแต่ละวันนั้นประกอบด้วย วันที่ 6 มี.ค. จังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์ วันที่ 7 มี.ค. จังหวัดน่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์ และวันที่ 8 มี.ค. จังหวัดตาก และกำแพงเพชร ขณะที่ในอินโฟกราฟิกที่เผยแพร่ออกมา ก็แสดงให้เห็นว่ามีเพียงบางจังหวัดในภาคเหนือที่จะมีฝนตกในพื้นที่และได้รับผกระทบจากพายุฤดูร้อนเช่นกัน
.

.

.

.
