ดอกกุหลาบ บ่อน้ำ และต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์: สำรวจชีวิตในแนวกันไฟที่บ้านบวกเต๋ย

ห่างจากเชียงใหม่ประมาณ 40 กิโลเมตร ดอกกุหลาบหลายสายพันธุ์กำลังฟูมฟักสารอาหารในสวนของเกษตรกร กุหลาบหลากสีหุบดอกอยู่ในตาข่ายโฟม พวกมันถูกคลุมไว้เพื่อสร้างฟอร์มของดอกและป้องกันการบอบช้ำ เทศกาลวันวาเลนไทน์เพิ่งผ่านไปไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งเป็นไฮซีซั่นของชีวิตชาวบ้านแห่งนี้ ชาวบ้านบวกเต๋ยส่งดอกกุหลาบในสวนไปยังกาดหลวงในเวียงเชียงใหม่ และบางดอกกุหลาบเดินทางไกลไปถึงปากคลองตลาด

นี่คือแหล่งปลูกกุหลาบแห่งสำคัญของเมืองเชียงใหม่ บวกเต๋ยเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อระหว่าง อ.แม่ริม กับ อ.สะเมิง เช่นเดียวกับชุมชนบนพื้นที่สูงทั่วภาคเหนือ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์เป็นช่วงทำแนวกันไฟป้องกันไฟป่าที่จะรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ของหมู่บ้าน 

.

เช้าวันหนึ่งปลายเดือนกุมภาพันธ์ ชาวบ้านบวกเต๋ยหลายสิบคนถือคราด เครื่องตัดหญ้า ขวดน้ำดื่ม เดินทางขึ้นไปรวมตัวกันบนจุดชมวิวของหมู่บ้าน “ตรงนี้จุดเฝ้าระวังไฟของหมู่บ้านครับ” อินทรี คัมภีร์ปัญญากุล ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กล่าวถึงภูมิศาสตร์สำคัญในการเฝ้าระวังไฟป่าในฤดูกาลหมอกควัน 

.

“ไฟจะมาจากหลายด้านครับ จุดเฝ้าระวังอีกจุดคือจุดชมวิวสะเมิง พื้นที่เราถัดไปหน่อยก็เป็นสะเมิงแล้ว แต่ฝั่งนี้เป็นแม่ริม เราก็ต้องช่วยฝั่งสะเมิงด้วย เพราะเราทำกินในพื้นที่สะเมิง แต่บ้านของเราอยู่ฝั่งแม่ริม” อินทรี บอก

.

พวกเขาต้องดูแลพื้นที่สองฝั่งที่ล้อมรอบชีวิต เพื่อป้องกันไฟที่จะเข้ามาประชิดในช่วง 4 เดือนแรกของปี เพราะชีวิตที่ดีควรเป็นพื้นที่หวงห้ามจากหมอกควันอันตราย

พื้นที่ของชีวิต

ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ชาวบ้านบวกเต๋ยจะทำแนวกันไฟในพื้นที่ป่าชุมชน ซึ่งเป็นเขตรอยต่อระหว่างเขตป่าอุทยานแห่งชาติกับป่าสงวนแห่งชาติ “พื้นที่เราเป็นแนวเชื่อมกันกับพื้นที่ของหน่วยงานทั้งสองแห่งครับ” อินทรี บอกว่า แนวทางการบริหารจัดการของหน่วยงานทั้งสองแห่งไม่เหมือนกัน บางครั้งก็ทำให้เกิดปัญหาเมื่อต้องเข้าไปจัดการสถานการณ์เฉพาะหน้า 

.

“ฝั่งหนึ่งคืออุทยานแห่งชาติขุนขาน อีกฝั่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติแม่ริม นโยบายของสองหน่วยงานไม่เหมือนกัน ก็จะลำบากหน่อย หากเกิดเหตุในพื้นที่ที่เป็นความรับผิดชอบของอุทยานฯเราจะเข้าไปทำอะไรก็จะลำบากหน่อย ซึ่งชาวบ้านมีพื้นที่ทำกินอยู่ฝั่งอุทยานฯเสียเป็นส่วนใหญ่” รองผู้ใหญ่บ้านบวกเต๋ย บอกถึงอุปสรรคของการบริหารจัดการ

.

พวกเขาทำแนวกันไฟกว้างประมาณ 20 เมตร เพื่อป้องกันการลุกลามหากเกิดไฟป่า เนื่องจากพื้นที่ป่าชุมชนสูงชัน ชาวบ้านต้องเผาเศษหญ้าเศษใบไม้เพื่อไม่ให้เป็นเชื้อเพลิงสะสมจนเกิดเพลิงลุกลาม 

การทำแนวกันไฟของชาวบ้านบวกเต๋ยเป็นวิถีชีวิตที่ทุกคนมาด้วยจิตใจอาสา แต่ธรรมชาติของมนุษย์ เวลาที่เหน็ดเหนื่อยจากการต่อสู้เพียงลำพัง ก็อาจจะเกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ 

.

อินทรี เล่าว่า การเฝ้าระวังไฟป่าและการเข้าดับไฟของชาวบ้าน บ่อยครั้งที่ประสบอุบัติเหตุ แต่ไม่มีหน่วยงานไหนดูแล เหมือนพวกเขาไม่มีตัวตน ไม่ว่าจะมองมาจากมุมมองของอำนาจ บทบาท หรืองบประมาณ พวกเขาทำได้เพียงก้มหน้า ไม่ใช่ร้องไห้ แต่ทำต่อไป

.

“หลังจากนี้เราจะต้องจัดชุดเฝ้าระวังวันละ 4 คน ไปจนกว่าฝนเดือนเมษายนจะมาครับ” อินทรีบอกว่า กลุ่มอาสาสมัครชาวบ้านจะประกอบไปด้วยกลุ่มทำแนวกันไฟ กลุ่มเวรยามเฝ้าระวังไฟป่าที่ต้องจัดกำลังวันละ 4 คน และกลุ่มลาดตระเวน 

.

รองผู้ใหญ่บ้านอธิบายไม่ทันขาดคำ รถมอเตอร์ครอสสีเขียวคันใหญ่ก็กระโจนลอยข้ามเนินดินเล็กๆ ไปบนทางเทรล คล้ายกับจะแสดงแสนยานุภาพในการบุกตะลุยเข้าไปในความกันดาร หากเลยพ้นจากจุดที่เราเริ่มต้นทำแนวกันไฟนี้ จะเป็นเส้นทางเทรลสูงชัน สมรรถนะของรถมอเตอร์ครอสถูกออกแบบมาเพื่อกิจกรรมนี้ “เวลามีไฟ ชุดนี้ก็จะเข้าถึงก่อน” อินทรีบอก

ดณุสรณ์ ถาวรวิจิตร

ดณุสรณ์ ถาวรวิจิตร บอกว่า ไฟมักจะลุกลามมาจากเขตป่าที่ซึ่งนายพรานลักลอบเข้าไปเผาป่าเพื่อล่าสัตว์ “เขาเผาเพื่อทำให้ป่าราบครับ เพราะเวลาป่าผลัดใบ ใบไม้แห้งจะเกลื่อนพื้น เวลานายพรานเดินเข้าไปล่าสัตว์ในป่า มันจะทำให้เกิดเสียงใบแห้ง บางครั้งไฟก็ลามมาฝั่งเรา เราก็ต้องคอยเฝ้าระวังครับ” 

.

ดณุสรณ์เป็นชาวบวกเต๋ยคนหนึ่งที่มาทำแนวกันไฟ คอยเฝ้าระวังสอดส่องไฟป่า แต่หลายครั้งที่คนเฝ้าระวังก็เป็นชุดเดียวกับคนที่ขี่รถวิบากลาดตระเวน 

.

“เพราะเราไม่มีงบประมาณในการดูแลชาวบ้านกลุ่มนี้ครับ” อินทรี บอก “ซึ่งเขาต้องจ่ายค่าอาหารค่าน้ำมันรถ เราก็ขอชาวบ้านอย่างเดียวเลยครับ ใช้อาสาเอา เราทำกันมาเป็นประจำทุกปีอยู่แล้วไม่ว่าจะมีหรือไม่มีงบประมาณ เราก็ต้องทำของเราแบบนี้ เพราะมันเป็นพื้นที่ของเราเราต้องดูแล โดยเฉพาะโซนฝั่งนี้ที่เราขี่รถขึ้นมา มันเป็นต้นน้ำของหมู่บ้านด้วย แล้วต้นน้ำของเราเหลือแค่จุดเดียว” 

บ่อน้ำของชีวิต 

ไม่น่าเชื่อ ด้วยระยะทางที่ห่างจากเมืองเชียงใหม่เพียง 40 กิโลเมตร แต่หมู่บ้านบวกเต๋ยกลับขาดแคลนน้ำใช้อุปโภคบริโภค 

.

“หมู่บ้านของเราขาดแคลนน้ำมาก น้ำไม่พอ เราต้องไปเอาน้ำจาก อบต.โป่งแยงขึ้นมาใช้ตลอด ช่วงนี้น้ำเริ่มไม่พอใช้แล้ว บางครอบครัวที่อยู่บนที่สูงหน่อยก็จะไม่มีน้ำใช้แล้ว เราพยายามดูแลต้นน้ำไว้อย่างน้อยๆ ก็ให้ได้ใช้สัก 8-9 เดือนต่อจากนี้ หลังจากนั้นก็ต้องหาหน่วยงานข้างนอกมาช่วย จริงๆ มีอ่างน้ำอยู่ แต่มันไกลจากหมู่บ้าน มันต้องผันขึ้นมาแล้วปล่อยลงไป” 

.

อินทรี เล่าว่า เกือบทุกครัวเรือนจะซื้อถังน้ำสี่เหลี่ยม 1,000 ลิตร สำหรับบรรจุน้ำจาก อบต.โป่งแยง ขึ้นมาใช้  “ครอบครัวไหนใหญ่หน่อยก็วันสองวันไปเอาน้ำทีนึง ครอบครัวเล็กก็ 4-5 วัน ต้องไปขนมาใช้ในครัวเรือน สำหรับล้างจาน ซักผ้า น้ำบริโภคเราซื้อเอา แต่ตอนนี้เราได้งบมาทำเครื่องกรองน้ำของหมู่บ้าน สำหรับน้ำทางการเกษตร ชาวบ้านต้องไปดูดน้ำจากพื้นที่ต่ำขึ้นมาใช้ ใช้เครื่องสูบน้ำ มีค่าน้ำมัน ก็จะเป็นการลงทุนของแต่ละครัวเรือน หมู่บ้านนี้จะลำบากเรื่องน้ำครับ” 

อินทรี คัมภีร์ปัญญากุล ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน

นี่เป็นเหตุผล ชาวบ้านที่นี่ออกเรี่ยวแรงในการปกปักรักษาพื้นที่ป่าชุมชน ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีงบประมาณสนับสนุนก็ตาม เพราะมันคือบ่อน้ำของชีวิต

.

“แต่อย่างวันนี้เรามาทำแนวกันไฟ อปท.มีงบให้ เป็นค่าอาหารของชาวบ้าน แต่เราก็ตกลงกันกับชาวบ้านว่า วันนี้เรามาช่วยกันนะ แล้วเราเก็บเงินก้อนนี้ไปเป็นค่าอาหารให้คนเฝ้ายาม เพราะว่าเขาต้องอยู่ทั้งวันแล้วมันเป็นระยะเวลาที่นานกว่า เราต้องบริหารจัดการงบเอาเองเพื่อให้มันสมเหตุผล เอื้อให้ชาวบ้านได้ทำงาน แต่ในส่วน อปท. ถ้าบอกว่าเอามาเป็นงบค่าเฝ้าระวังไฟป่า มันติดขัดระเบียบหรืออย่างไรก็ไม่ทราบครับ เพราะงบประมาณอนุอญาตเฉพาะการทำแนวกันไฟ

.

“เราเคยเสนอไปหลายครั้ง ว่าคนที่จะทำงานภาคปฏิบัติที่เข้าไปดับไฟมันควรจะมีงบประมาณมาให้ชาวบ้าน อาจจะเป็นจ้างเลย หรือมีงบมาให้ชาวบ้านบริหารกันเอง อย่างบ้านผมจะมีกลุ่มลาดตระเวน กลุ่มที่คอยไปดับตลอด เพียงแต่ว่าทุกคนทำด้วยจิตอาสา ก็มีหลายครั้งที่ไปประสบอุบัติเหตุ ไฟไหม้ ลื่นไถลลงตามดอยบ้าง บาดเจ็บมาก็ไม่ได้มีหน่วยงานไหนดูแล บางครั้งชาวบ้านก็น้อยใจ แต่เราก็ไม่รู้จะทำยังไง ในเมื่อเป็นพื้นที่ของเราเราก็ต้องดูแล แต่ถ้าเป็นไปได้นะครับ จากที่ได้ยินว่าเขาจะโอนภารกิจมาให้อบต.ก็คาดหวังว่า งบประมาณส่วนนี้จะเป็นการจ้างงานในชุมชน ซึ่งเขารู้จักพื้นที่ดี ไฟไหม้ตรงนี้ เราจะเข้าไปดับอย่างไร ทำแนวกั้นไฟตรงไหนได้ มันน่าจะบริหารจัดการได้ดีขึ้น”

.

เพราะการจัดการไฟป่า ใครจะรู้ดีเท่าคนในหมู่บ้าน สุดท้ายก็ต้องชาวบ้านนี่แหละที่ต้องช่วยกันดับ อินทรีบอกไว้เช่นนี้

คนตัวเล็กกับต้นไม้ใหญ่

การบวชป่าของชาวพุทธและต้นสะดือของชาวปะกาเกอญอ ล้วนแต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกับพิธีดงเซ้งของชาวม้ง 

.

‘ดงเซ้ง’ ในภาษาม้งแปลว่า ‘ต้นไม้ใหญ่’ ชาวม้งสร้างความสัมพันธ์กับต้นไม้ใหญ่ด้วยพิธีกรรม ในอดีตเมื่อชุมชนม้งตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ใดแล้ว มักจะประกอบพิธีดงเซ้งโดยเริ่มสำรวจพื้นที่ป่าบริเวณใกล้หมู่บ้านที่มีต้นไม้ใหญ่เด่นสง่า แผ่กิ่งก้านงดงาม ลำต้นตั้งตรง และอยู่ในทำเลที่เหมาะสม จากนั้นก็จะอันเชิญเทพสี่องค์ ได้แก่ เทพถือติ คุ้มครองผืนดินและป่า เทพสะแส่งติจือ คุ้มครองสัตว์ต่างๆ เทพเจ้าจื้อเซ้งโล่งเม่ คุ้มครองดูแลใต้พิภพ และเทพฝือแส่ง ควบคุมปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย มาปกปักรักษาผืนดิน ผืนป่า และคนในชุมชน 

.

เมื่อประกอบพิธีเสร็จสิ้น ป่าบริเวณนั้นจะกลายเป็นป่าดงเซ้ง ที่ชุมชนกำหนดห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปบุกรุกทำลาย ตัดต้นไม้ ล่าสัตว์ หรือหาพืชสมุนไพร เนื่องจากจะทำให้เทพทั้งสี่ไม่พอใจ หากไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ ก็จะเกิดภัยต่อตนเองหรือชุมชนได้ 

“ชาวบ้านทุกคนจะรับรู้ร่วมกันว่าตรงนั้นเป็นพื้นที่หวงห้ามครับ” อินทรี บอก และย้ำว่า “ทุกคนจะไม่เข้าไปทำลายป่าตรงนั้น ทุกคนจะช่วยดูแล เหมือนที่เราทำป่าชุมชนในทุกวันนี้ ลักษณะเดียวกัน แต่ชนเผ่าม้งก็มีมาดั้งเดิมแล้ว เราเรียกไม่เหมือนกันเท่านั้นเอง ลักษณะเหมือนคนไทยบวชป่า ทำยังไงก็ได้ให้ทุกคนดูแลผืนป่าผืนนี้ไว้ นี่คือภูมิปัญญาของพี่น้องม้งที่ทำมาแต่อดีต แต่ละเผ่าก็จะมีวิธีการของบรรพบรุษที่ทำกันมาแตกต่างกันไป แต่เป้าหมายหลักก็คือเพื่อให้คนช่วยกันดูแลป่า”

ชาวบวกเต๋ยออกแบบระบบการดูแลป่าสอดคล้องกับต้นไม้ที่พวกเขาดูแล ในระบบการพัฒนาหมู่บ้านบวกเต๋ยใช้การขอแรงอาสา โดยมีกติกาว่า แต่ละครอบครัวจะส่งตัวแทนออกมาร่วมกิจกรรมพัฒนาชุมชน ซึ่งมีตั้งแต่การทำแนวกันไฟ เฝ้ายามไฟป่า ดับไฟป่า ดูแลป่าต้นน้ำ ฯลฯ 

.

ชายหนุ่มที่แยกตัวออกไปสร้างครอบครัวใหม่กับหญิงสาวจะถูกนับเป็น 1 ครอบครัวใหม่ เมื่อแยกออกไปสร้างครอบครัวใหม่พวกเขาก็ต้องส่งตัวแทนของบ้านตนเข้าร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน หนุ่มสาวเติบใหญ่ไปเป็นคนชรา เด็กน้อยเติบโตไปเป็นคนหนุ่มสาว เมื่อถึงเวลานั้น พวกเขาจะแยกตัวออกมาจากบ้านหลังเก่า เพื่อสร้างครอบครัวใหม่ แพร่ขยายกิ่งก้าน สร้างร่มเงา ออกมาร่วมชีวิตกับส่วนรวม ซึ่งที่แท้แล้วคือหนึ่งเดียวกัน เป็นเช่นนี้เสมอมา.

.

ชมคลิปสารคดี

.
เรื่องและภาพ: วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →