วันนี้ 14 ม.ค. 2565 ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายวิทยา ครองทรัพย์ ผู้ประสานงานสภาลมหายใจภาคเหนือ และศาสตราจารย์ นายแพทย์ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการสนับสนุนข้อมูลด้านวิชาการเพื่อร่วมเป็นภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ ระหว่างสภาลมหายใจภาคเหนือ กับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
.

.
การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกันระหว่างทั้งสองหน่วยงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือและเป็นภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพในเขตภาคเหนือตอนบน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่มีผลต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ด้วยการสนับสนุนให้ประชาชนในภาคเหนือได้เรียนรู้ข้อมูลจากเครื่องวัด PM2.5 ผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหา และเกิดการเฝ้าระวังอันตรายจาก PM2.5 ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพ
.

.

.
สำหรับการร่วมมือกันในครั้งนี้ ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันในการแก้ไขปัญหา PM2.5 โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพจะให้การสนับสนุนข้อมูลด้านวิชาการเรื่องผลกระทบของ PM2.5 ต่อสุขภาพ ดำเนินการติดตั้งเครื่องวัด PM2.5 ให้ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบน พร้อมกับเผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน NTAQHI ขณะที่สภาลมหายใจภาคเหนือจะให้การสนับสนุนในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ PM2.5 ผ่านทางสถานีฝุ่น ซึ่งเป็นสื่อพันธมิตรของสภาลมหายใจภาคเหนือ
.

.

.
นายวิทยา ครองทรัพย์ ผู้ประสานงานสภาลมหายใจภาคเหนือ กล่าวถึงการทำบันทึกข้อตกลงระหว่างทั้งสองหน่วยงานว่า สภาลมหายใจภาคเหนือต้องการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายของ PM2.5 และสามารถดูแลสุขภาพของตนเองด้วยข้อมูลวิชาการที่ถูกต้องและปลอดภัยต่อสุขภาพอย่างแท้จริง โดยสนับสนุนให้เกิดการใช้งานเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน NTAQHI เนื่องจากเป็นการวัดค่ามาตรฐานอากาศที่แสดงผลแบบเรียลไทม์ อีกทั้งเกณฑ์มาตรฐานอากาศของ NTAQHI ใช้สีและการคำนวนแบบ US AQI ดังนั้นจึงให้คำเตือนและระดับสีต่างจากค่ามาตรฐานของทางราชการ ซึ่งการแสดงค่ามาตรฐานอากาศเช่นนี้จะช่วยให้ประชาชนในภาคเหนือเกิดความปลอดภัย และสามารถปกป้องตัวเองจากอันตรายของ PM2.5 ได้ดีกว่า
.
ด้านศาสตราจารย์ นายแพทย์ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ กล่าวถึงเป้าหมายในการทำงานของสถาบันว่า จากการสนับสนุนของสภาลมหายใจภาคเหนือ ทางสถาบันตั้งเป้าที่จะขยายเครือข่ายของเครื่องวัด PM2.5 จากเดิมที่ติดตั้งไปแล้วใน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ให้เพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2565 นี้ คาดว่าจะสามารถดำเนินการติดตั้งเครื่องวัด PM2.5 ให้ได้ครบทั้ง 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน และจังหวัดตาก
