สภาลมหายใจภาคเหนือ 8 จังหวัด เรียกร้องให้รัฐบาลยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ของประเทศโดยด่วน พร้อมทั้งจะติดตามการดำเนินงานของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง จนกว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวจะได้รับการตอบสนอง
.
การแถลงข่าวของเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ 8 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วย สภาลมหายใจจังหวัดแม่ฮ่องสอน สภาลมหายใจจังหวัดลำพูน สภาลมหายใจจังหวัดเชียงใหม่ สภาลมหายใจจังหวัดเชียงราย สภาลมหายใจจังหวัดพะเยา สภาลมหายใจจังหวัดลำปาง ชมรมอากาศดีที่เมืองแพร่ เครือข่ายรักษ์อากาศน่าน และองค์กรพันธมิตร ที่จัดขึ้นในวันนี้ (22 ม.ค. 2565) ตัวแทนจากสภาลมหายใจภาคเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ นางเตือนใจ ดีเทศน์ จากสภาลมหายใจจังหวัดเชียงราย นายบัณฑิต นิลอุดมศักดิ์ จากสภาลมหายใจจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายภูวนัฐ อินทราชัย จากสภาลมหายใจจังหวัดลำปาง และนายสามชาย พนมขวัญ จากชมรมอากาศดีที่เมืองแพร่ ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้เกิดการยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ของประเทศโดยด่วน
.

.
สำหรับสาระสำคัญของแถลงการณ์ฉบับนี้ คือการเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งประกาศใช้มาตรฐานฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 แบบใหม่ ที่เข้มงวดกว่าค่ามาตรฐานเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ตามมติคณะรัฐมนตรี 12 กุมภาพันธ์ 2562 ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องกำหนดค่ามาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศให้เป็นไปตามเป้าหมายระยะที่ 3 ขององค์การอนามัยโลก และมีการยกร่างเตรียมประกาศใช้ค่ามาตรฐานใหม่เอาไว้แล้วตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการประกาศใช้แต่อย่างใด นั่นคือการกำหนดให้ค่า PM2.5 เฉลี่ยรายวันจะต้องไม่เกิน 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีจะต้องไม่เกิน 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
.

.

.
นางเตือนใจ ดีเทศน์ จากสภาลมหายใจจังหวัดเชียงรายระบุว่า ปัญหา PM2.5 เกิดขึ้นมานานแล้วในพื้นที่ภาคเหนือ และส่งผลกระทบอย่างมากต่อเด็ก สตรีมีครรภ์ และคนป่วย โดยมีข้อมูลทางการแพทย์ที่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจน การที่มนุษย์ทุกคนจะมีอากาศบริสุทธิ์หายใจเป็นสิทธิที่รัฐบาลควรจะให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน ดังนั้นการออกแถลงการณ์ในครั้งนี้จึงเป็นการติดตามให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนมาตรฐานการวัดค่า PM2.5 อย่างรวดเร็วที่สุด และหวังว่ารัฐบาลจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน
.
ด้านนายสามชาย พนมขวัญ จากชมรมอากาศดีที่เมืองแพร่ กล่าวว่า การปล่อยให้ประชาชนในประเทศเจ็บป่วยมีปัญหาด้านสุขภาพจาก PM2.5 และต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการรักษา ถือเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว เรื่องสุขภาพของประชาชนไม่ใช่สิ่งที่ควรนำไปเสี่ยง ดังนั้นหากภาครัฐมีความจริงใจ การเปลี่ยนแปลงค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศก็สามารถทำได้อย่างแน่นอน
