ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ: มาตรฐานอากาศของ NTAQHI ที่ไม่เหมือนส่วนกลาง

.

ค่ามาตรฐานอากาศที่ประเทศไทยกำหนดเพดานไว้สูงกว่าสากลโลก ซึ่งไม่ได้หมายความว่ามาตรฐานของประเทศจะสูงกว่านานาอารยะ หากแต่มีความหมายตรงข้ามโดยสิ้นเชิง เพราะเพดานการกำหนดค่ามาตรฐานที่สูงย่อมส่งผลโดยตรงต่อระดับการแจ้งเตือนประชาชน

.

เข้าทำนอง ‘ยิ่งสูงยิ่งช้า’

.

แม้ว่าเครื่องตรวจวัดและรายงานคุณภาพอากาศโดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จะกระจายตัวครอบคลุมเกือบทุกจังหวัด แต่เมื่อประมาณสองปีก่อน คณะนักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กลุ่มหนึ่งกลับมองเห็นข้อด้อยของระบบและระดับการแจ้งเตือนที่ไม่ทันการ

.

จึงเป็นที่มาของการสร้างมาตรฐานอากาศภาคประชาชน พวกเขาร่วมมือกันสร้างเครือข่ายจนกลายเป็น NTAQHI ย่อมาจาก Northern Thailand Air Quality Health Index หรือ ดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพชาวเหนือ พวกเขาต้องการการรายงานค่าคุณภาพอากาศหรือฝุ่น PM 2.5 ให้ประชาชนสามารถรู้ได้แบบเรียลไทม์ และยกระดับการแจ้งเตือนผลกระทบต่อสุขภาพในมาตรฐานสากล 

.

Dust talk พูดคุยกับ ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ หนึ่งในองคาพยของ NTAQHI

มาตรฐานของอากาศ

.

“เราเริ่มต้นทำงานนี้จากนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่มีความสนใจเรื่องการวัดคุณภาพอากาศ การวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษเป็นมาตรฐานหลักที่ใช้กันในประเทศไทยมานานมากแล้ว ซึ่งมีการกำหนดมาตรฐานอากาศที่ปลอดภัยต่อสุขภาพไว้ที่ไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเรามองว่าเป็นการตั้งค่าที่สูงเกินไปครับ”

.

ศ.นพ.ขวัญชัย หมายความว่า การแจ้งเตือนที่ช้ากว่าที่ควรจะเป็น จะทำให้ประชาชนเสี่ยงในการรับมลพิษเข้าไป เพราะกว่ารัฐบาลจะประกาศเตือน กลุ่มเสี่ยงที่มีความเปราะบางต่อมลพิษทางอากาศก็มีความเสี่ยงถึงชีวิต

.

นักวิจัยในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงมารวมตัวกัน พูดคุยหารือเรื่องมาตรฐานที่ควรจะเป็น พวกเขาคิดว่ามาตรฐานที่ใช้ควรเป็นมาตรฐานสากล มีความรวดเร็วในการแจ้งเตือนให้กับประชาชน มาตรฐานของสํานักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (U.S. Environmental Protection Agency : EPA) เป็นมาตรฐานที่คณะนักวิจัยกลุ่มนี้เลือก

.

“ซึ่งในหลายประเทศใช้มาตรฐานนี้ครับ เราพยายามรณรงค์ในเรื่องนี้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้ระบบและระดับการแจ้งเตือนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในตอนนั้นเราใช้ชื่อกลุ่มว่า CMAQHI ทำเว็บไซต์ CMAQHI.org ตอนแรกใช้เครือข่ายที่มีในตอนนั้น ซึ่งมีคนติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศไว้อยู่แล้ว เราก็รวบรวมข้อมูลมารวมกัน ตอนแรกได้แค่ระดับอำเภอ เราได้ข้อมูลจากทุกอำเภอในเชียงใหม่ ตอนนั้น CMAQHI มีวัตถุประสงค์ที่จะรายงานคุณภาพอากาศที่เป็นเรียลไทม์ รายงานเป็นรายนาที โดยข้อมูลสะสมที่เซิฟเวอร์สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ เราจะวิเคราะห์ในแต่ละนาทีว่าคุณภาพอากาศเป็นอย่างไร รวมถึงให้ค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงด้วย นอกจากดูรายนาทีเรายังดูรายชั่วโมง และมีค่ามาตรฐานรายวันซึ่งใกล้เคียงกับที่กรมควบคุมมลพิษใช้ในปัจจุบัน แต่เราเน้นที่เรียลไทม์และรายชั่วโมงมากกว่า” 

.

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ระบุว่า ในการรายงานคุณภาพอากาศแบบค่าเฉลี่ยรายวัน เป็นข้อจำกัดที่ทำให้ประชาชนรู้เพียงว่าในวันที่ผ่านมาคุณภาพอากาศเป็นอย่างไร “แต่ไม่รู้ว่านาทีต่อไป ชั่วโมงต่อไปจะเป็นยังไงครับ ถ้าเราใช้มาตรฐานรายชั่วโมง เขาจะรู้ว่าชั่วโมงต่อไปคุณภาพอากาศจะเป็นยังไง ยิ่งถ้าใช้มาตรฐานเรียลไทม์ เขาก็จะรู้เลยว่าในนาทีต่อไป อากาศในขณะนั้นจะเป็นยังไง เราตั้งใจนำเสนอตรงนี้ และมีการแจ้งเตือนตามมาตรฐานสากล 

.

“ถ้าระดับสูงเกินกว่าร่างกายคนทั่วไปจะรับได้ เราจะใช้ย่านสีตรงกับมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา เช่น ถ้าเป็นสีเขียว ก็แปลว่าอากาศดี สีเหลืองเริ่มที่จะเสี่ยงต่อคนเป็นภูมิแพ้ ถ้าเป็นสีส้มก็ไม่ควรออกไปข้างนอก ถ้าเป็นสีแดงมันอันตรายสำหรับคนทั่วไป เราจะให้ย่านสีแบบนั้น แสดงในเว็บไซต์ ต่อมาเราพัฒนาเป็นแอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และแอนดรอยด์” 

.

หลังจากขยายเครือข่ายครอบคลุม 1 ตำบล 1 จุดวัดอากาศ ทั่วเชียงใหม่โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมหาวิยาลัยเชียงใหม่ และใช้เครื่องวัดคุณภาพอากาศที่อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์เป็นผู้ผลิต “เราจึงอยากจะขยายเครื่อข่ายออกไปยังจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือ เมื่อปีที่แล้วเราจะทำเรื่องขอความอนุเคราะห์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เราจะไปติดตั้งเพิ่มที่ลำพูน แม่ฮ่องสอน เชียงราย เราจึงเปลี่ยนชื่อเป็น NTQAHI เราคิดว่าเราจะติดตั้งให้ครบทุกจังหวัดในภาคเหนือ

.

ในปีนี้ เราตั้งใจว่า เราอยากจะขยายเพิ่มไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วภาคเหนือ โดยการอนุเคราะห์จากสภาลมหายใจภาคเหนือ ก็มาติดต่อช่วยสนับสุนเครืืองวัดคุณภาพอากาศ เพื่อติดตั้งให้ครบทุกจังหวัดในภาคเหนือ เราจึงร่วมมือกันว่าจะขยายเครือข่ายนี้ออกไป ได้รับงบประมาณบางส่วนจาก มช. คิดว่าปีนี้เราน่าจะติดตั้งครบทุกจังหวัดในภาคเหนือตอนบน ตอนนี้ตั้งไว้ที่ 8 จังหวัดบวกจังหวัดตาก ก็น่าจะครบในปีนี้” ศ.นพ.ขวัญชัย ระบุ

คุณภาพอากาศกับการส่งเสียง

.

“ภาคเหนือประสบปัญหาหมอกควันมานานมากครับ เรามีปัญหามลภาวะทางอากาศมาอย่างน้อยๆ 20 ปี แต่คนภาคเหนือคนในชนบทเสียงไม่ค่อยดังเท่าเมืองใหญ่ ก็เป็นเรื่องปกติ ปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศมาเป็นที่สนใจตอนที่กรุงเทพฯเริ่มมีปัญหา PM2.5 แต่พี่น้องชาวเหนือมีปัญหามายาวนานแล้วครับ แต่อย่างที่บอกเสียงของคนในเมืองหลวงก็จะได้รับความสนใจกว่าเสียงจากที่อื่น แต่ในปัจจุบันคนทั่วประเทศเริ่มเข้าใจปัญหานี้มากขึ้น

.

“ภาคเหนือมีปัญหาเรื่องการเผาในภาคเกษตรกับการเผาป่าเป็นหลักครับ ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายนของทุกปี ในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่เกษตรกรเตรียมพื้นที่ทำเกษตรในฤดูการผลิตใหม่ โดยเฉพาะเกษตรอุตสาหกรรม ในช่วงหลังเราพูดถึงกันมากก็คือการทำไร่ข้าวโพด เกษตรกรภาคเหนือไม่ได้มีที่ดินทำกินในพื้นราบ การทำเกษตรบนที่สูงก็มีปัญหาเรื่องโลจิตติกส์ตามมา ถ้าเราจัดการไม่ดี ซึ่งมันเป็นแบบนั้นครับ การขนส่งที่เข้าไม่ถึงพื้นที่ก็ทำให้เกษตรกรเลือกที่จะเผา เพราะขนเอาวัสดุการเกษตรออกมาลำบาก การเผาเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดและถูกที่สุด ไม่ต้องขนเอาวัสดุทางการเกษตรไปเข้าสู่แหล่งกำจัดที่มีคุณภาพ เรื่องราวมันก็เป็นแบบนี้ต่อเนื่องยาวนามา 20 ปีแล้ว” 

หากวันไหนกรุงเทพมหานครปริมาณ PM2.5 มากกว่า 200 มคก./ลบ.ม. วันนั้นฝุ่นควันก็กลายเป็นวาระแห่งชาติ “คนก็จะเริ่มบ่นกันแล้วว่าแสบหูแสบตา แต่ที่ภาคเหนือสูงกว่านั้นมากครับ บางช่วงมันไปถึง 300-500 มคก./ลบ.ม. ซึ่งมันสูงมาก มาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษใช้ทุกวันนี้คือไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. แต่ของเราขึ้นไปถึง 400-500 มคก./ลบ.ม. เกินมาตรฐานไปหลายเท่านะครับ แสดงว่าเรามีปัญหาหนักมากจริงๆ”

.

ระบบการแจ้งเตือนที่สะท้อนความจริงและทันท่วงทีจึงเป็นสิ่งที่ ศ.นพ.ขวัญชัย มองว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะ “ข้อมูลที่ตรงความจริงและการแจ้งเตือนที่เร็วจะทำให้คนในกลุ่มเสี่ยงสามารถป้องกันตัวเองได้ จริงๆ แล้วเราไม่ได้มีข้อแนะนำอะไรมากมายมากไปกว่าการหลีกเลี่ยงออกไปทำกิจกรรมภายนอกในวันที่คุณภาพอากาศส่งผลต่อสุขภาพ หลักการเราง่ายๆ แค่นั้นเอง ถ้าอากาศไม่ดีก็ควรหลีกเลี่ยงการออกไปทำกิจกรรมภายนอก อยู่ในอาคารที่มีเครื่องกรองอากาศก็จะทำให้กลุ่มเสี่ยงปลอยภัย จริงๆ หลักการก็มีแค่นั้นเอง เพียงแต่ระบบการแจ้งเตือนที่เร็วขึ้นเพื่อให้เขาป้องกันตัวเองได้ดีขึ้น” ศ.นพ.ขวัญชัย กล่าว

ระดับการแจ้งเตือนคือการสื่อสารกับกลุ่มเสี่ยง

.

กลุ่มเสี่ยงประกอบด้วย กลุ่มผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ป่วย

.

“กลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงโดยธรรมชาติอยู่แล้วครับ เพราะพวกเขามักมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคหลอดเลือดต่างๆ โรคหัวใจ คนสูงอายุจะมีหลอดเลือดไม่ค่อยดี เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยอยู่แล้ว อีกกลุ่มที่เสี่ยงคือกลุ่มคนที่เป็นโรคหลอดเลือดในสมอง เช่น โรคสโตรก (Stroke) และกลุ่มปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมถึงคนที่สูบบุหรี่มากๆ มักจะเป็นหลอดลมอุดกั้น กลุ่มนี้ถ้ามีฝุ่นในอากาศมากจะกระทบก่อนเลย คนทั่วไปอาจจะยังใช้ชีวิตปกติ แต่กลุ่มนี้จะมีปัญหาก่อน คนที่เป็นโรคหัวใจ หัวใจอาจจะขาดเลือดได้เลย 

.

“ช่วงที่เขาแข่งมาราธอนในช่วงอากาศไม่ดี จะมีข่าวเรื่อยๆ ว่า นักวิ่งหัวใจหยุดเต้น เสียชีวิตเลย หรือเส้นเลือดในสมองขาดไป ก็ทำให้เป็นอัมพาตอัมพฤกษ์ ส่วนคนที่เป็นหลอดลมอุดกั้น เวลาฝุ่นเยอะจะหายใจไม่ทัน ปอดเขาไม่ดี ขาดออกซิเจน เกิดการอักเสบของปอด มีการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ กลุ่มนี้คือกลุ่มเสี่ยงครับ” ศ.นพ.ขวัญชัย ระบุ

.

การเซ็ตค่ามาตรฐานเพื่อให้เกิดการแจ้งเตือนที่รวดเร็ว สมกับความเป็นจริงของสภาพปัญหา เป็นเรื่องสมเหตุผลอย่างยิ่ง และส่งผลต่อความเป็นความตายของชีวิต

.

ขณะที่เด็กก็เป็นกลุ่มเสี่ยงเช่นกัน เนื่องจาก “หัวใจของเด็กเต้นเร็วครับ เด็กหายใจเร็วกว่าวัยอื่น เวลาเขาเจออากาศที่เท่ากันกับผู้ใหญ่ เขาจะสูดเอา PM2.5 เข้าไปในกระแสเลือดได้เร็วกว่าคนวัยอื่น เด็กจะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกับกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วย เขาจะต้องถูกเตือนก่อนในภาวะที่คุณภาพอากาศไม่ดี เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบได้ ที่สำคัญเด็กจะต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบนี้ไปอีกยาวนานครับ ชีวิตของเขาต้องเผชิญกับ PM 2.5 ไปอีกนาน”

.

มีผลการศึกษาระบุว่า ฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุก 10 มคก./ลบ.ม./ปี จะทำให้อายุสั้นลง 0.98 ปี หากเทียบกับจำนวนประชากรโลกที่มีหลายพันล้านคน พบว่าประชากรโลกอายุขัยเฉลี่ยสั้นลง 1.8 ปี ขณะที่อินเดียอายุขัยสั้นลง 6 ปี

.

“ที่เชียงใหม่บางครั้งมีฝุ่น 300-400 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเกินค่ามาตรฐานไป 10 เท่า ก็ทำให้อายุสั้นเป็น 10 ปี เด็กในพื้นที่แบบนี้ก็จะได้รับผลกระทบที่ชัดเจน ซึ่งผลกระทบมีหลายระดับ ระดับพื้นผิวก็เกิดอาการระคายเคือง โดยเฉพาะคนที่เป็นภูมิแพ้ จะเกิดการระคายเคืองในเยื่อบุทางเดินหายใจและเยื่อบุตาพวกเราจะรู้สึกว่าเวลาฝุ่นเยอะจะแสบตา บางคนระคายเคืองในจมูก จะมีการอักเสบในเยื่อจมูกค่อนข้างเยอะ เด็กบางคนจะใช้มือถูจมูกโดยไม่รู้ตัว เส้นเลือดฝอยจะแตกได้ง่าย เลือดกำเดาไหล มันไม่ได้เป็นผลโดยตรงที่ฝุ่นจะทำให้เกิดเลือดกำเดา แต่เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุ นี่คืออาการพื้นผิวนะครับ แต่ทีร้ายไปกว่านั้นคือการที่มันลงปอด ก็จะทำให้เกิดการอักเสบของปอด มีอาการหอบ โดยเฉพาะคนที่เป็นหอบหืด อาการจะกำเริบได้เร็วมาก ไม่สามารถไปโรงพยาบาลได้ทันสามารถเสียชีวิตได้เลย” ศ.นพ.ขวัญชัย ระบุ

.

.

บ้านระบบเปิดกับมาตรฐานอากาศระบบปิด

.

ศ.นพ.ขวัญชัย แนะนำการดำเนินชีวิตในช่วงที่อากาศเป็นมลพิษ ดังนี้

.

“หลักการก็มีไม่กี่ข้อครับ ในวันที่คุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐาน เราต้องหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมข้างนอก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าภายในบ้านจะไม่มี PM2.5 เลยนะครับ เพราะบ้านของเรามีการสร้างบ้านแบบระบบเปิด ซึ่งแม้แต่ห้องประชุมที่ติดแอร์ ถ้ามีการเปิดประตูเข้าออก มันจะมี PM2.5 เท่ากับข้างนอกเลย การอยู่ภายในสถานที่ถ้าดูแลไม่ดี ก็สามารถรับ PM2.5 ได้เหมือนกัน ในอาคารก็ต้องมีการสร้างระบบฟอกอากาศที่ดี นี่คือสิ่งที่ต้องทำในลำดับถัดไป 

.

“นอกจากการหลีกเลี่ยงการออกไปข้างนอก งดการออกกำลังในที่แจ้ง เราต้องทำระบบในบ้านให้ปลอดภัย ถ้าทำได้คือระบบปิด พอถึงฤดูหมอกควัน เราแนะนำว่าควรปิดประตูหน้าต่าง ในบ้านในห้องซึ่งมีฝุ่นอยู่แล้ว เราต้องทำให้ลดลง วิธีที่ดีที่สุดตอนนี้คือใช้เครื่องฟอกอากาศ เมื่อก่อนมีราคาแพงมาก คนทั่วไปยังไม่สามารถหามาใช้ได้ ตอนนี้ราคาถูกลงเยอะ โดยเฉพาะมาจากประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศจีน มันช่วยได้เยอะนะครับ ถ้าเราใช้เครื่องฟอกอากาศในห้องที่ปิดประตูหน้าต่าง มันจะทำให้ปริมาณ PM2.5 ลดลงจาก 200-300 มคก./ลบ.ม. เหลือ 20 มคก./ลบ.ม. ในเวลาเพียง 10-20 นาทีคนในห้องจะปลอดภัย”  ศ.นพ.ขวัญชัย กล่าว

.

แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเข้าถึงเครื่องกองอากาศได้ ศ.นพ.ขวัญชัย แนะนำว่า แผ่นกรองอากาศเป็นทางเลือกที่สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

.

“แผ่นกรองอากาศที่ใช้ในรถยนต์ ของเครื่องปรับอากาศ เราดัดแปลงมาใช้ในบ้านได้ เช่นในบ้านมีแอร์อยู่แล้ว เราอาจจะใช้แผ่นกรองอากาศเพื่อทำให้อากาศในห้องมี PM2.5 ลดลง ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ หรือถ้าไม่มีแอร์ เราใช้พัดลงไอน้ำหรือพัดลมไอเย็นแล้วเอาแผ่นกรองอากาศติดเข้าไป มันจะช่วยให้ในห้องมีปริมาณ PM2.5 ลดลงได้เหมือนกัน แต่คงสู้เครื่องฟอกอากาศไม่ได้ เพราะเขาออกแบบมาเพื่อจับฝุ่นขนาดที่เล็กมากๆ อย่าง PM2.5 แต่ช่วยบรรเทาได้”

.

นอกจากเรื่องเชิงโครงสร้างอย่างการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศที่ต้องต่อสู้กันต่อไป ศ.นพ.ขวัญชัย แนะนำ 2 เรื่องในชีวิตประจำวัน คือ หลีกเลี่ยงการออกไปข้างนอกกับสร้างระบบอากาศภายในบ้านให้เหมาะสม

#เพื่อลมหายใจภาคเหนือ

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →