PM2.5: เมื่อความเพิกเฉยคือกฎหมาย การฟ้องร้องจึงเป็นหน้าที่ 

เราไม่แน่ใจว่า วลีอันมีชื่อเสียงของโทมัส เจฟเฟอร์สัน ส่งแรงบันดาลใจให้ราษฎรชาวเชียงใหม่คนหนึ่งลุกขึ้นมาฟ้องร้องหน่วยงานรัฐหรือไม่ วลีดังกล่าวคือวลีที่ว่า “เมื่อความอยุติธรรมคือกฎหมาย การต่อต้านก็เป็นหน้าที่”

.

แต่ที่เราแน่ใจก็คือความเพิกเฉยละเลยของรัฐในการจัดการปัญหามลพิษ PM2.5

.

เราไม่ได้กล่าวหาอย่างเลื่อนลอย หากแต่พยานแน่นหนาในกรณีนี้คือ ค่ามาตรฐานอากาศรายชั่วโมงและรายวันในช่วง 4 เดือนแรกของปี ไม่เชื่อคุณลองเข้าแอปพลิเคชั่นตรวจสอบคุณภาพอากาศที่หายใจดูสิ

.

เห็นเหมือนกันใช่ไหม บางพื้นที่แตะหลัก 300 มคก./ลบ.ม. และเห็นอีกไหมว่า รัฐยังคงเพิกเฉยสวนทางหลักสากล

.

การฟ้องร้องจึงเป็นหน้าที่ 

ภูมิ วชร เจริญผลิตผล ยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต่อศาลปกครอง ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศมาตรฐานมลพิษตามมาตรฐานที่ WHO กำหนด เขาฟ้องหน่วยงานรัฐเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564 ซึ่งศาลได้รับคำฟ้องไว้เป็นคดีตามคดีหมายเลขดำที่ ส. 22/2564

.

ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติทำคำให้การแก้คำฟ้องยื่นต่อศาลภายใน 30 วัน แต่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไม่ได้ทำคำให้การแก้คำฟ้องยื่นต่อศาลตามคำสั่งศาล กลับขอเลื่อนทำคำให้การแก้คำฟ้องยื่นต่อศาลเป็นครั้งที่ 3 แล้ว 

.

“ขณะนี้เดือนมีนาคมแล้ว คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติยังไม่ทำคำให้การแก้คำฟ้องคดีที่ผมฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ประกาศมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ขอเลื่อนทำคำให้การแก้คำฟ้องยื่นต่อศาลมาจนกระทั่งวันนี้  ขณะนี้ประเทศไทย (ยกเว้นภาคใต้) เข้าสู่เทศกาลฉลองการกลับมาของฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ประจำปี 2565” ภูมิ เขียนข้อความนี้ในเฟซบุ๊ค Bhumi Wachara Charoenplidpol

.

ผู้สื่อข่าว WEVO สื่ออาสา รายงานว่า คำสั่งของศาลปกครองกลางหลังจากที่รับคำฟ้องของนายภูมิเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ได้สั่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติทำคำให้การแก้คำฟ้อง (เอกสารแก้ต่าง) ต่อศาลภายใน 30 วัน ซึ่งผู้ถูกฟ้องขอขยายเวลาส่งเอกสารเมื่อวันที่ 14  ธันวาคม 2564  จากนั้นได้ขอเลื่อนอีก 2 ครั้ง คือ เมื่อวันครบรอบส่งคำฟ้อง  12  มกราคม 2565 และครบรอบส่งคำฟ้อง 10 กุมภาพันธ์ 2565

.

ล่าสุด รายการบ่ายโมงสถานีฝุ่นประจำวันที่ 10 มีนาคม ได้สัมภาษณ์นายภูมิ ซึ่งเขาได้ตรวจสอบสถานะของการยื่นเอกสารแก้ต่างทางช่องทางออนไลน์ ยังไม่พบความเคลื่อนไหวเพิ่มเติมใดๆ จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

.

อย่าเพิกเฉยประชาชนเหมือนอากาศ 

.

ค่ามาตรฐานอากาศฝุ่นละอองขนาดเล็ก pm2.5 ที่นายภูมิ วชร เจริญผลิตผล ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองนั้น เขาขอให้ปรับจากค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชม. ที่ประเทศไทยกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลบ.ม. มาเป็น 37 ไมโครกรัม/ลบ.ม. และค่าฝุ่นรายปี จาก 25 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ให้เหลืออยู่ที่ 15 ไมโครกรัม/ลบ.ม.  ซึ่งมาตรฐานใหม่ดังกล่าวกรมควบคุมมลพิษและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้จัดทำร่างประกาศใหม่ และเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่ 16 มกราคม 2564

.

กว่า 1 ปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่ประกาศใช้จริง

.

ปลายเดือน ก.ย. 2564 WHO ได้ประกาศ “เกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศ” (Air Quality Guidelines: AQGs) ฉบับใหม่ ซึ่งเป็นการปรับเกณฑ์ครั้งแรกในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่ปรับครั้งล่าสุดเมื่อปี 2548

.

ซึ่งจะเห็นว่านายภูมิได้ฟ้องร้องหน่วยงานรัฐก่อนที่ WHO จะประกาศเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศฉบับใหม่ 

.

ประเด็นสำคัญของเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศของ WHO อยู่ที่การปรับค่ามาตรฐานความปลอดภัยของฝุ่น PM 2.5 ให้สูงขึ้น กล่าวคือ ค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 ที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยจะไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) จากเดิมที่ 10 มคก./ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 15 มคก./ลบ.ม. จากเดิม 25 มคก./ลบ.ม.

.

ความเคลื่อนไหวเมื่อวันที่ 7 มีนาคม นายภูมิได้โพสผ่านเฟซบุ๊ค ขอรับเงินบริจาคเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลและหลักฐานเพื่อใช้ในการต่อสู้คดีที่เขาเป้นผู้ฟ้องหน่วยงานรัฐ 

.

“ขณะนี้ผมมีคดีฟ้องเรื่องปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) 2 คดีในศาลปกครอง ทั้ง 2 คดีมีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นผู้ถูกฟ้องคดี เพื่อมีพยานหลักฐานไปยื่นต่อศาลหักล้างพยานหลักฐานของผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ  จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายรวบรวมพยานหลักฐาน แน่นอนว่า นอกจากหลักฐานเอกสารแล้วต้องลงพื้นที่เกิดเหตุไฟไหม้ทั้งในที่โล่งแจ้งและในเขตป่า และพื้นที่มีโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ตั้งอยู่รวมถึงพื้นที่อื่นหรือกิจการที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เพื่อให้การฟ้องคดีดังกล่าวมีพยานหลักฐานน่าเชื่อถือและเพียงพอให้ศาลมีคำพิพากษาตามคำขอได้” นายภูมิกล่าว

.

เมื่อปี 2564 นายภูมิ เคยฟ้องร้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยศาลปกครองเชียงใหม่ ได้มีคำพิพากษา ให้ผู้ถูกฟ้องคดีใช้อำนาจตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้เขตพื้นที่จ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอน เป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อดำเนินการควบคุม ลดและขจัดมลพิษ ถือเป็นชัยชนะที่อยู่ฝั่งประชาชน

.

ขณะที่ ไพสิฐ พานิชกุล แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในรายการบ่ายโมง สถานีฝุ่นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ว่า หลักการ precautionary principle เป็นหลักการการใช้อำนาจที่รัฐพึงปฏิบัติ 

.

หลักการ precautionary principle เป็นหลักพื้นฐานทางสิ่งแวดล้อมที่เป็นสากล รัฐควรปฏิบัติการในทางที่จะเป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่สิ่งแวดล้อมและชีวิตของคนและสัตว์ เพราะหากปล่อยให้เกิดความเสียหายขึ้นแล้ว จะไม่อาจกลับคืนสู่สภาพเดิมได้อีกต่อไป เช่น การสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์ รวมถึงสุขภาพของประชนที่เกิดจากคุณภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์

.

 “เพราะนี่คือสิทธิพื้นฐานของประชาชนครับ ในการเข้าถึงอากาศสะอาด ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐในการจัดหาให้ประชาชน ทั้งๆ ที่ในหลักสากล เขาพยายามจะปรับมาตรฐานของอากาศให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับมนุษย์ สำหรับการหายใจของผู้คน ขณะที่กฎหมายไทยหน่วยงานราชการไทย พยายามที่จะผูกติดกับค่ามาตรฐานซึ่งกำหนดมาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เก่าไปแล้ว” 

.

ความพยายามของภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ ล้วนพยายามส่งเสียงให้รัฐบาลพิจารณากฎหมาย เช่น ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ซึ่งก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด 

.

“กฎหมายฉบับนี้สะท้อนว่า ภาคประชาสังคมต้องการให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการจัดการของภาครัฐรวมถึงการจัดการในทางสังคมด้วยในการที่จะทำให้เกิดคุณภาพอากาศสะอาด ซึ่งเป็นเรื่องที่มีลกระทบต่อทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นข้าราชการหรือประชาชนก็ตาม” อาจารย์ประจำคณะนิติศาตร์กล่าว 

.

เราไม่แน่ใจว่า วลีอันมีชื่อเสียงของโทมัส เจฟเฟอร์สัน ส่งแรงบันดาลใจให้ราษฎรชาวเชียงใหม่คนหนึ่งลุกขึ้นมาฟ้องร้องหน่วยงานรัฐหรือไม่ แต่ยืนยันได้ถึงความเพิกเฉยของรัฐต่อปัญหาคุณภาพของอากาศ ดังนั้นเมื่อความเพิกเฉยคือกฎหมาย การฟ้องร้องจึงเป็นหน้าที่ 

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →